วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มิ.ย. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
กระทรวงการต่างประเทศจับมือหน่วยงานไทยแถลงข่าวประเด็นรายงานสถานการณ์
การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี ๒๕๕๗ การดำเนินการและผลกระทบต่อไทย
เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รอง ผบ.ตร.นางญาณี เลิศไกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดร.ผนิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ และนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ/ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมบรรยายสรุปสื่อมวลชนเกี่ยวกับประเด็นรายงาน สถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี ๒๕๕๗ การดำเนินการของฝ่ายไทย และผลกระทบต่อไทย รายละเอียดดังนี้
ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะเผยแพร่รายงานประจำปีเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report – TIP Report) ประจำปี ๒๕๕๗ (คาดว่าจะเป็นวันศุกร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗) ซึ่งการจัดอันดับในปี ๒๕๕๖ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 2 Watch List เป็นปีที่สี่ติดต่อกัน ตามระเบียบของฝ่ายสหรัฐฯ ประเทศไทยจะไม่สามารถอยู่ในระดับ Tier 2 Watch List ได้ต่อไป แต่จะต้องถูกปรับลดระดับเป็น Tier 3 หรือปรับยกระดับขึ้นเป็น Tier 2 ในปี ๒๕๕๗
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลไทยได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในการให้ข้อมูลต่อประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ของสำนักงาน TIP อาทิ การบังคับใช้กฎหมาย สถิติที่เกี่ยวข้องกับ การตรวจจับ การดำเนินคดี และการพิจารณาบทลงโทษในปี ๒๕๕๖ โดยประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจ คือเรื่องการลงโทษและการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งในปี ๒๕๕๖ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ดำเนินการจนมีความคืบหน้าในด้านต่างๆ อย่างมาก ฝ่ายไทยได้ชี้แจงถึงความพยายามและความคืบหน้าในประเด็นต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์และการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งเกิดประโยชน์แก่ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ไว้ในรายงานประเทศ (Country Report) ที่ไทยส่งให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย
ไทยได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 5 P อย่างบูรณาการกับหน่วยงานไทย[i] ซึ่งประกอบไปด้วย (๑) การดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution and Law Enforcement) เพิ่มขึ้นเป็น ๖๗๔ คดี ในจำนวนนี้ มีการฟ้องร้องผู้กระทำผิด ๔๘๓ ราย (จาก ๕๖ ราย ในปี ๒๕๕๕) ลงโทษผู้กระทำผิด ๒๒๕ ราย (จาก ๔๙ รายในปี ๒๕๕๕) ดำเนินคดีบริษัทจัดหางาน ๑๕ บริษัท (ถอนใบอนุญาต ๒ บริษัท พักใบอนุญาต ๔ บริษัท และดำเนินคดีอาญา ๙ บริษัท) และดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อน ๑๕๕ คดี (๒) การคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือ (Protection and Rehabilitation) มีการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนกว่า ๖๐๐ คน เป็นเงินรวมกว่า ๖ ล้านบาท (๓) การป้องกัน (Prevention) ได้มีการปรับปรุงและขยายการตรวจแรงงานให้ครอบคลุมพื้นที่และสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในภาคการประมง มีการจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงใน ๗ จังหวัด เพื่อให้กระบวนการด้านแรงงานเป็นไปตามกฎหมาย (๔) นโยบายและกลไก (Policy) รัฐบาลจัดสรรงบประมาณพิเศษกว่า ๑๙๐ ล้านบาทเพื่อดำเนินกิจกรรมเชิงรุกด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (๕) ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และระหว่างประเทศ (Partnership with involved agencies, other countries and international organizations) มีการจัดทำ MOU กับองค์การเอกชน ภาคประชาสังคมและประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงเพื่อร่วมมือป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และอยู่ระหว่างการเจรจา MOU เพิ่มเติมกับหลายประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ในช่วงก่อนการเผยแพร่รายงาน TIP Report รัฐบาลไทยได้ชี้แจงการดำเนินการต่างๆ ของฝ่ายไทยให้ฝ่ายสหรัฐฯ รับทราบและเข้าใจ รวมทั้งย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เช่น เมื่อ ๕-๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ อธิบดีกรมอเมริกาและและแปซิฟิกใต้ นำคณะหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทย เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และภาคเอกชนผู้ซื้อสินค้าไทยรายใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น ห้าง COSCO Walmart
นอกจากนี้ มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่กับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยในระดับต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งให้ข้อมูลและชี้แจงตอบข้อสงสัยของฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับการดำเนินการและสถิติที่ปรากฏในรายงาน TIP Report ประจำปีนี้ โดยได้พบหารือกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เพื่อย้ำว่าไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่อไป และย้ำว่าขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีความเปลี่ยนแปลง แต่นโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง
ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) ซึ่งมีรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้ย้ำเจตนารมณ์ที่ดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ และแรงงานเด็กอย่างจริงจัง และ คสช. พร้อมพิจารณาปรับกฎระเบียบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความคล่องตัวในการดำเนินการเพิ่มขึ้นต่อไป
อนึ่ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เพื่อเน้นย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง และขอให้ฝ่ายสหรัฐฯ พิจารณาจัดระดับไทยบนพื้นฐานของผลการดำเนินงานที่ไทยได้สร้างขึ้นเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ในช่วงถาม- ตอบได้มีการสอบถามเกี่ยวกับการที่มีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ยืนยันว่ารัฐบาลไทยไม่มีนโยบายการ กวาดล้างและผลักดันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงแรงงานได้กล่าวเพิ่มเติมว่ามาตรการในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของไทยดำเนินอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยคำนึงถึงมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ พันธํกรณีด้านสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม โดยกระทรวงแรงงานได้ประสานทำความเข้าใจกับกระทรวงแรงงานกัมพูชาเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวของไทยด้วยแล้ว
*********************
๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
โปรดติดตามการ update ข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ ตาม Twitter @MFAThai (ไทย) @MFAThai_PR_EN (อังกฤษ) และ @MFAUpdate (สถานการณ์การเมืองภาษาอังกฤษ)
[i] ประเทศไทยได้ระดมกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ นำโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพเรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมประมง กองบังคับการตำรวจน้ำ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **