บทสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตไทยเกี่ยวกับท่าทีของนานาประเทศต่อสถานการณ์การเมืองไทย

บทสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตไทยเกี่ยวกับท่าทีของนานาประเทศต่อสถานการณ์การเมืองไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มิ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 4,185 view

บทสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตไทยเกี่ยวกับท่าทีของนานาประเทศต่อสถานการณ์การเมืองไทย

เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ เอกอัครราชทูตไทยให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน เกี่ยวกับท่าทีของนานาประเทศต่อสถานการณ์การเมืองไทย และการดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจ ภายหลังการพบหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑. นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

กล่าวถึงการที่เอกอัครราชทูต ฯ ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เพื่อชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทย และยืนยันถึงการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องการคงความสัมพันธ์กับนานาประเทศต่อไป ซึ่งฝ่ายเยอรมนีแจ้งว่าไม่มีข้อกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ดี ได้ขอให้ประเทศไทยยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย และสามารถฝ่าฟันวิกฤตการเมืองได้โดยหวังจะเห็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม และมีกำหนดตารางเวลาเข้าสู่ระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน

ภาคเอกชนขนาดใหญ่ของเยอรมนียังคงมั่นใจจะลงทุนในประเทศไทยดังจะเห็นได้ว่าในช่วงสัปดาห์หน้า ผู้อำนวยการสมาคมมาตรฐานและคุณภาพของเยอรมนียังคงกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยโดยมีจุดมุ่งหมายเรื่องโครงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลกับไทยเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมวิศวกรรมของเยอรมนีในประเทศไทย ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของเยอรมันแสดงความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งความรู้และความเข้าใจประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ

ทั้งนี้ ภายหลังการพบหารือกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินจะหารือกับฝ่ายนิติบัญญัติและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีเพื่อชี้แจงตามแนวทางที่ชัดเจนที่ได้รับต่อไป

๒. นายนพปฎล คุณวิบูลย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปมีความเข้าใจและมีท่าทีเชิงบวกต่อสถานการณ์การเมืองไทย และสนับสนุนให้ประเทศไทยจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทันทีที่เห็นว่าเป็นไปได้  รวมทั้งจะสนับสนุนประเทศไทยต่อไป หากสามารถสร้างความชัดเจนต่อประเด็นข้อกังวลต่างๆ ของสหภาพยุโรป อาทิ การจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และการกำหนดจัดการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ภายหลังการรับนโยบายที่ชัดเจนจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์จะเดินทางกลับไปชี้แจงต่อฝ่ายสหภาพฯ และรัฐบาลเบลเยี่ยมเบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ต่อไป โดยจะใช้โอกาสในการเข้าร่วมประชุมเตรียมการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN – EU) เพื่อชี้แจงสถานการณ์ดังกล่าวต่อไปด้วย

เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ยังได้ใช้โอกาสต่างๆ ในการพูดคุยกับภาคเอกชนในเบลเยียม โดยเฉพาะบริษัทที่มีการลงทุนในประเทศไทย อาทิ บริษัท Solvay เป็นต้น ซึ่งได้ทราบว่าทางบริษัทมีความเข้าใจสถานการณ์ของไทยพอสมควรและยังคงมั่นใจที่จะลงทุนในไทยต่อไป เห็นได้ว่าประชาชนชาวเบลเยียมซึ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความสะดวกในการเดินทางยังคงตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย และการจองเที่ยวบินมายังประเทศไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๕๗ มิได้ลดลง

๓. นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว

ในการสัมภาษณ์และตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวถึงท่าทีของภาคเอกชนญี่ปุ่น โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ซึ่งได้เดินทางไปพบหารือกับภาคธุรกิจประมาณ ๒๐๐ คน ที่เมืองฮิโรชิมา รวมถึงบริษัทมาสด้า บริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการติดตามผลการยื่นขอลงทุนในประเทศไทย มูลค่าประมาณ ๔๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้มีข้อติดขัดสำคัญเนื่องจากการหยุดชะงักการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (คณะกรรมการ BOI) ของประเทศไทย จึงทำให้ไม่สามารถอนุมัติโครงการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตได้รายงานต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ยืนยันว่าจะเร่งการประชุมแต่งตั้งคณะกรรมการฯ และคาดว่าจะสามารถอนุมัติโครงการต่างๆ ที่คั่งค้างได้แล้วเสร็จ โดยบริษัทมาสด้ายังแสดงความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจรถยนต์อีโคคาร์ (eco car) รุ่นที่ ๒ ด้วย

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ยังได้เข้าพบปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือถึงความห่วงใยของญี่ปุ่นในฐานะมิตรประเทศของประเทศไทย ที่มีต่อความขัดแย้งด้านการเมืองในประเทศไทย รวมถึง การลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย และการดูแลความปลอดภัยของประชาชนญี่ปุ่นในประเทศไทย ทั้งนี้ โดยที่ปัจจุบัน ประเทศไทย มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้นจากการประกาศ road map ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีความมั่นใจมากขึ้น

๔. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศระงับความร่วมมือด้านการทหารกับ ประเทศไทย ทั้งนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้เข้าพบหารือกับฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าวิปฝ่ายค้านออสเตรเลียเพื่อชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นของประเทศไทย และเน้นย้ำถึงความสำคัญของประเทศไทย ในฐานะประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียร่วมกับออสเตรเลียในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partnership) ซึ่งภายหลังการชี้แจง ฝ่ายออสเตรเลียมีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อสถานการณ์การเมืองไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ตอบรับคำเชิญของเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราในการเดินทางเยือนประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรยังคงยืนยันกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทย ในวันที่ ๑๙ –๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ยังคงดำเนินตามปกติ สำหรับนักเรียนไทยที่ได้รับทุนรัฐบาลออสเตรเลียไปศึกษาด้านการทหาร ยังคงสามารถศึกษาได้ต่อไปตามปกติ สำหรับโครงการว่าด้วยการแก้ไขปัญหาระเบิดพวง และการก่อการร้ายที่ฝ่ายออสเตรเลียได้เลื่อนกำหนดออกไป เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้ชี้แจงแก่ฝ่ายออสเตรเลียเพื่อขอให้ทบทวนการตัดสินใจ เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคโดยรวมด้วย

ด้านภาคธุรกิจ ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยธนาคาร ANZ ของออสเตรเลียยังคงยืนยันความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ ภายหลังการรับนโยบายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา จะเข้าพบเพื่อชี้แจงแก่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของออสเตรเลีย และเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีด้านการทหารระหว่างกัน และจะชี้แจงทุกภาคส่วนต่อไป

๕. นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน

นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความเข้าใจในสถานการณ์การเมืองไทย แต่จำเป็นต้องระงับความร่วมมือด้านการทหารกับประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการรัฐประหาร จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายของประเทศ อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกามีข้อกังวลเกี่ยวกับทิศทางการปกครองประเทศของประเทศไทย เนื่องจากให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค

ทั้งนี้ ภายหลังการเดินทางเข้าพบเพื่อชี้แจงฝ่ายสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ของเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ถึงเหตุผลความจำเป็นของการรัฐประหาร และความชัดเจนของแนวทางการดำเนินงานต่อไป (road map) ซึ่งรวมถึงการจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีในหลายมิติ  ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็มีความเข้าใจมากขึ้น โดยจะดำเนินการชี้แจงต่อไปอย่างต่อเนื่องถึงความคืบหน้าของ road map รวมถึงข้อกังวลของสหรัฐฯ ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การห้ามออกจากเคหสถานในเวลาค่ำคืน การจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และการเชิญนักการเมืองไทยไปรายงานตัว และเชื่อมั่นว่า สหรัฐอเมริกาจะมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันยังได้ใช้โอกาสต่างๆ ในการชี้แจงภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบริษัทที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทย และได้ทำหนังสือตอบโต้ชี้แจงสื่อมวลชนสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์ข่าวสถานการณ์การเมืองไทยอย่างคลาดเคลื่อนด้วย

๖. นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อุปทูต ณ กรุงลอนดอน

นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สหราชอาณาจักรมีท่าทีที่ชัดเจนต่อสถานการณ์การเมืองไทยโดยเน้นให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวอังกฤษ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนได้ชี้แจงในประเด็นต่างๆ ตามข้อกังวลของฝ่ายสหราชอาณาจักร โดยเน้นว่าประเทศไทยยึดมั่นในหลักการและพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และยังคงดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศต่อไป ทั้งนี้ ฝ่ายสหราชอาณาจักรมีท่าทีพอใจที่ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส และตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนพร้อมที่จะชี้แจงความคืบหน้าของการดำเนินการของไทยต่อไป

 

**************************
        

๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๗

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

media-center-20140613-180109-723567.pdf