กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานไทยเพื่อเตรียมการสำหรับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ในกรอบสหประชาชาติ

กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานไทยเพื่อเตรียมการสำหรับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ในกรอบสหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มิ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,419 view

กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานไทยเพื่อเตรียมการสำหรับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ในกรอบสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานไทย เพื่อเตรียมการสำหรับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ภายใต้คณะทำงานว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ ซึ่งไทยเป็นสมาชิก โดยรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ (นางกาญจนา ภัครโชค) เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนจาก  ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยจำนวนกว่า ๑๒๐ คน จากประมาณ ๒๕ หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุม

การจัดทำ SDGs เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ต่อเนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) ที่จะสิ้นสุดลงในปี ๒๕๕๘ เป็นไปตามผลของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development  หรือ Rio+20) เมื่อปี ๒๕๕๕ โดยการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลกัน ทั้งนี้ คณะทำงานว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ประชุมมาอย่างต่อเนื่องที่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และจะประชุมกันอีก ๒ ครั้ง ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ๒๕๕๗ เพื่อสรุปเป็นรายงานเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสหประชาชาติในเดือนกันยายน ศกนี้

ในภาพรวม หน่วยงานไทยเห็นพ้องกันว่า SDGs ควรสานต่อเป้าหมาย MDGs ที่ยังไม่บรรลุ และให้ความสำคัญกับการมีประเด็นด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลกัน  ควรเป็นสากลแต่สอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับประเด็นการรับมือกับความ     ท้าทายร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งประเด็นที่ไทยมีบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศ ได้แก่ การส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การจัดการความเสี่ยงและการรับมือภัยพิบัติธรรมชาติ การเกษตรที่ยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ การศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมหลักนิติธรรม รวมทั้ง การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนในสังคมอย่างเสมอภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการมีกลไกดำเนินงานเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเสริมสร้างขีดความสามารถ การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเสริมสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา

 

**************************


         ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๗
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ