คณะทูตานุทูตและกงสุลใหญ่ไทยจาก ๒๓ แห่งรับฟังนโยบาย คสช. เร่งชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย

คณะทูตานุทูตและกงสุลใหญ่ไทยจาก ๒๓ แห่งรับฟังนโยบาย คสช. เร่งชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มิ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,909 view

คณะทูตานุทูตและกงสุลใหญ่ไทยจาก ๒๓ แห่งรับฟังนโยบาย คสช. เร่งชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย

เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการพบปะหารือระหว่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กับเอกอัครราชทูตและกงสุลไทยจำนวน ๒๓ คน จาก ๑๘ ประเทศ สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศและอธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่าหน้าที่หลักของกระทรวงการต่างประเทศ คือ การชี้แจงให้ต่างประเทศและประชาคมโลกให้เข้าใจถึงสถานการณ์ของไทยโดยมี ๓ แนวทางหลัก คือ การพูดคุยกับคณะทูตานุทูตและสื่อต่างประเทศประจำประเทศไทย การชี้แจงผ่านสถานเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติของไทยในต่างประเทศ เพื่ออธิบายให้ประเทศต่างๆ เข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนและเข้าร่วมประชุมต่างๆ ระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่ออธิบายสถานการณ์ล่าสุด รวมถึงการดำเนิน Roadmap ของประเทศไทยด้วยตนเอง

ในการพบปะหารือดังกล่าว หัวหน้า คสช. ได้กล่าวขอบคุณการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ประจำการอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อกังวลเกี่ยวกับประเทศไทยที่ได้ชี้แจงอธิบายให้ประเทศต่างๆ มีความเข้าใจที่ดีขึ้น และมีความร่วมมือที่ดีกับไทย แม้ว่าต่างชาติมีมุมมองและหลักการเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ต่างไปจากประเทศไทย นอกจากนี้ หัวหน้า คสช.ได้อธิบายเกี่ยวกับ Roadmap ระยะเวลาและกำหนดการต่างๆ เพื่อให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่นำไปชี้แจงเพิ่มเติมต่อต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างแนวร่วม เช่น ภาคเอกชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาของประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นเครือข่ายที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับรัฐบาล

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ต่างชาติมีความเข้าใจสถานการณ์ไทยมากยิ่งขึ้น และมองเห็นความสำคัญของไทยในฐานะเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน และตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ โดยต่างตระหนักถึงความลำบากของไทย และพร้อมเป็นหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ ทั้งนี้ประเทศต่างๆเห็นพ้องว่า ไทยเป็นมิตรประเทศที่สำคัญ มีความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และมีความร่วมมือครอบคลุมทุกมิติ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ การลงทุน และโดยที่ประเทศสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และยุโรปเป็นประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงเป็นหน้าที่ของตัวแทนการทูตของไทยที่จะอธิบายสถานการณ์ให้คนไทยรับฟัง และเปิดโอกาสให้คนไทยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ

ในโอกาสนี้ หัวหน้า คสช.ยังได้กล่าวย้ำเกี่ยวกับความสำคัญในการเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยจะได้มีการตั้งศูนย์เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ