โฆษกกระทรวงการต่างประเทศบรรยายสรุปผลการหารือระหว่างคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศบรรยายสรุปผลการหารือระหว่างคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มิ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,702 view

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศบรรยายสรุปผลการหารือระหว่างคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนผลถึงการประชุมระหว่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยจำนวน ๒๓ คน จาก ๑๘ ประเทศ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ สรุปสาระสำคัญดังนี้

ในการประชุมดังกล่าวคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยได้สะท้อนข้อวิตกของหน่วยงานภาครัฐและสื่อตลอดจนภาคส่วนอื่นๆ ต่อสถานการณ์ในไทยและหลังจากได้รับฟังนโยบายและรายละเอียดของแผนงานและการขับเคลื่อนการบริหารประเทศ (Road Map) ของ คสช. แล้วจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปชี้แจงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองไทยและแผนการปฏิรูปการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่สภาพการณ์ที่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งและการกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต่อไป โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ย้ำต่อคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยถึงเป้าหมายสูงสุดของ คสช. คือการพัฒนาให้ไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยก้าวแรกจะมุ่งการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างคนไทย ส่วนภารกิจต่อไปคือการจัดตั้งสภานิติบัญญัติและการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศเพื่อเตรียมการ การปฏิรูประบบราชการการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นของประเทศสำหรับการจัดการเลือกตั้ง นอกจากนี้ คสช. กำลังเร่งดำเนินการจัดทำแผนงบประมาณประจำปี ๒๕๕๘

อนึ่ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ใช้โอกาสนี้สรุปให้ที่ประชุมเอกอัครราชทูตฯ รับทราบถึงผลการชี้แจงกับนานาประเทศที่ผ่านมา ซึ่งปรากฎว่าประเทศต่างๆ มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ในประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้จากการที่ประเทศตะวันตกไม่มีแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยเพิ่มเติม ส่วนประเทศที่ลดระดับความร่วมมือกับไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียนั้น จำกัดเฉพาะความร่วมมือทางการทหาร ประเทศอื่นๆ แสดงความสนใจที่จะทราบถึง Road Map คสช. ในการที่จะนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

คณะผู้แทนทางการทูตของไทยเห็นว่าขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้ยังมิได้ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนในต่างประเทศที่มีต่อไทย เช่น โครงการการลงทุนในประเทศไทย เป็นต้น และต่างก็ตระหนักถึงทำเลที่ตั้งและสถานะของไทยในการเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอาเซียน  

ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการชี้แจงและทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ซึ่งควรเน้นการมองไปข้างหน้า โดยชี้ให้เห็นศักยภาพและผลประโยชน์ร่วมกับไทยในระยะยาว ที่ประชุมเห็นร่วมกันถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ และให้คงแนวทางการใช้ Soft power diplomacy ได้แก่ การเผยแพร่อาหารไทยและวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมความสัมพันธ์ภาคประชาชน  สร้างความเข้าใจให้นานาประเทศว่าไทยกำลังเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาของประเทศซึ่งจำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ การสร้างความเข้าใจกับชุมชนไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนในกรณีที่มีการพาดพิงถึงสถาบันสำคัญของชาติ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ก็ขอให้ชี้แจงทำความเข้าใจและให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้น ๆ ด้วย

อนึ่ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วม การประชุมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) ณ นครเจนีวา ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ และมีกำหนดการเข้าพบข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คณะผู้แทนทางการทูตจากประเทศตะวันตกบางประเทศ รวมทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงในประเด็นที่ยังอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทย

**************************
                 

๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๗

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ