การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๑๑ และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๑๔ ณ เนปิดอว์

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๑๑ และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๑๔ ณ เนปิดอว์

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,408 view

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Foreign Minister’s Meeting) การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๑๑ (11th ASEAN Political-Security Community Council Meeting – APSC) และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๑๔ (14th ASEAN Coordinating Council – ACC) ณ เนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค โดยที่ประชุมได้รับรองแนวทางความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน (Guidelines for ASEAN External Relations) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการขยายความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคต่อไป นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศได้หารือในประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญอาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ คาบสมุทรเกาหลี กระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง และสถานการณ์ล่าสุดในทะเลจีนใต้ ในการนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบที่จะออกแถลงการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการในทะเลจีนใต้

๒. การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๑๑ ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ของความร่วมมือภายใต้เสาการเมืองและความมั่นคง โดยเฉพาะการเร่งดำเนินกิจกรรมในแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Blueprint) เพื่อผลักดันเป้าหมายร่วมกันของอาเซียนโดยเน้นเรื่องสำคัญ ๆ เช่น การส่งเสริมธรรมาภิบาล การจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ อาทิ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ภัยพิบัติ การส่งเสริมการศึกษาเรื่องการสร้างสันติภาพ และการจัดการและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยการทำงานและการประสานงานกับองค์กรรายสาขาต้ภายใต้เสาการเมืองในประเด็นคาบเกี่ยว ทั้งนี้ เพื่อให้อาเซียนมีบทบาทนำและเป็นแกนกลางในโครงสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาคและการจัดทำวิสัยทัศน์ภายหลังปี ๒๕๕๘ ต่อไป

๓. การประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๑๔ ได้หารือเรื่องการเตรียมการการประชุมสุดยอดอาเซียน   ครั้งที่ ๒๔ และรับทราบรายงานต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมฯ อาทิ รายงานของเลขาธิการอาเซียนเรื่องการทำงานของอาเซียน รายงานของคณะกรรมการประสานงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องความเชื่อมโยง รายงานของคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีประสานงานประชาคมอาเซียนว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยได้กล่าวสนับสนุนสำนักเลขาธิการอาเซียน การทำงานของคณะกรรมการผู้แทนถาวรอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในเรื่องการกำหนดทิศทางการทำงานและการเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพที่ตอบสนองความต้องการของอาเซียนในบริบทความเปลี่ยนแปลงและการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีและมีการหารืออยู่ในกรอบของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียนและการทบทวนการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ของอาเซียน 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ