รายละเอียดพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๖

รายละเอียดพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 2,240 view

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๖ ในวันอังคารที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๗  เวลา ๑๗.๓๐ น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทาน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลพร้อมคู่สมรส เวลา ๑๙.๓๐ น. ในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
 
สื่อมวลชนที่สนใจทำข่าวพระราชกรณียกิจ ดังกล่าว มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรม-ราชูปถัมภ์ จะจัดให้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ทั้งไทยและต่างประเทศ ในวันอังคารที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๗ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยสื่อมวลชนต่างประเทศจะสัมภาษณ์เวลา ๑๔.๓๐ น. และสื่อมวลชนไทยจะสัมภาษณ์เวลา ๑๕.๓๐ น. ในการนี้ ขอเชิญสื่อมวลชนที่ประสงค์จะสัมภาษณ์ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ เข้าร่วมการสัมภาษณ์ดังกล่าวด้วย
 
ประชาชนทั่วไปสามารถรับชมพิธีพระ ราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลได้ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง ๙ อสมท.) และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง ๑๑) ซึ่งจะถ่ายทอดสดงานพิธีพระราชทานรางวัลฯ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจะถ่ายทอดเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๗.๒๕ น. นอกจากนี้ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่าน internet ได้ทางเว็บไซต์ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ www.princemahidolaward.org ด้วย
 
สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทาน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๖ นั้น ในสาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ. นพ. เดวิด ดี. โฮ (Prof. David D. Ho) จากสหรัฐอเมริกา และ นพ. แอนโทนี ฟอซี (Dr. Anthony Fauci) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบทบาทผลักดันและวิจัยการรักษาผู้ได้รับเชื้อ HIV ด้วยยาต้านไวรัสชนิดผสมหลายตัว ช่วยชีวิตผู้ได้รับเชื้อ HIV ได้หลายสิบล้านคนทั่วโลก ส่วนในสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ บารอนปีเตอร์ ปิอ็อต (Baron Peter Piot) จากเบลเยี่ยม และ นพ. จิม ยอง คิม (Dr. Jim Yong Kim) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบทบาทรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ ทำให้โรคเอดส์เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและตระหนักรู้จากรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก และมีบทบาทรณรงค์ให้ผู้ได้รับเชื้อ HIV สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดผสมหลายตัวอย่างทั่วถึง

เอกสารประกอบ

media-center-20140121-185552-304255.pdf