เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 27,383 view

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs)

 

1. ภูมิหลัง ที่ประชุม Millennium Summit เมื่อ ก.ย. 2543 ได้รับรอง Millennium Declaration ซึ่งกำหนดเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs)  เป็นวาระการพัฒนาของโลก ประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 8 ข้อ ได้แก่ (1)  ขจัดความยากจนและความหิวโหย (2) ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา (3) ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี (4)  ลดอัตราการตายของเด็ก (5) พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ (6) ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ  (7) รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (8) ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก

 

2. ความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อบรรลุ MDGs ของไทย

ครม. ได้มอบหมายให้ สศช. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและเผยแพร่รายงานผลความก้าวหน้าการบรรลุ MDGs ของไทย โดยได้มีรายงานผลตามเป้าหมาย MDGs แล้ว 2 ครั้ง ได้แก่

(1) ปี 2547 พบว่า ไทยได้บรรลุเป้าหมาย MDGs ด้านความยากจน ความหิวโหย ความไม่เท่าเทียมทางเพศ โรคเอดส์และมาลาเรียแล้ว จึงได้ริเริ่มแนวคิด “MDG-Plus” ที่มีความท้าทายยิ่งกว่า

(2) ปี 2552 พบว่า ไทยได้บรรลุ MDGs หลายด้าน ประกอบด้วย การขจัดความยากจนและความหิวโหย การให้เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ การต่อสู้โรคเอดส์ การลดสัดส่วนประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและสุขาที่ถูกสุขลักษณะ การยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในชุมชนแออัด รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้ง การบรรลุเป้าหมาย MDG-Plus ที่ไทยได้กำหนดขึ้นในเรื่องการลดอัตราการตายของเด็กและพัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์ในพื้นที่ที่ห่างไกลและชายขอบ

 

3. แนวทางการดำเนินงานของไทย

            3.1 ไทยเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยรัฐบาลได้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (life-cycle policy)  มีเป้าหมายในการพัฒนาคนไทยทุกคนในแต่ละช่วงชีวิต

            3.2 ความท้าทายในอนาคตที่สำคัญของไทย  การขับเคลื่อนการพัฒนาตามเป้าหมาย MDGs จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาระดับความก้าวหน้าของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม โดยประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของการดำเนินงานแบบคู่ขนานดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม การรักษาและยกระดับความก้าวหน้าโดยขับเคลื่อนการพัฒนาบนฐานความรู้ ความพอเพียงและความยั่งยืน การเตรียมความพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุ การสร้างคุณค่าสังคมที่เอื้ออาทรและเท่าเทียมกันทางโอกาส การเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โรคระบาด โดยเฉพาะโรคติดต่ออุบัติใหม่  ภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

4. บทบาทของไทย ไทยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในลักษณะความร่วมมือแบบ South-South Cooperation และแบบไตรภาคี เน้นประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในแอฟริกา โดยเน้นสาขาที่สนับสนุน การขจัดความยากจน การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี และการบรรลุ MDGs ได้แก่ การพัฒนาภาคการเกษตร การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

---------------------------------

กรมองค์การระหว่างประเทศ

กองกิจการเพื่อการพัฒนา