ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 4,235 view

 

เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ บรรยายสรุปชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีตีความ คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ และแนวทางการดำเนินการต่อไป โดยนายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และตัวแทนประเทศไทยในการต่อสู้คดีฯ เข้าร่วมด้วย สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

. ในการตัดสินคดีฯ ศาลเห็นว่าเส้นขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตาม มติคณะรัฐมนตรี ปี ๒๕๐๕ นั้น ไม่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณใกล้เคียงทั้งหมด เนื่องจากไม่ครอบคลุมถึงที่ตั้งของสถานีตำรวจไทยซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทพระวิหาร

. ในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาท (vicinity) ซึ่งศาลฯ กำหนดตามคำพิพากษาว่า คือ promontory (คำแปลชั่วคราว คือ ยอดเขาพระวิหาร) ได้ว่า มีอาณาบริเวณและพื้นที่เท่าใด เนื่องจากต้องศึกษาคำพิพากษาโดยละเอียด ทั้งยังต้องลงไปดูสภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่จริงเสียก่อน แต่สิ่งที่สามารถยืนยันได้จากคำพิพากษาของศาลฯ คือ บริเวณใกล้เคียงปราสาทไม่ใช่พื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร และเส้นเขตแดนบนแผนที่ภาคผนวก ๑ มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ไม่ผูกพันไทยในฐานะ เส้นเขตแดนทั่วไประหว่างไทย – กัมพูชา ตามที่กัมพูชากล่าวอ้างมาโดยตลอด ซึ่งแสดงว่าศาลฯ รับฟังข้อต่อสู้ที่ฝ่ายไทยนำเสนอ

. ศาลฯ ได้ยอมรับว่าการถ่ายทอดเส้นขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านทิศเหนือของตัวปราสาทฯ นั้น ทำได้ยาก และทั้งไทยและกัมพูชาจะต้องหารือ เจรจากันเพื่อดำเนินการร่วมกันต่อไป ไม่สามารถกำหนดเส้นโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยลำพังได้

. กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลฯ ให้ทุกภาคส่วนของสังคมรับทราบ อย่างไรก็ดี คณะทำงานต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อศึกษา ในรายละเอียดแล้วจึงจะสามารถชี้แจงต่อสังคมอย่างชัดเจนได้ นอกจากนี้ ประเด็นพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทตามคำพิพากษาของศาลฯ เป็นประเด็นที่จะต้องเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป กระทรวงฯ จึงไม่สามารถระบุชี้ชัดขอบเขตหรือพื้นที่ได้ เนื่องจากจะกระทบต่อท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย ซึ่งขอย้ำว่าในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ฝ่ายไทยจะมุ่งหาข้อยุติที่ทั้งสองฝ่ายพอใจและยอมรับได้

. แนวทางการหารือกับฝ่ายกัมพูชาในอนาคต ฝ่ายไทยจะยึดหลัก ๔ ประการ ซึ่งรัฐสภา เห็นสอดคล้อง ได้แก่ ๑) การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ๒) การปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์แห่งชาติ ๓) การรักษาความสัมพันธ์กับกัมพูชาในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกประชาคมอาเซียน และ ๔) การรักษาเกียรติภูมิของประเทศไทยในสังคมโลก

. กระบวนการของศาลฯ สิ้นสุดลงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการดำเนินการตามกระบวนการภายในของไทย โดยจะเริ่มจากการประชุมคณะกรรมการวิเคราะห์คำพิพากษาและแนวทางดำเนินการในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ขอย้ำว่า การหารือเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลฯ กับฝ่ายกัมพูชาจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่ารัฐบาลจะได้ รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน มีการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้เสร็จสิ้น และสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินการที่ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมสนับสนุนเสียก่อน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติ

 

ทั้งนี้ ต่อคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการจัดทำคำพิพากษาฉบับแปลภาษาไทยอย่างเป็นทางการ นั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะทราบดีว่าหลายฝ่ายต้องการนำไปศึกษา อย่างไรก็ดี การแปลคำพิพากษาเป็นเรื่องสำคัญ ต้องดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้มั่นใจได้ว่าแปลน้ำหนักของคำทุกคำได้ถูกต้อง ขณะนี้ คำแปลร่างแรกเสร็จแล้ว แต่คณะกรรมการแปลคำพิพากษาจะต้องใช้เวลาในการตรวจทานอีกระยะหนึ่ง และเมื่อแปลคำพิพากษา เสร็จสมบูรณ์แล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทุกภาคส่วน ส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งยังจะเดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย – กัมพูชา เพื่อพบปะและตอบข้อซักถามของประชาชนอีกด้วย

ต่อคำถามของสื่อมวลชนถึงกรอบเวลาในการเจรจาหารือกับฝ่ายกัมพูชาเกี่ยวกับคำพิพากษานั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า คำพิพากษาของศาลโลกมิได้กำหนดกรอบเวลา การเจรจา กับฝ่ายกัมพูชาจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อฝ่ายไทยได้ศึกษาคำพิพากษาจนถ่องแท้ และได้ผ่านกระบวนการ ทางกฎหมายภายในอย่างถูกต้องแล้ว ปลัดกระทรวงฯ ย้ำว่า ภารกิจที่ต้องดำเนินการจากนี้มีอีกมาก ทุกขั้นตอนเป็นเรื่องสำคัญและต้องใช้เวลา ดังนั้น คงจะยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับกำหนดเวลาการเจรจาในเร็ววันนี้ ซึ่งกระทรวงฯ ยินดีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป

ต่อคำถามเกี่ยวกับกรณีที่มีผู้วิจารณ์ว่าคำพิพากษาของศาลฯ ทำให้ประเทศไทย “เสียดินแดน” นั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอธิบายว่า คำพิพากษามีทั้งส่วนที่เป็นคุณกับฝ่ายไทยอย่างยิ่ง กล่าวคือ ทำให้ข้ออ้างของกัมพูชาเกี่ยวกับพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร การถ่ายทอดเส้นและสถานะของแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ เป็นอันตกไป แต่ส่วนเรื่องการกำหนดขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาทที่ศาลฯ พิพากษาว่าเท่ากับ promontory หรือ ยอดเขาพระวิหาร นั้น เป็นที่เรื่องที่จะต้องเจรจากันต่อไป จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเสียหรือไม่เสียดินแดน การเจรจาอาจทำให้ผลออกมาเป็นชัยชนะของทั้งสองฝ่ายก็ได้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ