นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ต.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,128 view

เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Summit ครั้งที่ ๘ เพื่อกำหนดทิศทางในอนาคตของ EAS รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยในปีนี้ บรูไนในฐานะประธาน EAS ได้เสนอหัวข้อหลักของการหารือ คือ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติ และโรคระบาด

ในการประชุมนี้ ไทยประสงค์ให้ EAS เป็นเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับผู้นำที่มีความสำคัญต่อสถาปัตยกรรมภูมิภาค ซึ่งอาเซียนต้องการรักษาบทบาทที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและท่าทีเกี่ยวกับแนวทางขยายความร่วมมือและรับมือกับประเด็นท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก และการส่งเสริมบทบาทที่สร้างรรค์ของคู่เจรจาของอาเซียนที่เข้าร่วม EAS ในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันถึงความสำคัญในการเป็นเครื่องจักรสำคัญของการเติบโตเศรษฐกิจโลก ซึ่ง EAS จะร่วมกันส่งเสริมการค้าเสรี การเชื่อมโยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ภูมืภาคเอเชียตะวันออกยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งหากไม่สามารถบริหารจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ พื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะอ่อนแอลง ดังนั้น การประชุม EAS จึงต้องพิจารณาการรับมือกับปัญหาและความท้าทาย โดยสร้างความสมารถในการปรับตัว ส่งเสริมการเติบโตที่ทั่วถึง และสร้างเวทีเพื่อหารือเกี่ยวกับการรับมือกับความท้าทายของสันติภาพและความรุ่งเรือง

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกประเด็นความท้าทายที่ EAS ต้องแก้ปัญหา คือ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งความอดอยากของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยต้องทำให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แก้ไขปัญหาการสูญเสียอาหารและเสถียรภาพทางอาหาร การเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิตและสำรองอาหาร การขนส่ง การตลาด การกระจายอาหาร รวมทั้ง การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานอาหาร ซึ่งในประเทศไทยได้เริ่มมีการแบ่งเขตพื้นที่สำหรับการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตมากขึ้นและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร

รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ที่ เว็บไซต์สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล