วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ย. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๒๔ การเยือนสมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐอิตาลี นครวาติกัน และสาธารณรัฐมอนเตเนโกรอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๘ - ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ ประกอบด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยภาคเอกชนชั้นนำของไทยกว่า ๑๐ สาขา ๕๐ คนร่วมคณะเดินทางด้วย
การเยือนสมาพันธรัฐสวิสในครั้งนี้ เป็นการเยือนในรอบ ๒๓ ปี ของนายกรัฐมนตรีไทย สมาพันธรัฐสวิสถือเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มีเศรษฐกิจเข้มแข็ง ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตเศรษฐกิจในยูโรโซน และเป็นศูนย์กลางในหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงินการธนาคาร เคมี เวชภัณฑ์ อิเล็คทรอนิกส์ นอกจากนี้ World Economic Forum ยังจัดให้สมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศสูงมาโดยตลอด ล่าสุด อยู่ในอันดับ ๑ ในการจัดอันดับประจําปี ๒๕๕๖ โดยการเยือนสมาพันธรัฐสวิสอย่างเป็นทางการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะพิเศษ กระชับความสัมพันธ์ในหลายๆ ด้านที่ทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยมีบทบาทโดดเด่นและรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น พร้อมทั้งเป็นโอกาสอันดีในการทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยและหารือกับหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญในเจนีวา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับองค์กรต่าง ๆ และแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากการเดินทางเยือนครั้งนี้ โดยจะเป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นและได้รับการยอมรับในเวทีสหประชาชาติ ในฐานะประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนและการให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและการคงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการสำคัญ ประกอบด้วยการหารือกับประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิส การหารือกับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานสหประชาชาติ การกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม HRC สมัยที่ ๒๔ รวมทั้งการเปิดนิทรรศการภาพถ่าย เกี่ยวกับบทบาทไทยในสหประชาชาติ ซึ่งไทยได้จัดร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
การเยือนอิตาลี เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทยในรอบ ๙ ปี ในความสัมพันธ์ครบรอบ ๑๔๕ ปีความสัมพันธ์ทางการทูต สาธารณรัฐอิตาลีเป็นประเทศในกลุ่ม G8 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา มีพื้นฐานอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง และมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจภาคบริการขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยอิตาลีถือเป็นตลาดที่สําคัญของไทย การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนประเทศอิตาลี ในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะมีการหารือกับนายกรัฐมนตรีอิตาลี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง อาทิ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การออกแบบ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ความร่วมมือทางทหาร รวมทั้งหาแนวทางในการสร้างงานและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน และไทยหวังเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาด้าน SMEs ของอิตาลีเพื่อใช้กับSMEs ไทย นายกรัฐมนตรีจะได้ใช้โอกาสนี้ สร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องด้านนโยบายและแนวทางการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ จะมีการลงนามความตกลง ๓ ฉบับประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับอิตาลีว่าด้วยความร่วมมือ SMEs ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับสถาบันเพื่อการค้าต่างประเทศของอิตาลี (ICE)
การเยือนนครรัฐวาติกัน เป็นการเยือนของนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ในรอบ ๕๘ ปี หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาฟรันซิส พระประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-วาติกันที่มีมายาวนานกว่า ๓๙๐ ปี สะท้อนถึงการเคารพต่อคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่มีอิทธิพลต่อโลกและมนุษยชาติ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ การพัฒนา และการสาธารณกุศลในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยปัจจุบันมีผู้นับถือกว่า ๒.๒ พันล้านคนทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยมีผู้นับถือราว ๓.๗ แสนคน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส และหารือกับพระคาร์ดินัลตาร์ซีซิโอ แบร์โตเน เลขาธิการสันตะสำนัก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านมนุษยธรรมและสันติภาพ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ ยาเสพติด ผู้อพยพ ผู้หนีภัย
การเยือนสาธารณรัฐมอนเตเนโกร โดยนายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนมอนเตเนโกรอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของฝ่ายมอนเตเนโกร ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ กันยายน ๒๕๕๖ ซึ่งจะเป็นการเยือนมอนเตเนโกร และคาบสมุทธบอลข่านเป็นครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีไทย ในระหว่างการเยือนนายกรัฐมนตรีจะมุ่งเน้นการยกระดับความสัมพันธ์และแสวงหาลู่ทางในการเพิ่มพูนเศรษฐสัมพันธ์กับมอนเตเนโกรและคาบสมุทธบอลข่าน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ของการค้าและการลงทุนไทย โดยจะนำคณะนักธุรกิจไทยเข้าพบหารือกับผู้แทนภาครัฐและเอกชนของมอนเตเนโกร และจะเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างไทยกับมอนเตเนโกร และบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจไทยกับมอนเตเนโกร
ในโอกาสนี้ ภาคเอกชนในสาขาต่าง ๆ ได้แสดงความสนใจเข้าร่วมคณะเดินทางมาสมาพันธรัฐสวิสจำนวน ๕๓ คนและสาธารณรัฐอิตาลี จำนวน ๕๖ คน จากสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพในตลาดไทย-สวิสและอิตาลี อาทิ สาขาพลังงานและพลังงานทดแทน สาขาการก่อสร้างและอุตสาหกรรมยานยนต์ สาขาอาหาร สาขาการออกแบบและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อร่วมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโอกาสลู่ทางการค้า การลงทุนในสวิสฯและอิตาลี และศึกษาดูงานจากคู่ธุรกิจ
โดยนายกรัฐมนตรีและคณะจะออกเดินทางในวันอาทิตย์ที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๖ โดยเที่ยวบินพิเศษ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา ๐๙.๒๕ น. และเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเจนีวา เวลา ๑๖.๐๐ น. ตามเวลาท้องถิ่น ในวันเดียวกัน และจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๒๕ น.
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **