วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
หมู่เกาะคุก
Cook Islands
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนิวซีแลนด์ประมาณ 2,012 ไมล์
พื้นที่ 240 ตารางกิโลเมตร มีเกาะต่าง ๆ 15 เกาะ
เมืองหลวง กรุงอะวารัว (Avarua)
ภูมิประเทศ หมู่เกาะคุกประกอบด้วย 15 เกาะหลัก โดยทั้งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ หมู่เกาะคุกทางตอนเหนือ และหมู่เกาะคุกตอนใต้
ภูมิอากาศ อยู่ในเขตร้อนชื้น และมีไต้ฝุ่นเป็นครั้งคราว
ประชากร 17,791 คน (2555)
เชื้อชาติ หมู่เกาะคุกเมารีร้อยละ 87.7 เชื้อสายหมู่เกาะคุกเมารีร้อยละ 5.8 และเชื้อชาติอื่น ๆ ร้อยละ 6.5
ศาสนา คริสต์
ภาษา ภาษาอังกฤษและภาษาเมารี
หน่วยเงินตรา ดอลลาร์นิวซีแลนด์
วันชาติ 4 สิงหาคม 2508 เป็นวันที่สาธารณรัฐหมู่เกาะคุกได้รับเอกราชจากนิวซีแลนด์ (แต่ยังมีความสัมพันธ์แบบ Free Association กับนิวซีแลนด์อยู่)
GDP 183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)
GDP per capita 16,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)
Real GDP Growth ร้อยละ 5.4 (2555)
อุตสาหกรรมที่สำคัญ การท่องเที่ยว ประมง ผลิตภัณฑ์จากหอยมุก
สินค้าส่งออกที่สำคัญ มะพราวแห้ง ไข่มุก ไข่มุกดำ ผลไม้สดและผลไม้แปรรูป
สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร สิ่งทอ เชื้อเพลิง ไม้ อุปกรณ์ก่อสร้าง และอุปกรณ์เครื่องจักร
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ นิวซีแลนด์ ฟิจิ ออสเตรเลีย จีน
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) 1,830,000 ตารางกิโลเมตร
ปัจจุบันหมู่เกาะคุกมีความสัมพันธ์แบบ (free association with New Zealand) กับนิวซีแลนด์ จากเดิมที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของนิวซีแลนด์จนได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2508 ประชากรในประเทศถือสัญชาตินิวซีแลนด์และสามารถขอหนังสือเดินทางนิวซีแลนด์ได้
หมู่เกาะคุกมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งมีสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่ง สหราชอาณาจักรเป็นประมุขของรัฐและมีผู้สำเร็จราชการ (มีอำนาจแต่งตั้งหรือปลดนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐสภาเสนอ) หมู่เกาะคุกปกครองโดยระบอบการปกครองแบบรัฐสภา (สภาเดี่ยว) ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 24 คน มีวาระ การดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และมีสภาท้องถิ่น (House of Ariki) ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) ซึ่งประกอบด้วย บุคคลชั้นสูง (Ariki) ที่มาจากกรุง Avarua, Rarotonga ซึ่งเป็นเมืองหลวงจำนวน 6 คน และอีก 9 คนมาจากเกาะบริวารอื่นๆ หน้าที่ของสภาท้องถิ่น (House of Ariki) คือ ให้คำแนะนำรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายการจัดสรรที่ดินและศุลกากร อย่างไรก็ดี ประชาชนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งและต้องไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้ง แต่กฎหมายไม่ได้บังคับให้ประชาชนทุกคนต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
นายกรัฐมนตรีหมู่เกาะคุกคนปัจจุบันคือ นาย Henry Puna
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและตรวจคนเข้าเมือง คือ นาย Tom Marsters
สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุด
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อพรรค The Cook Island Party (CIP) ของ นาย Henry Puna สามารถชนะการเลือกตั้งเหนือพรรค Democratic Party ของอดีต นรม. นาย Jim Marurai หลังจากที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลายสมัย โดยได้รับเลือก 16 ที่นั่งจากทั้งหมด 24 ที่นั่ง
เศรษฐกิจของหมู่เกาะคุกตั้งอยู่บนพื้นฐานของ การท่องเที่ยว ทรัพยากรทางทะเล และเงินช่วยเหลือจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ระบบเศรษฐกิจของหมู่เกาะคุกมีขนาดเล็กและมีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานจำนวนจำกัด กอปรกับทำเลที่ตั้งของประเทศอยู่ห่างไกลจึงกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุนที่สำคัญ อย่างไรก็ดี หมู่เกาะคุกมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร โดยในปี 2553 มีอัตราเจริญเติบโตของ GDP ร้อยละ 0.5 นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายหลักเน้นการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งรวมถึงการจัดทำฟาร์มหอยมุกสีดำ (black pearl farming) ที่บริเวณเกาะทางตอนเหนือของประเทศ
สินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ มะพร้าวแห้ง ผลไม้สด ผลไม้กระป๋อง ไข่มุกดำและเสื้อผ้า
อุปสรรคทางการค้าที่สำคัญของหมู่เกาะคุกเกิดจากการอพยพย้ายถื่นฐานของประชากรในประเทศ โดยประชากรส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นฐานไปยังนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ จึงทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
หมู่เกาะคุกเป็นสมาชิกของ Pacific Islands Forum (PIF), the Pacific Community (SPC), Asian Development Bank (ADB), World Health Organization (WHO), the United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO), the Food and Agriculture Organization (FAO), the International Civil Aviation Organization (ICAO), Forum Fisheries Agency (FFA), the Western and Central Pacific Fisheries Commission (WCPFC), the Pacific Islands Applied Geoscience Commission (SOPAC), the Pacific Regional Environment Program (SPREP) แต่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยหมู่เกาะคุกประกาศจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก UN ในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งเป็นวันชาติของหมู่เกาะคุกด้วย และจะเข้าร่วมการประชุมของ UN เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายนปีเดียวกัน
หมู่เกาะคุกมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับนิวซีแลนด์ โดยจะเห็นได้จากการที่หมู่เกาะคุกเปิดสำนักงานผู้แทนทางการทูตที่นิวซีแลนด์เพียงแห่งเดียว (สำนักงานข้าหลวงใหญ่หมู่เกาะคุกประจำนิวซีแลนด์)
ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ไทยและหมู่เกาะคุกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 โดยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตันเป็นจุดติดต่อดูแลหมู่เกาะคุก โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 สำนักงานข้าหลวงใหญ่หมู่เกาะคุกประจำนิวซีแลนด์ได้มีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตันแจ้งว่า รัฐบาลหมู่เกาะคุกมีมติสนับสนุนการปรับสถานะหมู่เกาะคุกเป็นเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูตฯ
ไทยเป็นประเทศคู่เจรจาของ Pacific Island Forum (PIF) และได้แจ้งเวียนทุนการศึกษาและความช่วยเหลือประเทศสมาชิกหมู่เกาะแปซิฟิก รวมทั้งหมู่เกาะคุกผ่านทางเลขาธิการ PIF ที่ผ่านมามีบุคลากรจากหมู่เกาะคุกเข้ารับการฝึกอบรมของ สพร. เพียง 1 คน (ปี 2554) และทราบจากนาย Jim Gosselin ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหมู่เกาะคุกว่า หมู่เกาะคุกเคยส่งบุคลากรมาฝึกอบรมในไทยในด้านการท่องเที่ยงและแกะสลักอาหารด้วย
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
การค้าไทย-หมู่เกาะคุก ปัจจุบันมีไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 ของหมู่เกาะคุก (ไม่รวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) โดยในปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวม 2.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 1.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้าสินค้าจากหมู่เกาะคุกมูลค่า 0.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 0.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังหมู่เกาะคุก ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์เซรามิก รองเท้าและชิ้นส่วน เหล็ก
สินค้านำเข้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากหมู่เกาะคุก ได้แก่ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไข่มุกและเครื่องประดับ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ธุรกรรมพิเศษ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป
การหารือทวิภาคีระหว่างฝ่ายไทย-หมู่เกาะคุก
******************************
สถานะ ณ กรกฎาคม 2556
กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **