ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง
อยู่ทางทิศตะวันออกของทวีปเอเชีย มีพรมแดนติดต่อกับประเทศต่าง ๆ โดยรอบ 15 ประเทศ คือ เกาหลีเหนือ รัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน เคอร์กิชสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล สิกขิม ภูฐาน พม่า ลาว และเวียดนาม - ทิศตะวันออกและทิศใต้ ติดกับทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้
พื้นที่
9.6 ล้านตารางกิโลเมตร (ประมาณ 19 เท่าของประเทศไทย)
เมืองหลวง
กรุงปักกิ่ง (ภาษาราชการจีนเรียกว่า “เป่ยจิง”)
ประชากร
1,350 ล้านคน
ภาษาราชการ
จีนกลาง
ศาสนา
ลัทธิเต๋า พุทธ คริสต์ และอิสลาม
ประมุข
ประธานาธิบดี นายสี จิ้นผิง (Xi Jinping) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556
ผู้นำรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี นายหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2556
รัฐมนตรีต่างประเทศ
นายหวัง อี้ (Wang Yi) เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2556
ระบอบการปกครอง
ระบอบสังคมนิยมแบบจีน
เขตการปกครอง
การปกครองส่วนกลางแบ่งออกเป็น 23 มณฑล (รวมถึงไต้หวัน) 5 เขตปกครองตนเอง (มองโกเลีย หนิงเซี่ย ซินเจียง กวางสี และทิเบต) 4 มหานครที่ขึ้นต่อส่วนกลาง (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และฉงชิ่ง) และ 2 เขตบริหารพิเศษ(ฮ่องกง และมาเก๊า) สำหรับ การปกครองในส่วนภูมิภาคยังแบ่งย่อยออกเป็นจังหวัด (Prefecture) มี 159 จังหวัด อำเภอ (County) มี 2,017 อำเภอเมือง (City) มี 350 เมือง และเขตในเมืองต่างๆ ประมาณ 630 เขต
วันชาติ
วันที่ 1 ตุลาคม (สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ จีนมีชัยชนะในสงครามกลางเมืองเหนือพรรคก๊กหมินตั๋ง)
วันสถาปนาความสัมพันธ์
ทางการทูตกับไทย
วันที่ 1 กรกฎาคม 2518
หน่วยเงินตรา
“เหรินหมินปี้” โดยมีหน่วยเรียกเป็น “หยวน” (1 หยวน เท่ากับ 4.92 บาท)
ผลิตภัณฑ์มวลรวม
ภายในประเทศ
7,298 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชาชาติต่อหัว
4,414 ดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ 9.2
สินค้านำเข้าสำคัญ
แผงวงจรไฟฟ้า ปิโตรเลียมดิบ น้ำมันดิบ
สินค้าส่งออกสำคัญ
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เหล็ก เฟอร์นิเจอร์
ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 และ ปี 2553 จะครบรอบ คสพ. 35 ปี ความสัมพันธ์ฯ มีพัฒนาการราบรื่นมาโดยตลอด มีความใกล้ชิดทุกระดับและไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยอาจมีปัจจัยเกื้อกูลจากการที่ประเทศทั้งสองไม่มีปัญหาความขัดแย้งที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ และปัญหาเรื่องพรมแดน อีกทั้งยังมีความผูกพันในด้านวัฒนธรรมและเชื้อชาติมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายมุ่งส่งเสริม ความสัมพันธ์ และความร่วมมือบนพื้นฐานของความเสมอภาค การเคารพและไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน และอยู่ภายใต้หลักการของผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง สันติภาพ และเสถียรภาพของภูมิภาค
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ทั้งสองฝ่ายได้พัฒนาไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2544 และต่อมาความสัมพันธ์ได้พัฒนาบนพื้นฐานของแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ไทย-จีน (Joint Action Plan on Thailand-China Strategic Cooperation) ลงนามเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือ 5 ปี (2550 - 2554) ความร่วมมือ 15 สาขา ประกอบด้วย (1) การเมือง (2) การทหาร (3) ความมั่นคง (4) การค้าและการลงทุน (5) เกษตรกรรม (6) อุตสาหกรรม (7) คมนาคม (8) พลังงาน (9) การท่องเที่ยว (10) วัฒนธรรม (11) การศึกษาและการอบรม (12) สาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์ (13) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (14) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (15) ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคี
ในระดับรัฐบาล มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ในขณะที่ นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนได้เดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน+1 อาเซียน+3 ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้องซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนตุลาคม 2552 นอกจากนี้ ไทยยังดำเนินนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับจีนในรายมณฑล และผู้นำมณฑลต่าง ๆ ของจีนก็มี ความสนใจและให้ความสำคัญกับประเทศไทย โดยมีการเยือนกันอย่างสม่ำเสมอ อาทิ นายวาง หยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกวางตุ้ง (ตำแหน่งเทียบเท่าระดับรองนายกรัฐมนตรี) เป็น 1 ใน 25 ผู้นำระดับสูงของจีน (คณะกรรมการโปลิตบุโร) เยือนไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ในฐานะแขกของรัฐบาล นายกัว เซิงคุน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตปกครองตนเองกวางสีฯ เยือนไทยระหว่างวันที่ 13 - 17 มกราคม 2553
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
การค้า
เนื่องจากผลผลกระทบจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยตั้งแต่ปลายปี 2551 ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2552 ขยายตัวลดลงร้อยละ 8.53 โดยมีมูลค่ารวม USD 33,152.83 ล้าน แบ่งเป็นไทยส่งออกไปจีน USD 16,123.88 ล้าน และไทยนำเข้าจากจีน USD 17,028.95 ล้าน ไทยขาดดุลการค้าจีน USD 905.07 ล้าน อย่างไรก็ตาม จีนยังเป็น คู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากญี่ปุ่น
สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และผ้าผืน เป็นต้น
การลงทุน
ปี 2552 จีนได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทุนในไทยรวมทั้งหมด 25 โครงการ ในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการผลิตเคมีภัณฑ์พื้นฐาน และการเกษตร รวมมูลค่า 43,189 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 15 โครงการ รวมมูลค่า 7,009 ล้านบาท ทั้งนี้ นับได้ว่าจีนเป็นผู้ลงทุนอันดับ 4 ในไทย รองจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ตามลำดับ
การท่องเที่ยว
ในปี 2552 ปริมาณนักท่องเที่ยวระหว่างกันรวม 1,213,688 คน โดยเป็นนักท่องเที่ยวไทยไปจีน จำนวน 436,300 คน โดยมีจำนวนลดลง 7,475 คน เมื่อเทียบกับปี 2551 (443,775) และนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 777,388 คน โดยมีจำนวนลดลง 49,272 คน เมื่อเทียบกับปี 2551 (826,660 คน)
ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ
การเยือนที่สำคัญฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมาโดยตลอดทุกระดับ โดยเฉพาะระดับพระราชวงศ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนจีนทุกปี ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า "ทูตสันถวไมตรี" เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 และในปี 2552 ทรงได้รับรางวัล "Chinese Connection- Top Ten International Friends of China" ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จเยือนจีนเพื่อทรงแสดงงานดนตรีสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ที่กรุงปักกิ่ง นครกวางโจว และนครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 12 - 25 ธันวาคม 2552
กองเอเชียตะวันออก 3
เมษายน 2556
กองเอเชียตะวันออก 3
Tel: 0-2643-5203-4 Fax: 0-2643-5205