รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของอาเซียน ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ ๔๖ ที่บรูไนดารุสซาลาม

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของอาเซียน ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ ๔๖ ที่บรูไนดารุสซาลาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,534 view

เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ ๔๖ (46th ASEAN Foreign Ministers’ Meeting) ที่บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของอาเซียนและประเด็นสำคัญอื่น ๆ ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นสำคัญที่ท้าทายภูมิภาค ได้แก่ ๑) การจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน ซึ่งส่งผลกระทบสมาชิกอาเซียนหลายประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค และได้เรียกร้องให้อาเซียนพัฒนากลไกตอบสนองอย่างเร่งด่วน เพื่อจัดการกับปัญหาหมอกควันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการฝึกซ้อมร่วมและการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในการนี้ ไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำฝนเทียมตามแนวทางของโครงการฝนหลวงเพื่อดับไฟป่า ๒) การพยากรณ์อากาศ อาเซียนจำเป็นต้องมีระบบพยากรณ์อากาศทั่วภูมิภาคที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยอาจร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาที่มีความเชี่ยวชาญ ๓) ความมั่นคงทางอาหาร อาเซียนควรสำรองผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากข้าวและปรับปรุงเทคโนโลยีในการเก็บรักษาพืชผล ๔) ความมั่นคงทางพลังงาน โดยส่งเสริมให้อาเซียนร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับภูมิภาคที่เผชิญความท้าทายด้านพลังงานใกล้เคียงกัน เช่น ภูมิภาคดานูบในยุโรป ๕) การย้ายถิ่นฐาน โดยเรียกร้องให้อาเซียนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการระบุตัวบุคคล เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมช้ามชาติ การอพยพย้ายถิ่นอย่างผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และการค้ายาเสพติด

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำด้วยว่า เพื่อรักษาความสำคัญของอาเซียนในโลกปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาเซียนควรให้ความสำคัญกับการบูรณาการและจัดการกับประเด็นที่คาบเกี่ยวทั้ง ๓ เสาประชาคมให้เป็นระบบและสอดคล้องกัน การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานและกลไกต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ การรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อให้อาเซียนยังคงเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค การคงนโยบายมองออกไปนอกภูมิภาค และขยายความร่วมมือกับภูมิภาคอื่น ๆ และการยกระดับและบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นความสำคัญของการเป็นแกนกลางของอาเซียนในการพัฒนาสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและริเริ่มความร่วมมือใหม่ ๆ กับคู่เจรจา ประเทศสมาชิกควรมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและผลักดันข้อริเริ่มใหม่ๆ ในกรอบต่างๆ ที่นำโดยอาเซียน นอกจากนี้ อาเซียนจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประเทศมหาอำนาจมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์และใช้จุดแข็งของตนเพื่อนำไปสู่การขยายความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของภูมิภาค นอกจากนี้ อาเซียนควรรักษาความเป็นเอกภาพ อาทิ ในประเด็นทะเลจีนใต้ และควรร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับจีนเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือระหว่างกัน โดยการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และผลักดันการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ให้มีความคืบหน้า

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความห่วงกังวลของไทยต่อสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งเรียกร้องให้อาเซียนมีส่วนร่วมในประเด็นดังกล่าวและพัฒนาท่าทีร่วมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงในภูมิภาค

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของเมียนมาร์ในปี ๒๕๕๗ และได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AMM Retreat) ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ ๑๓ – ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๖

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ