วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มิ.ย. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๖นาย Salil Shetty เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International – AI) ได้เข้าพบ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของไทยและอาเซียนที่อยู่ในความสนใจของ AI และนำเสนอรายงานประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๓ ของ AI
AI แสดงความชื่นชมบทบาทสำคัญของไทยด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีอาเซียน และต้องการให้อาเซียนมีบทบาทที่แข็งขันยิ่งขึ้นในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน AI เห็นว่าในการสร้างประชาคมอาเซียน อาเซียนควรให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากการเน้นเรื่อง ๓ เสาหลักของอาเซียน ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ถูกสอดแทรกอยู่ในทุกเสาของอาเซียนอยู่แล้ว เสาการเมืองและความมั่นคง ในลักษณะการสร้างแนวปฏิบัติ เสาเศรษฐกิจ ในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างครอบคลุมโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และเสาสังคมและวัฒนธรรม ในด้านการคุ้มครองเด็ก สตรี การต่อต้านการค้ามนุษย์ พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการผลักดันความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในกรอบอาเซียน ซึ่งก็ได้มีพัฒนาการมาระดับหนึ่งแล้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า AI สามารถแสดงบทบาทในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในอาเซียนได้
AI แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับประเด็นโทษประหารชีวิต ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งว่าไทยตระหนักดีถึงความห่วงกังวลของประชาคมระหว่างประเทศ พร้อมแจ้งพัฒนาการเชิงบวกที่เกี่ยวข้อง เช่น การยกเลิกโทษประหารชีวิตต่อเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี สตรีมีครรภ์หรือมีลูกอ่อนและผู้ป่วยโรคจิต การยกเลิกการใช้โซ่ตรวนกับผู้ต้องขัง นอกจากนั้น AI แสดงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการดูแลผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการดูแลชาวโรฮิงญาของไทย ซึ่งยึดหลักมนุษยธรรม พร้อมย้ำความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับภูมิภาค
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ AI แจ้งความสนใจที่จะเปิดสำนักงานระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากไทยมีท่าทีเปิดกว้างต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งการเปิดสำนักงานน่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและในภูมิภาค
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **