งานเลี้ยงรับรองเพื่อเฉลิมฉลอง ๑๘๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐอเมริกา

งานเลี้ยงรับรองเพื่อเฉลิมฉลอง ๑๘๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,215 view

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ ๑๘๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ต่อเนื่องและยาวนานเกือบ ๒ ศตวรรษ นับตั้งแต่การลงนามใน Treaty of Amity and Commerce ระหว่างกันเมื่อปี ๒๓๗๖ โดยเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และมีความหลากหลาย กว้างขวาง ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน (people connectivity)

กิจกรรมฯ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนหลัก ได้แก่ งานเลี้ยงรับรอง และการออกร้านและนิทรรศการ งานเลี้ยงรับรองจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “อวกาศ” ซึ่งสะท้อนภาพความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนสำหรับอนาคต (Partnership for the future) สื่อความหมายว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะยั่งยืน เพิ่มพูน งอกงาม และครอบคลุมมิติใหม่ ๆ ในอนาคต ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ความเป็นหุ้นส่วนสำหรับอนาคต ยังหมายถึงความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ แต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคด้วย

งานเลี้ยงรับรองดังกล่าวได้รับเกียรติจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเป็นแขกเกียรติยศและเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดงาน โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีแขกผู้มีเกียรติที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ จากทุกภาคส่วนเข้าร่วมด้วย เช่น คณะรัฐมนตรี ผู้แทนระดับสูงจากส่วนราชการต่าง ๆ คณะทูต และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน และบุคคลจากแวดวงต่าง ๆ ซึ่งความหลากหลายนี้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่ครอบคลุมทุกมิติ

นอกจากนี้ ในงานเลี้ยงรับรองมีการแสดง shadow play โดยคณะคิดบวกสิปป์ ซึ่งเป็นผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวด Thailand’s Got Talent ร่วมกับการร้องเพลงและการบรรเลงดนตรีโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยและการฉายวีดิทัศน์การสัมภาษณ์บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคมไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เช่น นายอาสา สารสิน นายนิตย์ พิบูลสงคราม และ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ Father Joe Maier ผู้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (Mercy Center) ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร รวมทั้งบุคคลและศิลปินสาขาต่าง ๆ รวมทั้งนักกีฬาที่มีชื่อเสียงของไทยเช่น นายมีชัย วีระไวทยะ นายถกลเกียรติ วีรวรรณ นายทอดด์ ทองดี นายบัณฑิต อึ้งรังสี ศิลปินวงไทเทเนียม นายสมรักษ์ คำสิงห์ นางสาวแทมมารีน ธนสุกาญจน์ นาย Geoffrey Longfellow และนาย Joe Bryant โค้ชทีมบาสเก็ตบอล Sport Rev Thailand Slammer

การออกร้านและนิทรรศการได้รับความร่วมมือจากร้านหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) นำสินค้าไทยมาจัดแสดง และความร่วมมือจากภาคเอกชนของไทยและสหรัฐฯ ในการจัดแสดงวัฒนธรรมและให้บริการอาหาร รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากสมาคมแอนนิเมชั่นแห่งประเทศไทยนำมาสค็อตจากภาพยนตร์เรื่อง “ปังปอนด์” พร้อมตัวอย่างภาพยนตร์แอนนิเมชั่นมาฉายให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชม รวมถึงการจัดแสดงหุ่นยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทของคนไทย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการฉายภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีประกวดภาพยนตร์สั้นที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ทั้งนี้ การออกร้านและนิทรรศการได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียน และนิสิตนักศึกษาจำนวนมาก โดยเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพี่น้อง (Sister School) กับโรงเรียนในสหรัฐฯ และนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยที่มีการเรียน-การสอนวิชาอเมริกันศึกษา

ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ ๓ ของไทย (รองจากญี่ปุ่นและจีน) และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ ๔ (รองจากญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป) สินค้าที่ไทยส่งออก ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป และสินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ โดยในปี ๒๕๕๕ มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศรวม ๓๕,๖๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๑.๑๑ ล้านล้านบาท) ในปี ๒๕๕๕ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยจำนวน ๔๙ โครงการ คิดเป็นมูลค่า ๑๗,๘๙๐.๒ ล้านบาท อุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ สนใจเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และกระดาษ อุตสาหกรรมการบริการ และอุตสาหกรรมโลหะและเครื่องจักร

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ