วันที่นำเข้าข้อมูล 11 เม.ย. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting) การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Council) ครั้งที่ ๙ และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council) ครั้งที่ ๑๑ เพื่อเตรียมการการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๒ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕ เมษายน ๒๕๕๖ ที่บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาราม โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
๑. การเป็นประธานอาเซียนของบรูไนฯ บรูไนฯ กำหนดหัวข้อหลักในปีนี้คือ “Our People, Our Future Together” เพื่อสะท้อนความสำคัญของบทบาทของประชาชนในการขับเคลื่อนอาเซียนและกำหนดอนาคตของภูมิภาค โดยบรูไนฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามสิ่งที่ตกลงกันไว้แล้วให้มีความคืบหน้า โดยในส่วนของไทยจะผลัก ๓ ประเด็นหลักใน ได้แก่ ๑) การเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) ภายในภูมิภาคและกับนอกภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างสมาชิกอาเซียน โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Enhancing Connectivity through Multi-layered Regional Frameworks: The Roles of Dialogue Partners ในเดือนกรกฎาคมนี้ ๒) การเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) โดยอาเซียนจะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนและดำเนินนโยบายเชิงรุกกับประเทศคู่เจรจา เพื่อรักษาเสถียรภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจ และการสร้างประชาคมอาเซียนร่วมกัน ๓) การมีท่าทีร่วมกันที่ชัดเจนในประเด็นสำคัญระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เช่น ทะเลจีนใต้ และคาบสุมทรเกาหลี
๒. การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in South East Asia-TAC) ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเห็นชอบให้นอร์เวย์เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว
๓. สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี โดยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เสนอที่ประชุมว่าอาเซียนควรกระตุ้นให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องยับยั้งชั่งใจและควรหันมาเจรจาอย่างสร้างสรรค์
๔. ทะเลจีนใต้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเห็นว่าอาเซียนจะต้องเดินหน้าไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct- COC) กับจีน รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวย้ำบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน- จีน ซึ่งทำงานกับทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิดและแข็งขัน และมุ่งไปสู่การจัดทำ COC ต่อไป
๕. การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญต่อการกระชับความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในภูมิภาค เช่น ยาเสพติด ภัยพิบัติ และการค้ามนุษย์ รองนายกรัฐมนตรีฯ ย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างหน่วยงานด้านยาเสพติดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งให้มีการเร่งรัดการพิจารณาอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ และผลักดันการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคในเรื่องนี้เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำอนุสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องที่อาเซียนจะต้องทำงานร่วมกัน ในส่วนของไทยก็ได้ดำเนินความพยายามอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งรวมถึงความพยายามที่จะให้สหรัฐฯ ปรับระดับของไทยใน TIP Report ให้ดีขึ้นด้วย
ที่ประชุมเน้นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการประสานงานระหว่างองค์การต่างๆ ภายใต้สามเสาหลัก และให้การดำเนินการตามแผนการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในประเด็นที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเสาต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้เชิญให้รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศอาเซียนเข้าร่วม
การจัดการฝึกซ้อม ARF DiREx ซึ่งจะจัดขึ้นที่ชะอำระหว่างวันที่ ๗-๑๑ พฤษภาคมนี้
๖. การประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ACC) ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูง (High Level Task Force) เพื่อพิจารณารายงานของ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เพื่อการสร้างความเข้มแข็งของสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าของการพิจารณาความพร้อมของติมอร์-เลสเต ในการสมัครสมาชิกอาเซียน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานของแต่ละเสาประชาคมอาเซียนยังอยู่ในระหว่างการศึกษาอย่างละเอียดอยู่
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **