วันที่นำเข้าข้อมูล 10 เม.ย. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากาiกระทรวงการต่างประเทศหารือทวิภาคีกับนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์ ช่วงก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม
รองนายกรัฐมนตรีฯ แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องในเมียนมาร์ ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ และได้กล่าวเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในโอกาสการครบรอบ ๖๕ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – เมียนมาร์ในปีนี้ รวมทั้งแสดงความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (JC) ไทย – เมียนมาร์ ได้โดยเร็ว หลังจากการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ได้แก่
๑) ความคืบหน้าของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีฯ แสดงความหวังว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อระดมการลงทุนและจัดระบบการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว
๒) ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือของไทย รองนายกรัฐมนตรีฯ ขอความร่วมมือฝ่ายเมียนมาร์ช่วย
ตรวจสอบและควบคุมต้นเหตุของไฟป่าและหมอกควันในฝั่งเมียนมาร์ และแจ้งว่าไทยพร้อมจะร่วมมือและสนับสนุนด้านวิชาการแก่เมียนมาร์ ซึ่งฝ่ายเมียนมาร์ยินดีให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าของชาวเขาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำไร่ ซึ่งในเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้มีการหารือกันระหว่างไทย – เมียนมาร์ – ลาว เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
๓) ปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาร์ ซึ่งไทยเห็นว่าสถานการณ์ในเมียนมาร์มีพัฒนาการที่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางกลับถิ่นฐานเดิมของผู้หนีภัยฯ และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของผู้หนีภัยฯ ในการเดินทางกลับรวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือสามฝ่าย ระหว่างไทย เมียนมาร์ และ UNHCR ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเมียนมาร์ยืนยันความพร้อมในการรับผู้หนีภัยกลับประเทศ
๔) สถานการณ์รัฐยะไข่และการหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีฯ แจ้งว่า ปัจจุบัน ทางการไทยดูแลผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายชาวโรฮิงญาประมาณ ๒,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและสตรีประมาณ ๕๐๐ คน ซึ่งนับเป็นภาระที่หนักหน่วง โดยจากผลการสำรวจของ UNHCR พบว่า บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่รัฐยะไข่ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากฝ่ายเมียนมาร์ในการส่งเจ้าหน้าที่มาพิสูจน์แหล่งที่มาของชาวโรฮิงญาเหล่านี้ รวมทั้งพิจารณาแนวทางจัดการกับปัญหาที่ต้นทาง โดยไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านมนุษยธรรม ซึ่งฝ่ายเมียนมาร์แสดงความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และยินดีรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาประเทศในลักษณะทวิภาคี
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **