เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม (HRH. Prince Philippe of Belgium) เสด็จทำเนียบรัฐบาล โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รอรับเสด็จและถวายการต้อนรับ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเชิญเสด็จฯสู่ตึกสันติไมตรีหลังใน เพื่อหารือข้อราชการ

เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม (HRH. Prince Philippe of Belgium) เสด็จทำเนียบรัฐบาล โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รอรับเสด็จและถวายการต้อนรับ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเชิญเสด็จฯสู่ตึกสันติไมตรีหลังใน เพื่อหารือข้อราชการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มี.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,422 view

          เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม เสด็จฯเยือนประเทศไทยพร้อมด้วยเจ้าหญิงมาทิลด์ พระชายา ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีของเบลเยียมและนักธุรกิจสำคัญสาขาต่างๆ กว่า 200 คน ตามเสด็จ ระหว่างวันที่ 17 – 22 มีนาคม 2556

          ผู้ร่วมหารือฝ่ายไทย ประกอบด้วย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายประดิษฐ สินธวณรงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทย-เบลเยียม นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

          ผู้ร่วมหารือฝ่ายเบลเยียม ประกอบด้วย เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารเบลเยียม นายดิดิเยร์ เรนเดอร์สรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีของภูมิภาคฟลานเดอร์ส รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การค้าต่างประเทศ และนวัตกรรมภูมิภาควัลลูน และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การจ้างงาน การวิจัยวิทยาศาสตร์ และการค้าต่างประเทศภูมิภาคบรัสเซลส์

          ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งร่วมการหารือ สรุปผล ดังนี้

          นายกรัฐมนตรีกราบทูลรับเสด็จเจ้าชายฟิลิปฯ เจ้าหญิงมาทิลด์ พระชายา และคณะภาคเอกชนในการเสด็จเยือนประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทยและเบลเยียมในทุกมิติ พร้อมทั้ง กราบทูลรายงานผลการเยือนเบลเยียมของนายกรัฐมนตรีที่ประสบความสำเร็จ และได้พบหารือนายกรัฐมนตรีเบลเยียม และมีการหารือ ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ และการประกาศเริ่มเจรจา FTA Thai –EU พร้อมทั้งกำหนดกรอบเวลา และรายละเอียดต่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์จาก FTA ฉบับนี้อย่างแท้จริง

          สำหรับการเสด็จเยือนไทยของเจ้าชายฟิลิปฯ ทรงนำคณะนักธุรกิจกว่า 200 รายร่วมคณะ เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเบลเยียม พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนทั้งสองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยภาคเอกชนทั้งสองจะได้ร่วมกิจกรรมสัมมนาทางธุรกิจและมีตัวแทนจากภาครัฐ เช่น รัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ร่วมสัมมนาเพื่อสนับสนุนข้อมูล และโอกาสในประเทศไทย และในโอกาสนี้ เจ้าชายฟิลิปฯ เสด็จเป็นประธานเปิดป้ายสัญลักษณ์โครงการปรับปรุงสะพานมิตรภาพไทย-เบลเยียม ในวันที่ 21 มีนาคม นี้ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของไทยและเบลเยียม

          ในโอกาสนี้ เจ้าชายฟิลิปฯและนายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีต่อผลสำเร็จของ แผนปฏิบัติการร่วมไทย-เบลเยียมซึ่งใช้เวลากว่า 8ปีในการดำเนินการเจรจาเพื่อจัดทำแผนดังกล่าว และจะมีการลงนามภายหลังการหารือ โดยแผนปฏิบัติการร่วมนี้ จะเป็นกรอบการดำเนินการความร่วมมือต่างๆของสองประเทศ

          สำหรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-เบลเยียม ไทยและเบลเยียมจะสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทั้งด้านปริมาณและมูลค่า โดยปัจจุบันมีนักลงทุนเบลเยียมให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง บริษัทสำคัญ เช่น Solvay Vinythai Glow Katoen Natie เป็นต้น และยังมีแผนการขยายการลงทุนในไทย ทั้งนี้ ไทยมีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนของเบลเยียมสามารถมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว ขณะเดียวกัน ไทยส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในยุโรป ซึ่งเบลเยียมจะเป็นประตูสู่ยุโรปให้แก่ภาคเอกชนไทย โดยรัฐมนตรีเบลเยียมและภาคเอกชน ได้พบปะกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีพลังงาน และงานสัมมนาภาคเอกชน เพื่อแสวงหาลู่ทางการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน อีกทั้ง จะมีกำหนดการพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเบลเยียมมีความรู้และความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ โดยเฉพาะการผลิตวัคซีน ที่ไทยและเบลเยียมจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และการวิจัย ระหว่างสถาบันวิจัยของสองประเทศ

          นอกจากนี้ เบลเยียมได้ชื่นชมพัฒนาการของอาเซียน และบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนภูมิภาค โดยเบลเยียมแสดงความประสงค์ที่จะร่วมกับไทยในการพัฒนาอาเซียนและภูมิภาค โดยจะใช้ศักยภาพของเบลเยียมในฐานะศูนย์กลางของยุโรป และไทยในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน ร่วมพัฒนาความร่วมมือของสองภูมิภาคเพื่อการเติบโตร่วมกัน

          ภายหลังการหารือ มกุฏราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ทรงเป็นประธานในพิธีลงนามแผนปฏิบัติการร่วมไทย-เบลเยียม ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและเบลเยียม โดยนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยานจากนั้น นายกรัฐมนตรีกราบทูลเชิญมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเบลเยียมและพระชายา เสด็จเข้าสู่งานสโมสรสันนิบาต ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก และงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ