ผลการหารือระหว่างนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับนายดิดิเยร์ เรนเดอส์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม

ผลการหารือระหว่างนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับนายดิดิเยร์ เรนเดอส์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มี.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 4,031 view

                เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๖ ระหว่างเวลา ๑๖.๐๐-๑๖.๔๕ น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือข้อราชการกับนายดิดิเยร์ เรนเดอส์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม ซึ่งตามเสด็จเจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเบลเยียมเยือนประเทศไทย โดยนายดิดิเยร์ฯ พร้อมด้วยรัฐมนตรีของเบลเยียมอีก ๓ ราย ได้รับการต้อนรับในฐานะแขกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


               รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทเอกชนชั้นนำของเบลเยียมมาลงทุนในประเทศไทยหลายบริษัท  เช่น  Solvay, Tractebel, AGEAS, GLOW  ฝ่ายไทยได้ย้ำนโยบายและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะรักษาบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการลงทุนจากต่างประเทศ  ซึ่งการที่มีนักธุรกิจเบลเยียมที่มีศักยภาพจำนวนมากมา
เยือนไทยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่เบลเยียมให้กับไทย ในฐานะประเทศที่เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

               รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยแสดงความยินดีที่ทราบว่า คณะนักธุรกิจของเบลเยียมส่วนหนึ่ง ได้ไปชมนิทรรศการไทยแลนด์ ๒๐๒๐ ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้การต้อนรับและบรรยายสรุป นักธุรกิจเบลเยียมประทับใจในเนื้อหาการบรรยายที่ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมระบบคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน มูลค่าประมาณ ๕๐ พันล้านยูโรในอีก ๗ ปีข้างหน้า  และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียนอย่างแท้จริง  ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวเชิญชวนให้ภาคเอกชนเบลเยียมเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว

                ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การที่ไทยและเบลเยียมต่างมีจุดแข็งเพราะตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาคของตน  และมีศักยภาพที่สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ จึงควรร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อขยายความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี และในภูมิภาค ซึ่งแผนปฏิบัติการร่วมไทย-เบลเยียม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายมีกำหนดลงนามในช่วงเย็นวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๖ ที่ทำเนียบรัฐบาล  โดยเจ้าชายฟิลิปฯ และนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นเกียรติในพิธีนั้น ซึ่งเป็นเสมือนกรอบความร่วมมือในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันจากนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. ๒๐๒๐  

                ในด้านความร่วมมือด้านบริการเดินอากาศ รัฐมนตรีทั้งสองยินดีที่สายการบินแห่งชาติของทั้งสองประเทศเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯและกรุงบรัสเซลส์  และยินดีกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กับสายการบินบรัสเซลส์ (เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๖) ซึ่งจะช่วยขยายเส้นทางบินของการบินไทยไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา และจะเพิ่มการท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนและภาคธุรกิจระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเบลเยียมซึ่งมีจำนวนกว่า ๙๐,๐๐๐ คน เมื่อปี ๒๕๕๕ และมีอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๕  ใช้บริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยเป็นทางเลือกด้านการท่องเที่ยวด้วย

                รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสนใจของไทยที่จะร่วมมือกับเบลเยียมมากขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สาขาที่ฝ่ายไทยสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การแพทย์ ความปลอดภัยด้านอาหาร โลจิสติกส์ และนาโนเทคโนโลยี และขอให้รัฐบาลเบลเยียมสนับสนุนและผลักดันให้มีการติดต่อและความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยระหว่างกันต่อไป  

               รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมเพิ่งเดินทางไปเยือนเมียนมาร์ก่อนการเยือนไทย รู้สึกประทับใจในการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจในเมียนมาร์ และสนใจจะร่วมมือกับไทยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมียนมาร์ รวมทั้งเพื่อนบ้านอื่น ๆ ของไทยในอาเซียน เช่น สปป. ลาว ในสาขาต่าง ๆ  โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเบลเยียมมีส่วนร่วมในโครงการเหล่านั้นด้วย 

                รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมได้สอบถามเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำนโยบายของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหานี้โดยสันติวิธี  ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอัตลักษณ์ท้องถิ่น และยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการแก้ไขปัญหา  ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นในภูมิภาคอื่น ๆ  ได้แก่ ปัญหาทะเลจีนใต้และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งโอกาสความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะผ่านกรอบคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (HRC) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)  ซึ่งทั้งสองประเทศจะลงสมัครรับเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ