ไทย-กัมพูชา เห็นพ้องตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายแดน

ไทย-กัมพูชา เห็นพ้องตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายแดน

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.พ. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 6,710 view

เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ บริเวณท่าอากาศยานทหาร (บน.๖) ดอนเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระวรราชบิดาแห่งกัมพูชา พร้อมการหารือกับสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระวรราชบิดาแห่งกัมพูชา ซึ่งมีผู้นำหลายประเทศในอาเซียนเข้าร่วมงานด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี  และพระราชินีนโรดมมุนีนาถ สีหนุ พระราชมารดา นอกจากนี้ยังได้หารือข้อราชการกับสมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งในการหารือ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเสียใจต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ นอกจากนี้ ในนามของรัฐบาลยังได้ขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาที่ได้ช่วยเหลือในการขอรับพระราชทานอภัยโทษ รวมไปถึงการลดโทษของนายวีระ สมความคิด และนางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ขณะเดียวกันยังได้ขอให้รัฐบาลกัมพูชาได้ช่วยในเรื่องที่จะโอนตัวนักโทษไทยให้มารับโทษที่ประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนั้นยังมีเจตนารมณ์ที่อยากจะเห็นร่วมกันคือการประสานงานเกี่ยวกับความ สัมพันธ์ของไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายแดนให้เป็นพื้นที่ที่มีความสงบ ประชาชนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างราบรื่น รวมไปถึงการส่งเสริมการค้าระหว่างแนวชายแดน ซึ่งกัมพูชาเห็นชอบตามข้อเสนอของรัฐบาลไทย ที่เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายแดน รวมไปถึงกำหนดโครงสร้างการทำงานของการเชื่อมโยงประสานระหว่างกันตลอดเวลา และการเปิดด่าน โดยสรุปจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจและความสงบในพื้นที่เพื่อประโยชน์ สูงสุดของประชาชนสองประเทศ รวมไปถึงการที่จะอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียนด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ยังเห็นพ้องว่า เพื่อให้เกิดความสงบในการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติ  จึงเห็นว่าควรเคารพและร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันโดยเฉพาะระหว่างประชาชนและประชาชน รวมถึงในส่วนที่ไม่สอดคล้องกับเอ็มโอยู ๒๕๔๓ ซึ่งจากการพูดคุยกับสมเด็จ ฮุน เซน เห็นตรงกันว่าทุกอย่างเป็นตามกลไกที่มีคณะกรรมการดูแลในกรอบข้อตกลงเอ็มโอยู ๔๓ และความร่วมมือของสองประเทศเพื่อเกิดสันติสุขระหว่างประชาชนสองประเทศ