วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายลุค สตีเวนส์ (Mr. Luc Stevens) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Resident Coordinator) เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการสามฝ่ายเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ตามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework – UNPAF) สำหรับปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ ครั้งที่ ๑ ณ กระทรวงการต่างประเทศ
กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๙ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแผนแม่บทของการดำเนินงานของหน่วยงานสหประชาชาติต่าง ๆ ในไทย โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยและมีแผนปฏิบัติการรองรับ ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือ ๖ สาขาได้แก่ ความคุ้มครองทางสังคม สิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีคณะกรรมการร่วมสามฝ่าย ประกอบด้วยกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นกลไกติดตามความก้าวหน้า
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวขอบคุณสหประชาชาติที่ได้เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาของไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตลอดมา เพื่อสร้าง “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยความเสมอภาคเป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเป็นเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับปัจจุบัน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในขณะที่ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังก้าวไปสู่การเป็นประชาคมในปี ๒๕๕๘
ขณะเดียวกัน สหประชาชาติก็เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างศักยภาพของไทยที่จะมีส่วนสนับสนุนวาระการพัฒนาในเวทีโลก โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคในรูปแบบความร่วมมือแบบใต้-ใต้ โดยคำนึงว่าความสำเร็จของไทยในการบรรลุเป้าหมาย
การพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals –MDGs) เป็นพื้นฐานที่ดีในการที่ไทยจะมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์เพื่อร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศรกำหนดวาระการพัฒนาหลังจากปี ๒๕๕๘ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ที่เป็นปีเป้าหมายของ MDGs นอกจากนี้ ไทยยังได้ร่วมเป็นสมาชิกในคณะทำงานในกรอบสหประชาชาติเพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ที่จะเริ่มการหารือที่นครนิวยอร์ก โดยวาระการพัฒนาที่ไทยให้ความสำคัญและได้รับการชื่นชมจากสหประชาชาติ ได้แก่ การขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมบทบาทของสตรี ตลอดจนประเด็นด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพแม่และเด็ก
ปลัดกระทรวงฯ ย้ำว่า ไทยเป็นประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่มีบทบาทแข็งขันและสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติในสามเสาหลัก ได้แก่ สันติภาพและความมั่นคง การพัฒนาและสิทธิมนุษยชน และยังได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศสายกลางที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยและสามารถเป็นสะพานเชื่อมกลุ่มต่าง ๆ ในการสร้างความประนีประนอมเพื่อก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันและเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพระหว่างประเทศไทย จึงได้สมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒
ในด้านสิทธิมนุษยชน ไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council – HRC) วาระปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๖ รวมทั้งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระหว่างปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ด้วย และเพื่อย้ำเจตนารมณ์ของไทยที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ไทยจึงได้สมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอีกครั้ง สำหรับวาระปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐
**********************
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **