สาธารณรัฐแองโกลา

สาธารณรัฐแองโกลา

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 20,753 view

สาธารณรัฐแองโกลา
The Republic of Angola

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง แองโกลาตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกาบนฝั่ง มหาสมุทรแอตแลนติก

พื้นที่ 1,246,700 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงลูอันดา (Luanda)

ประชากร 19.62 ล้านคน (ปี 2554) ประกอบด้วยชนเผ่า Ovimbundu ร้อยละ 37  Kimbundu ร้อยละ 25 Bakongo ร้อยละ 13  ชาวยุโรปร้อยละ 1 และอื่น ๆ ร้อยละ 24

ภูมิอากาศ สภาพอากาศกึ่งแห้งแล้งทางด้านทิศใต้และตามชายฝั่งไปจนถึงกรุงลูอันดา ทิศเหนืออากาศเย็น ฤดูแล้งอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูร้อนกับฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน

ภาษาราชการ ภาษาโปรตุเกส

ศาสนาความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 47  โรมันคาทอลิคร้อยละ 38  โปรเตสแตนท์  ร้อยละ 15

หน่วยเงินตรา   กวันซ่าแองโกลา (Angola Kwanza - AOA) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 3.08 กวันซ่าแองโกลา (ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 104.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 7,125.0 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.4 (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง  ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขและผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย ปัจจุบันอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลปรองดองแห่งชาติชั่วคราว (Transitional Government of National Unity) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายโฆเซ่ เอดูอาร์โด ดอส ซานโตส (Jose Eduardo dos Santos) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535)

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การเมืองการปกครอง

แองโกลาปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเป็นผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกสภาสมัชชาแห่งชาติจำนวน 220 ที่นั่ง และทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนมีวาระ 4 ปี (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 5-6 กันยายน 2551) ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลสูงสุดและศาลจังหวัด  อีก 18 ศาล ผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

อาณาเขตของแองโกลา ซึ่งรวมถึงเขต Cabinda ในบริเวณตอนเหนือของแม่น้ำคองโก ถูกควบรวมเป็นจังหวัดหนึ่งของโปรตุเกสในปี 2494 ต่อมา ในปี 2503 เกิดกลุ่มความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Popular Movement for the Liberation of Angola (MPLA) ซึ่งมีแนวนโยบายสังคมนิยมแบบ Marxist นำโดยนายออกัสตินโญ เนโต (Agostinho Neto) และกลุ่ม Frente Nacional de Libertação de Angola (FNLA) ซึ่งมีแนวคิดเอนเอียงไปทางตะวันตก นำโดยนายโฮเดน โรแบร์โต (Holden Roberto) ทั้งสองกลุ่มเริ่มการใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาลของเจ้าอาณานิคมตั้งแต่ปี 2504  และในปี 2509 เกิดกลุ่มความเคลื่อนไหวอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่ม National Union for the Total Independence of Angola (UNITA) นำโดยนายโจนาส ซาวิมบิ (Jonas Savimbi) เข้าร่วมการต่อสู้กับกลุ่ม MPLA และ FNLA จนนำไปสู่การทำรัฐประหารขับไล่ผู้ปกครองชาวโปรตุเกสได้สำเร็จเมื่อปี 2517

ภายหลังได้รับเอกราช รัฐบาลชั่วคราวเข้าบริหารประเทศแต่ต้องล้มลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่สามารถควบคุมกลุ่มความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดการสู้รบเป็นวงกว้างก่อนที่จะได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการจากโปรตุเกสในวันที่ 11 กันยายน 2518

การต่อสู้ส่งผลให้กลุ่ม MPLA เข้าควบคุมกรุงลูอันดาและเมืองต่าง ๆ ในบริเวณชายฝั่งทะเล ด้วยการสนับสนุนของประเทศคิวบา ในขณะที่กลุ่ม UNITA และ FNLA ซึ่งรวมตัวกัน สามารถควบคุมเมืองฮูอัมโบ (Huambo) บริเวณตอนกลางและตอนเหนือของแองโลกา จากนั้น กองกำลังทหารของแอฟริกาใต้บุกเข้าแองโกลาผ่านนามิเบียเพื่อสนับสนุนกลุ่ม UNITA และต่อมา กลุ่ม FNLA พ่ายแพ้การต่อสู้กับกลุ่ม MPLA ทำให้เสียการควบคุมพื้นที่ทางตอนเหนือของแองโกลา นับแต่นั้นมา อิทธิพลของกลุ่ม FNLA ลดลงอย่างมากเพราะมหาอำนาจตะวันตกหันไปสนับสนุนกลุ่ม UNITA มากกว่า

แองโกลาภายใต้การบริหารของกลุ่ม MPLA ซึ่งนำโดยนายเนโต จัดตั้งรัฐในแบบสังคมนิยม (Marxism-Leninism) ที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว เมื่อประธานาธิบดีเนโตเสียชีวิตในปี 2522 นายโฆเซ่ เอดูอาร์โด ดอส ซานโตส (Jose Eduardo dos Santos) เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2522 และมีนโยบายแบบสังคมนิยมที่อ่อนลง

MPLA ด้วยการสนับสนุนอาวุธและกำลังทหารจากโซเวียตและคิวบา ทำสงครามกับ UNITA ที่ได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากแอฟริกาใต้ โดย MPLA สามารถยึดครองนครหลวงและเมืองสำคัญต่าง ๆ ไว้ได้ ในขณะที่ UNITA ควบคุมจังหวัดบริเวณรอบนอกเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังสนับสนุนกลุ่ม UNITA ผ่านประธานาธิบดีเซเซ่ เซโก โมบูตู (Sese Seko Mobutu) ของซาอีร์ (Zaire) (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ซึ่งช่วยให้กลุ่ม UNITA สามารถรักษาพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งแร่เพชรที่อุดมสมบูรณ์

สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการเจรจาให้นามิเบียได้รับเอกราชจากแอฟริกาใต้เมื่อเดือนธันวาคม 2531 ซึ่งส่งผลให้กองกำลังของแอฟริกาใต้และคิวบาถอนออกจากแองโกลา ต่อมา MPLA และ UNITA ได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่เมืองบิซเซส (Bicesse) ของโปรตุเกสเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 เพื่อยุติการสู้รบและเปลี่ยนสถานะเป็นพรรคการเมืองเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-30 กันยายน 2535 ผลปรากฏว่า นายซานโตสและพรรค MPLA ชนะการเลือกตั้ง แต่นายซาวิมบิ ผู้นำพรรค UNITA ไม่ยอมรับและกล่าวหาว่า รัฐบาลโกงการเลือกตั้ง จึงหันหลับเข้าสู่การสู้รบอีกครั้ง และนับเป็นการสู้รบครั้งที่มีการสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์แองโกลา ส่งผลให้สหประชาชาติมีมติคว่ำบาตรทางอาวุธและวัสดุเชื้อเพลิงกับ UNITA ในปี 2536

ภายหลังการสู้รบและความพยายามในการเจรจาเป็นเวลากว่า 1 ปี ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงที่กรุงลูซากา (Lusaka Protocol) ประเทศแซมเบีย แต่การบังคับใช้ข้อตกลงดังกล่าวถูกบิดเบือนและเลื่อนเวลาออกไป จนถูกยกเลิกเมื่อเดือนธันวาคม 2541 แต่ด้วยความได้เปรียบของฝ่ายรัฐบาล MPLA ที่ใช้รายได้จากน้ำมันในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และสนับสนุนการสู้รบ จนในที่สุด ฝ่ายรัฐบาลสามารถสังหารนายซาวิมบิ ผู้นำกลุ่ม UNITA เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 UNITA อ่อนกำลังลงไปและเป็นฝ่ายเรียกร้องให้มีข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 สงครามกลางเมืองของแองโกลาจึงสงบลงและหันมาฟื้นฟูประเทศทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

การบริหารประเทศของประธานาธิบดีซานโตสและพรรค MPLA เน้นการควบคุมสื่อและเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน ประธานาธิบดีซานโตสได้พยายามสร้างเครือข่ายอำนาจให้แก่ตนเองโดยอาศัยระบบอุปถัมถ์ (patronage network) และการควบคุมจากส่วนกลางเป็นพื้นฐาน ในขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้าน UNITA ขาดเอกภาพและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภายในของพรรค จนทำให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถผูกขาดการบริหารประเทศได้ในทุกระดับ

แองโกลาจัดให้มีการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติอีกครั้งเมื่อวันที่ 5-6 กันยายน 2551 โดยพรรครัฐบาล MPLA ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 81.8 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพรรครัฐบาล MPLA และประธานาธิบดีซานโตส จนเป็นที่วิเคราะห์กันว่า พรรค MPLA ใช้ข้อได้เปรียบที่ตนเป็นผู้กุมอำนาจรัฐและใช้งบประมาณที่ได้จากทรัพยากรน้ำมัน ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เดิมมีกำหนดจัดขึ้นในปี 2552 คาดว่า ประธานาธิบดีซานโตส ซึ่งครองอำนาจการเมืองมากกว่า 30 ปี จะชนะการเลือกตั้งดังกล่าวอีกครั้ง แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งเมื่อใด

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 รัฐสภาแองโกลาลงมติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีขึ้นแทน การเปลี่ยนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชนเป็นการแต่งตั้งประธานาธิบดีโดยสมาชิกรัฐสภาของแองโกลา และการกำหนดวาระของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี และได้ไม่เกิน 2 วาระ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในปี 2555

เศรษฐกิจและสังคม

แองโกลาเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 1 ในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) และยังมีการสำรวจพบน้ำมันแหล่งใหม่ ๆ นอกชายฝั่งในแองโกลาอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตน้ำมันมีมูลค่าเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของ GDP และทำรายได้ให้แก่รัฐบาลประมาณร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งหมด ในขณะนี้ ผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดจากแองโกลาคือ สหรัฐอเมริกาและจีน โดยบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ คือ ExxonMobil ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในแองโกลา

เพชร เป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้แก่แองโกลาเป็นลำดับที่ 2 รองจากน้ำมัน แองโกลาเป็นผู้ผลิต เพชรดิบรายใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก แองโกลามีบ่อเพชรขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบัน ผลิตได้ปีละ  9 แสนกะรัต (ในช่วงก่อนสงครามกลางเมือง แองโกลาสามารถผลิตเพชรได้ปีละประมาณ 2 ล้านกะรัต) แองโกลาไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของบริษัท DeBeers ธุรกิจเพชรภายในประเทศดำเนินการโดยรัฐบาลและเอกชนของแองโกลาเอง โดยเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้าไปร่วมลงทุนด้วย

ภาคเกษตรกรรม แองโกลาเคยเป็นประเทศที่สามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรได้มากประเทศหนึ่งของแอฟริกา (เคยผลิตกาแฟได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลก) แต่ภาวะการสู้รบและกับระเบิดที่ฝังอยู่อย่างกระจัดกระจาย ทำให้แองโกลาประสบปัญหาขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการทำการเกษตร เช่น แหล่งน้ำ ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ภายในแองโกลามีแนวโน้มที่จะดีขึ้น โดยบริษัทต่างชาติหลายบริษัทเริ่มเข้าไปมีความสนใจในการทำธุรกิจเพาะปลูกอ้อยและฝ้ายขนาดใหญ่ในแองโกลา นอกจากนี้ แองโกลายังมีศักยภาพมากในด้านการประมง ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของแองโกลา รองจากอุตสาหกรรมน้ำมันและเหมืองเพชร ขณะนี้แองโกลามีความตกลงด้านประมงกับ สเปน โปรตุเกส และอิตาลี

ภาคอุตสาหกรรม แองโกลามีการทำอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง โลหะ ผงซักฟอก ยาสูบ จักรยานยนต์  และเคมีภัณฑ์ โดยอุตสาหกรรมของแองโกลาจะรวมตัวอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงลูอันดา (Luanda)  เมืองโลบิโต (Lobito) และเมืองฮูอัมโบ (Huambo)

นโยบายต่างประเทศ

ความสัมพันธ์กับประเทศในโลกตะวันตก  ในอดีต รัฐบาลประเทศตะวันตกต่างไม่ให้การรับรองรัฐบาลของนายซานโตส เนื่องจากความไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศ อีกทั้ง รัฐบาลของนายซานโตสยังรับการสนับสนุนด้านอาวุธจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็นและช่วงการทำสงครามกลางเมืองกับกลุ่ม UNITA อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรัฐบาลแองโกลาได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการเมืองและการต่างประเทศใหม่ โดยคำนึงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของ UNITA ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และเน้นการดำเนินโยบายต่างประเทศที่โปร่งใสและคำนึงถึงผลในทางปฏิบัติ (Pragmatic and Transparent Diplomacy) ทั้งนี้ แองโกลามีท่าทีที่ชัดเจนในการสนับสนุนหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน และการละเว้นการใช้กำลังในการยุติข้อพิพาท โดยเฉพาะภายหลังปี 2539 ที่แองโกลาค้นพบบ่อน้ำมันแหล่งใหม่ในน้ำลึก เป็นเวลาเดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกาต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก จึงเริ่มมีท่าทีผ่อนปรนและเป็นมิตรกับแองโกลามากยิ่งขึ้น

ความสัมพันธ์กับจีน จีนมีบทบาททางเศรษฐกิจในแองโกลามาก รองจากสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจีนให้สินเชื่อแก่แองโกลาเป็นวงเงินประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารและระบบโครงสร้างพื้นฐาน นับตั้งแต่ปี 2549 ปริมาณน้ำมันที่จีนนำเข้าจากแองโกลาได้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าการนำเข้าจากแหล่งอื่นทั้งหมด (ที่ผ่านมา อิหร่านและซาอุดิอาระเบียเคยเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบที่สำคัญของจีน) จีนนับเป็นประเทศในเอเชียที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับแองโกลามากที่สุด โดยในขณะนี้ ได้มีนักธุรกิจจีนจำนวนมากเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง การสื่อสารโทรคมนาคม การค้า พลังงานและเหมืองแร่ ในขณะเดียวกันอินเดียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งจากเอเชียที่กำลังเริ่มขยายการลงทุนเข้าไปในแองโกลา

ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ในอดีตแองโกลาและแอฟริกาใต้ได้แข่งขันที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้เสมอมา อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีซานโตสของแองโกลากับประธานาธิบดีทาโบ อึมเบกิ (Thabo Mbeki) ของแอฟริกาใต้ไม่ราบรื่นเท่าใดนัก เนื่องจากความเห็นที่ไม่ตรงกันในการแก้ไขปัญหาสงครามกลางเมืองในแองโกลา โดยนายซานโตสสนับสนุนการใช้กำลัง ในขณะที่นายอึมเบกิสนับสนุนการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง แองโกลามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเคยประสบความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยให้ยูกันดาถอนกองกำลังออกจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

การทูต

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับแองโกลาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมแองโกลา เอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐแองโกลาคนปัจจุบันคือ นายนนทศิริ บุรณศิริ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย และแองโกลาได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแองโกลาประจำประเทศอินเดีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแองโกลาประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นายอันโตนิโอ เด คอสตา เฟร์นานเดส (Antonio de Costa Fernandes)

ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ราบรื่นและมีความใกล้ชิดในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ฝ่ายแองโกลาเล็งเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของไทย จึงให้ความสนใจกับไทยมากขึ้น นับแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้จัดคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงและภาคเอกชนไทยเยือนแองโกลา และหลังจากนั้นเป็นต้นมา เริ่มมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและจัดกิจกรรมระหว่างกันมากขึ้น

เศรษฐกิจ

การค้า

การค้าของไทยกับแองโกลามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543-2550 โดยในช่วงปี 2543-2545 ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า เนื่องจากไทยนำเข้าสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูปจากแองโกลาจำนวนมาก แต่ในปี 2546-2547 ไทยนำเข้าลดลงและส่งสินค้าออกมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2547 ไทยส่งออกข้าวไปแองโกลาเป็นมูลค่าถึง 2,106 ล้านบาท ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า แต่ในปี 2548-2549 นั้น ไทยกลับมาเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า เนื่องจากนำเข้าน้ำมันดิบจากแองโกลาเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท

ในปี 2554 ไทยและแองโกลามีมูลค่าการค้ารวม 180.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 179.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 179.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแองโกลา อาทิ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากแองโกลา ได้แก่ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

การลงทุน

ยังมีการลงทุนระหว่างกันไม่มากนัก ปัจจุบัน มีบริษัท CP Intertrade เข้าไปตั้งสำนักงานที่กรุงลูอันดาเพื่อค้าข้าวและอาหารแห้ง นอกจากนั้น เป็นการซื้อสินค้าจากไทยไปขายแบบรายย่อย

การท่องเที่ยว

ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวชาวแองโกลาเดินทางมาไทยจำนวน 1,930 คน และมีคนไทยอาศัยอยู่ในแองโกลาจำนวน 2 คน เป็นคู่สมรสของชาวต่างชาติในแองโกลา

ความร่วมมือทางวิชาการ

ปัจจุบัน แองโกลากำลังเร่งพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน จึงต้องการเรียนรู้ Best Practice ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดการโครงสร้างสาธารณูปโภค การกำจัดของเสีย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาแหล่งพลังงานพื้นฐาน แองโกลาชื่นชมไทยในฐานะที่เป็นประเทศตัวอย่างของการพัฒนา ด้วยสภาพภูมิอากาศที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และแองโกลามีที่ดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ยังคงขาดความรู้และเทคโลยีที่จำเป็นต่อการเกษตรกรรม ไทยจึงเป็นประเทศที่แองโกลาให้ความสำคัญในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ด้านการพัฒนาด้วย

ที่ผ่านมา แองโกลาเคยส่งผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงอุตสาหกรรม มาศึกษาดูงานด้านการกำจัดกาก ของเสียและการจัดการระบบรีไซเคิลกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2551 หลังจากนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมแองโกลาได้เชิญผู้เชี่ยวชาญไทยไปเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ ด้านการรีไซเคิลขยะที่กรุงลูอันดาด้วย และล่าสุด  แองโกลาส่งผู้แทนเข้าร่วมการศึกษาดูงานภายใต้โครงการบัวแก้วสัมพันธ์ประจำปี 2552 ของไทย โดยเน้นสาขาการท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 1-8 กันยายน 2552

ตั้งแต่เมื่อปี 2548 แองโกลาเป็นประเทศหนึ่งที่รัฐบาลไทยเสนอให้ทุนฝึกอบรมภายใต้โครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course – AITC) แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้แทนจากแองโกลาเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ

ไทยและแองโกลาได้แลกเสียงสนับสนุนซึ่งกันและกันในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council - HRC) วาระปี ค.ศ.2010-2013

ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย

ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว

2.1  ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแองโกลาร่วมลงนามเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 เวลา 8.00 น. ที่กรุงเทพฯ) 

ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา

2.2 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางศุลกากร

2.3 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการ วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

2.4 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-แองโกลา

2.5 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ

การแลกเปลี่ยนการเยือน

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

ไม่มีการเสด็จฯ เยือน

นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ระดับสูง  

วันที่ 2-5 สิงหาคม 2552 นางจิตริยา ปิ่นทอง รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะ Focus Group ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เยือนสาธารณรัฐแองโกลา

ฝ่ายแองโกลา

ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี

- วันที่ 13 -15 ตุลาคม 2544 นายจอร์จ เรเบโล ปินโต ชิโกติ (Dr. George Rebelo Pinto Chikoti) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 28-30 สิงหาคม 2548 นายอาเบรา ปิโอ ดอส เจอเคล (Abraao Pio dos Santos Gourgel) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะนักธุรกิจเยือนไทย และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

- วันที่ 27 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2553 นายกูอัลเตอร์ ดอส เรเมดิออส อินโนเซนซิโอ (Gualter dos Remedios Inocencio) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงปิโตรเลียม และคณะ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

- วันที่ 27 มีนาคม – 1 เมษายน 2553 นายเจา มานูเอล กอนคัลเวส โลเรนโค (Joao Manuel Goncalves Lourenco) รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 122 ที่กรุงเทพฯ

- วันที่ 14-16 พฤษภาคม 2555 นาย Jose Maria Botelho de Vasconcelos รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแองโกลา และคณะ เยือนไทยเพื่อลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา 0-2643-5047-8