สาธารณรัฐวานูอาตู

สาธารณรัฐวานูอาตู

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ม.ค. 2513

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 25,971 view


สาธารณรัฐวานูอาตู
Republic of Vanuatu

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียและอยู่ห่างจากฟิจิไปทางตะวันตกประมาณ 800 กิโลเมตร

พื้นที่ 12,190 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เกาะต่าง ๆ ประมาณ 80 เกาะ มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 680,000 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง พอร์ตวิลา (Port Vila) ตั้งอยู่บนเกาะ Efate

ประชากร ประมาณ 257,841 คน (มิ.ย.2555) ร้อยละ 98.5 เป็นชาวเมลานีเซียน (Melanesian) เรียกว่า ni-Vanuatu อีกร้อยละ 1.5 เป็นชาวยุโรป จีน เวียดนาม และชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้และอื่นๆ (ประชากรส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะหลัก 4 เกาะ คือ Efate, Expiritu Santo,Malakula และ Tafea) ความหนาแน่นประชากร 12.6 คน ต่อตารางกิโลเมตร

ภาษา อังกฤษและฝรั่งเศส เป็นภาษาราชการ Pidgin (Bislama) เป็นภาษาประจำชาติ

ศาสนา คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ รองลงมาคือเพรสไบทีเรียน และโรมันคาทอลิก

หน่วยเงินตรา Vatu (วาตู)

GDP 761 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)

GDP per capita 3,039 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)

Real GDP Growth ร้อยละ 2.6 (ปี 2555)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.4 (ปี 2555)

อุตสาหกรรมที่สำคัญ มะพร้าวแห้ง โกโก้ กาแฟ ปศุสัตว์ ไม้

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ปลา มะพร้าวแห้ง เนื้อวัว โกโก้ ไม้ ผลคาวา  กาแฟ

สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักร สินค้าอุปโภคบริโภค เชื้อเพลิง

ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ จีน ไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) 680,000 ตารางกิโลเมตร

การเมืองการปกครอง

ช่วงที่มีการล่าอาณานิคมต้นคริสตวรรษที่ 20 New Hebrides (หรือวานูอาตูในขณะนั้น) ถูกครอบครองทั้งจากฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ต่อมาในปี 2449 สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสได้ลงนามสนธิสัญญาปกครองร่วม (British – French Condominium) ซึ่งทำให้ทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสสามารถปกครอง New Hebrides ร่วมกัน จนกระทั่งวันที่ 30 กรกฎาคม 2523 สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสก็ตกลงให้ New Hebrides ได้รับอิสรภาพและเปลี่ยนได้ชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐวานูอาตู

รูปแบบการปกครองของวานูอาตูเป็น ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา สภาผู้แทนราษฏรเป็นสภาเดี่ยว (unicameral) ประกอบด้วยสมาชิก 52 คน (อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี) พรรคการเมืองที่สำคัญ คือ พรรค National United Party (NUP) People's Progressive Party (PPP) Union of Moderate Parties (UMP) Vanua'aku Pati (Our Land Party – VP) ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล

ประมุขรัฐ ประธานาธิบดี นาย Iolu Johnson Abbil

นายกรัฐมนตรี คือ นาย Moana Carcasses Kalosil

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ นาย Edward Natapei

การเลือกตั้ง ทุก 4 ปีจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ครั้งล่าสุดเมื่อ 30 ตุลาคม 2555 ครั้งต่อไปปี 2559 การเลือกตั้งทั่วไปในวานูอาตูนั้นเป็นการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคเข้าไปในรัฐสภา ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นการเลือกโดยสมาชิกรัฐสภาทั้ง 52 คนที่ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง และทุก 5 ปีสภาผู้แทนราษฎรและผู้ว่าราชการจังหวัด 6 คนจาก 6 จังหวัด รวมทั้งหมด 58 คนจะเลือกประธานาธิบดี โดยประธานาธิบดีจะต้องไดรับเสียง 2 ใน 3 ของเสียงทั้งหมด (39 เสียง)

ฝ่ายนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฏรเป็นสภาเดี่ยว (unicameral) ประกอบด้วยสมาชิก 46 คน (อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี) ในปี 2543 ได้มีการกำหนดให้มีสมาชิกเพิ่มเป็น 52 คน พรรคการเมืองที่สำคัญ คือ พรรค UMP (พรรคอนุรักษ์นิยมประกอบด้วย ชาวเมลานีเซียนที่พูดภาษาฝรั่งเศส (Francophone) และนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิค และ NUP ประกอบด้วยชาวเมลานีเซียนที่พูดภาษาอังกฤษ (Anglophone)

สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุด
การเมืองของวานูอาตูอยู่ในภาวะอ่อนแอ รัฐบาลอาจล้มด้วยมติไม่ไว้วางใจในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม รวมพรรคเล็กมากกว่า 8 พรรค จึงง่ายต่อการย้ายข้างไปร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน โดยตั้งแต่กันยายน 2551 มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแล้ว 6 ครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อ 23 มีนาคม 2556)

เศรษฐกิจการค้า

ภาพรวม
โครงสร้างทางเศรษฐกิจของวานูอาตูมีลักษณะเป็น resource based โดยประชากรประมาณ ร้อยละ 80 ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง ผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อมะพร้าวตากแห้งเพื่อส่งออก ด้านปศุสัตว์ วานูอาตูมีโรงงานแปรรูปและบรรจุกระป๋องเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานของประชาคมยุโรปและสหรัฐฯ วานูอาตูส่งออกไม้ ทั้งไม้แปรรูป ไม้จันทน์ และผลิตภัณฑ์จากไม้ แต่มักถูกกดดันจากประเทศพัฒนาแล้วเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การประมง
อุตสาหกรรมประมงโดยเฉพาะปลาทูนาเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับวานูอาตูเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปี การจับปลาของเรือต่างสัญชาติจะกระทำโดยการชำระค่าธรรมเนียมให้แก่รัฐบาลในการจับปลาในน่านน้ำของวานูอาตู โดยประเภทสัญญาจับปลาในน่านน้ำวานูอาตูมี 2 ประเภทหลัก ได้แก่ การให้สัมปทานแบบรายปีและแบบต่อลำ ในช่วงที่ผ่านมาวานูอาตูได้ลงนามในสัญญาการประมงกับประเทศต่าง ๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ทรัพยากรธรรมชาติ
วานูอาตูมีแหล่งแร่แมงกานีส สินแร่ทองคำ นิเกิลและทองแดงด้วย นักธุรกิจชาวไต้หวันได้ประกาศโครงการลงทุนในเมือง Espirito Santo (ในเขต Luganville)

ปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาเศรษฐกิจ ได้แก่ การขาดแคลนบุคลากร การพึ่งสินค้าออกที่เป็นสินค้าขั้นปฐมภูมิเพียงไม่กี่ประเภท การขาดแคลนการลงทุน การบริหารเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนภัยธรรมชาติ อาทิ พายุไต้ฝุ่น และแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ปัจจุบันวานูอาตูกำลังดำเนินโครงการปฏิรูปนโยบายและระบบให้เอื้อแก่การลงทุนและภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่ง ADB ได้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากในด้านต่าง ๆ อาทิ การให้ต่างชาติเข้ามาประมูลระบบสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ การเปิดกว้างในการใช้น่านฟ้า การปรับปรุงนโยบายและกฎหมายการค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพข้าราชการและระบบการปกครองให้มีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ฯลฯ

สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
เศรษฐกิจที่ทำรายได้หลักให้กับวานูอาตู คือ 1. การท่องเที่ยว (สูงถึงร้อยละ 40 ของ GDP) 2. เกษตรกรรม 3. การให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศ (offshore financial services) 4. ปศุสัตว์ และ 5. รายได้จากแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ ในปี 2555 IMF เผยว่า เศรษฐกิจของวานูอาตูฟื้นตัวได้ดีจากผลกระทบที่มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดย real GDP ของวานูอาตูขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และคาดว่าในปี 2556 เศรษฐกิจของวานูอาตูจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังวานูอาตูได้เปิดเผยข้อมูลว่า เศรษฐกิจวานูอาตูยังมีความอ่อนไหวจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนในด้านการบริการการท่องเที่ยว การค้า อสังหาริมทรัพย์ของประเทศ และถึงแม้เศรษฐกิจวานูอาตูจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลวานูอาตูยังคงขาดดุลทางการคลัง ในปี 2555 ขาดดุลเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้า 3 ปีติดต่อกัน)

อนึ่ง รัฐบาลวานูอาตูประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหาค่าเงินเฟ้อของประเทศในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2555 อัตราค่าเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 (จากเดิมประมาณร้อยละ 5 ในปี 2551 – 2555)

วานูอาตูยังคงได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยออสเตรเลียและจีนเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือวานูอาตูมากที่สุด ลองลงมาคือ นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป

การต่างประเทศ

วานูอาตูเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศเครือจักรภพ Pacific Islands Forum (PIF), Francophone Community, สหประชาชาติ (United Naions - UN), กลุ่ม G 77, IMF, World Bank, ADB, ACP, WTO เป็นต้น มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 74 ประเทศ ปัจจุบันมีประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตในวานูอาตู 5 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ 2 ประเทศ คือ ปาปัวนิวกินี และสวีเดน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐวานูอาตู

ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับวานูอาตู เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2525 โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รามีเขตอาณาครอบคลุมวานูอาตู เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพอร์ตวิลา (ถิ่นพำนัก ณ กรุงแคนเบอร์ร่า) คนปัจจุบัน คือ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในวานูอาตูประมาณ 17 คน ส่วนมากประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยและนวดแผนไทยในกรุงพอร์ตวิลล่า (ข้อมูลปี 2556)

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
วานูอาตูถือเป็นประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ที่มีความสำคัญอันดับต้นของไทย เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญแห่งหนึ่งของอุตสาหกรรมประมงไทย นอกจากนี้ ไทยยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของวานูอาตูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2555 มูลค่าการค้ารวม 176.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี 2554 คิดเป็นร้อยละ 17.49) ไทยส่งออกมูลค่า 11.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออก ได้แก่ อุปกรณ์และส่วนประกอบของรถยนต์และพาหนะ อาหารกระป๋องและแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าผืน น้ำตาลทราย ไทยนำเข้ามูลค่า 164.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป (โดยเฉพาะปลาทูน่า) และเรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ ไทยขาดดุลการค้า 152.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้ากับวานูอาตูติดต่อกัน 13 ปี (ตั้งแต่ปี 2542)

การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทยเยือนวานูอาตู

  • ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนวานูอาตู เมื่อวันที่ 10 -12 กุมภาพันธ์ 2528
  • นายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพอร์ตวิลา (ถิ่นพำนัก ณ กรุงแคนเบอร์รา) ไปยื่นพระราชสาสน์ ณ สาธารณรัฐวานูอาตู ระหว่างวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2550
  • นายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางเยือนกรุงพอร์ตวิลา เพื่อเข้าประชุม Post Forum Dialogue (PFD) ครั้งที่ 22 ของการประชุม PIF ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 3 – 6 สิงหาคม 2554
  • นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพอร์ตวิลา (ถิ่นพำนัก ณ กรุงแคนเบอร์รา) เยือนกรุงพอร์ตวิลา ระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2556 เพื่อยื่นพระราชสาส์นตราตั้ง

ฝ่ายวานูอาตูเยือนไทย

  • นาย Sato Kilman รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของวานูอาตู เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 19 – 20 เมษายน 2548 และได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกันตธีร์ ศุภมงคล) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 และศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง (จังหวัดฉะเชิงเทรา) สินค้า OTOP และธุรกิจสปา ซึ่งนาย Sato ได้แสดงความชื่นชมการพัฒนาของไทย
  • นาย Edward Natapei รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของวานูอาตู เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม UNESCAP Commission Session ครั้งที่ 69 และได้พบหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 เพื่อหารือเตรียมการสำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีวานูอาตูในช่วงการประชุม  Asia-Pacific Water Summit ครั้งที่ 2
  • นาย Moana Carcasses Kalosil นายกรัฐมนตรีของวานูอาตูเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลระหว่างวันที่ 18 – 23 พฤษภาคม 2556 และได้เดินทางเข้าร่วมการประชุม Asia-Pacific Water Summit ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2556

******************************

สถานะ ณ กรกฎาคม 2556
กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20130719-154815-201714.pdf