ราชอาณาจักรเบลเยียม

ราชอาณาจักรเบลเยียม

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 72,432 view


ราชอาณาจักรเบลเยียม
Kingdom of Belgium

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ริ่มฝั่งทะเลเหนือ มีอาณาเขตติดกับฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก

พื้นที่ 32,545 ตารางกิโลเมตร

ประชากร-กลุ่มชนชาติ ประมาณ 11.006 ล้านคน (เมษายน 2554) เป็นชาวเฟลมมิช 58% ชาววอลลูน 32% ชาวเยอรมนีและอื่น ๆ 10%

ภาษา เฟลมมิชหรือดัทต์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน

ศาสนา ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค 75% นิกายโปรแตสเตนท์และอื่น ๆ 25%

ทรัพยากรธรรมชาติ ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ

เมืองหลวง กรุงบรัสเซลส์

สกุลเงิน ยูโร

วันชาติ 21 กรกฎาคม

ระบบการเมือง เป็นสหพันธรัฐ ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

ประมุข สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 (9 สิงหาคม 2536)

นายกรัฐมนตรี นาย Yves Leterme (เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2552 และปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ)

รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Steve Vanackere (เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2552 และปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีฯ รักษาการ)

หมายเหตุ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Yves Leterme ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 และประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 เนื่องจากปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้งของชุมชนกลุ่มน้อยชาว Walloon ในเขต Brussels-Halle-Vilvoorde (BHV)

การเมืองการปกครอง

การเมืองการปกครอง

เมื่อปี 2538 เบลเยียมปฏิรูปการปกครองเป็นสหพันธรัฐ ระบอบรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา การปกครองแบบสหพันธรัฐของเบลเยียมกำหนดให้มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการกำหนดนโยบายด้านต่างๆ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดทำสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศได้โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลภูมิภาค

- รัฐบาลกลาง/สหพันธรัฐ (Federal State) มีอำนาจกำหนดนโยบายในด้านสำคัญๆ อาทิ การเงิน การสาธารณะ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ ยุติธรรม ตำรวจ งบประมาณของประเทศ และความมั่นคงทางสังคม

- ระดับภูมิภาค (Region) แบ่งออกเป็น 3 ภูมิภาค คือ ภูมิภาค Walloon (พูดภาษาฝรั่งเศส) ภูมิภาค Flanders (พูดภาษาเฟลมมิช) และภูมิภาค Brussels Capital (พูดภาษาฝรั่งเศสและเฟลมมิช) มีอำนาจหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การเกษตร นโยบายเกี่ยวกับน้ำ ที่อยู่อาศัย งานสาธารณะ พลังงาน การคมนาคม (ยกเว้นรถไฟ) สิ่งแวดล้อมเมืองชนบท การค้ากับต่างประเทศ ควบคุมดูแลการบริหารงานของจังหวัด ชุมชน (Commune) บริษัทที่ให้บริการด้านสาธารณูปโภคระหว่างชุมชนต่างๆ

- ระดับประชาคม (Community) จัดแบ่งตามภาษาที่ใช้ คือ ประชาคมพูดภาษาเฟลมมิช ประชาคมพูดภาษาฝรั่งเศส และประชาคมพูดภาษาเยอรมัน มีอำนาจดูแลและบริหารด้านวัฒนธรรม การศึกษา การใช้ภาษา และนโยบายด้านสาธารณสุข (รวมถึงงานด้านการพิทักษ์เยาวชน สวัสดิการสังคม การให้ความช่วยเหลือครอบครัว และงานบริการด้านการโยกย้ายถิ่นฐาน) รวมทั้งด้านการค้นคว้าวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น รัฐบาลประชาคมมีอำนาจติดต่อกับต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานในความรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

- ระดับมณฑลหรือจังหวัด (Province) และระดับชุมชน (Commune) มีอำนาจเป็นของตนเองในการกำหนดนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม ภาษา นโยบายเยาวชน สื่อสารมวลชน การกีฬา การศึกษา (ยกเว้นการกำหนดการศึกษาภาคบังคับ มาตรฐานคุณสมบัติของการรับปริญญา และบำนาญของครูอาจารย์ การประกันสุขภาพ และการสงเคราะห์คนพิการ)

การเลือกตั้งทั่วไปของเบลเยียมมีขึ้นทุกๆ 4 ปี ขณะนี้ เบลเยียมยังคงอยู่ภายใต้การบริหารงานโดยรัฐบาลรักษาการของนายกรัฐมนตรีอีฟ เลอแตร์ม (Yves Leterme) ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง Brussels - Halle - Vilvoode (BHV) และสิทธิของชาววัลลูนในเขตพื้นที่ดังกล่าว ทำให้พรรค Flemish Liberal Democrats (Open VLD) เกิดความไม่พอใจและประกาศถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เขตเลือกตั้ง BHV ครอบคลุมกรุงบรัสเซลส์และจังหวัดปริมณฑลเฟลมมิช (Flemish Brabant) ในภูมิภาคฟลานเดอร์ส BHV จึงเป็นเขตเลือกตั้งเดียวในเบลเยียมที่ทับซ้อนระหว่างเขต 2 ภาษา (bilingual) และภาษาเดียว (monolingual) ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน 6 เขตเทศบาลของ Halle - Vilvoorde ซึ่งมีชาววัลลูน (พูดภาษาฝรั่งเศส) เป็นชุมชนกลุ่มน้อย สามารถเลือกผู้แทนจากพรรคการเมืองวัลลูนได้ ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่รัฐบาลภูมิภาคฟลานเดอร์สอนุญาตเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ปี 2506 เพื่อให้ชาววัลลูนได้ปรับตัวไปเรียนภาษาเฟลมมิชหรือโยกย้ายไปอยู่เขตวัลลูน อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน ฝ่ายวัลลูนก็ยังไม่ยอมคืนสิทธิพิเศษดังกล่าว

เบลเยียมได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2553 พรรค New-Flemish Alliance (N-VA) ของภูมิภาคฟลานเดอร์ส ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยมรุ่นใหม่และมีนโยบายต้องการแบ่งแยกประเทศเบลเยียม ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดในภูมิภาคฟลานเดอร์สแทนพรรค Flemish Christian Democrats (CD&V) ของนายกรัฐมนตรีเลอแตร์ม ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวโน้มการกระจายอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลกลางไปสู่รัฐบาลภูมิภาคมากขึ้น โดยรัฐบาลกลางยังคงมีอำนาจการตัดสินใจด้านการทหารและการต่างประเทศ

ภายหลังการเลือกตั้งดังกล่าว สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ได้แก่ นายบาร์ต เดอ เวฟเวอร์ (Bart De Wever) หัวหน้าพรรค N-VA นายเอลิโอ ดิ รูโป (Elio Di Rupo) หัวหน้าพรรค PS นายอันเดรย์ ฟลาโอต์ (André Flahaut) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรค PS นายแดนนี ปิเอเตร์ (Danny Pieters) ประธานวุฒิสภาสังกัดพรรค N-VA และนายดิดิเยร์ เรดเดอรส์ (Didier Reyders) หัวหน้าพรรค Francophone Liberal เพื่อทำหน้าที่แกนนำและตัวกลางในการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันเบลเยียมยังอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการและไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการถ่ายโอนอำนาจบริหารให้แก่รัฐบาลภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการจัดเก็บภาษี การจัดการปัญหาหนี้ภาครัฐของกรุงบรัสเซลส์และการแบ่งเขตเลือกตั้ง BHV

เศรษฐกิจการค้า

GDP 471.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2553)

GDP per capita 43,533 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2553)

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.1 (2553)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.3 (2553)

อัตราว่างงาน ร้อยละ 8.5 (2553)

สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

เศรษฐกิจเบลเยียมพึ่งพาภาคบริการ การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเหล็กกล้า รถยนต์ เคมีภัณฑ์ การค้าและการผลิตเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ เบลเยียมมีการค้ากับประเทศในสหภาพยุโรปคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด เนื่องจากเบลเยียมตั้งอยู่ใจกลางยุโรป ประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของเบลเยียม คือ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร อุปกรณ์ด้านการขนส่ง สินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม

เศรษฐกิจเบลเยียมชะลอตัวตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยมีสาเหตุมาจากสภาวะตลาดหุ้นซบเซา สภาวะเศรษฐกิจโลก วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ วิกฤติราคาน้ำมัน และการขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายใน อย่างไรก็ดี ในปี 2554 คาดว่าเบลเยียมจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 1.7 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของสหภาพยุโรปเล็กน้อย และมีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.6 ในช่วงต้นปี 2554 อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น กระตุ้นการบริโภคเพิ่มรายได้และอัตราการจ้างงาน

รัฐบาลเบลเยียมดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล คิดเป็นร้อยละ 4.8 ของรายได้ประชาชาติในปี 2553 โดยตั้งเป้าหมายลดหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 97.2 ของรายได้ประชาชาติ (สูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศสหภาพยุโรป) อย่างไรก็ดี สภาวะชะงักงันทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดการเงินในเบลเยียมและทำให้อัตราเงินกู้จากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจกระทบต่อการลงทุนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเบลเยียม

ขณะเดียวกัน เบลเยียมจำเป็นต้องหามาตรการในการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเร่งปฏิรูปสวัสดิการสังคม การเพิ่มกำหนดการครบเกษียณอายุราชการและเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานกลุ่มเยาวชน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและให้มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

นโยบายด้านสังคม

ตั้งแต่ปี 2548 ดำเนินนโยบายด้านสังคมมุ่งเน้นตอบสนองต่อปัญหาการเมืองภายในและป้องกันความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค รวมทั้งดำเนินมาตรการในการปรับกำหนดอายุของการเกษียณอายุทำงาน โดยขยายระดับการเกษียณอายุก่อนกำหนด (early retirement) จากเดิมอายุ 58 ปี เป็นอายุ 60 ปี เพื่อให้ระยะเวลาอายุการทำงานยาวขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดภาระด้านงบประมาณที่จะต้องนำมาใช้ในระบบบำนาญ รวมทั้งเป็นการให้ผู้ที่มีประสบการณ์สามารถมีเวลาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่อคนรุ่นต่อไปได้

รัฐบาลมีนโยบายทางสังคมที่เปิดเสรี โดยออกกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ให้คู่แต่งงานเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรม และอนุญาตให้มีกัญชาในครอบครองเพื่อใช้ส่วนบุคคลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (กำหนดปริมาณและอายุ)

นโยบายต่างประเทศ

เบลเยียมเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีขนาดพื้นที่เล็ก จึงให้ความสำคัญกับบทบาทในกรอบองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) โดยเบลเยียมเป็นสมาชิกก่อตั้งของสหภาพยุโรปจึงอิงนโยบายด้านการเมืองและการค้ากับสหภาพยุโรป

นโยบายต่างประเทศของเบลเยียมให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นกับสหภาพยุโรปในฐานะประเทศสมาชิก และภูมิภาคแอฟริกา เนื่องจากความผูกพันทางประวัติศาสตร์ในฐานะอดีตเจ้าอาณานิคม โดยนโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวเบลเยียม เบลเยียมจึงมีบทบาทแข็งขันในสหภาพยุโรป เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาความไร้เสถียรภาพในแอฟริกากลางหรือภูมิภาค Great Lakes และซูดาน

เบลเยียมดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของสหภาพยุโรป ในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2553 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting :ASEM) ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4 - 5 ตุลาคม 2553

เบลเยียมให้ความสำคัญกับเอเชีย โดยเฉพาะจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และไทย โดยในระยะหลังเบลเยียมได้ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้น เบลเยียมยังส่งเสริมความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้และดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูประเทศเวียดนาม ตลอดจนมีโครงการความร่วมมือทางเทคนิคกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และล่าสุดกับลาว และกัมพูชา

สำหรับประเทศไทย เบลเยียมมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเป็นพิเศษอันเนื่องมาจากสัมพันธไมตรีระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ เบลเยียมมีทัศนคติที่ดีต่อไทยและเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพไทยในภูมิภาค โดยจัดลำดับความสำคัญต่อไทยไว้รองจากจีน อินเดีย และญี่ปุ่น และได้กำหนดให้ไทยเป็นประเทศเป้าหมายในการเพิ่มพูนความร่วมมือทุกสาขาอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรเบลเยียม

ความสัมพันธ์ทางการทูต

ไทยและเบลเยียมได้ลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Friendship and Commerce between Belgium and Siam) ระหว่างกัน เมื่อปี 2411 และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2426 โดยเบลเยียมเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2447 ดังนั้น เมื่อปี 2547 สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทยจึงครบวาระแห่งการก่อตั้ง 100 ปี ในประเทศไทย

ปี 2551 กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฉลองการครบรอบ 140 ปีของการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างไทยกับเบลเยียม อาทิ การจัดการแสดงโขนเฉลิมกรุงที่โรงละคร Antwerp Opera House ณ เมือง Antwerp เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 และที่ Grand Place กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2551

เบลเยียมมีบทบาทในประเทศไทยมาช้านาน นับตั้งแต่การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์ (Gustave Rolin–Jaequemyns) หรือพระยาอภัยราชา เป็นที่ปรึกษา

ปัจจุบัน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ คือ นายอภิชาติ ชินวรรโณ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 และไทยมีกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองลิแอจ (Liege) คือ นายนายดีดีเอร์ โรแลง ชากแมงส์ (Didier Rolin Jacquemyns) และกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอันตเวิร์ป (Antwerp) คือ จอนเคียร์ โจซลีน ทิมเมอร์แมนส์ (Jonkheer Jocelyn Timmermans)

เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย คือ นายรูดี เฟชเตรเทิน (Rudi Veestraeten) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 และมีกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดลำปาง คือ ดร. นิรันดร์ จิวะสันติการ

ความสัมพันธ์ทางการเมือง

ความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียมดำเนินไปอย่างราบรื่นมาโดยตลอด หลังเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เบลเยียมได้ยึดแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป คือ ลดระดับการดำเนินความสัมพันธ์ โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนทวิภาคีในระดับรัฐมนตรีหรือสูงกว่า และเมื่อไทยมีการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ นายคาเรล เดอ กุคท์ (Karel De Gucht) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม ได้เดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน 2551 ในโอกาสดังกล่าว นายเดอ กุคท์ ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสการฉลองความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียมครบรอบ 140 ปี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้จัดขึ้น ในช่วงค่ำของวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

รัฐบาลไทยและรัฐบาลกลางเบลเยียมอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมไทย-เบลเยียม ซึ่งวางกรอบความร่วมมือในสาขาที่สำคัญในความดูแลของรัฐบาลกลางเบลเยียม อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนทุกระดับ การส่งเสริมการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

และขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมไทย- เบลเยียม (Joint Plan of Action for Thai - Belgian Cooperation) ที่มุ่งเน้นสาขาความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือนทุกระดับ การส่งเสริมการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
การค้ารวม
เบลเยียมเป็นคู่ค้าอันดับที่ 31 ของไทย และเป็นอันดับที่ 6 ในสหภาพยุโรป ในปี 2553 ไทยได้ส่งออกไปเบลเยียมเป็นมูลค่ารวม 1,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปี 2552 และนำเข้าเป็นมูลค่าประมาณ 663.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.77 จากปี 2552 ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับเบลเยียมรวม 847.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเบลเยียม ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยางรองเท้าและชิ้นส่วน ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากเบลเยียม ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น

การลงทุน
ในปี 2553 มีโครงการลงทุนจากเบลเยียมที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 6 โครงการ รวมเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 4,302 ล้านบาท โดยบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยและเบลเยียมมีหลายบริษัท อาทิ บริษัท Solvay: Vinythai (ผลิตพลาสติก) บริษัท Katoen Natie (บริการโลจิสติกส์) บริษัท Tractebel (ผลิตกระแสไฟฟ้า) บริษัท INVE Aquaculture (ผลิตอาหารเลี้ยงกุ้งและปลา) บริษัท Antwerp Diamond Cutters (เจียรไนเพชร) บริษัท GSK (ผลิตวัคซีน) และบริษัท Harmen (เทคโนโลยี cooling power) เป็นต้น

การท่องเที่ยว
ในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวชาวเบลเยียมเดินทางมาไทยประมาณ 81,122 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ในขณะที่คนไทยเดินทางไปเบลเยียมปีละประมาณ 500 คน โดยฝ่ายเบลเยียมพยายามผลักดันให้มีสายการบินเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ และกรุงบรัสเซลส์

ความร่วมมือด้านการศึกษา
ในกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย Group T (ตั้งอยู่ที่เมือง Leuven) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในเบลเยียมที่สอนภาษาไทย มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่ง เช่น Asian Institute of Technology (AIT) มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นอกจากนี้ ในการเยือนเบลเยียมของนายเตช บุนนาค ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทยและประธานคณะกรรมการ AIT เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2552 นาย Johan de Graeve อธิการบดีมหาวิทยาลัย Group T ได้แจ้งความประสงค์ที่จะให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยมุสลิมจากภาคใต้ โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะพิจารณารายละเอียดลักษณะของทุนและหลักสูตรการศึกษา

ต่อมา ในการเยือนเบลเยียมของ นพ. กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 มหาวิทยาลัย Group T และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกัน โดยในเบื้องต้น มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้จัดส่งอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์จำนวน 4 คนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (มุสลิม 1 คน) ไปศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Group T โดยฝ่ายเบลเยียมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ของไทย

สังคม
ชุมชนไทยในเบลเยียม
คนไทยอาศัยอยู่ในเบลเยียมจำนวนกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่สมรสกับชาวเบลเยียม ลูกจ้างทั่วไป เจ้าของร้านอาหาร และเจ้าของร้านขายเครื่องปรุงอาหารไทย นอกจากนี้ มีวัดไทยอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ วัดไทยธรรมารามตั้งอยู่ที่เมืองวอเตอ์รลู (Waterloo) วัดพุทธแอนทเวิร์ปเมืองอันตเวิร์ป (Antwerp) วัดธัมมปทีปเมืองเมคเคอเลน (Mechelen) และวัดพุทธารามเมืองซินต์ นิคลาสต์ (Sint-Niklaas)

ความตกลงที่สำคัญกับไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
- อนุสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ลงนามวันที่ 14 มกราคม 2479)
- หนังสือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามวันที่ 2 ธันวาคม 2502)
- ความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลัมเซมเบิร์ก (ลงนามเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2522)
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทยกับสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์ก (ลงนามเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 และแลกสัตยาบันสารเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547)
- สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 และมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ซึ่งทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2553)
- สนธิสัญญาโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 และมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ซึ่งทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2553)


การแลกเปลี่ยนการเยือน
พระราชวงศ์
ฝ่ายไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- ปี 2503 เสด็จฯ เยือนเบลเยียมอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะในสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน 2534 เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 7 สิงหาคม 2536 เสด็จฯ เยือนเบลเยียม ในฐานะผู้แทนพระองค์ พร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงร่วมพิธีพระศพสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง
- วันที่ 14 - 15 มิถุนายน 2544 เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 25 มิถุนายน 2550 ทรงทำการฝึกบินไปยังท่าอากาศยานกรุงบรัสเซลส์
- วันที่ 19 - 20 กุมภาพันธ์ 2554 ทรงทำการบินไปเมืองลิแอจ (Liege) และเสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 11 - 16 มีนาคม 2542 เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 23 - 24 เมษายน 2544 เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 3 - 5 เมษายน 2546 เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์ และทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานกังหันน้ำชัยพัฒนาให้แก่ประธานองคมนตรีภูมิภาคบรัสเซลส์
- วันที่ 26 - 27 มิถุนายน 2553 เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์แห่งใหม่ และได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม
- วันที่ 14-15 มีนาคม 2554 เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์ และได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 8 - 12 พฤศจิกายน 2537 เสด็จเยือนเบลเยียม

นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 22 - 25 เมษายน 2525 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนเบลเยียม
- วันที่ 7 - 8 มีนาคม 2533 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนเบลเยียม
- วันที่ 12 - 13 มิถุนายน 2545 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนเบลเยียม
- วันที่ 11 - 12 ตุลาคม 2548 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนเบลเยียม
- ดือนตุลาคม 2540 นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเบลเยียม
- วันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ 2542 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเบลเยียม
- วันที่ 26 - 27 มกราคม 2546 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ เยือนเบลเยียม เพื่อร่วมการประชุม ASEAN-EU Ministerial Meeting (AEMM)
- วันที่ 8 - 9 มิถุนายน 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเบลเยียม
- วันที่ 22 - 23 มิถุนายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเบลเยียม
- วันที่ 4 - 5 ตุลาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเบลเยียม เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำ ASEM 8

ฝ่ายเบลเยียม
พระราชวงศ์
สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง และสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา
- เมื่อปี 2507 เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา
- วันที่ 19 - 22 กันยายน 2538 เสด็จฯ เยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- เดือนตุลาคม 2541 เสด็จฯ เยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มกุฎราชกุมารฟิลิปแห่งเบลเยียม
- วันที่ 11 - 16 กุมภาพันธ์ 2544 เสด็จฯ เยือนไทยพร้อมนาง Annemie Neyts รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 11 - 13 มิถุนายน 2549 เสด็จฯ เยือนไทย พร้อมด้วยเจ้าหญิงมาธิลด์แห่งเบลเยียม เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เจ้าหญิงแอสทริดแห่งเบลเยียม
- วันที่ 13 - 18 กันยายน 2546 เสด็จเยือนไทย พร้อมด้วยเจ้าชายลอเรนซ์ พระสวามี ในโอกาสเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 5
- วันที่ 16 - 17 มิถุนายน 2548 เสด็จเยือนไทย ในฐานะประธานสภากาชาดเบลเยียม เพื่อแสดงความเสียพระทัยต่อเหตุธรณีพิบัติภัยจากสึนามิ พร้อมนาย Armand De Decker รัฐมนตรีด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 22 - 24 เมษายน 2526 นาย Wilfried Martens นายกรัฐมนตรี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- ปี 2539 นาย Jean-Luc Dehaene นายกรัฐมนตรี เยือนไทยเพื่อร่วมการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ 1
- วันที่ 12 - 13 พฤศจิกายน 2548 นายกีย์ เวอร์ฮอฟสตาดท์ (Guy Verhofstadt) นายกรัฐมนตรี เยือนไทย
- เดือนพฤษภาคม 2536 นาย Willy Claes รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย
- วันที่ 21 พฤษภาคม 2541 นาย Erik Derycke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย
- วันที่ 10 – 11 มิถุนายน 2551 นายคาเรล เดอ กุคท์ (Karel de Gucht) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย


มิถุนายน 2554


กองยุโรป 1 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5145 Fax. 0 2643 5146 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ