ราชอาณาจักรสเปน

ราชอาณาจักรสเปน

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 เม.ย. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 67,213 view


ราชอาณาจักรสเปน
Kingdom of Spain

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปบนคาบสมุทรไอบีเรีย ทิศเหนือ จรดทะเลกันตาบริโก ราชรัฐอันดอร์รา และประเทศฝรั่งเศส ทิศตะวันออก จรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศใต้ จรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ช่องแคบยิบรอลต้า และมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันตก จรดประเทศโปรตุเกส และมหาสมุทรแอตแลนติก

เนื้อที่ 504,880 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับสามในยุโรป รองจากรัสเซียและฝรั่งเศส เนื้อที่ของประเทศสเปนแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่
ส่วนที่เป็นคาบสมุทร คือ
- คาบสมุทรไอบีเรีย และ
- ดินแดนทางเหนือของโมร็อกโก ได้แก่ เซวตา (Ceuta) และเมลิยา (Melilla)
ส่วนที่เป็นหมู่เกาะ คือ
- หมู่เกาะบาเลอาริค (Balearic Islands)
- หมู่เกาะคานารี (Canary Islands)
นอกจากนี้ ยังมีดินแดนอื่นที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของรัฐบาลสเปน ได้แก่
- Islas Chafarinas
- Penon de Alhucemas
- Penon de Velez de la Gomera

ภูมิอากาศ ตั้งอยู่ในเขตอบอุ่น แต่เนื่องจากลักษณะของภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ อากาศของภูมิภาคต่างๆ จึงมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพของภูมิประเทศ เช่น ภาคเหนือ มีสภาพอากาศของริมฝั่งทะเล ซึ่งโดยปกติในฤดูหนาวไม่หนาวจัด และเย็นสบายในฤดูร้อน แต่เป็นภาคที่ฝนตกฉุกและมีความชื้นสูง ส่วนภาคกลาง และภาคใต้ สภาพอากาศแห้ง ฝนตกน้อย ในฤดูร้อนอากาศร้อนจัด แต่ในฤดูหนาวไม่หนาวจัด

เมืองหลวง กรุงมาดริด

ประชากร 47.27 ล้านคน
ประกอบด้วยเชื้อชาติต่างๆ ได้แก่
* Spanish (ร้อยละ 74)
* Catalan (ร้อยละ 15.9)
* Galician (ร้อยละ 6.3)
* Basque (ร้อยละ 4.8)

ศาสนา ศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคธอลิก (ร้อยละ 94)

ภาษา
* ภาษาราชการ คือ ภาษาสเปน (Castellano)
* ภาษาท้องถิ่น ได้แก่ ภาษากาตาลัน (Catalan) พูดในแค้วนกาตาลุนยา ภาษากาเยโก (Gallego) พูดในแค้วนกาลิเซีย ภาษาบาเลนเซียโน (Valenciano) พูดในแคว้นบาเลนเซีย และภาษาบาสโก (Vasco) พูดในแคว้นบาสก์

วันชาติ 12 ตุลาคม

สกุลเงิน ยูโร (EURO)

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional monarchy) 

ประมุข สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 (Felipe 6) ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557 (ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีเลตีเซีย (Queen Letizia)

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2521) พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสเปน ทรงมีพระราชอำนาจที่จะอนุมัติและประกาศใช้พระราชบัญญัติต่างๆ เรียกประชุม ยุบรัฐสภา และประกาศ ให้มีการเลือกตั้ง ทรงเสนอผู้ที่ทรงเห็นว่าสมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งทรงแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับราชการจะต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องผู้หนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในพระราชกรณียกิจนั้นๆ

นายกรัฐมนตรี นายมารีอาโน ราฆอย เบรอี (Mr. Mariano Rajoy Brey) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของสเปน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
 นายโฆเซ่ มานูเอล การ์เซีย-มาร์กาโย (Mr. José Manuel García-Margallo) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เขตการปกครอง สเปนแบ่งเขตการปกครองเป็นแคว้นอิสระ 17 แคว้น(autonomous communities) และ 2 จังหวัดอยู่ทางตอนเหนือของโมร็อกโก (autonomous provinces) โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดโอกาสให้แคว้นต่างๆ มีสิทธิในการปกครองตนเองได้ในระดับที่ต่างกันตามภูมิหลังการปกครองตนเองของแต่ละแคว้น โดยที่แต่ละแคว้นมีสภาของตนเอง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาทุกๆ 4 ปี และได้รับสิทธิและอำนาจบริหารท้องถิ่นของตนเอง

แคว้นอิสระทั้ง 17 แคว้น ประกอบด้วย Andalucia / Aragon / Asturias / Balearic Islands / Canary Islands / Cantabria / Castilla La Mancha / Castilla y / Leon / Cataluna / Comunidad Valenciana / Extremadura / Galicia / Madrid / Murcia / Navarra / Pais Vasco / Rioja

จังหวัดอิสระ ได้แก่ Ceuta และ Melilla

รัฐสภาสเปน ประกอบด้วย
สภาผู้แทนราษฎร (Congreso de los Diputados or Congress of Deputies) ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 300 คน แต่ไม่เกิน 400 คน ขึ้นอยู่กับการแบ่งเขตเลือกตั้งและจำนวนพลเมือง ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกทั้งหมด 350 คน และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 
วุฒิสภา (Senado or Senate) รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีจำนวนสมาชิกเท่าใด แต่กำหนดให้เลือกตั้งทำนองเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันวุฒิสภามีสมาชิก 259 คน โดยสมาชิก 208 คนจะได้รับการเลือกตั้งโดยตรง และ 58 คน จะได้รับแต่งตั้งจากแคว้นต่างๆ 19 แคว้น สมาชิกวุฒิสภาดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี

หลักเกณฑ์การเลือกตั้งกำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ในกรณีที่เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล (ไม่รวมถึงนายกรัฐมนตรี) ข้าราชการพลเรือนและทหารจะต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนจึงจะมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้งได้

สถาบันตุลาการ
รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้ว่า ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ตุลาการเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่บริหารราชการตุลาการอย่างเป็นอิสระในนามของพระมหากษัตริย์ ผู้ใดจะถอดถอน ไล่ออก สั่งพักราชการและโยกย้ายมิได้ทั้งสิ้น เว้นแต่การกระทำที่กล่าวข้างต้นจะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

พรรคการเมือง สเปนมีพรรคการเมืองที่สำคัญ ดังนี้

1) พรรคประชาชน หรือ Partido Popular – PP (Popular Party) พรรคฝ่ายขวากลาง (center-right) เป็นพรรครัฐบาลมีนายมาริอาโน ราฆอย เบรอี (Mariano Rajoy Brey) เป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายหลักของพรรคสนับสนุนการค้าเสรี ร่วมมืออย่างใกล้ชิดทางการเมืองและเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา

2) พรรคสังคมนิยมแรงงาน หรือ Partido Socialista Obrero Espano – PSOE (Spanish Socialist Workers’ Party) มีนาย Alfredo Perez rubalcaba เป็นหัวหน้าพรรค มีอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ซ้ายจัด (middle left center)

3) พรรคปรับร่วมและสหภาพ หรือ Convergencia I Unio – CiU (Convergence and Union)
มีนาย Artur Mas ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลของแคว้น Catalunya เป็นหัวหน้าพรรค

4) พรรคฝ่ายซ้ายสาธารณรัฐนิยมแห่ง Catalunya (Esquerra Republicana de Catalunya - ERC) เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดให้แคว้น Catalunya เป็นเอกราชจากสเปน มีนาย Oriol Junqueras I Vies เป็นเลขาธิการพรรค

5) พรรคฝ่ายซ้ายร่วม หรือ Izquierda Unida – IU (United Left) เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย
ที่แต่เดิมคือพรรคคอมมิวนิสต์ มีนาย Cayo Lara Moya ทำหน้าที่เป็น General Coordinator

6) พรรคชาตินิยมบาสก์ หรือ Partido Nacionalista Vasco – PNV (Basque Nationalist Party) เป็นพรรคการเมืองของแคว้น Basque มีนาย Iñigo Urkullu เป็นหัวหน้าพรรค

7) พรรคผสมคานารี Conlicion Canaria – CC (Coalition of Canary Islands) พรรคการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนของหมู่เกาะ Canary มีนาย Claudina Morales เป็นหัวหน้าพรรค

เศรษฐกิจการค้า

สถานการณ์เศรษฐกิจสเปนโดยสังเขป (ปี พ.ศ. 2556)

เศรษฐกิจของสเปนเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2551 โดยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในสหภาพยุโรป ก่อนจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2552 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี พ.ศ. 2550 ปัญหาสะสมของการขาดดุลการคลัง ปัญหาการว่างงาน และปัญหาเงินเฟ้อ กอปรกับนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีซาปาเตโร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2553 ทำให้มีการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลหลายรายการ รวมทั้งการลดเงินเดือนข้าราชการและการปรับระบบการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ ทำให้รายได้ต่อครัวเรือนของประชาชนสเปนลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของประชาชน และทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบมาโดยตลอด·      

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรปอนุมัติวงเงินจำนวน 1 แสนล้านยูโร เพื่อนำไปเพิ่มทุนหรือปรับโครงสร้างทางการเงินให้กับภาคธนาคารสเปน โดยมีเงื่อนไขให้รัฐบาลสเปนปรับวัดอัตราการขาดดุลงบประมาณให้เหลือร้อยละ 6.3 ในปี พ.ศ. 2555 และร้อยละ 4.5 ในปี พ.ศ. 2556

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สูงไปกว่าร้อยละ 2 จนถึงปี พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ ผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมการก่อสร้างที่หดตัวอย่างรุนแรง สิ่งปลูกสร้างล้นตลาด การหดตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ และภาวะการว่างงาน จะยังคงเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยาแก้ไขต่อไป 

ข้อมูลเศรษฐกิจโดยสังเขป (2556)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)  1,389 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชาชาติต่อหัว 29,288 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -1.2
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.8
อัตราว่างงาน  ร้อยละ 26.3

สินค้าออก เครื่องจักร รถยนต์ เครื่ออุปโภคบริโภค เวชภัณฑ์
สินค้าเข้า เครื่องจักร ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค

ประเทศคู่ค้าในการส่งออกที่สำคัญ สหภาพยุโรป (ฝรั่งเศส โปรตุเกส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร) ลาตินอเมริกา สหรัฐฯ

ประเทศคู่ค้าในการนำเข้าที่สำคัญ สหภาพยุโรป (ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์) กลุ่ม OPEC สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ลาตินอเมริกา โดยเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีปริมาณการค้ากับสเปนสูงรองจากกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร ประเทศคู่ค้าของสเปนในเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้

การท่องเที่ยวของสเปน สเปนมีความโดดเด่นมากเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวต่อปีสูงเป็นอันดับสองของโลก (ประมาณ 55 ล้านคน/ปี และรายได้ประมาณ 50 พันล้านยูโร) รองจากประเทศฝรั่งเศส

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสเปน

ด้านการทูต
สเปนเริ่มติดต่อกับไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426 (ค.ศ.1883) ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำประเทศยุโรปให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงมาดริดด้วยอีกตำแหน่ง โดยแต่งตั้งให้หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอนดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงมาดริดเป็นคนแรก 

ต่อมาไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงมาดริด เมื่อปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) และแต่งตั้งนายมนู อมาตยกุล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดคนแรก

เอกอัครราชทูตไทยประจำสเปน (มีเขตอาณาครอบคลุมอันดอร์รา)
นางบุษยา มาทแล็ง  (Mrs. Busaya Mathelin)

กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำนครบาร์เซโลนา (อยู่ระหว่างการเเต่งตั้ง)

กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำ Santa Cruz de Tenerife
นาย Wolfgang Kiessling (หมู่เกาะคานารี)

เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย (มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา)
นางสาวมาเรีย เดล การ์เมน โมเรโน ไรย์มุนโด (María del Carmen MORENO RAYMUNDO)

สำนักงานอื่นๆ ที่ดูแลกิจการด้านต่างๆ ของไทยในประเทศสเปน ประกอบด้วย
1) สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและทหารเรือ ณ กรุงมาดริด
2) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด
3) สำนักงานการบินไทย ณ กรุงมาดริด
4) สำหรับด้านการท่องเที่ยว สำนักงานการท่องเที่ยวไทย ณ กรุงโรม ดูแลงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในสเปน
5) สำหรับด้านการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ณ กรุงปารีส ดูแลงานส่งเสริมการลงทุนในสเปน

ปัจจุบันไทยและสเปน ได้จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมไทย - สเปน พ.ศ. 2553 - 2558 (Joint Plan of Action between the Governments of the Kingdoms of Thailand and Spain 2010 - 2015) ครอบคลุมทุกสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพระหว่างกัน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและวิชาการ

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ (ข้อมูลปี พ.ศ. 2556)
สเปนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 38 ของไทย และเป็นลำดับที่ 7 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (European Union - EU) ในปี 2556 มูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 1,703 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 1,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 573 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ยางพารา เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ กุ้งสดแช่เย็น และแช่แข็ง

สินค้านำเข้าจากสเปน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเภสัชกรรม เหล็ก เหล็กกล้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนตื ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ด้านการลงทุน
ในปี พ.ศ. 2555 มีโครงการของสเปนขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 2 โครงการ มูลค่ารวม 1,540 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับที่ 7 ในยุโรป 

ด้านการท่องเที่ยว
ในปี พ.ศ. 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสเปนเดินทางมาประเทศไทย จำนวน 123,490 คน

ความตกลงกับไทย
ความร่วมมือและความตกลงที่ลงนามแล้ว
1.ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (Air Services Agreement) ลงนามเมื่อ 6 กันยายน พ.ศ.2522
2.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Agreement on Economic and Industrial Cooperation) ลงนามเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2529
3.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (Agreement en Cooperation on Tourism) ลงนามเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ.2530
4.สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างไทย-สเปน (Treaty on Cooperation in the Execution of Penal Sentences)ลงนามเมื่อ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2526 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2530
5.ความตกลงด้านวัฒนธรรม (Cultural Agreement) ลงนามเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2530
6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงระหว่างกระทรวงกลาโหมไทย-กระทรวงกลาโหมสเปน (Memorandum of Understanding on Logistics Support)ลงนามเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2537
7.ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้า อุตสาหกรรม และ ชิปปิ้งของสเปน (The High Council of Chambers of Commerce, Industry and Shipping of Spain) ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2538
8.อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (Convention on the Avoidance of Double Taxation and the Prevention of Fiscal Evasion with Respect to Taxes on Income)ลงนามเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2540 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2541
9.ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือกันทางการศาลในคดีแพ่งและพาณิชย์ (Agreement on Judicial Assistance in Civil and Financial Affairs) ลงนามเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2541 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2542
10.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างไทย-สเปน (Memorandum of Understanding on Financial Cooperation) ลงนามเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
11. แผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action) ลงนามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553
12. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูต (Agreement on the Reciprocal Waiver of Visas for Diplomatic Passports) ลงนามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการให้มีผลบังคับใช้


การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์ (ระหว่างปี พ.ศ. 2503-2550)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 3 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 เสด็จ ฯ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 17 - 28 มกราคม พ.ศ. 2539 เสด็จฯ เยือนสเปนเพื่อทรงประกอบพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศลงน้ำที่เมืองเฟโรล (Ferrol)

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 27 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เสด็จฯ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1
- วันที่ 22 - 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 เสด็จฯ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1 เพื่อทรงร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 25 ณ นครบาร์เซโลนา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 29 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เสด็จฯ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1 และเสด็จฯ เป็นองค์ประธานในคืนวันประจำชาติไทยในงานแสดงสินค้าโลกที่เมืองเซบิญ่า (Sevilla)
- ระหว่างวันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2536 เสด็จฯ เยือนสเปนเพื่อทรงร่วมงานพระราชพิธีพระศพของ เคาท์ ฆวน เด บอรบอน (Count Juan de Borbón) พระราชบิดาของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- วันที่ 25 กันยายน - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2536 เสด็จเยือนสเปนเป็นการส่วนพระองค์

รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 16 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2530 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนสเปนอย่างเป็นทางการ

รัฐมนตรี
- วันที่ 14 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2540 นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนสเปนอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 11 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2541 นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและคณะเยือนสเปนอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 17 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ เดินทางเยือนสเปนเพื่อขอความสนับสนุนในการสมัครเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)
- วันที่ 7 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะเยือนสเปน
- วันที่ 6 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2545 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสเปนเพื่อร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป (ASEM-FMM) ครั้งที่ 4 ณ กรุงมาดริด
- วันที่ 6-9 ตุลาคม พ.ศ. 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือสเปน ณ กรุงมาดริด

ฝ่ายสเปน
พระราชวงศ์
สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน คาร์ลอส ที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโซเฟีย
- เมื่อปี พ.ศ. 2505 และ 2508 เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ (ขณะดำรงพระยศเจ้าชายแห่งสเปน)
- วันที่ 18 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 21 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระราชินีโซเฟีย
- วันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 เสด็จฯ แวะผ่านประเทศไทยเพื่อเสด็จฯ ต่อไปยังเวียดนาม
- วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2546 เสด็จฯ แวะผ่านประเทศไทยเพื่อเสด็จฯ ต่อไปยังฟิลิปปินส์
- วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยเพื่อร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี  
- วันที่ 6 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เสด็จฯ แวะผ่านไทย ก่อนเสด็จฯ กลับสเปน

เจ้าชายเฟลิปเป มกุฎราชกุมารแห่งสเปน
- วันที่ 16 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เจ้าฟ้าหญิงคริสตินา 
- วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 17 และ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เสด็จฯ แวะเปลี่ยนเครื่องบิน ก่อนและหลังเสด็จเยือนกัมพูชา

เจ้าหญิงเอเลน่าแห่งสเปน
- วันที่ 14 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เสด็จเยือนไทยพร้อมด้วยพระสวามี ในฐานะแขกของรัฐบาล

รัฐบาล
รัฐมนตรี
- เดือนมกราคม พ.ศ. 2537 นายฆาเบีย โซลาน่า (Javier Solana) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปนเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 1 - 2 มีนาคม พ.ศ. 2539 นายคาร์ลอส เวสเตนดอร์ป (Carlos Westendorp) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปนในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรีสเปนเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1
- วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2542 นายรามอน เด มิเกล (Ramon de Miguel) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปน เยือนไทย
- วันที่ 11 - 12 มกราคม พ.ศ. 2548 นายมิเกล อังเคล โมราติโนส (Miguel Angel Moratinos) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปนเยือนไทย ในโอกาสที่เดินทางเยือนประเทศในเอเชียที่ประสบธรณีพิบัติภัย เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูบูรณะแก่ประเทศที่ประสบภัย และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 21 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 นายมิเกล อังเคล โมราติโนส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปนเยือนไทย และเข้าพบนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ

จำนวนคนไทยในสเปน
มีคนไทยอาศัยอยู่ในสเปนจำนวน 957 คน 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด
ที่ตั้ง Royal Thai Embassy Calle Joaquin Costa, 29
28002 Madrid, Spain
Tel:001 (34) 91 563 2903 Fax : 001 (34) 91 564 0033
001 (34) 91 563 7959 001 (34) 91 562 4128
e-mail: [email protected]


8 สิงหาคม 2557
กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0 2 203 5000 ต่อ 13132 Fax. 02 643 5132 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-231-document.doc