ไอร์แลนด์

ไอร์แลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.พ. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 17,573 view


ไอร์แลนด์
Ireland

ข้อมูลทั่วไป


ที่ตั้ง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป โดยมีทะเลไอริชทางตะวันออกคั่นระหว่างเกาะอังกฤษและเกาะไอร์แลนด์

พื้นที่ 70,282 ตารางกิโลเมตร

ประชากร 4.2 ล้านคน

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันแคทอลิค (ร้อยละ 87.4) คริสต์นิกายแองกลิกัน (ร้อยละ 3) ศาสนาอื่น (ร้อยละ 3) ไม่นับถือศาสนา (ร้อยละ 1)

ภาษา ไอริช (Gaelic) (ภาษาราชการที่ 1) ภาษาอังกฤษ (ภาษาราชการที่ 2)

เมืองหลวง กรุงดับลิน

ระบบการเมือง สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประธานาธิบดีเป็นประมุข มีบทบาทเชิงพิธีการ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

GDP Growth Rate ติดลบร้อยละ 1

GDP per capita 40,687 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2553)

ประเทศคู่ค้าสำคัญ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม

สินค้าส่งออกที่สำคัญ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ อาหาร ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ วัสดุการผลิต เครื่องดื่ม

สินค้านำเข้าที่สำคัญ ข้าวสาลี ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องจักร อุปกรณ์ขนส่ง เคมีภัณฑ์

อุตสาหกรรมสำคัญ คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องจักร สิ่งทอ เคมีภัณฑ์

ทรัพยากรธรรมชาติ สังกะสี ตะกั่ว ก๊าซธรรมชาติ แบไรท์ ทองแดง ยิปซัม

การเมืองการปกครอง

1. ไอร์แลนด์เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ทางด้านพิธีการ แต่งตั้งรัฐบาล บัญญัติกฎหมายซึ่งเสนอโดยรัฐสภา มีอำนาจในการยุบสภา และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้สูงสุดเพียงสองสมัย ปัจจุบัน คือ นางแมรี่ แมคอัลลิส (Mary McAleese) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง (สมัยแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540 – กันยายน 2547 และสมัยที่สองตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547) หัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ปัจจุบัน นายไบรอัน โคเวน (Brian Cowen) ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีการเลือกทั่วไปในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 และจัดตั้งรัฐบาลใหม่

2. ไอร์แลนด์มีพรรคการเมืองสำคัญสองพรรคเป็นคู่แข่งในทางการเมือง ได้แก่ พรรคเฟียนา ฟอยล์ (Fianna Fáil) และพรรคฟินา เกล (Fine Gael) มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 ซึ่งพรรคเฟียนา ฟอยล์ ภายใต้การนำของนายไบรอัน โคเวน ได้รับชัยชนะและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคกรีน ผลงานที่สำคัญของรัฐบาลของนายไบรอัน โคเวนคือการผลักดันการลงประชามติในสนธิสัญญาลิสบอน (Lisbon Treaty) จนได้รับชัยชนะทั้งนี้ พรรคเฟียนา ฟอยล์อยู่ในอำนาจมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2540 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคเฟียนา ฟอยล์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเนื่องจากคะแนนนิยมจากผลงานด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ไอร์แลนด์ได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือเศรษฐกิจ (Celtic Tiger) อีกทั้งความพยายามในแผนสันติภาพไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน

3. อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2551ไอร์แลนด์เผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนต้องยอมรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและสหภาพยุโรปกว่า 85 พันล้านยูโร ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.8 ต่อปี สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมากที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศได้ ทำให้รัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีไบรอัน โคเวน ที่เคยมีเสถียรภาพต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมือง คะแนนนิยมตกต่ำ และนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงเดือนมกราคม 2554 โดยมีกระแสเรียกร้องอย่างหนักให้นายกรัฐมนตรี ไบรอัน โคเวน ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเฟียนา ฟอยล์ และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีในรัฐบาลหลายคนประกาศลาออก ซึ่งรวมถึงนายไมเคิล มาร์ติน (Micheál Martin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 นายกรัฐมนตรีไบรอัน โคเวน ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากที่นายไมเคิล มาร์ตินลาออก ประกาศยุบสภา และจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 คาดว่าพรรคฟินา เกล พรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคแรงงาน

เศรษฐกิจการค้า

1. วิกฤตเศรษฐกิจที่ไอร์แลนด์กำลังเผชิญอยู่มีสาเหตุหลักสองประการ 1) ปัญหาหนี้เสียในสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารแองโกล ไอริช (Anglo Irish Bank) และธนาคารอัลไลด์ ไอริช (Allied Irish Bank) สืบเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้างอย่างไม่ระมัดระวัง จนรัฐบาลต้องเข้าไปแบกรับภาระหนี้และความเสียหายของสถาบันการเงินหลายแห่ง ซึ่งประเมินว่ามีมูลค่ากว่า 50 พันล้านยูโร 2) ปัญหาด้านการคลังจากการที่ไอร์แลนด์มีหนี้สินภาครัฐสูงกว่าร้อยละ 76 ในปี 2552 และเพิ่มเป็นร้อยละ 90 ในปี 2553 และจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลกว่าร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) โดยมีภาระจากการเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงิน ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจต่อความสามารถ ในการชำระหนี้ของรัฐบาลไอร์แลนด์ จนในที่สุดรัฐบาลไอร์แลนด์ต้องยินยอมขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสหภาพยุโรป วงเงินกู้ยืม 85 พันล้านยูโร กำหนดระยะเวลา 3 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.8 ต่อปี โดยรัฐบาลไอร์แลนด์จะใช้เงินกู้ดังกล่าวส่วนใหญ่เพื่อเป็นวงเงินสำรองให้กับสถาบันการเงินในกรณีมีความจำเป็น ต้องใช้เงินฉุกเฉิน ทั้งนี้ สาเหตุที่ไอร์แลนด์ตัดสินใจกู้ยืมเงิน เนื่องจากแรงกดดันจากสมาชิกสหภาพยุโรป เพื่อแก้ปัญหาแรงกดดันในตลาดพันธบัตรรัฐบาลของยุโรปและเพื่อป้องกันมิให้วิกฤตเศรษฐกิจขยายตัวไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ ที่เศรษฐกิจเปราะบาง อาทิ โปรตุเกสและสเปน

2. เศรษฐกิจไอร์แลนด์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีอัตราการเติบโตติดลบอย่างต่อเนื่อง ที่อัตราร้อยละ 0.7 ภาคก่อสร้างซึ่งมีขนาดใหญ่มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 8.2 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งส่งผลให้อัตราค่าจ้างแรงงานในภาคก่อสร้างลดลง ในขณะที่ภาคบริการซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญของไอร์แลนด์มีอัตราการเติบโตลดลงในทุกหมวดบริการ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2553 อยู่ที่ติดลบร้อยละ 1 แต่กลับมาเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2554

3. อัตราว่างงานของไอร์แลนด์ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ร้อยละ 13.9 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีเดียวกัน ธนาคารกลางไอร์แลนด์คาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานในปี 2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 13.7 และลดลงเป็นร้อยละ 13.4 ในปี 2555 ในขณะที่หนี้ภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2554 เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้งบประมาณจากภาษีและเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศ

4. เงื่อนไขสำคัญที่ไอร์แลนด์จะต้องปฏิบัติในการรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและสหภาพยุโรปคือ การผ่านกฎหมายด้านการเงินฉบับสำคัญ โดยมีสาระสำคัญเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือร้อยละ 9.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในปี 2554 ลดรายจ่ายภาครัฐกว่า 3.9 พันล้านยูโร และเพิ่มการจัดเก็บภาษีประมาณ 1.4 พันล้านยูโร ทั้งนี้ รัฐสภาไอร์แลนด์ได้ให้ความเห็นชอบ ต่อร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไอร์แลนด์สามารถนำเงินที่กู้ยืมมาใช้ในระบบเศรษฐกิจได้

5. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ธนาคารกลางของไอร์แลนด์ประกาศการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2554 ว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1 ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ทั้งนี้ สาเหตุหลักน่าจะเกิดจากมาตรการลดรายจ่ายที่เข้มงวดของรัฐบาลไอร์แลนด์ในช่วงปีที่ผ่านมาที่รวมถึง การลดค่าแรงขั้นต่ำ ลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม เพิ่มอัตราภาษีเงินได้ และลดการให้เครดิตภาษี

นโยบายต่างประเทศ
1. ไอร์แลนด์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยมีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ชาวไอริชนับล้านคนอพยพถิ่นฐานไปยังสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไอร์แลนด์และเป็นประเทศที่ลงทุนในไอร์แลนด์มากที่สุด ไอร์แลนด์เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งได้สร้างคุณประโยชน์ต่อไอร์แลนด์ในหลายด้านนับตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ การค้า สังคม การเงิน ความสนับสนุนต่อกระบวนการสันติภาพของไอร์แลนด์เหนือ รวมทั้งช่วยปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของไอร์แลนด์ในสหภาพยุโรปและในระดับโลก

2. ไอร์แลนด์ยังมีบทบาทที่แข็งขันในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี ความมั่นคงระหว่างประเทศ สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการดำเนินการขององค์การระหว่างประเทศ อาทิ สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก และองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organisation for Security and Cooperation in Europe – OSCE) เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาระดับโลก อาทิ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดอาวุธ

3. ไอร์แลนด์ดำเนินนโยบายรักษาความเป็นกลาง โดยไม่เข้าร่วมในพันธมิตรทางการทหารใด ๆ แต่ให้ความสำคัญและสนับสนุนภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาติมาอย่างต่อเนื่อง

4. ไอร์แลนด์ได้กำหนดนโยบายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบาย การต่างประเทศ และดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศมาเป็นเวลากว่า 30 ปี หน่วยงานของไอร์แลนด์ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศคือ ไอริช เอด (Irish Aid) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน โดยการลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา ในปี 2553 ไอร์แลนด์ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือให้กับไอริช เอด เป็นเงิน 671.4 ล้านยูโร หรือประมาณร้อยละ 0.52 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ นอกจากนี้ ไอร์แลนด์ยึดมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศที่อัตราร้อยละ 0.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ภายในปี 2558

5. ไอร์แลนด์ได้กำหนดยุทธศาสตร์ต่อเอเชียในเอกสาร Asia Strategy ซึ่งแบ่งเป็นสองระยะ ระหว่างปี 2543-2547 และ 2548-2552 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจการค้า และการลงทุน โดยมีประเทศเป้าหมาย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม นอกจากนั้น ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้ากับประเทศที่เป็นตลาดใหม่ เช่น ไทย และฟิลิปปินส์ด้วย ไอร์แลนด์ได้ส่งคณะผู้แทนทางการเมืองและการค้าเยือนประเทศในเอเชียเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ในเอเชียเพิ่มหลายแห่ง อาทิ เวียดนาม และสิงคโปร์ ในปี 2553 รัฐบาลไอร์แลนด์ยังคงให้ความสำคัญกับการอนุวัติยุทธศาสตร์ต่อเอเชียอย่างต่อเนื่อง และมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ เพื่อจัดทำนโยบายด้านการเมืองระหว่างประเทศต่อภูมิภาคนี้ อาทิ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ไอร์แลนด์ต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลไกพหุภาคีในภูมิภาคเอเชียผ่านการมีส่วนร่วมในกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไอร์แลนด์

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

1.1 การทูต
ไทยและไอร์แลนด์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางกงสุลเมื่อปี 2509 ต่อมา สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2518 ไทยแต่งตั้งเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เป็นเอกอัครราชทูตประจำไอร์แลนด์ ส่วนไอร์แลนด์แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย นอกจากนี้ ไทยยังมีกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงดับลิน ปัจจุบันคือนายแพทริค โจเซฟ ดินีน (Patrick Joseph Dineen)ในขณะที่ ไอร์แลนด์มีกงสุลกิตติมศักดิ์ไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันคือนายปีเตอร์ แกรี ไบส์ตี (Peter Gary Biesty) ภายหลังจากเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยทางใต้ของไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2547 รัฐบาลไอร์แลนด์ได้เสนอขอเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดภูเก็ต

1.2 การเมือง
ไทยและไอร์แลนด์มีปฏิสัมพันธ์ค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์เริ่มมีพลวัตเมื่อนางแมรี่ แมคอัลลิส ประธานาธิบดีไอร์แลนด์ เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลเมื่อวันที่ 26-28 กันยายน 2545 และเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการศึกษาระหว่างกัน
การเยือนไอร์แลนด์ในระดับรัฐบาลของฝ่ายไทยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2549 เมื่อนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ได้เดินทางเยือนไอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2549 โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันครอบคลุมและลึกซึ้งในหลายประเด็น ซึ่งทำให้เห็นศักยภาพที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันต่อไป อาทิ การขยายปริมาณการค้าการลงทุน การจัดทำอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน รวมถึงการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย การเชิญชวนฝ่ายไอร์แลนด์เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในโครงการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขงAyeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS) การเปิดเส้นทางบินตรงมายังไทยของสายการบินแห่งชาติไอร์แลนด์ (Aer Lingus) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และพลังงานทดแทน และการพิจารณาทบทวนมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าไก่ส่งออกจากไทยไปยังสหภาพยุโรป
นับจากปี 2549 ไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนทางการเมืองระหว่างไทยและไอร์แลนด์ ปัจจุบัน โดยที่ไอร์แลนด์กำลังประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ประกอบกับจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นลำดับแรก จึงทำให้โอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองในอนาคตอันใกล้ยังมีไม่มากนัก

1.3 เศรษฐกิจ
1.3.1 การค้า
ไทยและไอร์แลนด์ได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าระหว่างหอการค้าไอร์แลนด์กับหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2545 และได้จัดตั้งสำนักงานหอการค้าเอเชียไอร์แลนด์ (Asia-Ireland Chamber of Commerce – AICC) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
การค้าระหว่างไอร์แลนด์กับไทยในปี 2553 มีมูลค่า 518 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 262.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 255.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าที่ไอร์แลนด์นำเข้าจากไทยได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ ไก่แปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา เสื้อผ้าสำเร็จรูป เลนซ์ เป็นต้น โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก คือ วงจรพิมพ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน ใบยาสูบ เป็นต้น

1.3.2 การลงทุน
บริษัทสำคัญจากไอร์แลนด์ที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้วคือ กลุ่ม Kerry ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของยุโรป Kerry มีธุรกิจใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร อาหาร เครื่องปรุงและเครื่องปรุงรสสังเคราะห์ เมื่อปี 2545 Kerry ได้ก่อตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อผลิตเครื่องปรุงให้แก่โรงงานของบริษัทฟริโตเลย์ และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านเครื่องปรุงในไทยด้วย นอกจากนี้ กลุ่ม Kerry ยังนำเข้าไก่จากไทยประมาณ 3,200 ตันต่อปี และนำเข้ามันสำปะหลังและกลูโคสจากไทยปีละ 3 และ 5 พันตันต่อปี ตามลำดับ
จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 2553 มีโครงการลงทุนจากไอร์แลนด์ที่ได้รับการอนุมัติจาก BOI จำนวน 1 โครงการ รวมเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 105 ล้านบาท

1.3.3 การท่องเที่ยว
ในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวไอร์แลนด์เดินทางมาไทย 58,813 คน ลดลงจากปี 2552 ในอัตราร้อยละ 10.25 แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรประมาณ 4.2 ล้านคนของไอร์แลนด์

1.4 ความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชน
คนไทยที่อาศัยอยู่ในไอร์แลนด์มีจำนวนกว่า 2,000 คน ส่วนใหญ่สมรสกับชาวไอริช ประกอบอาชีพลูกจ้างร้านอาหารไทย ภาคเกษตร และภาคบริการทั่วไป ปัจจุบันยังไม่มีการสร้างวัดไทยในไอร์แลนด์
เมื่อวันที่ 10 - 13 มิถุนายน 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ดำเนินโครงการ Taste of Thailand in Taste of Dublin ณ Iveagh Gardens ต่อเนื่องจากโครงการในปี 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ชาวไอริชรู้จักและสนใจประเทศไทยมากขึ้นโดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การสาธิตทำอาหารไทย การเชิญชิมอาหาร การแสดงทางวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการ การสาธิตนวดไทย การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทย และการเผยแพร่ข้อมูลด้านอาหารและการท่องเที่ยว



การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย
- เดือนธันวาคม 2541 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เยือนไอร์แลนด์ เพื่อรณรงค์ขอความสนับสนุนในการสมัครเป็นผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก

- วันที่ 13 -16 พฤษภาคม 2543 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยคนแรกที่ได้เดินทางเยือนไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ

- วันที่ 18-21 มิถุนายน 2546 น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร เดินทางเยือนไอร์แลนด์ เพื่อศึกษาดูงานความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และปัจจัยสู่ความสำเร็จของไอร์แลนด์ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

- วันที่ 11-12 ตุลาคม 2548 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนไอร์แลนด์

- วันที่ 12-14 กันยายน 2549 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนไอร์แลนด์

ฝ่ายไอร์แลนด์

- วันที่ 5-8 พฤษภาคม 2531 นายแพทริค ฮิลเลอรี่ (Patrick Hillery) อดีตประธานาธิบดีเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนตัว

- เดือนกุมภาพันธ์ 2543 นางแมรี่ ฮาร์นี่ (Mary Harney) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีวิสาหกิจ การค้า และการจ้างงาน เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD) ครั้งที่ 10 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

- วันที่ 26-28 กันยายน 2545 นางแมรี่ แมคอัลลิส (Mary McAleese) ประธานาธิบดีไอร์แลนด์เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย โดยเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

- วันที่ 9 มกราคม 2548 นายเดอร์มอท อะเฮิร์น (Dermot Ahern) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไอร์แลนด์ และคณะเยือนประเทศไทย เพื่อสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นจากธรณีพิบัติภัยในภาคใต้ของประเทศไทย

- วันที่ 18 เมษายน และ 20 กรกฎาคม 2548 นายคริส ฟลัด (Chris Flood) ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาของไอร์แลนด์ (Advisory Board for Development Cooperation Ireland – DCI) และดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของนายเดอร์มอท อะเฮิร์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไอร์แลนด์ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุธรณีพิบัติภัยที่ภาคใต้ของประเทศไทย

- วันที่ 18 มกราคม 2549 นายมาร์ติน คัลเลิน (Martin Cullen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไอร์แลนด์ และคณะเยือนประเทศไทย


กุมภาพันธ์ 2554



กองยุโรป 1 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5147 Fax. 0 2643 5146 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ