เซนต์ลูเซีย
Saint Lucia
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง เป็นเกาะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลแคริบเบียน ใกล้กับเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ บาร์เบโดส และดินแดนมาร์ตินีกของฝรั่งเศส
พื้นที่ 616 ตารางกิโลเมตร
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น
ประชากร 174,000 คน (2553)
เมืองหลวง กรุงแคสตรีส์ (Castries)
ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ
ศาสนา นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 67.5 ที่เหลือเป็นนิกายอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่นับถือศาสนาอีกประมาณ ร้อยละ 32.5
เชื้อชาติ ผิวดำร้อยละ 82.5 เชื้อสายผสมร้อยละ 11.9 อินเดียนตะวันออก ร้อยละ 2.4 และอื่นๆ ร้อยละ 3.1
อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 90.6 (2544)
หน่วยเงิน ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean dollar) โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.70 ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก
วันชาติ 22 กุมภาพันธ์ (วันประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1979)
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-Caricom) เครือจักรภพ (The Commonwealth) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแคริบเบียน (Caribbean Development Bank - CDB) องค์การรัฐแคริบเบียนตะวันออก (Organization of Eastern Caribbean States -OECS), ITU, OAS, G77, UN , WTO เป็นต้น
การเมืองการปกครอง
รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาแบบอังกฤษ
ประมุขของรัฐ สมเด็จพระราชชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ คนปัจจุบันได้แก่ Dame Pearlette Louisy ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่กันยายน 2540
ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล คนปัจจุบันได้แก่ นาย Stephenson King ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 9 กันยายน 2550
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาคู่ ประกอบด้วยวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิก 11 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยผู้สำเร็จราชการฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 17 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทางตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดขึ้นภายในเดือนมกราคม 2555
ฝ่ายตุลาการ ใช้ระบบ Common Law ตามแบบอังกฤษ และยอมรับอำนาจศาลฎีกาแคริบเบียนตะวันออก (Eastern Carribean Supreme Court)
สถานการณ์สำคัญทางการเมือง
การเมืองของเซนต์ลูเซียภายหลังได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร อยู่ภายใต้การบริหารงานของพรรค The United Workers Party (UWP) ซึ่งนำโดย Sir John Compton มาหลายสมัย แต่ภายหลังจากที่พรรคแพ้การเลือกตั้งให้พรรคคู่แข่งอย่างพรรค St. Lucia Labour Party (SLP) ถึงสองสมัยติดต่อกันเมื่อปี 2540 และ 2544 Sir John Compton จึงได้กลับมาเป็นผู้นำพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งและชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 อย่างไรก็ดี Sir John Compton ดำรงตำแหน่งได้ไม่นานนัก เนื่องจากปัญหาสุขภาพ จนถึงแก่กรรมในปี 2550 และนาย Stephenson King ได้ดำรงตำแหน่งแทน นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เซนต์ลูเซียมีปัญหาอาชญากรรมรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น และกลายมาเป็นข้อห่วงกังวลสำคัญของประชาชนทั่วไป การปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าว จึงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลพรรค UWP แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
นโยบายต่างประเทศ
รัฐบาลเซนต์ลูเซียดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาชาติกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โดยในระดับภูมิภาค เซนต์ลูเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาการบูรณาการภายใต้กรอบ CARICOM และ OECS (ซึ่งมีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงแคสตรีส์)
ส่วนความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกานั้น นอกจากสหรัฐฯ จะมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเซนต์ลูเซีย เช่น การให้สิทธิประโยชน์ U.S. Caribbean Basin Initiative แก่เซนต์ลูเซียและประเทศแคริบเบียนอื่นแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงโดยเฉพาะด้านการปราบปรามยาเสพติดอีกด้วย
เศรษฐกิจการค้า
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -3.8 (2552)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 9.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 9,605 ดอลลาร์สหรัฐ (2552)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 15.7 (2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.8 (2550)
มูลค่าการส่งออก 74.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)
สินค้าส่งออกที่สำคัญ กล้วย เครื่องนุ่งห่ม ผัก ผลไม้ น้ำมันมะพร้าว โกโก้
มูลค่าการนำเข้า 540.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)
สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลและยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ น้ำมัน
ประเทศคู่ค้า สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ตรินิแดดและโตเบโก บาร์เบโดส เกรเนดา สเปน เกาหลีใต้ อินเดีย บราซิล
สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ
ก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 เซนต์ลูเซียประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เนื่องจากมีข้อได้เปรียบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความมั่นคง การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของประเทศ รวมถึงมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มาก อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจของเซนต์ลูเซียพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเซนต์ลูเซียน้อยลง จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ในภาคเกษตรกรรม การส่งออกกล้วยเคยเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ แต่ต่อมาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทำให้ผลผลิตจากเซนต์ลูเซียไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากตลาดอื่นได้ และส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานตามมา ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชประเภทอื่นทดแทน ส่วนในภาคอุตสาหกรรม เซนต์ลูเซียมีความหลากหลายมากกว่าประเทศสมาชิกองค์การรัฐแคริบเบียนตะวันออก (OECS) อื่น โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญประกอบด้วย การผลิตกระดาษ การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ รัฐบาลเซนต์ลูเซียยังมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการซื้อขายสินค้าและบริการทางโทรศัพท์ (Telemarketing)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซนต์ลูเซีย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและเซนต์ลูเซียมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2532 โดยรัฐบาลไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา เป็นจุดติดต่อราชการกับเซนต์ลูเซีย
เมื่อปี 2548 ไทยจัดโครงการเชิญผู้แทนจากประเทศ CARICOM เยือนไทย เพื่อสร้างความคุ้นเคยและความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับประเทศในแคริบเบียนให้มากขึ้น รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของประเทศเหล่านี้ อีกทั้งเพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่บทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหม่ ซึ่งเซนต์ลูเซียเป็นหนึ่งในสมาชิก CARICOM ที่ได้ให้ความสนใจส่งผู้แทนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในประเทศไทย
2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
เมื่อปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 4.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 4.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 4,161.3 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับเซนต์ลูเซียมูลค่า 4.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตู้เย็น ตู้เย็นและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว
สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สินค้าทุนอื่น
3. ความร่วมมือทางด้านวิชาการ
ในระดับพหุภาคี ไทยดำเนินโครงการความร่วมมือกับเซนต์ลูเซียโดยการให้ทุนฝึกอบรมและ ทุนศึกษาผ่านกรอบองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States-OAS) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM)
4. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
เมื่อปี 2553 มีชาวเซนต์ลูเซียเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 44 คน
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2554
กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5000 ต่อ 13043 , 13044, 13010, 13079 Fax. 0-2643-5115 E-mail :
[email protected]