สาธารณรัฐโคลอมเบีย

สาธารณรัฐโคลอมเบีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 22,632 view


สาธารณรัฐโคลอมเบีย
Republic of Colombia

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ทิศเหนือติดทะเลแคริบเบียน ทิศตะวันออกติดเวเนซุเอลาและบราซิล ทิศใต้ติดเปรู และเอกวาดอร์ทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิกและปานามา

พื้นที่ 1,138,910 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในอเมริกาใต้

ภูมิอากาศ อากาศร้อนชื้นในบริเวณแถบชายฝั่งและที่ราบทางด้านตะวันออก บริเวณเทือกเขามีอากาศเย็น

เมืองหลวง กรุงโบโกตา (Bogotá)

ประชากร 45.7 ล้านคน (2552)

ภาษา สเปน (ภาษาราชการ)

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 90

เชื้อชาติ เชื้อสายผสม (ร้อยละ 58) ผิวขาว (ร้อยละ 20) คนผิวดำ (ร้อยละ 4) และอื่นๆ (ร้อยละ 18)

อัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 90.4

หน่วยเงินตรา เปโซโคลอมเบีย (Colombian Peso) โดย 1 ดอลลาร์สหรัฐ มีค่าเท่ากับ 1,912.29 เปโซโคลอมเบีย (18 มิ.ย. 2553)

วันประกาศเอกราช 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1810 จากสเปน

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ G-77, Non-Alignment Movement (NAM), Organization of American States (OAS), Union of the South American Nations (UNASUR), Latin American Integration Association (LAIA), Latin American Economic System (SELA), Andean Community

เวลาแตกต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง (-5 GMT)

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ระบอบสาธารณรัฐ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด 20 มิถุนายน 2553 ซึ่งนายควน มานูเอล ซานโตส ชนะการเลือกตั้ง และจะดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2553-2557

คณะรัฐมนตรี มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนายนายควน มานูเอล ซานโตส (Juan Manuel Santos) ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2553

ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาคู่ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้ง 2 สภา และมีวาระ 4 ปี ประกอบด้วย วุฒิสภา มีสมาชิกจำนวน 102 คน และสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 166 คน
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลชั้นต้น
สถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2553 โคลอมเบียได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ (รอบที่ 2) สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2553-2557 ผลปรากฏว่า นายควน มานูเอล ซานโตส (Juan Manuel Santos) ผู้สมัครจากพรรค Partido de la U ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันได้รับชัยชนะ โดยได้คะแนนเสียงสนับสนุนร้อยละ 69.05 และนายอานตานาส ม็อกกุส (Antanas Mockus) ผู้สมัครจากพรรค Partido Verde ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 27.52 ทั้งนี้ นายซานโตสเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2553

นายควน มานูเอล ซานโตส อายุ 59 ปี เข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่ปี 2515 และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมือง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายซานโตสมีฐานเสียงสนับสนุนจากชาวชนบทจำนวนมาก รวมถึงได้รับความนิยมจากประชาชนโคลอมเบียที่มีต่อรัฐบาลชุดก่อนหน้า ในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มต่อต้าน Revolutionary Armed Forces of Colombia (FARC) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายซานโตสชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

นโยบายต่างประเทศ

ในสมัยประธานาธิบดีอัลบาโร อูริเบ นโยบายต่างประเทศโคลอมเบียเน้นการบูรณาการกับกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค รวมทั้งให้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ และปรับตัวให้เข้ากับยุคโลกาภิวัฒน์ เน้นการดำเนินนโยบายการทูตแบบพหุภาคีมากกว่าแบบ ทวิภาคี และรับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงจากสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายซานโตสเน้นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการปกป้องสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมของประชาชน รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและปราบปรามอาชญากรรม อนึ่ง โคลอมเบีย แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกเอเปคและมีนโยบายที่จะพัฒนาความร่วมมือกับเอเชียเพิ่มมากขึ้น โดยกำลังพิจารณาเปิดสถานเอกอัครราชทูตในเอเชียเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย

เศรษฐกิจการค้า

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2552) ร้อยละ 0.4

อัตราเงินเฟ้อ(2551) ร้อยละ 6.7

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 215.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โครงสร้างของ GDP ภาคบริการ (ร้อยละ 76.2) ภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 14.5) ภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 9.3)

อุตสาหกรรม เหล็ก เหล็กกล้า เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องจักรกล

เกษตรกรรม กาแฟ กล้วย ดอกไม้ ฝ้าย อ้อย

หนี้ต่างประเทศ 53,959.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 11.9

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
นโยบายเศรษฐกิจหลักของโคลอมเบีย ได้แก่ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเร่งการสร้างงาน การสนับสนุนการค้าเสรี และการลดอุปสรรคทางการค้า แต่ยังคงมีการอุดหนุนภาคเกษตรกรรมและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้ รัฐบาลของนายซานโตสมีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนา 5 ภาคเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรม สาธารณูปโภค การสร้างนวัตกรรม การสร้างที่อยู่อาศัย และภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่
ปัจจุบัน โคลอมเบียได้จัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับชิลี เม็กซิโก และเวเนซุเอลาแล้ว รวมทั้งมีความตกลงทวิภาคีเพื่อส่งเสริมการค้ากับสหรัฐฯ ด้วย ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการค้าและการลงทุนของโคลอมเบียอย่างมาก ทำให้รัฐบาลโคลอมเบียต้องมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงาน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโคลอมเบีย


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโคลอมเบีย

ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยกับโคลอมเบียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2522 โดยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา มีเขตอาณาครอบคลุมโคลอมเบีย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งให้นางเซซิเลีย เฟร์นันเดซ เด ปาลินี (Cecilia Fernandez de Pallini) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงโบโกตา คนแรก ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2531
ปัจจุบัน รัฐบาลโคลอมเบียได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง

ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ไทยกับโคลอมเบียมีความสัมพันธ์ราบรื่น แต่ค่อนข้างห่างเหิน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนบ้าง เป็นครั้งคราว การแลกเปลี่ยนการเยือนครั้งสุดท้าย เป็นการเยือนไทยของนายกามีโล เรเยส โรดริเกซ (Camilo Reyes Rodriguez) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 29-31 พ.ค. 2547
โคลอมเบียมีความห่วงกังวลต่อกรณีที่ศาลไทยมีคำพิพากษายกคำร้องขอส่งตัวนาย Viktor Bout บุคคลสัญชาติรัสเซีย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มกองโจรฝ่ายซ้ายโคลอมเบีย (The Revolutionary Armed Forces of Colombia หรือ FARC) เพื่อไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกา โดยฝ่ายโคลอมเบียยืนยันว่า กลุ่ม FARC เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ถูกจัดอยู่ในรายชื่อกลุ่มก่อการร้ายของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกับองค์กรค้ายาเสพติดอีกด้วย

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ในปี 2553 โคลอมเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในลาตินอเมริกา (รองจากบราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา และชิลี) โดยมีมูลค่าการค้ารวม 425.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.69 จากปี 2552 ไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 380.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 44.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 336.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย – รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องซักผ้า รถยนต์และอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์

สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย – เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2552 มีชาวโคลอมเบียเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 4,412 คน

ความร่วมมือทางด้านวิชาการ
โคลอมเบียต้องการส่งเสริมความร่วมมือกับไทยในหลายสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) โดยเฉพาะการปลูกพืชทดแทนการปลูกพืชเสพติด ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก การพัฒนาพลังงานชีวมวล วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการพัฒนาศูนย์กลางการแพทย์และพยาบาล เป็นต้น

นอกจากนี้ โคลอมเบียได้ให้การสนับสนุนไทยในเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia and Latin American Cooperation – FEALAC) โดยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบดังกล่าวของไทย อาทิ การอบรมหลักสูตร Tourism Managementโครงการบัวแก้วสัมพันธ์ ซึ่งเน้นด้านการท่องเที่ยว ประมงและ SMEs การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านยาเสพติดโครงการฝึกอบรมด้านการลดความยากจน (Poverty Reduction) การประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติระหว่างสมาชิก FEALAC เป็นต้น

ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ
ไทยและโคลอมเบีย มีความสัมพันธ์ที่ดีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ FEALAC ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างใช้เป็นเวทีสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนระหว่างกันในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ในองค์การระหว่างประเทศที่ไทยและโคลอมเบียเป็นสมาชิก อาทิ ตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิบัติการไปรษณีย์ (Postal Operation Council) วาระ ค.ศ. 2009-2012 สมาชิกคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระ ค.ศ. 2011-2013 สมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Comittee) วาระ ค.ศ. 2011-2013 เป็นต้น

ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยและโคลอมเบีย
ความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว อาทิ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง กับหน่วยงาน Presidencial Against Ililliicit Crops (PCI), Accion Social ของโคลอมเบีย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาพื้นที่สูงและพื้นที่ปลูกพืชเสพติด ส่วนความตกลงที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-โคลอมเบีย

การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย นายอำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ที่เมืองการ์ตาเคนา เมื่อปี 2538 และปี 2541 ตามลำดับ
ฝ่ายโคลอมเบีย นางมาเรีย เอ็มมา เมเคีย เบเลซ (Maria Emma Mejia Velez) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกามีโล เรเยส โรดริเกซ (Camilo Reyes Rodriguez) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยเมื่อปี 2541 และปี 2547 ตามลำดับ

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554
---------------------------

กองลาตินอเมริกา
มิถุนายน 2553


กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ