เซนต์คิตส์และเนวิส

เซนต์คิตส์และเนวิส

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.พ. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,467 view


เซนต์คิตส์และเนวิส
Saint Kitts and Nevis

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะในทะเลแคริบเบียน ประกอบด้วยเกาะเซนต์คิตส์ มีพื้นที่ 68 ตารางไมล์ และเกาะเนวิส มีพื้นที่ 36 ตารางไมล์

พื้นที่ 261 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ ร้อนชื้น อยู่ในเขตที่มีพายุเฮอริเคนพัดผ่าน

ประชากร 49,593 คน (2552)

เมืองหลวง กรุงบาสแตร์ (Basseterre)

ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน และมีนิกายโรมันคาทอลิกกับโปรแตสแตนท์เป็นส่วนน้อย

เชื้อชาติ สืบเชื้อสายมาจากชาวแอฟริกันร้อยละ 90 ที่เหลือมีเชื้อสายยุโรป และเชื้อสายผสม

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 97.8 (2547)

หน่วยเงิน ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean Dollar - EC) โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.70 ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก

วันชาติ 19 กันยายน (ประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ ปี 2526)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแคริบเบียน (Caribbean Development Bank - CDB) องค์การรัฐแคริบเบียนตะวันออก (Organization of Eastern Caribbean States -OECS) ระบบความมั่นคงในภูมิภาคแคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean Regional Security System – RSS), ITU, OAS, G77, NAM, PetroCaribe, UN, WTO เป็นต้น

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาแบบอังกฤษ มีการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ

ประมุขของรัฐ สมเด็จพระราชชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ คนปัจจุบันได้แก่ Dr. Cuthbert Montraville Sebastian ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 1 มกราคม 2539

ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล คนปัจจุบันได้แก่ Dr. Denzil Douglas ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สามติดต่อกันเมื่อปี 2553 (เข้ารับตำแหน่งสมัยแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2538)

ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 14 คน โดย 11 คนมาจากการเลือกตั้ง และอีก 3 คนมาจากการแต่งตั้ง (2 คนมาจากคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี และอีก 1 คนมาจากคำแนะนำของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดขึ้นภายในปี 2558

ส่วนเนวิส มีสภาบริหารของตนเองประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 5 คน ซึ่งได้รับการประกันให้มีผู้แทนในรัฐสภาของประเทศ

ฝ่ายตุลาการ ใช้ระบบ Common Law ตามแบบอังกฤษ และยอมรับอำนาจศาลฎีกาแคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean Supreme Court)

สถานการณ์สำคัญทางการเมือง

พรรคแรงงาน (St. Kitts-Nevis Labour Party – SKNLP) ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วถึงสี่สมัย โดยในสามสมัยแรก เป็นการบริหารงานภายใต้การนำของนาย Denzil Douglas ซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานวัยรุ่น เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง การพัฒนาสวัสดิแรงงานประเภทต่างๆ เป็นต้น

ส่วนการปกครองเกาะเนวิส รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐให้อิสระในการปกครองตนเองแก่เกาะเนวิสพอสมควร รวมถึงอนุญาตให้เกาะเนวิสสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ โดยเมื่อปี 2541 มีการทำประชามติเพื่อแยกตัวเป็นประเทศเอกราชแต่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอ และต่อมามีความพยายามที่จะจัดทำประชามติอีกครั้งแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั้ง CARICOM และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนให้เซนต์คิตส์และเนวิสจัดการปกครองในระบอบสหพันธรัฐเช่นนี้ต่อไป

นโยบายต่างประเทศ

เนื่องจากเป็นประเทศเล็ก เซนต์คิตส์และเนวิสให้ความสำคัญกับการบูรณาการภายในภูมิภาคแคริบเบียน โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (CARICOM) องค์การรัฐแคริบเบียนตะวันออก (OECS) ระบบความมั่นคงในภูมิภาคแคริบเบียนตะวันออก (RSS) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแคริบเบียน (CDB) เป็นต้น

ด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา เซนต์คิตส์และเนวิสมีความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา โดยได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ จากสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องผ่านองค์การระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ CDB USAID รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์จาก US Caribbean Basin Initiative นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้พัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคง ด้านการปราบปรามยาเสพติดระหว่างกัน เนื่องจากเซนต์คิตส์และเนวิสมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กับสหรัฐฯ จึงถูกใช้เป็นช่องทางในการขนถ่ายยาเสพติดเข้าสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เซนต์คิตส์และเนวิสเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้การรับรองรัฐบาลไต้หวัน ทำให้ได้รับความช่วยเหลือต่างๆ เป็นการตอบแทน อาทิ โครงการพัฒนาหน่วยแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ


เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -8.0 (2552)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 544.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 10,988 ดอลลาร์สหรัฐ (2552)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 6.4 (2547)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 4.3 (2550)

มูลค่าการส่งออก 51.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ เครื่องจักรกล อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดื่ม ยาสูบ

มูลค่าการนำเข้า 240.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องจักรกล น้ำมัน

ประเทศคู่ค้า สหรัฐอเมริกา แคนาดา อาเซอร์ไบจาน ตรินิแดดและโตเบโก อิตาลี

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของเซนต์คิตส์และเนวิสปัจจุบันพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก จากเดิมที่ขึ้นอยู่กับการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกอ้อยและการผลิตน้ำตาล หลังจากที่ผลประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลไม่ดี รัฐบาลจึงหันไปสนับสนุนการเกษตรประเภทอื่น รวมทั้งขยายภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและธุรกิจ offshore banking เพิ่มเติม และยังได้สนับสนุนให้นำอ้อยไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแทน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและบราซิล

รัฐบาลเซนต์คิตส์และเนวิสมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศ โดยดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุน อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรแก่นักลงทุน การยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิต และการให้เงินอุดหนุนการฝึกอบรมบุคลากรท้องถิ่น เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซนต์คิตส์และเนวิส

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและเซนต์คิตส์และเนวิสมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2530 โดยรัฐบาลไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา เป็นจุดติดต่อราชการกับเซนต์คิตส์และเนวิส ขณะที่เซนต์คิตส์และเนวิสได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันเป็นจุดติดต่อกับฝ่ายไทย

ผู้แทนระดับสูงของเซนต์คิตส์และเนวิสที่เคยเดินทางเยือนไทย ได้แก่ นาย Denzil Douglas นายกรัฐมนตรีเซนต์คิตส์และเนวิสเคยเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 15 เมื่อปี 2547 และเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายน 2548

2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 0.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 0.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.01 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับเซนต์คิตส์และเนวิส มูลค่า 0.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้เย็นและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หนังสือและสิ่งพิมพ์ กล้วยไม้ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สำหรับการเดินทาง

สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด สิ่งพิมพ์

3. ความร่วมมือทางด้านวิชาการ

ในระดับทวิภาคี เซนต์คิตส์และเนวิสเคยแสดงความสนใจที่เรียนรู้ประสบการณ์ของไทยในด้านต่างๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ การฟื้นฟูและยกระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น

ในระดับพหุภาคี ไทยดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับเซนต์คิตส์และเนวิสโดยการให้ทุนฝึกอบรมและทุนศึกษาผ่านกรอบองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States-OAS) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM)

4. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

เมื่อปี 2553 มีชาวเซนต์คิตส์และเนวิสเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 49 คน

5. ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยและเซนต์คิตส์และเนวิส

ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามความตกลงซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว 1 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ระหว่างสำนักงาน ปปง. กับ The Financial Intelligence Unit ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550

6. ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

ไทยและเซนต์คิตส์และเนวิสให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนระหว่างกัน ในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ในองค์การระหว่างประเทศที่ไทยและเซนต์คิตส์และเนวิสเป็นสมาชิกโดยล่าสุดเซนต์คิตส์และเนวิสเป็นผู้ให้เสียงสนับสนุนฝ่ายเดียวแก่ไทยในการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระ ค.ศ. 2011-2013 ซึ่งไทยได้รับเลือกตั้งในวาระดังกล่าว


ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2554 โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กองลาตินอเมริกา

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5000 ต่อ 13010,13042,13044,13079 โทรสาร 02-643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ