วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ต.ค. 2552
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐแคเมอรูน
Republic of Cameroon
ชื่อทางการ สาธารณรัฐแคเมอรูน (Republic of Cameroon)
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ระหว่างแอฟริกากลางกับแอฟริกาตะวันตก
ทิศเหนือติดกับไนจีเรีย
ทิศตะวันออกติดกับชาดและสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
ทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐคองโก กาบองและอิเควทอเรียลกินี
ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าว Biafra
พื้นที่ 475,440 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงยาอุนเด (Yaoundé)
จำนวนประชากร 19.1 ล้านคน ( 2551 )
ภูมิอากาศ อากาศร้อนชื้น อุณหภูมิสูง และฝนตกชุกโดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน และเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน
ภาษา ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ และมีภาษาท้องถิ่นที่สำคัญอีก 24 ภาษา
ศาสนา ความเชื่อดั้งเดิม 40% คริสต์ 40% อิสลาม 20%รูปแบบการปกครอง แบบสาธารณรัฐระบบสภาเดียว (Unicameral) มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ อำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ประธานาธิบดี มีพรรคการเมืองหลายพรรค
วันชาติ วันที่ 20 พฤษภาคม (ซึ่งเป็นวันที่ได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2515)
ระบบการปกครอง แบบสาธารณรัฐระบบสภาเดียว (Unicameral) มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และมีอำนาจในการบริหารประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล
ประธานาธิบดี Mr. Paul Biya
นายกรัฐมนตรี Mr. Philemon Yang
รัฐมนตรีต่างประเทศ Mr. Henry Eyebe Ayissi
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
แคเมอรูนเคยอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมันระหว่างปี พ.ศ. 2427 ถึง พ.ศ. 2459 และเป็นดินแดนในอาณัติขององค์การสันนิบาตชาติเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ประมาณร้อยละ 80 ของประเทศ และอีกร้อยละ 20 อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ (แบ่งเป็นแคเมอรูนเหนือและแคเมอรูนใต้) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนทั้ง 2 ส่วนกลายเป็นดินแดนในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ
ในปี 2501 ดินแดนภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง โดยมีนาย Ahmadou Ahidjo ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะกลายเป็นสาธารณรัฐแคเมอรูน เมื่อได้รับเอกราช ในวันที่1 มกราคม พ.ศ. 2503 และมีนาย Ahmadou Ahidjo ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก ต่อมา ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 แคเมอรูนใต้ของอังกฤษได้ลงประชามติรวมตัวกับสาธารณรัฐแคเมอรูน และแปลงสภาพเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐแคเมอรูน (The Federal Republic of Cameroon) ในขณะที่แคเมอรูนหนือรวมตัวกับไนจีเรีย
ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2515 แคเมอรูนได้รวมตัวกันเป็นรัฐเดี่ยวตามผลการลงประชามติและเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสหสาธารณรัฐแคเมอรูน (The United Republic of Cameroon)
ประธานาธิบดี Ahidjo ได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 จากนั้น นาย Paul Biya อดีตนายกรัฐมนตรีจึงได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อมา (นาย Paul Biya ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การนำของประธานาธิบดี Ahidjo ตั้งแต่ 2518 เป็นต้นมา) ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2527 นาย Biya ได้รับเลือกตั้งโดยปราศจากคู่แข่ง และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐแคเมอรูน (Republic of Cameroon) ในเดือนตุลาคม 2535 ประธานาธิบดี Paul Biya ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการเลือกตั้งระดับประธานาธิบดีครั้งแรกในประวัติศาสตร์แคเมอรูนที่มีพรรคการเมืองลงชิงชัยกัน
ระบบกฎหมายแคเมอรูนยึดตามระบบประมวลกฎหมายแบบฝรั่งเศส และได้รับอิทธิพลของระบบกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของแคเมอรูนได้รับความเห็นชอบโดยการ
ลงประชามติ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2515 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2515 และได้รับการแก้ไขเดือนมกราคม 2539
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีทำหน้าที่ประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 7 ปี ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน 2551 รัฐสภาได้ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขยายเป็น 3 วาระ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีแคเมอรูนมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นหัวหน้ารัฐบาล และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2547 (ครั้งต่อไปในเดือนตุลาคม 2554)
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Paul Biya เข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 6 พฤษจิกายน 2525 เป็นต้นมา ได้รับเสียงสนับสนุน 70.9% ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2547 และมีนาย Philemon Yang ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2552
ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบไปด้วยรัฐภาระบบสภาเดียว (180 ที่นั่ง) สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 พรรค Rassemblement démocratique du people camerounais (RDPC) หรือพรรค Cameroon Peoples Democratic Movement ชนะการเลือกตั้ง โดยมีเสียงในสภา 140 ที่นั่ง (การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะจัดให้มีขึ้นในปี 2555) อนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาสูง หรือวุฒิสภาเพื่อบริหารอำนาจนิติบัญญัติด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการดำเนินการจัดตั้งในปัจจุบัน
ฝ่ายตุลาการ ประกอบไปด้วยศาลยุติธรรม (ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา) และศาลฎีกาสูงสุด (ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษา)
นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
1. การเมืองการปกครอง
1.1 การเมืองภายในของแคเมอรูนนั้นค่อนข้างมีเสถียรภาพ พรรค RDPC ของประธานาธิบดี Paul Biya ยังคงถือเสียงข้างมาในรัฐสภา (140 ที่นั่งจากทั้งหมด 180) ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรค Social Democratice Front (SDF) มีเพียง 16 เสียงในสภาเท่านั้น การปรับคณะรัฐมนตรี ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากเดิม คือ นาย Ephraïm Inoni เป็นนาย Philemon Yang มิได้มีผลในเชิงนโยบายของรัฐบาลมากนัก ในภาพรวมนั้น อาจกล่าวได้ว่าการเมืองภายในของแคเมอรูนยังคงมีลักษณะเป็นการเมืองชาติพันธุ์ ซึ่งผู้บริหารนโยบายยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศแคเมอรูน
1.2 รัฐบาลแคเมอรูนในปัจจุบันมีความตั้งใจที่จะปฏิรูประบบการเมืองภายในประเทศด้วยการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น ในชั้นนี้คาดว่าจะสามารถออกกฎหมายแม่บทได้ภายในปี 2553 นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการให้สิทธิแก่ชาวแคเมอรูนที่อยู่นอกประเทศในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในอนาคต
1.3 ในด้านการพัฒนาประเทศ รัฐบาลแคเมอรูนมีนโยบายเร่งดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในประเทศ โดยเฉพาะด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อตอบสนองปริมาณความต้องการบริโภคของประชาชนและภาคธุรกิจอย่างทั่วถึง
2. เศรษฐกิจและสังคม
2.1 หลังจากแผนงานการขจัดความยากจนและกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (PRGF) ภายใต้การสนับสนุนด้านนโยบายและการเงินของ IMF (มูลค่ารวม 28.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สิ้นสุดลงในเดือนมกราคม 2552 รัฐบาลแคเมอรูนได้แสดงความตั้งใจที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2552 รัฐบาลได้ตอบรับความช่วยเหลือทางด้านการเงินของ IMF มูลค่า 144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้แผนงานการรับมือกับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (Exogenous Shocks Facility หรือ ESF)
2.2 แคเมอรูนเป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งสินค้าที่สำคัญไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีทางออกทะเล ได้แก่ ชาดและสาธารณรัฐแอฟริกากลาง รัฐบาลแคเมอรูนมีรายได้หลักมาจากการเก็บภาษีศุลกากร (ประมาณร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด) แต่กำลังประสบปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี ทางการแคเมอรูนเปิดเผยว่า ในปี 2551 ร้อยละ 51 ของสินค้าที่อ้างว่าจะส่งออกไปขายต่อในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีขาเข้าถูกนำมาขายในประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีศุลกากรหลายพันล้าน ฟรังซ์ ปัจจุบัน หน่วยงานศุลกากรของแคเมอรูนกำลังเร่งดำเนินการติดตั้งระบบ GPS เพื่อตรวจสอบและติดตามผลการขนส่งสินค้าข้ามประเทศไปขายต่อในประเทศเพื่อนบ้าน
2.3 ในภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน แคเมอรูนได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของอุปสงค์และราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากแคเมอรูนมีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันดิบ ในปี 2551 สามารถผลิตน้ำมันได้เฉลี่ยประมาณ 87,400 บาร์เรล/วัน แต่มีแนวโน้มที่จะผลิตได้ลดลงในปัจจุบัน รัฐบาลแคเมอรูนกำลังหาแนวทางลดการพึ่งพิงรายได้จากการค้าน้ำมันและเพิ่มรายได้จากการลงทุนด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออก สินค้าเกษตรที่สำคัญของแคเมอรูน ได้แก่ ไม้แปรรูป กล้วย โกโก้ ฝ้าย และกาแฟ
2.4 นโยบายการเงินของแคเมอรูนถูกกำหนดโดยธนาคารแห่งรัฐในภูมิภาคแอฟริกากลาง (Banque des Etats de lAfrique centrale หรือ BEAC) ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุมระดับอัตราเงินเฟ้อและรักษาการตรึงค่าเงิน CFA franc ไว้กับเงินสกุลยูโร (655.96 CFAfr เท่ากับ 1 ยูโร)
2.5 ในระหว่างการเสด็จเยือนแคเมอรูนของสมเด็จพระสันตปาปา Benedict ที่ 16 ในเดือนมีนาคม 2552 พระองค์ได้กล่าวชื่นชมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชาวมุสลิมและคริสต์ในแคเมอรูน และขอให้ประเทศแอฟริกาอื่นๆ ถือเป็นตัวอย่าง
3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 นโยบายต่างประเทศของแคเมอรูนให้ความสำคัญกับ (1) ความเป็นเอกราช (2) การเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และ (3) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในภาพรวม แคเมอรูนมีความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับประเทศฝรั่งเศสด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีนซึ่งมีเข้ามาจัดทำโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและสาธารณสุขหลายโครงการในแคเมอรูน รวมถึงความช่วยเหลือด้านการทหารด้วย
3.2 แคเมอรูนเคยมีข้อพิพาทด้านดินแดนกับไนจีเรียบริเวณคาบสมุทร Bakassi ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมัน นำไปสู่การสู้รบกันของทหารทั้งสองฝ่ายในช่วงปี 2537-2539 และการเข้ามาไกล่เกลี่ยขององค์การสหประชาชาติในปี 2539
ในเดือนตุลาคม 2545 ศาลโลกมีคำวินิจฉัยว่าดินแดนที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนอยู่ในเขตอธิปไตยของแคเมอรูน ต่อมาไนจีเรียได้ส่งมอบหมู่บ้าน 32 แห่งในพื้นที่ดังกล่าวให้แก่แคเมอรูนในเดือนธันวาคม 2546 และลดจำนวนกองกำลังตระเวนชายแดนลง จนได้ถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ในปี 2549 สถานการณ์ความสัมพันธ์แคเมอรูน-ไนจีเรียได้กลับตึงเครียดขึ้นอีกในปี 2550 เมื่อวุฒิสภาไนจีเรียประกาศยกเลิกความตกลงไนจีเรีย-แคเมอรูนว่าด้วยการส่งมอบดินแดนบริเวณคาบสมุทร Bakassi ให้แก่แคเมอรูน จนในที่สุด ไนจีเรียได้ส่งมอบดินแดนบริเวณคาบสมุทร Bakassi ทั้งหมดให้แก่แคเมอรูน ในเดือนสิงหาคม 2551 นับเป็นจุดสิ้นสุดของข้อพิพาทด้านดินแดนระหว่างทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการเคลื่อนไหวของประชาชนชาวไนจีเรียและกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งมอบดินแดนให้แก่แคเมอรูน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 รัฐบาลแคเมอรูนได้จัดตั้งกองกำลังรักษาความมั่นคงขึ้นเพื่อรับมือกับกลุ่มกบฏในพื้นที่
3.3 ความสัมพันธ์ระหว่างแคเมอรูนและอิเควทอเรียลกีนีเสื่อมถอยลงในช่วงกลางปี 2552 เมื่อรัฐบาลของอิเควทอเรียลกีนีส่งตัวชาวแคเมอรูนจำนวนกว่า 500 คนที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฏหมายในประเทศกลับแคเมอรูน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนชาวแคเมอรูนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทั้งสองประเทศได้พยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันไว้เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย (ในด้านพลังงานและความมั่นคง)
3.4 ในการดำเนินความสัมพันธ์พหุภาคี แคเมอรูนยึกหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และยึดแนวปฏิบัติแบบไม่เผชิญหน้า แคเมอรูนเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophonie) ทั้งยังเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ (Commonwealth) และสมาชิกองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ที่ผ่านมา เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมที่สำคัญๆ อาทิ การประชุมสุดยอดแอฟริกา-ฝรั่งเศส ครั้งที่ 21 ณ กรุงยาอุนเด ในเดือนพฤศจิการยน 2538 และการประชุมสุดยอดองค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU) ครั้งที่ 32 ในปี 2539
ข้อมูลเศรษฐกิจ/การค้า (ประมาณการปี 2551)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 25.1พันล้าน USD (2551)
อัตราการเจริญเติบโต 4.1 % (2551)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,325 USD (2551)
อัตราเงินเฟ้อ 5.7 % (2550)
อุตสาหกรรมที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและการกลั่น ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม การแปรรูปอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สิ่งทอ ไม้ท่อน การซ่อมเรือ
ดุลการค้ากับไทย ปี 2551 ไทยและแคเมอรูนมีมูลค่าการค้า 109.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 87.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 21.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 65.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ไม้ซุง โกโก้ อะลูมิเนียม กาแฟ ฝ้าย
สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ขนส่ง เชื้อเพลิง อาหาร
ตลาดส่งออกที่สำคัญ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา (2550)
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ฝรั่งเศส ไนจีเรีย จีน เบลเยียม สหรัฐอเมริกา (2550)
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ (สถิติปี 2551)
แคเมอรูนส่งออกไป สเปน 18.7% อิตาลี 12.7% สหรัฐอเมริกา 10.0%
เกาหลีใต้ 9.3%
แคเมอรูนนำเข้าจาก ฝรั่งเศส 21.6% ไนจีเรีย 14.1% เบลเยี่ยม 6.2%
เยอรมัน 3.9%
หน่วยเงินตรา Communauté Financière Africaine Francs BEAC (CFAf)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ประมาณ 13.66 CFAf
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ไทยและแคเมอรูนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 ในปัจจุบัน ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา ประเทศไนจีเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศแคเมอรูน
ในปัจจุบัน ฝ่ายแคเมอรูนยังมิได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตใดมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย (สถานเอกอัครราชทูตแคเมอรูน ณ กรุงปักกิ่ง อยู่ใกล้ไทยที่สุด)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและแคเมอรูนดำเนินมาด้วยความราบรื่น และไม่มีปัญหาระหว่างกัน
1.2 ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับแคเมอรูนได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด ในปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับแคเมอรูนมีมูลค่า 109.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 87.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 21.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเป็นเงิน 65.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแคเมอรูนได้แก่ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากแคเมอรูน ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ด้ายและเส้นใย ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์
1.3 ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ประเทศไทยเคยให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่แคเมอรูน จากกรณีการระเบิดของก๊าซจากปล่องภูเขาไฟในแคเมอรูน โดยได้บริจาคข้าวนึ่งชนิด 5% จำนวน 25 ตัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 และในปี 2533 ไทยได้บริจาคข้าวนึ่ง 10% จำนวน 100 ตัน ให้แก่แคเมอรูนโดยผ่านทางสมาคมฟุตบอลแคเมอรูน
2. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ในปัจจุบัน ยังไม่มีการทำความตกลงกันระหว่างทั้งไทยกับแคเมอรูน
3. การเยือนที่สำคัญ
ที่ผ่านมา ยังไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกัน
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
อุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา (มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐแคเมอรูน) คือนายนิยม วัฒน์ธรรมาวุธ
ที่อยู่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา
Royal Thai Embassy
Plot 766 Panama Street,,
Cadastral Zone A6, off IBB Way,
Maitama, Abuja,
NIGERIA
E-mail : [email protected]
*************************
กันยายน 2552
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **