รัฐกาตาร์

รัฐกาตาร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 22,277 view


รัฐกาตาร์
State of Qatar

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นแหลมยื่นจากชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรอาระเบีย ออกไปในอ่าวเปอร์เซีย ทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับบาห์เรน

สภาพอากาศ ภูมิอากาศแบบทะเลทราย ช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส เกิด พายุทรายได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน –มิถุนายน

พื้นที่ 11,437 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงโดฮา (Doha)

เมืองสำคัญ Umm Said, Al-Khor, Dakhan, Wakrah, Madinet, Al-Shamal

ประชากร 1.7 ล้านคน (ปี 2555)

ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลายในการติดต่อธุรกิจ

ศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่

ระบอบการปกครอง ราชาธิปไตยโดยมีเจ้าผู้ครองรัฐ(Emir) เป็นพระประมุขปกครองรัฐ ปัจจุบันคือ เชค ฮามัด บิน คอห์ลิฟะห์ อัล ทานี (His Highness Sheikh Hamad Bin Khalifa Al-Thani) เสด็จขึ้นครองราชย์วันที่ 27 มิถุนายน 2538

หน่วยเงินตรา กาตาร์ริยาล (Qatar Riyal) อัตราแลกเปลี่ยนผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ 1 กาตาร์ริยาล ประมาณ 8.39 บาท (ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554)

เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ (Emir of the State of Qatar) H.H. Sheikh Hamad Bin Khalifa Al-Thani

นรม และ รมว.กต. H.E. Sheikh Hamad Bin Jassim Bin Jabir Al-Thani

 

การเมืองการปกครอง

การเมืองการปกครอง

• ราชวงศ์อัล ทานี (Al-Thani) ปกครองกาตาร์ตั้งแต่สมัยกลางศตวรรษที่ 19 โดย Shiekh Mohammed bin Thani ได้สถาปนาเมือง Al-Bida เป็นเมืองหลวง กาตาร์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ Al-Khalifa ของบาห์เรน ราชวงศ์ Safavid ของอิหร่านและจักรวรรดิออตโตมัน (ชาวเติร์ก) อย่างไรก็ดี ในรัชสมัยของ Sheikh Abdullah bin Jassim Al-Thani ชาวเติร์กถูกเนรเทศออกจากกาตาร์เนื่องจากจักรวรรดิออตโตมัน เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอังกฤษที่เข้าร่วมกับสงครามกับฝ่ายพันธมิตร

• ในปี ค.ศ. 1915 อังกฤษยอมรับ Sheikh Abdullah bin Jassim Al-Thani เป็นผู้นำกาตาร์ โดยในปี ค.ศ. 1916 Sheikh Abdullah ได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ซึ่งกำหนดให้กาตาร์ต้องได้รับความเห็นชอบจากอังกฤษก่อนที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศอื่น เพื่อแลกกับพันธกิจที่อังกฤษจะคุ้มครองกาตาร์จากภัยคุกคามทางทะเลและทางบก อังกฤษได้ประกาศยกเลิกสนธิสัญญาที่ทำกับเจ้าผู้ครองรัฐในบริเวณอ่าวเปอร์เซียในปี ค.ศ. 1968 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1971 กาตาร์ร่วมกับเจ้าผู้ครองรัฐอีก 8 รัฐ มีแผนที่จะรวมกันเป็นสหพันธ์อาหรับเอมิเรตส์ อย่างไรก็ดี เจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 9 หาข้อสรุปไม่ได้ กาตาร์จึงประกาศเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1971

• ปัจจุบัน กาตาร์มีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยโดยมีเจ้าผู้ครองรัฐ (Emir) จากราชวงศ์ Al-Thani เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเจ้าผู้ครองรัฐมีอำนาจสูงสุดในด้านบริหาร ทรงคัดเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี กาตาร์ไม่มีระบบพรรคการเมืองหรือพรรคฝ่ายค้าน

• กาตาร์ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2547 โดยรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้กำหนดอำนาจนิติบัญญัติแก่สภาที่ปรึกษา (Advisory Council) ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 45 คน สมาชิกจำนวน 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้ง สมาชิกส่วนที่เหลือนั้นได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์

• เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์องค์ปัจจุบัน ได้แก่ His Highness Sheikh Hamad Bin Khalifa Al-Thani ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538 ด้วยการก่อรัฐประหารโดยไม่เสียเลือดเนื้อจากพระราชบิดา นโยบายสำคัญของ Sheikh Hamad คือ การปฏิรูประบบการเมืองให้มีเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กาตาร์จัดการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2542 โดยเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (Central Municipal Council) และมีสตรีลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย นอกจากนี้ กาตาร์เป็นประเทศแรกในกลุ่มอ่าวอาหรับที่มีการแต่งตั้งสตรีให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดย Sheikha Ahmed Al Mahmoud ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2546 และ Sheikha Ghalia bint Hamad Al Thani ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2551

• กาตาร์มีระบบรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ที่มีระดับการพัฒนาสูงมาก อีกทั้งรัฐบาลให้เงิน สงเคราะห์ค่าไฟฟ้า ประปา ก๊าซหุงต้ม และตรึงราคาน้ำมัน ชาวกาตาร์จึงมีคุณภาพชีวิตในระดับดีมาก การดำเนินนโยบาย Qatar National Vision 2030 ซึ่งเป็นนโยบายพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกาตาร์ในทุกด้านเพื่อให้สังคมมีความมั่นคงและเสถียรภาพ ตามวิสัยทัศน์ของเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ในการพัฒนากาตาร์ให้ทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้กาตาร์ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ประท้วง/ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

• กาตาร์ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์พัฒนาแห่งชาติ ระหว่างปี 54-58 (Qatar National Vision Development Strategy 2011-2016) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 ซึ่งจัดว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรกของกาตาร์และเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามนโยบาย Qatar National Vision 2030 กระบวนการจัดทำแผนแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ การหารือ การเจรจา และการวิเคราะห์ และครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนามนุษย์ การพัฒนาสังคม และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กาตาร์มีจุดมุ่งหมายให้ประเทสเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสำคัญของหลักศาสนาและวัฒนธรรม

• เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกลาง Central Municipal Council – CMC) ครั้งที่ 5 โดยสมาชิก CMC มีจำนวน 29 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งสมัยละ 4 ปี ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 43 กาตาร์ได้พยายามประชาสัมพันธ์การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือการมีส่วนร่วมของสตรีกาตาร์ (จากผู้สมัครรับเลือกตั้ง 101 คน มีสุภาพสตรี 4 คน) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ตามดำริของเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ (การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นช่องทางเดียวภายใต้รัฐธรรมนูญกาตาร์ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้)


นโยบายด้านสังคม

• H.H. Sheikha Mozah Bint Naser Al Missned พระชายาเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน Qatar Foundation on Education and Social Development และทูตพิเศษของ UNESCO ด้าน Basic and Higher Education มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง Education City เมื่อปี 2546 ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยและสถาบันชื่อดังจากต่างประเทศมาเปิดการเรียนการสอน เช่น Weill Cornell Medical College, Carnegie Mellon University, Georgetown University School of Foreign Service, Texas A&M University และ Virginia Commonwealth School of the Arts และ North-Western University, School of Communications and Journalism นอกจากนี้ H.H. Sheikha Mozah ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทนำในการส่งเสริมบทบาทและสิทธิของสตรีในกาตาร์อีกด้วย
ล่าสุด H.H. Shekha Mozah ยังได้ผลักดันให้มีการตั้ง “Qatar Center for Heritage and Identity” และออกบทกฎมหายว่าด้วยประเพณีและอัตลักษณ์ของกาตาร์ (Heritage and Identity) เพื่อเยาวชนและชาวกาตาร์ได้รู้จักและอนุรักษ์ประเพณีศิลปะและวัฒนธรรมกาตาร์

• กาตาร์เป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์อิสระ Al Jazeera ซึ่งนำเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งประเทศตะวันตก อิสราเอล รวมทั้งรัฐบาลประเทศอาหรับต่างๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในตะวันออกกลางจึงได้รับความนิยมสูง และมีอิทธิพลทางความคิดเห็นของประชาชนชาวอาหรับและมุสลิมเป็นอย่างมากส่งผลให้เกิดการตื่นตัวทางการเมือง การเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความเป็นประชาธิปไตย สถานีดังกล่าวช่วยส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนกาตาร์เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในอนาคต

• ปัจจุบัน กาตาร์ชูนโยบาย Inter-cultural agenda เป็นวาระสำคัญของชาติจนถึงปี พ.ศ. 2010 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่จะผลักดันให้กาตาร์เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมอาหรับ (Capital of Arab Culture) และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาคตะวันออกกลาง

• รัฐบาลกาตาร์ส่งเสริมด้านการกีฬา โดยจัดตั้งสถาบัน Aspire for Sports Excellence เพื่อสร้างนักกีฬาระดับประเทศและระดับโลก และหลังจากที่กาตาร์ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 15 เมื่อปี 2549 กาตาร์ได้เสนอชื่อกรุงโดฮาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2559 และการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2565 (World Cup 2022) โดยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ณ นครซูริคสหพันธ์ฟุตบอลโลก หรือ FIFA ได้ตัดสินให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพ 2022 FIFA World Cup

นโยบายต่างประเทศ

• กาตาร์เป็นประเทศอาหรับที่ดำเนินนโยบายสายกลาง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council – GCC) ซึ่งกาตาร์เป็นสมาชิกที่มีบทบาทค่อนข้างเด่นในการดำเนินนโยบายของ GCC โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ระหว่าง GCC – อิหร่าน และ GCC – อิสราเอล นอกจากนั้น กาตาร์ยังเป็นสมาชิกก่อตั้งความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) และได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549

• ในระดับพหุภาคี กาตาร์เป็นสมาชิกองค์กรและหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ จำนวน 67 แห่ง และกำลังเพิ่มบทบาทในกลุ่ม Gulf Cooperation Council (GCC), Organization of Islamic Conference (OIC), Asia Cooperation Dialogue (ACD) และได้เป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อเดือนมกราคม 2549 โดยมีวาระ 2 ปี ล่าสุด กาตาร์ได้เป็นจ้าภาพจัดการประชุม (United Nations Conference on Trade and Development –UNCTAD ) สมัยที่ 13 ระหว่างวันที่ 15- 26 เมษยน 2555 และได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม (United Nations Framework Convention on Climate Change- UNFCC) สมัยที่ 18 (COP 18) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม 2555

• ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสนใจนโยบายด้านการต่างประเทศและการทูตของกาตาร์เพิ่มมากขึ้นภายหลังที่กาตาร์เข้าไปมีบทบาทสำคัญและประสบความสำเร็จในการเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและระหว่างประเทศ โดยกาตาร์ใช้วิธีทางการทูตและการสนับสนุนด้านการเงินจูงใจให้กลุ่มต่างๆ หันหน้าเข้าร่วมการเจรจา ความสำเร็จครั้งสำคัญ ได้แก่ การเจรจาความตกลงสันติภาพเลบานอน (Doha Agreement ลงนามเมื่อ 21 พฤษภาคม 2551) การแสวงหาสันติภาพใน Darfur (ในการประชุม Arab League เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ได้แต่งตั้งคณะเจรจา (panel) ระดับรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์เป็นประธานร่วมกับประธาน African Union และเลขาธิการ Arab League เพื่อเจรจาแสวงหาสันติภาพในกรณี Darfur ของซูดาน ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พค 2554 รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศกาตาร์ ได้แถลงข่าวร่วมกับนาย Djibril Bassole หัวหน้าคณะเจรจาไกล่เกลี่ยว่าผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะเจรจาไกล่เกลี่ย ผู้แทนรัฐบาลซูดาน กลุ่ม Liberation and Justice Movement (LJM) ) กลุ่ม Justice and Equality Movement (JEM) ภาคประชาสังคม และผู้แทนผู้ลี้ภัย ต่างได้ให้ความเห็นชอบกับร่างเอกสารการดำเนินการเพื่อสันติภาพในดาร์ฟูร์ที่จัดทำขึ้นที่กรุงโดฮา) และข้อตกลงยุติการต่อสู้ของกลุ่ม Houthi ในเยเมน

• ในกรณีการสู้รบระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไนต์กลุ่มฮามาส ในบริเวณฉนวนกาซ่า เมื่อต้นเดือนมกราคม 2552 กาตาร์มีบทบาทนำในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูกาซ่า รวมทั้งจัดการประชุม Gaza Emergency Summit เมื่อ 16 มกราคม 2552 เพื่อแสวงหาลู่ทางยุติการต่อสู้ ทั้งนี้ กาตาร์ยังได้พยายามมีบทบาทนำในกระบวนการปรองดองในปาเลสไตน์และสันติภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผ่านการเป็นเจ้าภาพและเป็นสักขีพยานในการลงนามปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการปรองดองในปาเลสไตน์ (The Doha Declaration of the Palestine Reconciliation) ระหว่างประธานธิบดี Mahmoud Abbas ผู้นำกลุ่ม Fatah และนาย Khalid Mishal ผู้นำกลุ่ม Hamas เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555

• โดยที่กาตาร์มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกาในสงครามในอัฟกานิสถานและในอิรัก โดยสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งศูนย์บัญชาการ (Joint Operation Center) ที่กรุงโดฮา เพื่อปฏิบัติการในอิรัก อีกทั้งกาตาร์เป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการส่วนล่วงหน้าของ US Central Command (CENTCOM) รวมทั้งฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกาที่เมือง Al-Udied กาตาร์จึงเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกาตาร์ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาและสถานการณ์ภายในภูมิภาค โดยระหว่างการดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของ SC 2 ปี (2006-2007) กาตาร์มีความแข็งขันในการวางตัวเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตะวันออกกลางและประเทศมุสลิม โดยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 65 เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาหารือโดยตรงกับอิหร่านในกรณีโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน พร้อมทั้งประณาม War on Terror ของสหรัฐอเมริกา

• ล่าสุด บทบาทและท่าทีของกาตาร์ต่อสถานการณ์ในลิเบียมีความโดดเด่นและชัดเจน เพราะนอกจากกาตาร์พยายามที่จะมีบทบาทนำในโลกอาหรับและสันนิบาตอาหรับแล้ว (ประเทศผู้นำอาหรับอย่างซาอุดีอาระเบียและอียิปต์ยังคงสงวนท่าทีต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาลิเบีย) ยังพยายามเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาในลิเบียในระดับที่ทัดเทียมกับประเทศตะวันตกอื่นๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรหรือฝรั่งเศส โดยกาตาร์ 1) เรียกร้องให้ประธานาธิบดี Muammar Gaddafi ลาออกและเดินทางออกจากลิเบีย 2) ส่งเครื่องบินรบเข้าร่วมปฏิบัติการในเขตห้ามบิน (No Fly Zone) ของลิเบีย 3) ส่งสิ่งของให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวลิเบีย 4) รับรองสภา Libyan National Transition Council เป็นผู้แทนลิเบียโดยชอบธรรม 5) ให้ความช่วยเหลืออพยพชาวต่างชาติออกจากลิเบีย 6) เป็นตัวกลางในการซื้อน้ำมันดิบจากภาคตะวันออกของลิเบีย 7) เข้าร่วมประชุม International Conference on Libya ที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 และรับที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Libya Contact Group ครั้งที่ 1

• จากบทบาทของกาตาร์ต่อสถานการณ์ในลิเบีย จะเห็นได้ว่ากาตาร์ให้ความสำคัญกับนโยบายการต่างประเทศ โดยนักวิเคราะห์ต่าง ๆ มองว่า การที่กาตาร์มีท่าทีที่ชัดเจนและสนับสนุนกลุ่ม NTC ในลิเบียนั้น เกิดมาจากความต้องการของกาตาร์ที่จะมีส่วมร่วมในการลงทุนในการลงทุนในช่วงที่มีการปฏิรูปและฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะในภาคธนาคาร การก่อสร้างและการท่องเที่ยว โดยบทบาทของกาตาร์ในลิเบียได้ช่วยยกสถานะของกาตาร์ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยประจำภูมิภาค (regional mediator) อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากาตาร์จะให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการต่างประเทศและมีความกล้าในการแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ต่าง ๆ มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่นักวิเคราะห์มองว่าหากเกิดสถานการณ์คล้ายคลึงกับ Arab Spring ในภูมิภาคอื่นในอนาคต กาตาร์จะวางตัวเป็นกลาง ทั้งนี้ สำนักข่าว Al Jazeera ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของกาตาร์ โดยล่าสุดกาตาร์ได้พยายามใช้ soft powers ในการยกสถานะของกาตาร์ในเวทีระหว่างประเทศ ผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 2022 การดำเนินโครงการ Silatech เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับเยาวชนในกลุ่มประเทศอาหรับที่ว่างงาน เป็นต้น

• กาตาร์พยายามยกสถานะมาเทียบเคียงกับชาอุดีอาราเบียในฐานะประเทศมหาอำนาจในกลุ่ม GCC ผ่านการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ โดยกาตาร์พยายามที่จะดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับอิหร่านและอิสราเอล ทั้งนี้การที่กาตาร์มีความสัมพันธ์ที่เปิดกว้างกว่าประเทศอื่น ๆ ใน GCC โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับอิหร่านอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับซาอุดีอาราเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้

• บทบาทและท่าทีของกาตาร์ต่อสถานการณ์ในซีเรียมีความโดดเด่นและชัดเจน จากการที่กาตาร์ได้มีบทบาทนำในองค์การสันนิบาตอาหรับผ่านการเป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีว่าด้วยสถานการณ์ซีเรีย เพื่อผลักดันให้คว่ำบาตรกดดันซีเรีย โดยความพยายามที่จะมีบทบาทดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ตะวันตกและประเทศมหาอำนาจเข้ามามีอิทธิพลในการแก้ไขปัญหาและกิจการภายในตะวันออกกลางอย่างเช่นกรณีลิเบีย ทั้งนี้ กาตาร์ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียเพื่อให้ยุติการทำร้ายประชาชน และยอมรับข้อเสนอของนาย Kofi Annan ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติและองค์การสันนิบาติอาหรับ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนซีเรีย โดยล่าสุดกาตาร์ได้ร่วมการประชุมการรวมกลุ่มของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียที่ตุรกี

• บทบาทและท่าทีของกาตาร์ต่อกระบวนการสันติภาพในอัฟกานิสถานซึ่งมุ่งมั่นให้มีการเจรจากับทุกฝ่ายในอัฟกานิสถานและเป็นตัวกลางเพื่อไกล่เกี่ยระหว่าง สหราชอาณาจักรและกลุ่มตาลีบัน มีความโดดเด่นมากขึ้นหลังจากกาตาร์และอัฟกานิสถานได้ตกลงที่ให้มีการเปิดสำนักงานตาลีบันขึ้นในกรุงโดฮา เพื่อส่งเสริมการติดต่อและการเจรจาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างความสมดุลในการเจรจาทางการเมืองต่อปัญหาความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์มีดำริที่จะเดินทางเยือนอัฟกานิสถานและเปิดสถานเอกอัครราชทูตกาตาร์ ณ กรุงคาบูล หลังจากนาย Zalmai Rassoul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอัฟกานิสถานเยือนกาตาร์เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 และได้มีการหารือกับเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจ (2554)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 195.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 61,532 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.6 (ปี 2555)

มูลค่าการค้าไทย-กาตาร์ มูลค่ารวม 2,804.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกเป็นมูลค่า 286.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 2,517.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุล การค้า 2,231.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณน้ำมันสำรอง 15.21 พันล้านบาร์เรล

ปริมาณก๊าซสำรอง 25.63 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทรัพยากร น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทรัพยากรประมง

อุตสาหกรรม การผลิตและกลั่นน้ำมัน LNG ปุ๋ย เหล็ก

สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักร เครื่องยนต์ เคมีภัณฑ์

สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมัน ปุ๋ย ก๊าซ เคมีภัณฑ์

ตลาดนำเข้าสำคัญญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมนี

ตลาดส่งออกสำคัญ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์


• กาตาร์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.6 (ปี 2555) และมีรายได้ประชาชาติต่อหัว 61,532 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน (ปี 2555) ซึ่งจัดว่าสูงที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เศรษฐกิจกาตาร์ประมาณร้อยละ 63 ขึ้นอยู่กับภาคพลังงาน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบัน กาตาร์สามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และกาตาร์มีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ประมาณ 27.5 พันล้านบาร์เรล ซึ่งประเมินว่ากาตาร์จะสามารถผลิตน้ำมันในระดับปัจจุบันได้อีกเป็นเวลา 65 ปี (ในระดับการผลิตในปัจจุบัน) นอกจากนี้ กาตาร์ยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกก๊าซ LNG รายใหญ่ที่สุดของโลก (77 ล้านตัน/ปี)

• กาตาร์มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับสามของโลก รองจากรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณ Offshore North Field และเป็นประเทศที่ส่งออก Liquefied Natural Gas (LNG) มากที่สุดในโลก กาตาร์ รัสเซียและอิหร่านได้ร่วมกันจัดตั้งกลไก Gas Troika เพื่อประสานความร่วมมือด้านราคาก๊าซ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกรองจากน้ำมัน โดยต้องการแยกราคาก๊าซออกจากตลาดน้ำมัน รวมทั้งสร้างกฎเกณฑ์ราคาขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดี การจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวทำให้กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ เกิดความกังวลว่าเป็นภัยคุกคามทางพลังงาน อาจมีการผูกขาดการผลิตก๊าซ และเกรงว่าสมาชิกของกลุ่ม (รัสเซีย และอิหร่าน) อาจใช้ธุรกิจก๊าซแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กาตาร์ยังได้ริเริ่มดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่อส่งก๊าซ Dolphin Project เชื่อมโยงกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน รวมถึงการเร่งสั่งต่อเรือขนาดใหญ่สำหรับบรรทุก LNG จำนวนมาก

• เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 ดร. Mohamed bin Saleh al-Sada ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รมว กระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรมคนใหม่ แทนนาย Abdulla bin Hamad al-Attiya (ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง Chairman of Emira Diwan นอกเหนือจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) มีการคาดการณ์ว่า ดร. Mohamed จะสานต่อนโยบายของอดีต รมว และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านน้ำมันของกาตาร์

• รัฐบาลกาตาร์มีนโยบายสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (Economic diversification) นโยบายแปรรูปกิจการของรัฐ (Privatization) และนโยบายผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดเสรี (Deregulation-Liberalization) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในสาขานอกเหนือจากภาคพลังงาน

• ด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้าง กาตาร์มีนโยบาย Qatar National Vision 2030 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่เน้นโครงการก่อสร้าง World-class infrastructure ขนาดใหญ่รวมมูลค่าประมาณ 130 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการที่สำคัญได้แก่ การขยายการก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี และ GTL การก่อสร้างสนามบิน New Doha International Airport โครงการอสังหาริมทรัพย์ Pearl Qatar การก่อสร้าง Energy City, Education City, Science and Technology Park, Hamad Medical City, The Sport City, The Entertainment City โดยทิศทางและแนวโน้ม (trend) การก่อสร้างและออกแบบในกาตาร์จะเป็นแบบ “Green Building” ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

• จากการที่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 2022 กาตาร์ มีโครงการที่จะสร้างสนามฟุตบอลใหม่จำนวน 9 สนามและปรับปรุงสนามที่มีอยู่ รวมเป็นมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งจะลงทุนสร้างโครงสร้างการคมนาคมขนส่งและห้องพักโรงแรมมากว่า 65,000 ห้อง โดยมีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

• รัฐบาลมีนโยบายสนองความมั่นคงทางอาหาร (ปี 2549-2550 กาตาร์นำเข้าอาหารร้อยละ 90) โดยบริษัทแห่งชาติ Hassad Foods ร่วมลงทุนและทำการซื้อหรือเช่าที่ดินในประเทศฟิลิปปินส์ เคนยา ออสเตรเลียและเวียดนาม (บราซิล อยู่ระหว่างการเจรจา) เพื่อปลูกข้าวและธัญพืช เลี้ยงสัตว์ และผลิตน้ำตาล และส่งไปยังกาตาร์ นอกจากนี้ กาตาร์มีโครงการขนาดใหญ่ระยะยาวที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการทำการเกษตรในทะเลทราย โดยการพัฒนาระบบชลประทานที่เรียกว่า Crop per Drop ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์กลั่นน้ำทะเลและแยกส่วนที่เป็นเกลือออก

• กาตาร์มีเงินในกองทุน Sovereign Wealth Fund (SWF) เป็นอันดับ 13 ของโลก โดยมีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ Merrill Lynch คาดว่า ในปี 2553 กองทุน SWF ของกาตาร์จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า ทั้งนี้ Qatar Investment Authority (QIA) เป็นองค์กรหลักในบริหาร SWF โดยมีบริษัทลูกกระจายตัวลงทุนในธุรกิจภาคต่าง ๆ อยู่ทั่วโลก มกุฏราชกุมารกาตาร์ และ Sheikh Hamad Bin Jassem Bin Jabor Al –Thani นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้บริหาร

• สถาบัน Standard & Poor (S&P) ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของกาตาร์อยู่ที่ระดับ AA และระดับเสถียรภาพอยู่ที่ระดับ AA + เนื่องมาจากความเข็มแข็งของงบประมาณและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ภาคส่วนธุรกิจการก่อสร้างได้มีส่วนในการช่วยขยายเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากกาตาร์มีโครงการก่อสร้างมูลค่ามากกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรับรองการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ค.ศ. 2022

• รัฐบาลมีนโยบายที่จะลงทุนเงินจำนวน 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 10 ปี ข้างหน้าเพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากาตาร์รวม 1.8 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศคิดเป็นเงินจำนวน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังมีแผนที่จะเปิดใช้ท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่กรุงโดฮา มูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะสามารถเปิดใช้ได้ในปี 2555

• ธุรกิจอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติของกาตาร์ขึ้นอยู่กับอัตราการเจริญเติบโตของการบริโภคก๊าซของโลก ดังนั้นกาตาร์จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงยุทธศาตร์การผลิตก๊าซฯ อยู่เป็นระยะ ๆ โดยปัจจุบันตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ ยุโรปเหนือและเอเชียเป็นหลัก

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐกาตาร์

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ประเทศไทยกับรัฐกาตาร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2523 ประเทศไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮาในปี 2545 ต่อมาเมื่อปี 2547 กาตาร์ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทย ความสัมพันธ์ตลอด 32 ปีที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น


1. ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ทั้งสองประเทศต่างให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูง ทั้งนี้เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์เคยเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในฐานะพระอาคันตุกะของรัฐบาลเมื่อปี 2542 และเสด็จฯ ร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ด้วย

กาตาร์มีท่าทีต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยว่าเป็นกิจการภายในประเทศของไทย โดยเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์แสดงความสนพระทัยที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศไทยทางด้านการลงทุนและการศึกษาในภาคใต้โดยหวังว่าจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาอีกทางหนึ่ง

กาตาร์เคยมีบทบาทสำคัญในการประสานงานช่วยเจรจาให้รัฐบาลเอรีเทรียกดดันให้ปล่อยลูกเรือประมงชาวไทยที่ถูกกลุ่มติดอาวุธจับไปเป็นตัวประกัน ในปี 2549

2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

ในปี 2554 ไทยและกาตาร์มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 2,804,112.836 ดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 286,270,322 ดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 2,517,842,514 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 2,231,572,192 ดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าออกของไทยไปกาตาร์ที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เครื่องจักรกล อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกาตาร์ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์

สหพันธ์ธุรกิจบริการออกแบบและก่อสร้างแห่งประเทศไทย (federation of Design and Construction Services of Thailand – FEDCON) ได้รับงานออกแบบและควบคุมการก่อสร้างหมู่บ้านนักกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ซึ่งจัดขึ้นในปี 2549 และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเป็นอาคารโรงพยาบาล Hamad Medical Center รวมทั้งมีบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างอื่น เช่น บริษัทเพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป จำกัด (Powerline Engineering Group of Companies Ltd.) และบริษัท ฤทธา เป็นต้น

ในปี 2554 มีคนไทยอยู่ในกาตาร์ ประมาณ 2,000 คน (สถิติจากกระทรวงมหาดไทยกาตาร์) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ โดยร้อยละ 90 ทำงานในภาคการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมพลังงาน นอกจากนั้นอยู่ไนภาคบริการ

ด้านพลังงาน บริษัท ปตท สผ จำกัด มหาชน ได้รับการพิจารณาให้อยู่ในรายชื่อ Bidding List สำหรับการประมูลแปลงสำรวจปิโตรเลียมในกาตาร์ และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาศักยภาพปิโตรเลียมของแปลงสำรใจน้ำมันต่าง ๆ ที่กำลังจะเปิดประมูลเพิ่ม อาทิ แปลงที่ 3 เพื่อเข้าร่วมการประมูลต่อไป นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 Qatargas ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติหลักของกาตาร์ได้ลงนามทำความตกลง Head of Agreement กับ ปตท. สผ. ในการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ LNG ให้ ปตท สผ ในระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มส่งให้ไทยได้ในปี 2554 ล่าสุด ทาง บริษัท ปตท ได้ปรับแผนการซื้อขายกับ Qatargas โดยจะรับซื้อจากตลาดจร (spot market)แทนการซื้อขายในระยะยาว อย่างไรก็ตาม บริษัท ปตท สผ ยังคงสนใจในการจัดทำข้อตกลงการซื้อขายในระยะยาวกับกาตาร์หากในอนาคตมีความต้องการใช้ที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2554 บริษัท ปตท ได้ลงนามความตกลงจัดส่งก๊าซ LPG กับบริษัท Qatar Internatioanl Petroleum Marketing Company (Tasweeq) และสั่งซื้อก๊าซ LPG จาก บริษัท Tasweeq ปริมาณ 270,000 ตัน

บริษัท SCG ได้มีการทำความตกลงลงนามสัญญาร่วมลงทุน (Joint Venture) กับบริษัท Qatar Petroleum Investment (QPI) ในโครงการปิโตรเคมี Long Son Petro Chemical ในเวียดนาม เมื่อปี 2552 ทั้งนี้ บริษัท QPI อยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดสำนักงานในประเทศไทยเพื่อช่วยในการดำเนินการในโครงการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในเวียดนามเป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้ง สนับสนุนโครงการในการขยายการลงทุนในด้านพลังงานอื่น ๆ ในประเทศไทยและภูมิภาค

3. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2554 มีชาวกาตาร์เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 20,019 คน ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวกาตาร์ โดยนอกจากจะเข้ามาท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวกาตาร์ยังนิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอีกด้วย

4. ความสัมพันธ์ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
กาตาร์ได้ให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิมในไทยโดยเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ได้บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักนักศึกษาที่มวิทยาลัยอิสลามยะลาจังหวัดปัตตานี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม (Minister of Endowment and Islamic Affairs) ของกาตาร์เดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2550

H.E. Dr. Ghaith Mubarak Ali Imran Al Kuwari รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม (Minister of Endowment and Islamic Affairs) ได้เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 29- 30 มกราคม 2555 เพื่อเป็นผู้แทนพระองค์เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ในพิธีวางศิลารากฐานอาคารโรงพยาบาล Sheikh Jassim Bin Muhammad Bin Thani ของมวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์

ความตกลงไทย-กาตาร์ที่สำคัญ
ไทยและกาตาร์ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างกัน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2542 (ระหว่างการเสด็จฯ เยือนไทยของเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์) และทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2534 และได้มีการเจรจาการบินและสามารถตกลงกันได้ที่จะทำการบินโดยไม่จำกัดความจุ ความถี่ และจุดหมายระหว่างทั้งสองประเทศ (ปัจจุบันสายการบิน Qatar Airways ทำการบินเส้นทางกรุงโดฮา–กรุงเทพฯ ทุกวัน และเริ่มบริการเที่ยวบินกาตาร์-ภูเก็ต ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 แต่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้เปิดบริการบินไปกาตาร์)

กระทรวงการต่างประเทศไทยและกาตาร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2541 ระหว่างการเยือนกาตาร์ของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับความตกลงอื่น ๆ ที่ได้มีการลงนามไปแล้ว ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเศรษฐกิจ การค้าและวิชาการ ไทย-กาตาร์ บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ Qatar Chamber of Commerce and Industry บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-กาตาร์ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้มีการลงนามอีกหลายฉบับ อาทิเช่น ความตกลงเพื่อการยกเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อน ไทย-กาตาร์ ความตกลงการจ้างแรงงานไทย ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ ไทย-กาตาร์

การเยือนของผู้นำระดับสูง

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
วันที่ 28 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2549 เสด็จเยือนกาตาร์เพื่อทรงร่วมการแข่งขันกีฬาแบดมินตันในนามทีมชาติไทยในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 15 ณ กรุงโดฮา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วันที่ 9 – 10 มกราคม 2555 เสด็จเยือนกาตาร์เพื่อทอดพระเนตร มหาวิทยาลัย Hamad Bin Khalifa University และการดำเนินงานด้านการศึกษาของ Qatar Foudation
ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ H.H. Sheikha Mozah Bint Naser Al Missned พระชายาเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ Qatar Foundation

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี
วันที่ 22- 29 มีนาคม 2555 เสด็จเยือนกาตาร์เพื่อทรงร่วมการประชุมวิชาการ The Sixth International Conference on Environmental Mutagens in Human
Populations ตามคำกราบทูลเชิญจากมูลนิธิ Qatar Foundation

รัฐบาล
ระดับนายกรัฐมนตรี
ปี 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางเยือนรัฐกาตาร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2552

ระดับรัฐมนตรี
- ปี 2527 ร้อยตรี ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนกาตาร์ เพื่อส่งเสริมการค้าและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
- เดือนพฤศจิกายน 2541 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 7-9 กรกฎาคม 2544 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการ (สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ)
- วันที่ 13-16 มิถุนายน 2548 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม South Summit ครั้งที่ 2 ณ กรุงโดฮา
- วันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเจ้าผู้ครองรัฐฯ เสด็จฯ เยือนไทยในวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546 และวันที่ 8-12 กันยายน 2546 นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี เยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 25-27 เมษายน 2547 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี เยือนกาตาร์ เพื่อส่งเสริมโครงการอาหารฮาลาลของไทย
- วันที่ 29 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2549 สวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Sixth International Conference on New or Restored Democracies (ICNRD–6) ณ กรุงโดฮา
- วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2550 ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เยือนกาตาร์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน
- วันที่ 2-3 มีนาคม 2552 นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนกาตาร์ เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีกระทรวงการค้ากาตาร์ และหารือกับนักธุรกิจกาตาร์
- วันที่ 3-5 พฤษภาคม 2552 นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปร่วมประชุม Doha Forum on Democracy, Development and Free Trade ครั้งที่ 9
- วันที่ 24 พฤษภาคม 2552 นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางเยือนกาตาร์ ภายหลังการประชุม GASTECH 2009 ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อหารือกับผู้บริหาร Qatar Gas และเยี่ยมชม Qatar LNG Plants 1-2
- วันที่ 4-5 กรกฎาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการ โดยได้เข้าเฝ้าเจ้าผู้ครองรับกาตาร์ และหารือข้อราชการกับรัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศ

ฝ่ายกาตาร์

พระราชวงศ์
H.H. Sheikh Hamad Bin Khalifa Al-Thani เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์
- วันที่ 12-15 เมษายน 2542 เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระอาคันตุกะของรัฐบาลและได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2542
- วันที่ 12-13 มิถุนายน 2549 เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์พร้อมพระชายา เสด็จฯ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

H.E. Sheikh Joann Bin Hamad Al-Thani พระโอรสของเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์
วันที่ –4-6 พฤศจิกายน 2549 ในฐานะ Ambassador for the 15th Asian Games Torch Relay เสด็จเยือนประเทศไทยเพื่อทรงนำคบเพลิงเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 15 มายังประเทศไทย

รัฐบาล
ระดับรัฐมนตรี
- วันที่ 18-19 มิถุนายน 2545 Sheikh Hamad Bin Faisal Al-Thani รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้ากาตาร์ เข้าร่วมประชุม Asia Cooperation Dialogue ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- วันที่ 20-22 กรกฎาคม 2546 Sheikh Hamad Bin Faisal Al-Thani รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้ากาตาร์ เข้าร่วมประชุม Asia Cooperation Dialogue ที่จังหวัดเชียงใหม่
- วันที่ 26-30 มกราคม 2550 H.E. Mr. Faisal Bin Abdulla Al-Mahmoud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการศาสนากาตาร์ เยือนไทยเพื่อร่วมพิธีเปิดอาคารเรียนวิทยาลัยอิสลามยะลา จังหวัดปัตตานี
- วันที่ 29 – 30 มกราคม 2555 H.E. Dr. Ghaith Mubarak Ali Imran Al Kuwari รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม (Minister of Endowment and Islamic Affairs) เยือนไทย เพื่อเป็นผู้แทนพระองค์เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ในพิธีวางศิลารากฐานอาคารโรงพยาบาล Sheikh Jassim Bin Muhammad Bin Thani ของมวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์

ผู้แทนทางการทูต

ฝ่ายไทย

Royal Thai Embassy
122 Al Eithar Street, Dafna,West Bay,
Doha, State of Qatar
Tel. (974) 493-4426,483-4736
Fax. (974) 493-0514
E-mail : [email protected]

ฝ่ายกาตาร์

The Embassy of the State of Qatar
14th Floor, Capital Tower
All Seasons Place
87/1 Wireless Road Lumpini,
Pathumwan, Bangkok 10330
Tel: 0-2660-1111
Fax: 0-2660-1122
E-mail: [email protected]
Website: http://www.qatarembassy.or.th

**************

เมษายน 2554

กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2053 E-mail : [email protected]

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ