วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2552
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
Democratic Republic of the Congo
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของทวีปแอฟริกา มีอาณาเขต
ทิศตะวันตก ติดกับ สาธารณรัฐคองโก (Brazzaville)
ทิศเหนือ ติดกับ แอฟริกากลางและซูดาน
ทิศตะวันออก ติดกับ ยูกันดา รวันดา บุรุนดี และแทนซาเนีย
ทิศใต้ ติดกับ แซมเบียและอังโกลา
มีเขตแดนประชิดกับ มหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างสาธารณรัฐคองโก และอังโกลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
พื้นที่ 2,345,410 ตารางกิโลเมตร (ประกอบด้วยพื้นที่บนพื้นดิน,267,600 ตารางกิโลเมตร พื้นที่บนผืนน้ำ 77,810 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งกว้างใหญ่เป็นอันดับที่สามของทวีปแอฟริการองลงมาจากซูดานและแอลจีเรีย ร้อยละ 50 ของพื้นที่เป็นป่าไม้เขตร้อน
ภูมิอากาศ ตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร มีอากาศร้อนและฝนตกชุก ที่ราบสูงตอนใต้มีอากาศเย็นและแห้งแล้ง ส่วนที่ราบสูงทางภาคตะวันออกอากาศจะเย็นและเปียกชื้น สำหรับบริเวณด้านเหนือของเส้นศูนย์สูตร ฤดูฝนจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน - ตุลาคม และฤดูแล้งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ ส่วนบริเวณตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตร ฤดูฝนจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - มีนาคมและฤดูแล้งระหว่างเดือนเมษายน - ตุลาคม ด้านตะวันตกซึ่งเป็นบริเวณที่ราบทั่วไป มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 26 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิแถบที่ราบสูงและภูเขาเฉลี่ยประมาณ 18 องศาเซลเซียส ภูมิอากาศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเหมาะสมกับการเกษตรกรรมและป่าไม้
แม่น้ำที่สำคัญ แม่น้ำ Zaire, Kasai และ Kwango
ประชากร 72.57 ล้านคน (2554) ประกอบด้วยชนเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 200 เผ่าพันธุ์ โดยเผ่าพันธุ์ส่วนใหญ่ คือ เผ่า Bantu
ภาษา ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ ภาษาท้องถิ่น ได้แก่ Lingala, Kingwana, Kikongo และ Tshiluba
เมืองหลวง กรุงกินชาซา (Kinshasa)
เมืองสำคัญ Kananga
ศาสนา
โรมันคาทอลิก ร้อยละ 50
โปรแตสแตนท์ ร้อยละ 20
Kimbanguist ร้อยละ 10
มุสลิม ร้อยละ 10
ลัทธิ ความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 10
DRC ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล สถาบันการเมืองประกอบด้วยฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการโดยแบ่งออกเป็น 10 จังหวัด
ฝ่ายบริหาร ประกอบด้วยประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 วาระ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Joseph Kabila บุตรชายประธานาธิบดี Laurent Kabila เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2544 (ค.ศ. 2001) และเพิ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 (ค.ศ. 2011)
ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วยสมัชชาแห่งชาติ (สภาผู้แทนราษฏร) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี และวุฒิสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 108 คน ได้รับเลือกจากสภานิติบัญญัติของแต่ละจังหวัด
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) ศาลอุทธรณ์ (Appeal Court) และคณะกรรมาธิการแห่งรัฐ (Council of State) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยศาลสูงทางทหาร (High Military Court)
สถานการณ์ทางการเมืองของ DRC ในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดยังคงไม่สงบ เนื่องจากนาย Etienne Tshisekedi ผู้แข่งขันสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ชักชวนผู้สนับสนุนฝ่ายตนรวมตัวประท้วง และประกาศแต่งตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีแทนนาย Kabila ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต้องตรึงกำลังในพื้นที่สำคัญของฝ่ายค้านอย่างแน่นหนา เพื่อควบคุมสถานการณ์
นอกจากนี้ DRC ยังมีปัญหาความไม่สงบในภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งมีพรมแดนเชื่อมต่อกับรวันดาและยูกันดา ซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2549 (ค.ศ. 2006) โดยนาย Laurent Nkumda ชาวคองโกเชื้อสาย Hutu อดีตนายทหารในรัฐบาลได้รวบรวมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวคองโกเชื้อสาย Tutsi และกลุ่ม Forces Democratiques de Liberation du Rwanda (FDLR) ซึ่งเป็นชนเผ่า Hutu ที่ได้รับการสนับสนุนจากรวันดา ได้บุกยึดบริเวณดังกล่าวจากรัฐบาล ส่งผลให้มีผู้หนีภัยจากการสู้รบมากกว่าหนึ่งหมื่นคน สหรัฐฯ ตกลงให้ความช่วยเหลือทางกำลังทหารแก่รัฐบาล DRC เพื่อต่อสู้กับนาย Nkumda และกลุ่ม Forces Democratiques de Liberation du Rwanda (FDLR) ได้เข้าร่วมการสู้รบครั้งนี้ด้วย ต่อมาในปี 2550 (ค.ศ. 2007) รวันดาและ DRC ได้ร่วมเจรจากันที่กรุงไนโรบี และในเดือนมกราคม 2551 (ค.ศ. 2008) คู่กรณีทุกฝ่ายได้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพ เพื่อเจรจาร่วมกัน โดยที่ประชุมตกลงให้มีการหยุดยิง แต่ในเดือนสิงหาคมและกันยายนปีเดียวกันความขัดแย้งกลับปะทุขึ้นอีกครั้งทางตอนเหนือของเมืองคิวู การสู้รบกับครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้หนีภัยจากการสู้รบมากกว่าหนึ่งล้านคน และยังคงมีเหตุการณ์รุนแรงในบริเวณภาคตะวันออกของประเทศจนถึงปัจจุบัน
สืบเนื่องจากความขัดแย้งข้างต้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติคว่ำบาตร DRC อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2547 (ค.ศ. 2004) จนถึงปัจจุบัน โดยมีมาตรการห้ามขายอาวุธ ห้ามเดินทางผ่านหรือเข้าไปในดินแดน และการอายัดทรัพย์สินของบุคคลและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้ง และการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าประเภทแร่ธาตุที่นำเข้าจาก DRC และในปี 2553 (ค.ศ. 2010) คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้จัดตั้ง United Nations Organization Stabilization Mission in the Democratic Republic of Congo (MONUSCO) เพื่อดำเนินงานต่อจาก MONUC
ทั้งรัฐบาล DRC และองค์กรระหว่างประเทศ ได้มีความพยายามดำเนินคดีทหารในกองทัพ DRC และผู้นำกลุ่มติดอาวุธในภาคตะวันออกคองโกที่มีละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนในภาคตะวันออกของ DRC อาทิ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 (ค.ศ. 2011) ศาลทหารได้ตัดสินจำคุก พ.ท. Kibibi Mutware เป็นเวลา 20 ปี ในข้อหากระทำการข่มขืนหมู่ และศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) อยู่ระหว่างพิจารณาคดีผู้นำกลุ่มติดอาวุธในภาคตะวันออกของ DRC จำนวน 4 คดี ในข้อหาอาชญากรรมสงคราม อย่างไรก็ดี การดำเนินดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากทหารและกลุ่มติดอาวุธในภาคตะวันออกล้วนมีผลประโยชน์ด้านการค้าเหมืองแร่ในบริเวณดังกล่าว จึงต่างปกป้องซึ่งกันและกัน
ความขัดแย้งภายในประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของ DRC เป็นอย่างมาก เนื่องจากทำให้ระบบเศรษฐกิจของคองโกอยู่ภาวะถดถอยเนื่องจากรายได้เข้าประเทศลดลง และมีภาระจากหนี้ต่างชาติเพิ่มขึ้น รัฐบาลนาย Joseph Kabila พยายามแก้ไขปัญหาและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยวางนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง DRC กับองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก World Bank และประเทศผู้บริจาคต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่องค์กร/ผู้บริจาคกำหนดไว้ และยังมีปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลได้วางแผนปฏิรูประบบเศรษฐกิจ โดยเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจการทำเหมืองเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ว่า DRC เป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแร่ธาตุต่าง ๆ อาทิแร่โคบอลต์ ทองแดง เพชร แทนทาลัม (ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ) ปิโตรเลียม พลอย ทอง เงิน แมงกานีส ดีบุก ยูเรเนียม ถ่านหิน แต่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของ DRC ยังมีขนาดเล็ก โดยคิดเป็นร้อยละ 14 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ โดยรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศเกิดจากภาคเกษตรกรรม และการค้าไม้ซุง โดยคิดเป็นร้อยละ 40 ของประเทศ
ผลกระทบของความขัดแย้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ชองชาว DRC เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประสับปัญหาความยากจน และต้องเผชิญหน้ากับภัยจากโรคระบาด อาทิ โรคเอดส์ และมาลาเรีย การขาดแคลนอาหารและสารอาหารที่จำเป็น นอกจากนี้สงครามยังทำลายระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ อาทิ เส้นทางคมนาคม ทำให้ประชาชนต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ซึ่งรัฐบาลต้องพึ่งพาเงินบริจาคจากองค์กรระหว่างประเทศและประเทศผู้บริจาคเป็นหลัก
DRC เป็นประเทศยุทธศาสตร์ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา เนื่องจากตั้งอยู่ในใจกลางของทวีปและมีขนาดใหญ่ รวมทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้การดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงเป็นหลัก
ความขัดแย้งระหว่าง DRC กับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่เกิดทางด้านฝั่งตะวันออกของประเทศ ซึ่งรัฐบาล DRC ยังไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง
DRC ยังคงมีข้อขัดแย้งกับรวันดาเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคตะวันออกของ DRC โดยรัฐบาล DRC เชื่อว่า รวันดาให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางทรัพยการธรรมชาติในพื้นที่
สำหรับความสัมพันธ์กับยูกันดา มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากยูกันดาได้ลดจำนวนกำลังทหารใน DRC ลง และเริ่มมีการปรับระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความตึงเครียดและการปะทะกันตามแนวชายแดนบริเวณ Lake Albert อยู่บ้าง เนื่องจากเป็นบริเวณที่คาดว่า น่าจะเป็นแหล่งน้ำมัน
DRC มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแอฟริกาใต้ เนื่องจากช่วยเหลือ DRC ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติภาพใน DRC
DRC พัฒนาความสัมพันธ์กับจีนอย่างรวดเร็ว โดย DRC นำเข้าสินค้าจากจีนหลายรูปแบบและเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคม ในขณะที่จีนนำเข้าแร่ธาตุจากคองโกจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังริเริ่มโครงการสำรวจแร่ธาตุต่าง ๆ ภายในประเทศ โดยจีนและ DRC ได้ทำสัญญาการค้าและการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมใน DRC มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2550 (ค.ศ. 2007)
สำหรับบทบาทของ DRC ในเวทีระหว่างประเทศ DRC เป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ African Union (AU), Cotonou Convention, Common Market for Eastern and Southern Africa (COMESA) และ South African Development Community (SADC)
นอกจากนี้ DRC ต้องการฟื้นฟูความน่าเชื่อถือกับองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศ อาทิ IMF, World Bank รวมทั้งสหภาพยุโรป และประเทศมหาอำนาจที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2512 (ค.ศ. 1969) โดยทางการไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในขณะที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกประจำกรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับคองโก มีมูลค่า 0.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 0.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่มีรายงานการนำเข้าสินค้า สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม
ความตกลงทวิภาคี – ยังไม่มีการทำความตกลงระหว่างกัน
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2503 (ค.ศ. 1960) ประเทศไทยได้ส่งคณะผู้แทนไปร่วมในพิธีฉลองเอกราชที่กรุงกินชาซาในโอกาสที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้รับและฉลองเอกราช
ฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2511 (ค.ศ. 1968) เอกอัครราชทูต Marcel Lengema ผู้แทนส่วนตัวของประธานาธิบดี Mobutu แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และได้เสนอให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสาส์น ขอเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยของประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศด้วย
*********************************
มิถุนายน 2555
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **