สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย

สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ย. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 28,046 view


สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย
Federal Democratic Republic of Ethiopia

ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะทั่วไปตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันออกบริเวณที่เรียกว่า
จงอยแอฟริกา (Horn of Africa)
ทิศเหนือติดกับเอริเทรีย
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจิบูตี ทิศตะวันออกติดกับโซมาเลีย
ทิศใต้ติดกับเคนยา
ทิศตะวันตกติดกับซูดาน เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล
พื้นที่1,13 ล้านตารางกิโลเมตรภูมิอากาศ อากาศร้อนและแห้ง ฝนตกน้อย
เมืองหลวงกรุงแอดดิสอาบาบา (Addis Ababa)
ประชากร 82.5 ล้านคน
ภูมิอากาศ อากาศแบบมรสุมเขตร้อน ผสมแบบที่ราบสูงร้อนและแห้ง
ภาษาอามฮาริก (Amharic) ร้อยละ 32.7, โอโรมิกนา (Oromigna)
ร้อยละ 31.6, ทิริกนา (Tigrigna) ร้อยละ 6.1, โซมาลี (Somali) ร้อยละ 6, และอื่นๆ
ศาสนา ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 60.80, อิสลาม ร้อยละ 32.8
นับถือความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 4.6, และความเชื่ออื่นๆ ร้อยละ 1.8
วันชาติ เดิมคือวันที่ 12 กันยายน ในสมัยของอดีตประธานาธิบดี Mengistu Haile Mariam ภายหลังจากที่ Ethiopia People’s Revolutionary Democratic Front (EPRDF) ได้เข้ายึดกรุงแอดดิส อบาบา และเปลี่ยนแปลงการ
ปกครอง จนกระทั่งสมัยที่นาย Meles Zenawi ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จึงเปลี่ยนมาใช้วันที่ 28 พฤษภาคมเป็นวันชาติตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา
ระบอบการปกครอง แบบสหพันธรัฐ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 รัฐ (States) และ 2 เขตปกครองพิเศษ (municipal councils) ได้แก่ เขตปกครองพิเศษแอดดิสอาบาบาและเขตปกครองพิเศษดิเรดาวา
ประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล Girma Wolde-Giorgis (ประธานาธิบดี)
Meles Zenawi (นายกรัฐมนตรี)

 

การเมืองการปกครอง

ภาพรวมสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย
1. ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
• ประเทศเอธิโอเปียเป็นหนึ่งในชาติที่มีประวัติศาสตร์อันต่อเนื่องยาวนานที่สุดในทวีปแอฟริกาและเป็นดินแดนที่ได้รับอารยธรรมจากอียิปต์และกรีกตั้งแต่สมัยโบราณ ดินแดนเอธิโอเปียก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกว่า อบิสสิเนีย ปกครองโดยราชวงศ์เอธิโอเปีย ซึ่งได้รับการสถาปนาโดยพระเจ้าเมเนลิก พระราชโอรสของพระเจ้าโซโลมอนและพระนางชีบา
• ในปี 2412 อิตาลีได้เข้ายึดครองแคว้นเอริเทรียของเอธิโอเปียและประกาศให้แคว้นเอริเทรียเป็นอาณานิคมของตนเมื่อปี 2433 แต่ในสนธิสัญญาสันติภาพอิตาลียังคงยอมรับเอกราชของเอธิโอเปียต่อไป
เอธิโอเปียอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตรยิ์ไฮเล เซลัซซี (Haile Selassie) เป็นเวลากว่า 50 ปี โดย เซลัซซี ได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ (Regent) ในปี 2459 ต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี 2471
• ปี 2479 อิตาลีได้รุกรานเอธิโอเปียและยึดเอธิโอเปีย เอริเทรีย และโซมาลีแลนด์ และประกาศรวมกันเป็นแอฟริกาตะวันออกของอิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม ในปี 2484 ภายใต้ความช่วยเหลือของกองทัพอังกฤษ กษัตริย์เซลัซซี สามารถยึดเอธิโอเปียคืนจากอิตาลีได้เป็นผลสำเร็จแต่อิตาลียังคงยึดแคว้นเอริเทรียไว้ หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เอธิโอเปียได้เรียกร้องดินแดนเอริเทรียคืน และสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 380 A (V) ปี 2492 โดยให้เอริเทรียเป็นดินแดนปกครองของตนเองภายใต้จักรวรรดิเอธิโอเปีย แต่ต่อมาในปี 2505 เอธิโอเปียได้ทำการผนวกเอริเทรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในฐานะจังหวัดที่ 14 และได้กลายเป็นชนวนการสู้รบระหว่างชาวเอริเทรียที่ต้องการเอกราชกับฝ่ายเอธิโอเปียเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2536 รัฐบาลเอธิโอเปียยอมให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับอนาคตการปกครองของประชาชนเอริเทรีย ซึ่งผลปรากฏว่า ประชามติเป็นเอกฉันท์ให้เอริเทรียแยกตัวออกจากเอธิโอเปีย

2. การเมืองการปกครอง
• ในปี 2517 กลุ่มทหาร Provisional Military Administrative Council (PMAC) นำโดย พันเอก เมนกิซตุ ไฮลี มาริยาม (Colonel Mengistu Haile Mariam) ทำการปฏิวัติยึดอำนาจและโค่นล้มระบอบกษัตริย์ มาริยามรับเอาลัทธิมาร์กซิสต์และเลนิน (Marxist-Leninist ideology)มาใช้ในการปกครอง ซึ่งเป็นที่ไม่พอใจของนักวิชาการและผู้มีการศึกษาในระยะเวลาต่อมา ก่อให้เกิดการวิพากวิจารณ์จนกระทั่งก่อเป็นความรุนแรงขึ้นภายในประเทศ มาริยามใช้กำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงประมาณ 100,000 คนและอีกหลายร้อยคนอพยพออกนอกประเทศ
• ต่อมาในปี 2534 พรรค Ethiopian People’s Revolutionary Democratic Front (EPRDF) ยึดอำนาจทางการเมืองจากพันเอก เมนกิซตุ ไฮลี มาริยาม ได้สำเร็จและนับแต่นั้นมา EPRDF มีอิทธิพลอย่างสูงในการเมืองภายในประเทศเอธิโอเปีย โดยได้รับเลือกตั้งเป็นพรรครัฐบาลเสียงข้างมากในทุกสมัยการเลือกตั้ง (ปี 2538 ปี 2543 และล่าสุดปี 2548) อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคฝ่ายค้านหลายพรรคได้ออกมาประท้วงผลการนับคะแนนเสียงที่ล่าช้าและไม่เป็นธรรม การประท้วงได้ลุกลามบานปลายไปสู่ความรุนแรงและรัฐบาลเข้าปราบปรามอย่างเฉียบขาดทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน
• เอธิโอเปียมีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ โครงสร้างการปกครองแบ่งออกเป็น ๓ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 พรรครัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภาได้แก่ สภาแห่งสหพันธรัฐ (the House of Federation) ซึ่งเทียบเท่ากับวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร (House of People’s Representatives) การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2548 และจะมีขึ้นอีกครั้งในปี 2553

3. เศรษฐกิจและสังคม
• ประเทศเอธิโอเปียเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เศรษฐกิจเอธิโอเปียยังพึ่งพารายได้จากภาคการเกษตรเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกและร้อยละ 80 ของการจ้างงานโดยรวม การส่งออกกาแฟเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรยังไม่ได้รับการพัฒนาที่ดี แม้รัฐบาลจะได้ปฏิรูปที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากขาดการวางแผนที่ดีและการเพาะปลูกยังพึ่งพาแหล่งน้ำฝนตามธรรมชาติอยู่และปัญหาการชลประทานรวมทั้งวิธีการเพาะปลูกที่ล้าสมัย
• ภาคบริการของเอธิโอเปียมีการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวการก่อสร้างและการคมนาคม โดยปัจจุบันภาคบริการมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 41.2 ของรายได้ประชาชาติ รัฐบาลเอธิโอเปียมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งสัตว์ป่านานาชนิด อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเอธิโอเปียยังไม่มีการบริหารจัดการที่ดีเท่าใดนักและยังล้าหลังประเทศเคนยาอยู่มาก
• นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา รัฐบาลภายใต้การนำของ EPRDF ได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอิงแนวทางของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ภายใต้กรอบนโยบาย Sustainable Development and Poverty Reduction Program (SDPRP) ในช่วงปี 2544/45 ถึง 2548/49 และแผน The Plan for Accelerated and Sustained Development to End Poverty (PASDEP) ในช่วงปี 2549/50 ถึง 2548/49 โดยมุ่งเน้น การแก้ปัญหาและขจัดความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร
• อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเศรษฐกิจของเอธิโอเปียบางครั้งถูกผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น การปราบปรามผู้ประท้วงฝ่ายค้านอย่างรุนแรงของพรรครัฐบาล สงครามกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในโซมาเลียและปัญหาชายแดนกับเอริเทรีย

4. นโยบายต่างประเทศ
4.1 นโยบายโดยรวม
• ในอดีตรัฐบาลทหารเผด็จการของเอธิโอเปียดำเนินนโยบายซ้ายจัดในกลุ่มนิยมสหภาพโซเวียต เพื่อรับการสนับสนุนด้านการทหารจากโซเวียตในการต่อต้านโซมาเลียและปราบปรามกบฏแบ่งแยกดินแดน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันรัฐบาลเอธิโอเปียได้ประกาศนโยบายเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันของรัฐ และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของผู้อื่น เอธิโอเปียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก
• ปัจจุบันเอธิโอเปียมีนโยบาย Look East โดยต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชีย จีนได้เข้ามามีบทบาทมากในเอธิโอเปีย โดยเข้าไปดำเนินโครงการสร้างถนนตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ก็เข้าไปขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเอธิโอเปียมากขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เอธิโอเปียประสงค์ให้ร่วมเป็นหุ้นส่วน (partnership) ที่สำคัญของเอธิโอเปีย
• เอธิโอเปียเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสหภาพแอฟริกา (African Union – AU) และถือเป็น
เมืองหลวงของแอฟริกา นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกของกลุ่มตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและ
แอฟริกาตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa – COMESA) ซึ่งเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่มีประชากร 350 ล้านคน นอกจากนี้ เอธิโอเปียยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา การเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับเอธิโอเปียจึงเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้ากับ COMESA ตลอดจนสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

4.2 ปัญหาข้อพิพาทระหว่างเอธิโอเปียกับเอริเทรีย
• ภายหลังจากแคว้นเอริเทรียแยกตัวจากเอธิโอเปียเป็นรัฐอธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 รัฐบาลรักษาการของเอธิโอเปียกับรัฐบาลกลางเอริเทรียได้ทำความตกลงกันในด้านการทหารและการไม่รุกรานซึ่งกันและกัน และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการให้เสรีภาพ
แก่ประชาชน การขนส่งสินค้าและการบริการผ่านดินแดนของกันและกัน อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างสิทธิ
ในการครอบครองดินแดนบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ในดินแดนที่เรียกว่า Badme เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความบาดหมางอย่างรุนแรงระหว่างเอธิโอเปียและเอริเทรีย
• การปะทะกันเพื่อแย่งชิงดินแดน Badme เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2541 โดยทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าเป็นฝ่ายเริ่มใช้อาวุธโจมตีก่อน องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และองค์การเอกภาพ แอฟริกา (Organization of African Unity – OAU ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น African Union) ได้พยายามเข้า ไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทและการสู้รบของทั้งสองประเทศหลายครั้ง จนกระทั่ง เอธิโอเปียและเอริเทรีย ได้ยุติสงครามอย่างเป็นทางการด้วยการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 และได้จัดตั้ง Eritrea-Ethiopia Boundary Commission (EEBC) ภายใต้อาณัติของ Permanent Court of Arbitration เพื่อตกลงการแบ่งเขตดินแดนกันโดยสันติวิธี และมีการตัดสินในขั้นสุดท้ายสำเร็จ ในเดือนมีนาคม 2546
• อย่างไรก็ดี ทั้งเอธิโอเปียและเอริเทรียต่างก็ไม่ยอมรับการตัดสินชี้ขาดของ EEBC และยังมีการปะทะกันตามแนวชายแดนอยู่เนืองๆ องค์การสหประชาชาติก็พยายามลดขนาดของกองกำลังรักษาสันติภาพ (UN Mission in Ethiopia and Eritrea – UNMEE) ลงเรื่อยๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าเจรจาร่วมกัน และยุติการทำงานของ UNMEE เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551

4.3 บทบาทของเอธิโอเปียในโซมาเลีย
• เอธิโอเปียได้เข้าไปข้องเกี่ยวกิจการภายในโซมาเลียมาช้านาน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ทั้งสองประเทศได้ทำสงครามแย่งเขตแดนกันบ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี รัฐโซมาลี (Somaliland) ของเอธิโอเปียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเชื้อชาติกับประชากรของโซมาเลีย ดังนั้น เอธิโอเปียจึงยังพยายาม ใช้นโยบายควบคุมความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มต่างๆ ในโซมาเลีย โดยเฉพาะให้การสนับสนุนรัฐ Somaliland และ Puntland นอกจากนี้ นาย Meles Zenawi นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ นาย Abdullahi Yusuf Ahmed ผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของโซมาเลีย
• ในเดือนธันวาคม 2549 กองกำลังทหารของเอธิโอเปียได้รุกเข้าไปในโซมาเลียเพื่อโค่นล้มกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง (Union of Islamic Court – UIC) ซึ่งได้ยึดอำนาจทางภาคใต้ของโซมาเลียเกือบทั้งหมดไว้ตั้งแต่ต้นปี 2549 โดยเอธิโอเปียอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและการก่อการร้ายโดยกลุ่ม UIC ซึ่งคุกคามต่อความมั่นคงของเอธิโอเปีย และในเดือนสิงหาคม 2550 สหภาพแอฟริกา (African Union – AU) ได้ส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมรักษาสันติภาพในโซมาเลีย อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างเอธิโอเปียกับโซมาเลียโดยรวมไม่ราบรื่นเท่าไรนัก

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจ/การค้า
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชาชาติต่อหัว 210 ดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 11.1
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 17.2
อุตสาหกรรมที่สำคัญ แปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องหนัง เคมีภัณฑ์ แปรรูปเหล็ก ซีเมนต์
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (สถิติปี 2551)
ดุลการค้ากับไทย ปี 2551 ไทยและเอธิโอเปียมีมูลค่าการค้า 22.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 19.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 2.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 17.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าออกที่สำคัญของเอธิโอเปียกาแฟ ทอง ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง
สินค้าเข้าที่สำคัญของเอธิโอเปีย อาหาร สัตว์ที่มีชีวิต ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร ยานพาหนะ ธัญพืช สิ่งทอ
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เอธิโอเปียส่งออกไป เยอรมัน ร้อยละ 8.2,
ซาอุดีอาระเบีย ร้อยละ 7 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 6.9, จิบูตี ร้อยละ 6.6,
จีน ร้อยละ 6.5, อิตาลี ร้อยละ 6.5, ญี่ปุ่น ร้อยละ 5.9, เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 4.8
เอธิโอเปียนำเข้าจาก ซาอุดีอาระเบีย ร้อยละ 17, จีน ร้อยละ15.9 อินเดีย ร้อยละ 7.8, อิตาลี ร้อยละ 5.1
หน่วยเงินตรา Ethiopian Birr (เบียร์) (ETB) อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 11.14 เบียร์ หรือประมาณ 1 เบียร์ ประมาณ 3.22 บาท (กุมภาพันธ์ 2552)

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 ด้านการทูต
• ไทยและเอธิโอเปียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2507 และในปีเดียวกันไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแอดดิสอาบาบา แต่ต่อมาในปี 2524 ไทยได้ ปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแอดดิสอาบาบาลง เนื่องจากความไม่สงบภายในเอธิโอเปีย หลังจากนั้น ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี มีเขตอาณาครอบคลุมเอธิโอเปีย ปัจจุบันเอธิโอเปียอยู่ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ในขณะที่เอธิโอเปียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเอธิโอเปียประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเขตอาณาครอบคลุมไทย แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนให้สถานเอกอัครราชทูตเอธิโอเปียประจำสาธารณรัฐอินเดีย มีเขตอาณาครอบคลุมไทย

1.2 ด้านการเมือง
• ไทยมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับเอธิโอเปีย โดยไทยเห็นความสำคัญของเอธิโอเปียในฐานะเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหภาพแอฟริกาและเป็นเสมือนเมืองหลวงของทวีปนี้ รวมทั้งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญใน Horn of Africa ส่วนเอธิโอเปียเห็นความสำคัญของไทยในฐานะมิตรประเทศที่เป็นตัวอย่างในการพัฒนา

1.3 ด้านเศรษฐกิจ
• ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับเอธิโอเปียเติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยส่วนใหญ่ไทยส่งออกมากกว่าการนำเข้า จึงอยู่ในฐานะได้เปรียบดุลการค้าตลอดมา สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ข้าว เสื้อผ้าสำเร็จรูป รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้า ได้แก่ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ การค้าระหว่างไทยและเอธิโอเปียในปี 2552 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 22.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสินค้าส่งออกจากไทยมูลค่า 19.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่า 2.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้ดุลการค้า 17.27ล้านดอลลาร์สหรัฐ
• ปัจจุบัน ชาวเอธิโอเปียนิยมเดินทางมาซื้อสินค้าในไทย ทั้งเสื้อผ้าและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งนิยมเดินทางมารับการบริการด้านสุขภาพในไทยเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากไทยมีมาตรฐานการรักษา พยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีบริการที่ดี และค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งมีสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ที่บินตรงมาไทย และในปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ได้ไปเปิดสาขาอยู่ที่กรุงแอดดิสอาบาบา

1.4 ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
• ไทยกำหนดให้เอธิโอเปียเป็นประเทศที่อยู่ในโครงการความช่วยเหลือของไทย (Thai Aid Programme) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษา/ฝึกอบรมและดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญ และเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาธารณสุขและการศึกษา
• เอธิโอเปียได้รับทุนฝึกอบรมประจำปี (Annual International Training Course: AITC) จากไทยเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังได้รับทุนอบรมในหลักสูตรฝึกอบรม Training of Trainers on Agriculture Extension and development for Africa ในประเทศไทย ซึ่งจัดเป็นพิเศษโดยความร่วมมือระหว่าง สพร. และ JICA ให้กับบุคลากรจาก 6 ประเทศได้แก่ เอธิโอเปีย มาลาวี แทนซาเนีย เคนยา ยูกันดา และแซมเบีย โดยเน้นการฝึกอบรมด้านการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียง การเสริมสร้างกลุ่มเกษตรกร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี คือ ปี 2549-2551

2. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
• ไทยและเอธิโอเปียได้ลงนามความตกลงทางด้านการบริการเดินอากาศเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 ในปัจจุบันสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ (Ethiopian Airline) มีเที่ยวบินตรงระหว่างไทย-เอธิโอเปียสัปดาห์ละ 7 เที่ยว นอกจากนี้ ไทยและเอธิโอเปียได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกที่นครเจนีวา สมัยที่ 61
• ความตกลงที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนและความตกลงเว้นการเก็บภาษีซ้อน ซึ่งฝ่ายเอธิโอเปียประสงค์จะทำความตกลงดังกล่าว และฝ่ายไทยได้ส่งร่างมาตรฐานให้ฝ่ายเอธิโอเปียพิจารณา

3. การเยือนของผู้นำระดับสูง
• ไทยและเอธิโอเปียยังไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างเป็นทางการ แต่ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอธิโอเปีย (นาย Seyoum Mesfin) ระหว่างการประชุม AU Summit เมื่อปี 2549 และนาย Mesfin ยังได้แวะผ่านไทยอย่างไม่เป็นทางการหลายครั้ง
• คณะจากเอธิโอเปียจำนวน 3 คน ประกอบด้วย 1. H.E. Mr. Fikru Desalegne, State Minister, Ministry of Capacity Building of the Federal Democratic 2. Dr. Hailemichael Aberra, President of the Civil Service College of Ethiopia และ 3. Dr. Negussie Negash, Coordinator in the Civil Service College of Ethiopia ได้เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับ Public administration ซึ่งจัดโดยสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Institute for the Promotion of Good Governance) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 51
• เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา นายเซยุม เมสฟิน (H.E. Mr. Seyoum Mesfin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนายพิษณุ จันทร์วิทัน อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศ


มิถุนายน 2552



กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-313-document.doc