วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ย. 2552
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย
Peoples Democratic Republic of Algeria
ชื่อทางราชการ : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย (Democratic and Popular Republic of Algeria)
ที่ตั้งและอาณาเขต : แอลจีเรียตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกามีพรมแดน
ทิศตะวันออกติดกับลิเบียและตูนีเซีย
ทิศใต้ติดกับไนเจอร์ มาลี และมอริเตเนีย
ทิศตะวันตกติดกับโมร็อกโก
ทิศเหนือติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เมืองหลวง : กรุงแอลเจียร์ (Algiers)
ประชากร : 34.4 ล้านคน คน (2552)
พื้นที่ : 2,381,740 ตารางกิโลเมตร
ภูมิอากาศ : อากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนในภาคเหนือของประเทศ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อน (พฤษภาคม สิงหาคม) 8-15 องศาเซลเซียสในฤดูหนาวและมักมีหิมะตกในบริเวณเทือกเขา Kabylie มีอากาศแบบทะเลทรายในภาคใต้และภาคกลาง อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 30-45 องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ : อาหรับ (ภาษาต่างประเทศที่ใช้ทั่วไปคือ ฝรั่งเศส)
ศาสนา : ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ
ระบบการปกครอง มีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำของประเทศ มีการบริหารประเทศโดยพรรคร่วมรัฐบาล
ประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล Abdelaziz Bouteflika (ประธานาธิบดี)
ภาพรวมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย
1. ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ชนเผ่าดั้งเดิมของแอลจีเรีย คือ พวก Berber แอลจีเรียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพวกโรมันกว่า 500 ปี และในคริสต์ศตวรรษที่ 7 พวกอาหรับได้เข้ามายึดครองแอฟริกาเหนือ และได้เปลี่ยนศาสนาของพวก Berber เป็นมุสลิม ต่อมา ในปี 2373 ฝรั่งเศสได้รุกรานแอลจีเรีย และถือเอาแอลจีเรียเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส ระหว่างปี 2497 2498 ได้มีการลุกขึ้นต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสนำโดย Front de libération nationale (FLN) จนกลายเป็นสงครามใหญ่ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ในปี 2505 ประธานาธิบดี Charles de Gaulle ของฝรั่งเศสได้เจรจาสันติภาพกับแอลจีเรียเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2505 ซึ่งนำไปสู่การประกาศเอกราชของแอลจีเรีย ต่อมาในเดือนตุลาคม 2506 นาย Ahmed Ben Bella หัวหน้ากลุ่ม FLN ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้นำระบบสังคมนิยมมาใช้ แต่ได้ถูกรัฐประหารโดย Colonel Houari Boumedienne ในปี 2508 ซึ่งปกครองประเทศจนถึงแก่กรรมในปี 2521
2. การเมืองการปกครอง
แอลจีเรียมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือ พรรค FLN มาจนกระทั่งมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2534 ซึ่งมีการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองหลายพรรค ผลปรากฎว่า พรรค Front islamique du salut (FIS) ชนะการเลือกตั้ง แต่โดยที่พรรค FIS เป็นพรรคที่สนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง อีกทั้งยังมีกองกำลังติดอาวุธของพรรค (Armée islamique du salut หรือ AIS) ฝ่ายทหารจึงตัดสินใจประกาศยกเลิกผลการเลือกตั้ง และสลายพรรค FIS จากนั้นได้ตั้งสภาสูงแห่งชาติ (Higher Council of State) ขึ้นบริหารประเทศเป็นการชั่วคราว และจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นใหม่ในปี 2538 ผลปรากฎว่านาย Liamine Zéroual ชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม เวลา 4 ปีต่อมา ฝ่ายทหารพยายามกลับเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองอีกครั้ง โดยสนับสนุนให้นาย Abdelaziz Bouteflika ลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น ๆ ได้ถอนตัวจากการลงสมัครก่อนหน้าวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน ต่อมาในปี 2547 นาย Bouteflika ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 และก่อนที่นาย Bouteflika จะหมดวาระจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2552 นาย Bouteflika ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ผู้นำทางการเมืองสามารถดำรงตำแหน่งมากกว่า 2 สมัย ดังนั้นในเดือนเมษายน 2552 นาย Bouteflika จึงได้ลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งอีกครั้งและได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน นาย Bouteflika มีนโยบายพยายามแก้ไขปัญหากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง และสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยการปลดปล่อยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่กลับใจออกจากคุกและมีการนิรโทษกรรมกองกำลังติดอาวุธที่ยอมร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล หากแต่ยังมีกลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มที่ยังไม่มีท่าทียินยอมต่อรัฐบาล ได้แก่ Groupe islamique armée และ Groupe Salafiste pour la prédication et le combat
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2539 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (Assemblée populaire nationale หรือ APN) มีสมาชิก 389 คน ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง มีวาระละ 5 ปี และมีสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ (Conseil de la Nation หรือ CN) มีสมาชิก 144 คน โดย 96 คน ได้รับเลือกทางอ้อมจากประชาชน และประธานาธิบดีแต่งตั้งอีก 48 คน มีวาระละ 6 ปี โดยรัฐธรรมนูญระบุให้สมาชิกครึ่งหนึ่งของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ ต้องมีการสับเปลี่ยนทุก ๆ 3 ปี ประธานาธิบดีดำรงฐานะเป็นประมุขของรัฐ และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทุก 5 ปี มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศโดยการแต่งตั้ง และถอดถอนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 นาย Bouteflika ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สามด้วยวัย 72 ปี หลังจากที่สภาได้มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีผลให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งมากกว่าสองสมัยได้ ทั้งนี้ นโยบายทางการเมืองของนาย Bouteflika ล้วนแล้วเป็นนโยบายที่รัฐบาลของเขามีมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเน้นด้านความมั่นคงและการลงทุน นาย Bouteflika ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าเขาจะหาเงินสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคม เป็นจำนวนเงิน 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในช่วงปี 2552-56 และยังให้คำมั่นสัญญาที่จะคงไว้ซึ่งนโยบายสมานฉันท์แห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญว่า รัฐบาลจะเดินหน้าต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ แต่รัฐก็ยังยินดีที่จะต้อนรับผู้ที่กลับตัวกลับใจ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งล่าสุดนั้น พรรคการเมืองหลักๆได้คว่ำบาตรการเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าอย่างไรเสียนาย Bouteflika ก็ยังคงได้รับเลือกต่อไป แต่ด้วยปัญหาทางสุขภาพของนาย Bouteflika จึงเป็นที่น่าจับตามองว่านาย Bouteflika จะสามารถดำรงตำแหน่งได้นานเพียงใด มีการคาดการณ์ว่าน้องชายของนาย Abdelaziz Bouteflika คือ นาย Said Bouteflika จะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลได้
การได้มาซึ่งตำแหน่งของนาย Bouteflika สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้แก่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล รวมถึงกลุ่มเสรีนิยมและกลุ่ม Islamists ซึ่งต่างออกมาวิจารณ์ว่า เป็นการเลือกตั้งที่มีการทุจริตและผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า ในช่วงระยะเวลาก่อนการเลือกตั้งนั้นอัตราการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มทหาร Islamist ได้เพิ่มขึ้นและคาดว่าจะเพิ่มเรื่อยๆ ในสมัยรัฐบาลของนาย Bouteflika โดยกลุ่มดังกล่าวมุ่งเน้นการโจมตีสถานสำคัญด้านความมั่นคง (สถานีตำรวจ ฐานทัพทหาร) ฝ่ายความมั่นคงของแอลจีเรียเองก็ได้มีความพยายามที่จะจับกุมสมาชิกของกลุ่มทหารดังกล่าวร่วมถึงการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในสถานที่สำคัญๆ ด้วย
3. เศรษฐกิจและสังคม
แอลจีเรียเป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับที่ 9 (2549) และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับที่ 4 (2549) และมีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับที่ 14 (2550) ของโลก การส่งออกสินค้าพลังงานจึงมีความสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจของแอลจีเรีย กล่าวคือมีมูลค่าประมาณร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และกว่าร้อยละ 97 ของรายได้จากการส่งออก คู่ค้าน้ำมันและก๊าซที่สำคัญของแอลจีเรียได้แก่ อิตาลีเยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ตัวเลขทางเศรษฐกิจและการเงินของแอลจีเรียดีขึ้นในช่วงกลางทศวรรษปี 2533 ส่วนหนึ่งมาจาการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองทุนการเงินระหว่างประเทศ และการปรับชำระหนี้ของกลุ่มประเทศเจ้าหนี้ (Paris Club และ London Club) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการลดอัตราการว่างงานที่ยังคงสูง รวมทั้งการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน
รัฐบาลเร่งการเปิดเสรีเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โทรคมนาคม พลังงาน น้ำประปา และการก่อสร้าง เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ผ่านการพิจารณากฎหมายปรับปรุงระบบบริหารทรัพยากรน้ำมัน ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจทรัพยากรน้ำมันมีความโปร่งใสขึ้นสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะจัดระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งการบริหารสื่อกลางทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 แอลจีเรียมีกฤษฎีกากำหนดให้บริษัทต่างชาติในแอลจีเรียที่นำเข้าสินค้าเพื่อการขายต่อ (resale) ต้องแบ่งร้อยละ 30 ของต้นทุนให้แก่คนสัญชาติแอลจีเรียหรือบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นทั้งหมดเป็นชาวแอลจีเรีย กฤษฎีกานี้มีจุดประสงค์ที่จะลดบัญชีรายการนำเข้าสินค้าของแอลจีเรีย ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2551 ในทางปฏิบัติคาดว่านโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของบริษัทต่างชาติในแอลจีเรีย
ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายแปรรูปรัฐวิสหกิจเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากภาคต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะแปรรูปกิจการของรัฐขนาดย่อมมากกว่า 100 รายการ ภายใต้นโยบายการปรับปรุงโครงสร้างของรัฐบาลด้วยงบประมาณ 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 5ปี ภายใต้นโยบายดังกล่าวรัฐบาลต้องการใก้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้นทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานภายในประเทศด้วย ในส่วนของนโยบายการเงินนั้นรัฐบาลได้มุ่งเน้นไปที่ธนาคารกลางแห่งชาติ Banque d Algérie โดยเน้นที่การควบคุมปริมาณเงินที่ไหลเวียนในระบบเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ
มีการคาดการณ์ในปี 2552 ว่า ภาคส่วนที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม hydrocarbon จะมีการเติบโตขึ้น เนื่องจากการขยายตัวอย่างคงที่ของภาคส่วนบริการ การก่อสร้าง และงานสาธารณะที่ตั้งอยู่บนการสนับสนุนของรัฐภายในกรอบแผนการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเอง ทั้งนี้รัฐยังได้วางแนวทางการใช้จ่ายเงินของภาคส่วนรัฐ โดยการนำเงินรายได้ที่จากการค้า hydrocarbon มาใช้จ่ายในการให้บริการแก่ประชาชนและการเพิ่มค่าจ้างของภาคส่วนแรงงานรัฐ แต่อย่างไรก็ตามแอลจีเรียยังคงประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเนื่องจากรัฐบาลนำมาตรการทางภาษีบริโภคมาใช้ โดยจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เบียร์ บุหรี่ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น เป็นการชั่วคราว และแอลจีเรียพึ่งพาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก สัดส่วนรายได้กว่าร้อยละ 95 มาจากการส่งออกน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
นาย Bouteflika ได้กล่าวในสุนทรพจน์ของเขาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ว่ารัฐบาลจำเดินหน้าขจัดอุปสรรคทางการค้าเพื่อพัฒนาตลาดการค้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการบังคับใช้กฎเกณฑ์ของรัฐบาลในเรื่องของการดำเนินการทางเศรษฐกิจอยู่ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจในปี 2551 ที่ว่าด้วยการลดสัดส่วนของการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติในกิจการของชาวแอลจีเรีย โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมาย inter alia เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว
นอกจากนี้แล้ว นโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐบาลนาย Bouteflika คือการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีภัณฑ์ และภาคอุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอน ปัจจุบันข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคลังเก็บก๊าซเพื่อโครงการการจัดส่งก๊าซ ethane ที่ทั้งแอลจีเรียได้ได้ลงนามร่วมกับประเทศฝรั่งเศสในปี 2550 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา แต่ด้วยสาเหตุหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ ความไม่แน่นอน ความล่าช้าในระบบราชการ และความรู้สึกชาตินิยมภายในประเทศ ส่งผลให้โครงการใหญ่หลายๆ โครงการเกิดความล่าช้าและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น
ปัจจุบันแอลจีเรียอยู่ในระหว่างการก่อสร้างท่อลำเลียงก๊าซส่งออกในเมือง Medgaz ซึ่งมีกำหนดการขนส่งก๊าซจำนวน 8 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ไปยังประเทศสเปนในเดือนมีนาคม ในขณะที่การลำเลียงก๊าซจำนวนเดียวกันนี้จากเมือง Galsi ไปยังประเทศอิตาลีจะเริ่มขึ้นในปี 2553 นอกจากนี้แล้วโครงการสถานีลำเลียงก๊าซ LNG ที่เมือง Skikda และ Arzew มีกำหนดการจำเปิดใช้งานภายในปี 2555-56
ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 รัฐบาลแอลจีเรียได้เสนอร่างกฎหมายทางสังคมโดยมุ่งที่จะลดข้อจำกัดทางสังคมให้แก่สตรี แต่ร่างกฎหมายนี้ถูกต่อต้านจากพรรคอิสลามว่าขัดกับกฎพื้นฐานของศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการปรับปรุงและยอมรับเป็นกฎหมายจากรัฐสภาในเดือนมีนาคม 2548 ข้อเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับข้อที่ผู้หญิงจะแต่งงานได้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองชาย ไม่ว่าผู้หญิงจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ และข้อที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนแต่ต้องได้รับความยินยอมจากภรรยาที่มีอยู่ก่อน นอกจากนั้น ในกรณีหย่าร้าง ไม่มีข้อบังคับต่อฝ่ายชายให้จ่ายค่าเลี้ยงดูครอบครัวเก่า แต่รัฐบาลจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เป็นต้น
4. นโยบายต่างประเทศ
ในช่วงปี 2503 2513 แอลจีเรียมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายของประเทศโลกที่สาม และขบวนการเรียกร้องเอกราชต่าง ๆ การดำเนินการทางการทูตของแอลจีเรียมีส่วนสำคัญในการปลดปล่อยตัวประกันชาวสหรัฐฯ ที่อิหร่าน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2524 (ความตกลงแอลเจียร์) นอกจากนี้ แอลจีเรียยังมีบทบาทนำในเรื่องต่าง ๆ ของทวีปแอฟริกา เช่น การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมขององค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU) ในปี 2543 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทีทำให้เอธิโอเปีย และเอริเทรียยอมมาเจรจาสันติภาพ ในปี 2543 นอกจากนี้ แอลจีเรียยังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศในแอฟริกาอื่นๆ ในการก่อตั้งหุ้นส่วนใหม่เพื่อการพัฒนาของแอฟริกา (New Partnership for African Development-NEPAD) และในองค์การ Arab Maghreb ด้วย
แอลจีเรียให้การสนับสนุนกลุ่ม Polisario ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้แทนของประชาชนในดินแดนซาฮาราตะวันตก และปฏิเสธการที่โมร็อกโกจะเข้าไปปกครองดินแดนดังกล่าว จึงยังคงมีการปิดพรมแดนระหว่างแอลจีเรีย และโมร็อกโก โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่า ให้ที่พักพิงแก่กองกำลังติดอาวุธ และการลักลอบขนอาวุธ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ได้คลายความตึงเครียดลง เมื่อกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโกได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอาหรับที่จัดขึ้นที่แอลจีเรียระหว่างวันที่ 22 23 มีนาคม 2548 และได้หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดี Bouteflika หลังเสร็จสิ้นจากการประชุม
โมร็อกโกได้ยกเลิกการตรวจลงตราสำหรับชาวแอลจีเรียตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2537 และแอลจีเรียได้ยกเลิกการตรวจลงตราแก่ชาวโมร็อกโกตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2538 แต่ยังปิดพรมแดนทางบกระหว่างกันอยู่
แอลจีเรียมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใน Maghreb คือ ตูนีเซีย และลิเบีย รวมทั้งมาลี และไนเจอร์ และสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ในปัญหาตะวันออกกลาง
ในช่วงของรัฐบาลของนาย Bouteflika ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของแอลจีเรียได้ฟื้นฟูขึ้นหลังจากตกต่ำเป็นอย่างมาก ประเทศตะวันตกได้จัดให้แอลจีเรียเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญในการรณรงค์การต่อต้านกลุ่มทหารอิสลามหัวรุนแรง และทั้งนี้แอลจีเรียเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซให้แก่กลุ่มประเทศ EU คิดเป็นร้อยละ 25 ของทั้งหมด ส่งผลให้ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของแอลจีเรียยิ่งเพิ่มมากขึ้นต่อภูมิภาคยุโรป สาเหตุเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่มั่นคงด้านพลังงานก๊าซจากรัสซีย
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศแอลจีเรียต่อประเทศฝรั่งเศสนั้นเน้นนโยบายที่เป็นกลาง ทั้งนี้ เดิมแอลจีเรียเป็นประเทศเมืองขึ้นของฝรั่งเศส แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนาย Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสได้มีความพยายามที่จะดำเนินนโยบายทวิภาคีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านพาณิชย์และการจัดหาพลังงานกับแอลจีเรียเพิ่มมากขึ้น
ความสัมพันธ์กับประเทศสหรัฐอเมริกามีความแน่นแฟ้นเนื่องจากทั้งสองประเทศมีประสบการณ์ที่คล้ายกัน ทั้งนี้ แอลจีเรียมีประสบการณ์ในการจัดการกับกองกำลังทหารกลุ่ม Islamist ซึ่งทำให้แอลจีเรียเป็นที่จับตามองนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11นอกจากนั้น แอลจีเรียภายใต้ นาย Abdelaziz สนับสนุนนโยบาย war on terror ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศตะวันตกผ่อนคลายการกดดันให้รัฐบาลของแอลจีเรียปฎิรูปการปกครอง ทั้งนี้สหรัฐอเมริกายังเป็นคู่ค้าที่สำคัญของแอลจีเรียโดยเฉพาะด้านน้ำมันและก๊าซ สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านน้ำมันและก๊าซด้วยเม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนเงิน 5.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในภาคส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 161.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ(2552)
อัตราการเจริญเติบโต 3.3 % (2552)
รายได้ต่อหัว 3,861 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)
อัตราเงินเฟ้อ 3.8% (255)
อุตสาหกรรมที่สำคัญ ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมเบา เหมืองแร่ ไฟฟ้า ปิโตรเคมี แปรรูปอาหาร
ทุนสำรองระหว่างประเทศ 150.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)
ดุลการค้ากับไทย ปี 2551 ไทยและแอลจีเรียมีมูลค่าการค้า798.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 226.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 571.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
<สินค้าออกที่สำคัญของแอลจีเรีย น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
สินค้าเข้าที่สำคัญของแอลจีเรียสินค้าที่ใช้เป็นทุน อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค
ตลาดคู่ค้าที่สำคัญ
ส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริการ้อยละ 29.4, อิตาลีร้อยละ 13.8, สเปนร้อยละ 9.6, แคนาดาร้อยละ 8.4, ฝรั่งเศสร้อยละ 7.4, เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 5 (2549)
นำเข้าจาก ฝรั่งเศสร้อยละ 18.7, จีนร้อยละ 9, อิตาลีร้อยละ 8.5, สเปนร้อยละ 6., สหรัฐอเมริการ้อยละ5.5, เยอรมนีร้อยละ 5.3, รัสเซียร้อยละ 4.6 ตุรกีร้อยละ 4.1 (2549)
หน่วยเงินตรา แอลจีเรีย ดีน่าร์ อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 72.52 ดินาร์ หรือ 1 ดินาร์ เท่ากับประมาณ 0.48 บาท (เมษายน 2552)
เศรษฐกิจและสังคม
แอลจีเรียเป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับที่ 5 และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับที่ 4 และมีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก การส่งออกสินค้าพลังงานจึงมีความสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจของแอลจีเรีย กล่าวคือมีมูลค่าประมาณร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และกว่าร้อยละ 95 ของรายได้จากการส่งออก ตัวเลขทางเศรษฐกิจและการเงินของแอลจีเรียดีขึ้นในช่วงกลางทศวรรษปี 2533 ส่วนหนึ่งมาจากการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และการปรับชำระหนี้ของกลุ่มประเทศเจ้าหนี้ (Paris Club) ภาวะการเงินที่ดีขึ้นในช่วงปี 2543 2546 สืบเนื่องมาจากการที่แอลจีเรียได้ดุลการค้า มีเงินสำรองแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ได้รับการลดหนี้สินจากต่างประเทศ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศยังสูงขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่มีการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้น รัฐบาลยังคงพยายามที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความหลากหลาย โดยการดึงดูดการลงทุนทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ นอกเหนือจากภาคพลังงาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการลดอัตราการว่างงานที่ยังคงสูงอยู่ รวมทั้งการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน
รัฐบาลเร่งการเปิดเสรีเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาคเศรษฐกิจเช่น โทรคมนาคม พลังงาน น้ำประปา และการก่อสร้าง ได้ถูกเปิดเสรีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ผ่านการพิจารณากฎหมายปรับปรุงระบบบริหารทรัพยากรน้ำมัน ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจทรัพยากรน้ำมันมีความโปร่งใสขึ้นสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะจัดระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งการบริหารสื่อกลางทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 รัฐบาลแอลจีเรียได้เสนอร่างกฎหมายทางสังคมโดยมุ่งที่จะลดข้อจำกัดทางสังคมให้แก่สตรี แต่ร่างกฎหมายนี้ถูกต่อต้านจากพรรคอิสลามว่าขัดกับกฎพื้นฐานของศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการปรับปรุงและยอมรับเป็นกฎหมายจากรัฐสภาในเดือนมีนาคม 2548 ข้อเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ ผู้หญิงจะแต่งงานได้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองชาย ไม่ว่าผู้หญิงจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ หรือผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนแต่ต้องได้รับความยินยอมจากภรรยาที่มีอยู่ก่อน นอกจากนั้น ในกรณีหย่าร้าง ไม่มีข้อบังคับต่อฝ่ายชายให้จ่ายค่าเลี้ยงดูครอบครัวเก่า แต่รัฐบาลจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก
เป็นต้น
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 ด้านการทูต
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับแอลจีเรียเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2518 ในขณะนั้นแอลจีเรียมอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง ส่วนไทยมอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำแอลจีเรีย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นายวีรพันธุ์ วัชราทิตย์ และแอลจีเรียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตแอลจีเรียประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมไทย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นายอามาร์ เบลานี
ในเดือนพฤษภาคม 2546 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแอลจีเรียทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลแอลจีเรียเป็นเงินจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
แอลจีเรียขอเสียงสนับสนุนจากไทยในการส่งผู้สมัครเป็น Director General ของ Organization for the Prohibition of Chemical Weapons (OPCW) ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่นครเจนีวา
1.2 ด้านเศรษฐกิจ
แอลจีเรียเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในแอฟริกา รองจากแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย และอียิปต์ ในปี 2550 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 798.30 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 226.65 ล้านดอลล่าร์สหรัฐและนำเข้า 571.65 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 345 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกไปแอลจีเรียที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ข้าว เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากแอลจีเรียที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ สัตว์น้ำแช่เย็น แช่แข็ง สินแร่โลหะ เครื่องใช้เบ็ตเตล็ด เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
2. ความตกลงที่สำคัญๆกับไทย
พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ลงนามย่อระหว่างการเยือนแอลจีเรียของ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล วันที่ 9-12 ธันวาคม 2548)
3. การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทย : รัฐบาล
วันที่ 15-23 มิถุนายน 2548 นาย วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการพัฒนาอาหารฮาลาล แห่งประเทศไทย นำคณะผู้แทนไทยเยือนแอลจีเรีย และโมร็อกโก
วันที่ 11-12 กันยายน 2548 นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เยือนแอลจีเรีย โดยได้พบกับข้าราชการระดับสูงของฝ่ายแอลจีเรีย ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแอลจีเรีย
วันที่ 9-12 ธันวาคม 2548 ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เยือนแอลจีเรีย โดยได้พบกับนาย Mohammed Bedjaoui รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจน้ำมัน บริษัท Sonatrach หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการก่อการร้าย กระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายของสหภาพแอฟริกา
ฝ่ายแอลจีเรีย : รัฐบาล
วันที่ 4-5 เมษายน 2545 นาย Amine Kherbi อดีตรัฐมนตรีดูแลการต่างประเทศเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
----------------------------------------------------
กองแอฟริกา
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
14 สิงหาคม 2552
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2035 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **