วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ย. 2552
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐกานา
Republic of Ghana
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณแอฟริกาตะวันตก ทิศเหนือติดกับบูร์กินาฟาโซ ทิศตะวันออกติดกับโตโก ทิศตะวันตกติดกับโกตดิวัวร์ ทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าวกินี
ชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 539 กิโลเมตร
พื้นที่ 238,537 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าประเทศไทยประมาณครึ่งหนึ่ง)
เมืองหลวง กรุงอักกรา (Accra)
ประชากร 24.8 ล้านคน (ปี 2554)
ภูมิอากาศ ภูมิอากาศร้อนชื้น บริเวณชายฝั่งทะเลมีอากาศอบอุ่นและแห้ง ภาคเหนือมีอากาศร้อนและแห้ง ภาคตะวันตกเฉียงใต้มีอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิปกติประมาณ 21-30 องศาเซลเซียส มีฤดูฝนปีละ 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม และกันยายน - ตุลาคม อากาศร้อนที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งอุณหภูมิอาจขึ้นสูงถึง 35 องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ
ศาสนา คริสต์ ร้อยละ 68.8 อิสลาม ร้อยละ 15.9 ความเชื่อดั้งเดิม
ร้อยละ 8.5 ไม่นับถือศาสนา ร้อยละ 6.1 อื่น ๆ ร้อยละ 0.7
หน่วยเงินตรา เซดี (Cedi) อัตราแลกเปลี่ยน 1 เซดี เท่ากับประมาณ 16.27 บาท (ข้อมูลวันที่ 3 กันยายน 2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 39,196 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,410 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 14.4 (ปี 2554)
วันชาติ 6 มีนาคม
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายจอห์น ดรามานี มาฮามา (John Dramani Mahama) โดยได้สาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 หลังจากที่นายจอห์น อัตตา มิลส์ (John Atta Mills) ประธานาธิบดีคนก่อนถึงแก่อสัญกรรม
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดินแดนกานาถูกครอบครองโดยชนเผ่าและแคว้นนักรบต่าง ๆ โดยเฉพาะอาณาจักร Ashanti ซึ่งมั่งคั่งขึ้นมาจากการค้าทาส ในปี 2417 สหราชอาณาจักรได้เข้ารุกรานอาณาจักร Ashanti และประกาศให้พื้นที่ Gold Coast เป็นอาณานิคม จนกระทั่งปี 2444 จึงสามารถยึดพื้นที่ได้ทั้งหมดทำให้กานาตกเป็นรัฐในอารักขา (protectorate) ของอังกฤษ
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรค Convention People's Party (CPP) ของนาย Kwame Nkrumah ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2494 ซึ่งนำไปสู่การได้รับเอกราชของกานาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2500 นับเป็นประเทศแรกในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ที่ได้รับเอกราช โดยยังคงเป็นดินแดนในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ จนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2503 กานา ได้ประกาศเป็นสาธารณรัฐภายใต้เครือจักรภพอังกฤษ โดยนาย Kwame Nkrumah ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก และได้วางรากฐานการปกครองของกานาในแบบสังคมนิยม
ต่อมาในปี 2509 คณะนายทหารได้ทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของนาย Nkrumah และก่อตั้ง National Liberation Council ขึ้นเพื่อปกครองประเทศ โดยมีการคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนผลัดเปลี่ยนการคุมอำนาจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ รัฐประหารครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2524 โดยเรืออากาศเอก Jerry awlings เป็นผู้นำการรัฐประหาร จากนั้นได้มีการจัดตั้งองค์กรบริหารประเทศ คือ Provisional National Defence Council (PNDC) ขึ้น พร้อมกับยุบสภา ระงับการใช้รัฐธรรมนูญ และห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง ในเดือนมีนาคม 2535 เรืออากาศเอก Rawlings ได้ประกาศถ่ายโอนอำนาจให้เป็นประชาธิปไตย และมีการลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แห่งสาธารณรัฐที่ 4 ในวันที่ 28 เมษายน 2535 ซึ่งถือเป็นการจัดตั้งระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารตามรูปแบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา มีรัฐสภาที่มาจากหลายพรรค และระบบตุลาการที่เป็นอิสระ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2535 เรืออากาศเอก Rawlings ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอีกครั้งในปี 2539
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 7 และ 28 ธันวาคม 2543 นาย John Atta Mills จากพรรค National Democratic Congress (NDC) อดีตรองประธานาธิบดีผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนาย Jerry Rawlings แพ้การเลือกตั้งให้กับนาย John Agyekum Kufuor พรรค National Patriotic Party (NPP) ถือเป็นการยุติอำนาจทางการเมืองของนาย Jerry Rawlings ที่อยู่ในตำแหน่งประมุขของรัฐมาเป็นเวลากว่า 19 ปี
การเมืองการปกครอง
กานาปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดำรงตำแหน่งในวาระละ 4 ปี จำกัดไม่เกิน 2 สมัย มีอำนาจในการแต่งตั้งรองประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี โดยผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา รัฐสภาเป็นระบบสภาเดียว (unicameral) ประกอบด้วยสมาชิก 230 คน ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนทุก 4 ปี
กานาจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในเดือนธันวาคม 2551 โดยพรรค National Democratic Congress (NDC) ภายใต้การนำของนายจอห์น อัตตา มิลส์ (John Atta Mills)[1] ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด และได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายจอห์น ดรามานี มาฮามา (John Dramani Mahama) เป็นรองประธานาธิบดี และพรรค New Patriotic Party (NPP) เป็นพรรคฝ่ายค้านหลังจากที่เคยเป็นพรรค
ผู้จัดตั้งรัฐบาลในสมัยที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 นายจอห์น อัตตา มิลส์ ถึงแก่อสัญกรรม หลังจากที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งลำคอมานาน โดยนายจอห์น ดรามานี มาฮามา ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันเดียวกัน การถึงแก่อสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดีไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง หากแต่แสดงให้เห็นรากฐานที่มั่นคงของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในกานา
ประธานาธิบดีมาฮามา ได้แต่งตั้งนาย Kwesi Bekoe Amissah-Arthur อดีตผู้ว่าการธนาคารกลาง เป็นรองประธานาธิบดี นับว่าเป็นการให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2555 ทั้งนี้ ประธานาธิบดีมาฮามาจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า พรรค NDC สามารถนำพาประเทศไปสู่การพัฒนา และต้องทำให้กระแสข่าวการทุจริตทางการเมืองของรัฐมนตรีบางคนเบาบางลงให้ได้ เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของพรรค ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่อาจทำให้พรรคฝ่ายค้าน อาทิ NPP ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อน กลับมาเอาชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้
ปัจจุบัน พรรค NDC มีผู้แทน 115 คน จากทั้งหมด 230 ที่นั่งในรัฐสภา พรรครัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มฐานคะแนนเสียงให้กับพรรค ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาการทุจริตทางการเมือง รวมถึงการสร้างสถียรภาพและแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ นอกจากนี้ การที่กานาเป็นประเทศที่เพิ่งสำรวจพบน้ำมันดิบนอกชายฝั่งเมือง Takoradi ทางตะวันตกของประเทศ เมื่อปี 2550 และเริ่มขุดขึ้นมาใช้เมื่อปลายปี 2553 นักวิเคราะห์จึงมีความห่วงกังวลว่า อุตสาหกรรมใหม่ของกานานี้ จะนำมาซึ่งความขัดแย้งและการทุจริต เนื่องจากกานายังไม่มีกฎหมายรองรับการดำเนินการต่าง ๆ อย่างไรก็ดี อดีตประธานาธิบดี จอห์น อัตตา มิลส์ เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า รัฐบาลจะนำรายได้จากน้ำมันมาใช้อย่างสมเหตุสมผล ไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่แม้จะมีน้ำมันมาก แต่ความมั่งคั่งและผลประโยชน์ไม่ถึงประชาชน
เศรษฐกิจ
กานาเป็นประเทศแรกในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ที่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร มีประชากรประมาณ 24.8 ล้านคน (ปี 2554) เป็นประเทศที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ บ็อกไซต์ แมงกานีส ป่าไม้ เพชร และโกโก้ กานาเป็นผู้ผลิตทองคำและโกโก้รายใหญ่ของโลก และรายได้หลักมาจากการส่งออกสินค้าดังกล่าว แหล่งทองคำอยู่ที่เมือง Ashanti และดินแดนทางภาคตะวันตกของกานา อย่างไรก็ตาม กานายังคงจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางด้านการเงินและวิชาการจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
ภาคการเกษตรยังคงเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจกานา โดยทำรายได้คิดเป็นร้อยละ 30.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (ปี 2553) อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรของกานายังคงประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำจากโรคพืช และภาวะการผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก สินค้าส่งออกที่สำคัญของกานา ได้แก่ โกโก้ ไม้ อาหารทะเล สัปปะรด
กานามีท่าเรือที่สำคัญ คือ ท่าเรือ Tema และท่าเรือ Takoradi ซึ่งเป็นประตูการค้าสู่ตลาดแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะสำหรับประเทศบูร์กินาฟาโซซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกานาและไม่มีทางออกทะเล
ในช่วงต้นปี 2551 ประธานาธิบดีกานาได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Advisory Council) ขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาด้านนโยบายเตรียมการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และได้ประชุมหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลกานาได้ยอมรับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นเงิน 300 และ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ โดยมีเงื่อนไขในการปรับปรุงระเบียบงบประมาณแผ่นดินและการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณติดต่อกันมาหลายปี คือ การปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยก่อตั้งสำนักบริหารภาษีอากร (Ghana Revenue Authority) และเร่งดำเนินการตามแผนเพิ่มอัตราภาษีเหมืองแร่ ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก
ในปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาการบริหารจัดการรายจ่ายสาธารณะ การกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความยากจน และให้สินเชื่อและความช่วยเหลือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มน้ำมัน ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อและขาดดุลงบประมาณ ทั้งนี้ มีการคาดคะเนว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 9.1 เทียบกับเมื่อปี 2554 ที่ร้อยละ 8.7
ในภาพรวมนั้น ปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกานาในปัจจุบัน ได้แก่ รายได้จากการส่งออกทองคำซึ่งยังคงมีราคาสูง การส่งออกโกโก้ การขยายตัวของภาคบริการ และการเริ่มต้นผลิตน้ำมันจำนวนมากเพื่อการส่งออกในปี 2554 ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหางบประมาณขาดดุลของประเทศได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องมีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างชัดเจนและรัดกุม พร้อมออกกฎหมายเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมดังกล่าว
นโยบายต่างประเทศ
เสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กานาเป็นประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และยังคงบทบาทที่โดดเด่นในกรอบความร่วมมือพหุภาคี อาทิ องค์การสหประชาชาติ เครือจักรภพอังกฤษ กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement - NAM) สหภาพแอฟริกา (African Union - AU) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแอฟริกา (Economic Commission for Africa - ECA) ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West Africa States - ECOWAS) และ African States associated with the EC (Lome Convention)
กานาเป็นหนึ่งในประเทศผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มประเทศหุ้นส่วนใหม่เพื่อการพัฒนาแอฟริกา หรือ NEPAD (New Partnership for Africa's Development) และมีบทบาทสำคัญใน ECOWAS โดยกานาดำรงตำแหน่งประธาน ECOWAS ในช่วงปี 2537-2539 และ 2546-2548 ทั้งยังมีส่วนร่วมในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง อาทิ โกตดิวัวร์ เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ในกรอบ ECOMOG หรือ ECOWAS Monitoring Group นอกจากนี้ ดร. โมฮัมเหม็ด อิบน์ แชมบาส (Dr. Mohamed Ibn Chambas) ประธานคณะกรรมธิการ ECOWAS ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2550-2554 ยังเป็นนักการเมืองสัญชาติกานาด้วย
กานาเคยเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มาแล้ว 3 ครั้ง ในวาระปี 2505-2506 / 2529-2530 / 2549-2550 ทั้งยังเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพแอฟริกา (AU) ครั้งที่ 9 เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 และเป็นเจ้าภาพการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 12 ณ กรุงอักกรา ระหว่างวันที่ 20-25 เมษายน 2551 ด้วย
ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีนั้น กานามีความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญและประเทศผู้ให้ ในภาพรวมนั้น กานาให้ความสำคัญกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีชาวกานาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ความสัมพันธ์ระหว่างกานากับจีนจะพัฒนาดียิ่งขึ้น จากการที่จีนได้สนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ความสัมพันธ์ทั่วไป
การทูต
ไทยกับกานาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2528 ความสัมพันธ์เป็นไปด้วยความราบรื่น ไทยเคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุมกานา ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการปรับเปลี่ยนเขตอาณา โดยให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา ประเทศไนจีเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมกานาแทน ฝ่ายกานาได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตกานาประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมไทย
เศรษฐกิจ
กานาได้ติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่ปี 2515 โดยในระยะแรก ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า อย่างไรก็ตาม การที่ไทยนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำจากกานาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าในช่วงปี 2535 - 2543 ต่อมา ไทยกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไทยส่งออกข้าวไปกานาเป็นจำนวนมาก (กานาเป็นประเทศคู่ค้าข้าวอันดับ 6 ของไทยในทวีปแอฟริกา) และมีการนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำจากกานาน้อยลง ในปี 2554 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกานาเท่ากับ 416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 378 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้าจากกานา 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 339 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ กานาเป็นคู่ค้าที่สำคัญเป็นอันดับที่ 68 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับที่ 9 ในแอฟริกา สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังกานา ได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ปูนซิเมนต์ สินค้านำเข้าที่สำคัญจากกานา ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ไทยได้เปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ณ กรุงอักกรา ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ปัจจุบัน มีนายบูรณ์ อินธิรัตน์ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการสำนักงาน มีภารกิจในการส่งเสริมการขยายตลาดส่งออกของไทย โดยเฉพาะตลาดข้าวในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 21 - 28 มีนาคม 2550 นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เยือนกานาและเซเนกัลเพื่อสำรวจตลาดข้าวไทย
ความร่วมมือทางวิชาการ
กานามีความสนใจที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและขยายความร่วมมือกับไทยในด้านการเกษตรและการประมง โดยไทยได้กำหนดให้กานาอยู่ในโครงการความช่วยเหลือของไทย หรือ Thai Aid Programme ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษาและทุนฝึกอบรมดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาธารณสุข และการศึกษา
สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ได้เวียนทุนฝึกอบรม (Annual International Training Course หรือ AITC) ให้ฝ่ายกานาพิจารณาส่งบุคลากรเข้าร่วมเป็นประจำทุกปี
โดยคำนึงถึงสาขาที่ไทยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่จะสามารถถ่ายทอดให้กับกานาตามความต้องการได้ ทั้งนี้ ในปี 2552 กานาได้ส่งบุคลากรเข้ารับทุนฝึกอบรมในหลักสูตร Integrated Watershed Management จำนวน 1 ราย และ สพร. ได้เวียนทุนฝึกอบรมให้ฝ่ายกานาพิจารณาส่งบุคลากรเข้าร่วมในปีการศึกษา 2555 จำนวน 14 หลักสูตร ดังนี้ (1) Appropriate Technology and Local Wisdom in Agricultural Waste Recycling (2) Sufficiency Economy (3) Community Health Management and Community Empowerment towards Healthy Community (4) Early Childhood Health Care Management (5) Sustainable Agriculture and Food Security (6) Sufficiency Economy in Agriculture (7) Food Security – Post-harvest, Processing and Quality Assurance of Selected Agro-Industrial Products (8) Thailand Food & Nutrition Security (9) Grassroots Economic Development followed Sufficiency Economy Philosophy (10) District Health System Strengthening (11) Climate Change Adaptation (12) Waste Management for Sustainability (13) Crop Simulation Modeling and Impacts of Climate Change on Agricultural Production Systems: A Training Program on DSSAT (14) International Workshop on Energy and Environment Sector Cooperation among GMS Countries (Phase 3)
ความตกลงที่สำคัญกับไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ วิชาการ และวัฒนธรรม
(ลงนามเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2549)
พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กานา (ลงนามเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2549) โดยไทยรับจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมครั้งที่ 1 เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความพร้อม
ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำ
ความตกลงด้านการค้า
ความตกลงด้านวัฒนธรรม
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วันที่ 20 - 24 เมษายน 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนกานาอย่างเป็นทางการ และได้เสด็จฯ เข้าร่วมเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Harnessing Knowledge and Technology for Development” ในวันที่ 24 เมษายน 2551 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ UNCTAD
รองนายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 4 - 5 กรกฎาคม 2549 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนกานาอย่างเป็นทางการ และได้เข้าพบหารือกับรองประธานาธิบดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกานา
วันที่ 20 - 25 เมษายน 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นำคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development - UNCTAD) ครั้งที่ 12 ณ กรุงอักกรา สาธารณรัฐกานา
ฝ่ายกานา
รองประธานาธิบดี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 28 สิงหาคม - 3 กันยายน 2549 นาย Aliu Mahama รองประธานาธิบดีกานา เยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล ซึ่งนับเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำระดับสูงของกานา และได้เข้าพบหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี
วันที่ 10 - 14 ธันวาคม 2550 นาย Akwasi Osei-Adjei รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกานา และคณะผู้แทนกานา เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อศึกษาดูงานเตรียมการจัดประชุม UNCTAD ครั้งที่ 12 และได้เข้าพบหารือกับ นายมนัสพาสน์ ชูโต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
****************
กันยายน 2555
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **