สาธารณรัฐกินีบิสเซา

สาธารณรัฐกินีบิสเซา

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,245 view


สาธารณรัฐกินีบิสเซา
The Republic of Guinea-Bissau

ข้อมูลทั่วไป

สาธารณรัฐกินีบิสเซา
The Republic of Guinea-Bissau

ที่ตั้ง กินีบิสเซาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับประเทศเซเนกัล ทิศใต้และทิศตะวันออกติดกับประเทศกินี ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก

พื้นที่ 36,125 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงบิสเซา (Bissau)
ประชากร 1.58 ล้านคน (ปี 2551) ประกอบด้วยชนเผ่า Balanta ร้อยละ 30 Fula ร้อยละ 20 Manjaca ร้อยละ 14 Mandinga ร้อยละ 13 Papel ร้อยละ 7

ภูมิอากาศ เขตร้อน ปกติร้อนชื้น หน้าฝนจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน หน้าแล้งจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม

ภาษาราชการ ภาษาโปรตุเกส

ศาสนา อิสลามร้อยละ 50 คริสต์ร้อยละ 10 และความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 40

หน่วยเงินตรา เงินฟรังก์เซฟา (Communaute Financiere Africaine Franc - XOF) อัตราแลกเปลี่ยน 1 XOF ประมาณ 0.075 บาท หรือ 1 บาท เท่ากับ 13.33 XOF (ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2552)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 480.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 216 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.3

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ไม่มีข้อจำกัดวาระของการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Malam Bacai Sanha (ตั้งแต่ 8 กันยายน 2552)
ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดยผ่านการหารือระหว่างผู้นำพรรคต่างๆ ในฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว คณะรัฐมนตรีมาจากแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย Carlos Gomes Junior (ตั้งแต่ 25 ธันวาคม 2551) รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันคือ นาง Adiato Nandigna
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจำนวน 100 ที่นั่ง ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมีวาระ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลสูงสุด ศาลภูมิภาค (Regional Court) จำนวน 9 ศาล ตามจำนวนภูมิภาค และศาลย่อย (Sectoral Court) อีกจำนวน 24 ศาล โดยศาลสูงสุด มีองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีทั้งหมด ศาลภูมิภาครับฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และศาลย่อยรับฟ้องคดีแพ่งที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

 

การเมืองการปกครอง

1. การเมืองการปกครอง
1.1 เดิมกินีบิสเซาเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสอยู่นานถึง 5 ศตวรรษ ความตื่นตัวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องเอกราชคืนจากโปรตุเกสเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2499 (ค.ศ.1956) โดยกลุ่ม PAIGC (African Party for the Independence of Guinea-Bissau and the Islands of Capt Verde) ซึ่งมีนาย Amilcar Cabral เป็นผู้นำชักชวนให้ประชาชนต่อต้านและเรียกร้องเอกราชคืนจากโปรตุเกสตั้งแต่ปี 2506 จนได้รับเอกราชเมื่อปี 2516 (ค.ศ.1973) โดยมีนาย Luiz Cabral พี่ชายของนาย Amilcar Cabral เป็นประธานาธิบดีคนแรก และกลุ่ม PAIGC ได้กลายเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการจัดตั้งสภาประชาชน และสภาคณะปฏิวัติประกอบด้วยสมาชิก 11 คน ทำหน้าที่ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ

1.2 ภายหลังจากที่นาย Amilcar Cabral ถูกฆาตกรรมในเดือนมกราคม 2523 (ค.ศ.1980) สถานการณ์ภายในของกินี บิสเซาอยู่ในสภาพยุ่งเหยิง ผู้บริหารประเทศแตกแยกกันเป็นหลายฝ่ายและต่างแก่งแย่งอำนาจซึ่งกันและกัน เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในสภาวะทรุดโทรม จนในที่สุดคณะทหารภายใต้การนำของพลเอก Joao Bernardo Vieira ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศและจับกุมประธานาธิบดี Luiz Cabral และตั้งตนเป็นประธานาธิบดีและประธานสภาปฏิวัติ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาประชาชน และจัดตั้งสภาที่ปรึกษาซึ่งมีสมาชิก 11 คน ขึ้นบริหารประเทศควบคู่กับสภาปฏิวัติ ซึ่งทำหน้าที่แทนสภาประชาชน อดีตประธานาธิบดี Luiz Cabral ถูกจับกุมกักขังอยู่เป็นเวลา 1 ปี ภายหลังได้รับอิสรภาพ ได้เดินทางไปพำนักอยู่ในประเทศโปรตุเกส

1.3 การเลือกตั้งภายหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2523 ผลปรากฏว่านาย João Bernardo Vieira ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี เมื่อกลางปี 2526 บุคคลในคณะรัฐมนตรีมีความเห็นแตกแยกกันเป็นหลายฝ่าย สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศประสบภาวะวิกฤติ ผลผลิตของประเทศทั้งด้านการเกษตร เหมืองแร่ การประมงและอุตสาหกรรมตกต่ำ เงินหมุนเวียนภายในประเทศมีมูลค่าน้อยลง เกษตรกรเผชิญปัญหาความแห้งแล้ง ในระดับผู้บริหารประเทศเอง ก็มีการกล่าวโทษกันระหว่างรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี และในปลายปีเดียวกันประธานาธิบดี Vieira ก็ประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปในต้นปี 2527 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้มีการกำหนดไว้ว่าจะยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีบางคนไม่เห็นด้วยกับการยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี Vieira จึงปลดรัฐมนตรีที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับตนออกจากตำแหน่ง การเลือกตั้งมีขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2527 โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ประธานาธิบดี Vieira ได้รับเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ ซึ่งหมายถึงว่าได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศด้วยและได้มีการประกาศรายชื่อคณะรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2527

1.4 เดือนมกราคม 2534 ประธานาธิบดี Vieira ได้ฟื้นฟูและปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2528 โดยอนุญาตให้มีระบบหลายพรรคการเมือง และให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาจำนวน 100 คนโดยตรง การเลือกตั้งแบบหลายพรรคครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2537 (ค.ศ.1994) โดยประธานาธิบดี Vieira และพรรค PAIGC (Partido Africano da Independencia da Guinee Cabo Verde) ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ในปี 2538 พรรคฝ่ายค้าน 4 พรรค ได้รวมตัวกันตั้งเป็น Union pour le Changement และเรียกร้องให้พรรครัฐบาล PAIGC ปรับคณะรัฐมนตรีและตัวบุคคลใหม่ แต่ไม่ได้รับความสนใจ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี Vieira ได้ปรับคณะรัฐมนตรีอีกเมื่อเดือนมกราคม 2539 โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานและสาธารณสุข

1.5 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ประธานาธิบดี Vieira ปลดพลเอก Ansumane Mane ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารในข้อหาลักลอบส่งอาวุธให้แก่กลุ่มกบฎ พลเอก Mane จึงนำกำลังก่อการกบฎและเรียกร้องให้ประธานาธิบดี Vieira ลาออกจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่าประธานาธิบดี Vieira ทุจริตทางการเมือง การสู้รบระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฎดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผลของการสู้รบทำให้ประชาชนกว่าครึ่งประเทศไร้ที่อยู่อาศัย จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2541 ประธานาธิบดี Vieira ได้ขอเจรจากับกลุ่มกบฎเพื่อทำความตกลงหยุดยิง และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2541 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพและการหยุดยิง ที่กรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย โดยมีนาย Sedat Jobe รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแกมเบียเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย

1.6 เดือนพฤษภาคม 2542 ภายหลังจากที่พลเอก Mane พ้นผิดกรณีลักลอบส่งอาวุธให้กลุ่มกบฏ กำลังทหารได้เข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดี จนทำให้นาย Viera ต้องลี้ภัยไปยังโปรตุเกสและถือเป็นการแยกตัวออกจากพรรค PAIGC โดยสมบูรณ์ พลเอก Mane เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งต่อมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ขึ้นในเดือนกันยายนปีเดียวกัน และนาย Kumba Yala ผู้นำพรรค Social Renewal Party (PRS) ได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่งคือนาย Malam Bacai Sanha ซึ่งเป็นรักษาการประธานาธิบดีในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ทางการเมืองมีความสั่นคลอนมาก เนื่องจากประธานาธิบดี Yala ได้พยายามแทรกแซงองค์กรอิสระและใช้อำนาจในทางมิชอบ จนสร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้ประธานาธิบดี Yala ถูกปฏิวัติอย่างสงบโดยทหารเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2546 โดยพลเอก Verissimo Correia Seabra ท่ามกลางความยินดีของคนส่วนใหญ่ในประเทศ จากนั้นอำนาจได้ถูกส่งผ่านไปยังนาย Henrique Rosa ซึ่งเป็นนักการเมืองที่ไม่ได้สังกัดพรรคใดและเป็นที่ยอมรับว่ามีความเป็นกลาง ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี และนาย Sanha ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่

1.7 ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคม 2547 พรรค PAIGC ได้รับเสียงข้างมากอีกครั้ง จึงเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี Gomes Junior สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 นาย Joao Bernardo Vieira อดีตประธานาธิบดีที่ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2542 ชนะการเลือกตั้ง โดยมีชัยชนะเหนือนาย Sanha ไปเพียงกว่า 19,000 คะแนน ทั้งนี้ นาย Vieira ได้รับการสนับสนุนจากนาย Yala (ที่เคยถูกปฏิวัติเมื่อปี 2546) ซึ่งมาจากชนเผ่า Balanta ชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในกีนีบิสเซา
1.8 อย่างไรก็ดี พลเอก Batista Tagme Na Wai ผู้บัญชาการทหาร ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญของประธานาธิบดี Vieira ถูกลอบสังหารด้วยวัตถุระเบิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 และในวันต่อมา (รุ่งเช้าของวันที่ 2 มีนาคม 2552) ประธานาธิบดี Vieira ถูกลอบยิงในทำเนียบ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การลอบสังหารประธานาธิบดี Vieira เป็นการแก้แค้นของกลุ่มทหารที่ภักดีต่อพลเอก Na Wai แต่ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนถึงการเชื่อมโยงดังกล่าว ภายหลังการลอบสังหารคู่ (double assassination) เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองมิได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อ 28 มิถุนายน 2552 ซึ่งมีนาย Sanha และนาย Yala ลงแข่งขัน ผลปรากฏว่า นาย Sanha ชนะการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนกว่าร้อยละ 63 และเข้าปฏิญาณตนเพื่อรับหน้าที่ประธานาธิบดีในวันที่ 8 กันยายน 2552

 

 

 

 

เศรษฐกิจการค้า

2. เศรษฐกิจ
2.1 กินีบิสเซาเป็นประเทศขนาดเล็กและยังมีเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งอีกประมาณ 25 เกาะ ถือเป็นประเทศที่ยากจนและประสบกับปัญหาเศรษฐกิจมาตั้งแต่ก่อนได้รับเอกราช หลังจากได้รับเอกราชจากโปรตุเกส รัฐมีนโยบายถือครองกรรมสิทธิที่ดิน โดยให้เอกชนใช้ประโยชน์และได้รับประโยชน์จากผลผลิตในที่ดินนั้น ซึ่งรัฐรับเป็นผู้ดำเนินการซื้อขายผลผลิตดังกล่าวด้วย แต่บริษัทต่างๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของก็ขาดทุนและต้องได้รับเงินช่วยเหลือ ประชาชนกว่าร้อยละ 90 ประกอบอาชีพการเกษตร แต่เนื่องจากกินีบิสเซาประสบปัญหาความแห้งแล้งติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้ไม่มีผลผลิตทางการเกษตรพอเลี้ยงตนเองได้ จึงต้องนำเข้าสินค้าประเภทอาหารเป็นจำนวนมาก UNDP ได้จัดให้กินีบิสเซาอยู่ในลำดับที่ 173 จาก 182 ประเทศที่มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากที่สุด (ข้อมูลปี 2551)

2.2 รัฐบาลมีโครงการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค การเกษตร การคมนาคม และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลจึงต้องนำเข้าสินค้าประเภท เชื้อเพลิง เครื่องจักรกล ฯลฯ และทำให้กินีบิสเซาขาดดุลการค้ากับต่างประเทศจำนวนมากมาตั้งแต่ปี 2523 แม้ว่าประเทศต่างๆ จะให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและประเทศตะวันตกที่ให้ความช่วยเหลือมากที่สุดถึงจำนวน 2 ใน 3 ของความช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งหมด ประเทศอื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือกินีบิสเซา ได้แก่ ประเทศซาอุดีอาระเบีย อิตาลี เนเธอร์แลนด์ บราซิล

2.3 ภายหลังการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเมื่อกลางปี 2526 รัฐบาลพยายามเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวัฏจักรทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญของ กินีบิสเซา โดยเริ่มเปิดการเจรจาขอกู้เงินกับนานาประเทศและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งตั้งเงื่อนไขให้กินีบิสเซาปรับค่าเงินภายในประเทศและส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพาณิชย์ภายในประเทศให้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2526 ประธานาธิบดี Vieira จึงต้องประกาศลดค่าเงินลงอีกถึง ร้อยละ 50

2.4 กินีบิสเซามีทรัพยากรธรรมชาติจำพวกฟอสเฟต บ็อกไซต์ พอสมควร พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการเกษตรและถูกปกคลุมด้วยป่าไม้ รัฐบาลมีแนวคิดที่จะดำเนินการสำรวจทรัพยากรน้ำมันนอกชายฝั่งทะเล แต่เนื่องจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองทำให้แผนการสำรวจต้องชะลอตัว

2.5 โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขถูกทำลายไปมากในช่วงสงครามกลางเมืองปี 2541-2542 จนทำให้ประสบปัญหาโรคระบาดมาโดยตลอด รวมถึงโรคเอดส์ เส้นทางคมนาคมยังไม่ดีนัก หากเป็นช่วงหน้าฝนจะไม่สามารถใช้การได้อย่างเต็มที่ ถนนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนบนของประเทศ การคมนาคมทางอากาศมีค่อนข้างจำกัด เที่ยวบินระหว่างประเทศมีน้อย และไม่มีการบริการเครื่องบินโดยสารภายในประเทศ การสื่อสารโทรคมนาคมยังไม่ดีนักและถูกผูกขาดโดยบริษัทของโปรตุเกส การให้บริการด้านพลังงานสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้เพียงร้อยละ 12 และมีราคาสูงมาก

3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 ปัจจุบันกินีบิสเซากำลังก้าวจากสังคมนิยมจัดออกไปสู่โลกตะวันตกมากขึ้น โดยดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นกลางแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในทางปฏิบัติมีความสัมพันธ์และได้รับความช่วยเหลือจากโลกตะวันตกมากกว่าโลกสังคมนิยม นอกจากนี้ นโยบายส่วนใหญ่ก็คล้ายคลึงกับแนวทางของสหภาพแอฟริกา เช่น ในปัญหาตะวันออกกลาง กินีบิสเซาสนับสนุนสิทธิชาวปาเลสไตน์ในการตั้งรัฐเอกราช ต่อต้านอิสราเอล สำหรับปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในทวีปแอฟริกานั้น กินีบิสเซามีท่าทีสนับสนุนให้ยุติการสู้รบและเจรจาโดยสันติวิธี

3.2 กินีบิสเซามีกรณีพิพาทอย่างรุนแรงกับเซเนกัลเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองน่านน้ำ ซึ่งเชื่อกันว่าในบริเวณดังกล่าวอุดมไปด้วยสินแร่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ประเทศทั้งสองได้ยุติความเป็นศัตรูกันในที่สุดด้วยการลงนามในความตกลงสันติภาพ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 โดยตกลงกันที่จะทำการสำรวจร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมบริเวณน่านน้ำที่เป็นจุดพิพาท

3.3 ความสัมพันธ์ทางการค้าในปัจจุบัน กินีบิสเซาติดต่อกับประเทศในตะวันตกเป็นหลัก โดยเฉพาะโปรตุเกส แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศอื่น อาทิ บราซิล จีน ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ แต่ประเทศ แองโกลาเป็นประเทศที่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในกินีบิสเซาเป็นจำนวนมากในรอบหลายปีหลัง เมื่อปี 2533 กินีบิสเซาเคยสนับสนุนสถานะของไต้หวัน แต่ภายหลังในปี 2541 ได้ระงับความสัมพันธ์ดังกล่าวไป เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับจีน นอกจากนี้ กินีบิสเซายังเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากลมากมาย อาทิ West African Economic and Monetary Union (UEMOA), Economic Community of West African States (ECOWAS), Permanent Interstate Committee for drought control in the Sahel (CILSS) เป็นต้น

3.4 สถานการณ์บริเวณชายแดนที่ติดต่อกับเซเนกัลและกินียังคงมีความตึงเครียดอยู่ ทั้งนี้ มาจากปัญหาในพื้นที่เขต Casamance ทางตอนใต้ของเซเนกัล ซึ่งเป็นบริเวณที่ประชากรมีเชื้อชาติและประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับกินีบิสเซามากกว่าเซเนกัล

 

 

 

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐกินีบิสเซา

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ประเทศไทยกับกินีบิสเซาได้ตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2526 โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์มีเขตอาณาครอบคลุมถึงกินีบิสเซา ในขณะที่กินีบิสเซายังมิได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตกินีบิสเซาที่ใดมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย รวมถึงยังมิได้มีการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์กินีบิสเซาประจำประเทศไทยด้วย

1.2 เศรษฐกิจ
1.2.1 การค้า
มูลค่าทางการค้าระหว่างกันมีค่อนข้างน้อย จากข้อมูลปี 2551 ในภาพรวมมีมูลค่าประมาณ 4.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายส่งออกจำนวน 4.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไม่มีการนำเข้าจาก กินีบิสเซา สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ ข้าว เคหะสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ไข่ไก่สด หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

1.2.2 การลงทุน
ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน

1.2.3 การท่องเที่ยว
ในปี 2551 มีนักท่องเที่ยวชาวกินีบิสเซาเดินทางมาไทย จำนวน 195 คน

1.3 ความร่วมมือทางวิชาการ
ไม่มี แต่ฝ่ายไทยได้แสดงความประสงค์ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีและมีความร่วมมือทางวิชาการที่เป็นรูปธรรมกับกินีบิสเซา

2. ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
ไม่มี

3. การเยือนที่สำคัญ
ไม่มี

สถานะเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552

******************************************


กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail : [email protected]

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ