วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2553
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐบุรุนดี
Republic of Burundi
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดประเทศรวันดา ทิศใต้และทิศตะวันออกติดสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ทิศตะวันตกติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีทะเลสาบแทนกานยิกาอยู่ทางใต้และตะวันตกของประเทศ บุรุนดีเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล ทางออกทะเลที่ใกล้ที่สุดคือผ่านทางกรุงดาร์-เอส-ซาลาม เมืองหลวงของแทนซาเนีย ซึ่งมีระยะทางประมาณ 1,400 กิโลเมตร
พื้นที่ 27,830 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงบูจุมบูระ (Bujumbura)
ประชากร 8.8 ล้านคน (2555)
ภูมิอากาศ สภาพอากาศอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร เป็นที่ราบสูงตั้งแต่ 772 - 2670 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 17-23 องศาเซลเซียส โดยปกติแล้วสภาพอากาศอบอุ่นที่ระดับ 1,700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ฝนตกเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 150 เซนติเมตร ฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม และ กันยายน - พฤศจิกายน ฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือน มิถุนายน - สิงหาคม และ ธันวาคม - มกราคม
ภาษา ราชการ ภาษาฝรั่งเศส Kirundi Swahili
ศาสนา คริสต์ 67%(โรมันคาทอลิก 62% โปรเตสแตนท์ 5%) ความเชื่อดั้งเดิม23%อิสลาม 10%
บุรุนดีมีการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐ รัฐธรรมนูญของบุรุนดีมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 (ค.ศ. 2005) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล มาจากการเลือกของสมาชิกรัฐสภา โดยต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา และรองประธานาธิบดีจะได้รับ การแต่งตั้งจากประธานาธิบดี มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Pierre Nkurunziza (เผ่า Hutu) ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 (ค.ศ. 2005) และได้รับเลือกตั้งสมัยที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 (ค.ศ. 2010) โดยได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น เนื่องจากเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวในการแข่งขัน ในขณะที่ผู้สมัครรายอื่น รวมถึงนาย Agathon Rwasa (เผ่า Hutu) ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน Forces for National Liberation (FNL) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏกลุ่มสุดท้ายที่วางอาวุธ เมื่อปี 2552 (ค.ศ. 2009) ประกาศถอนตัวโดยอ้างเหตุผลเรื่องความไม่ยุติธรรมในการเลือกตั้ง
ภายหลังการเลือกตั้งดังกล่าวสถานการณ์ทางการเมืองในบุรุนดีเริ่มมีความขัดแย้งและรุนแรงอีกครั้ง นาย Rwasa ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และนับตั้งแต่เป็นต้นมา ก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นกับประชาชนบุรุนดีหลายครั้ง อาทิ เมื่อเดือนกันยายน 2553 (ค.ศ. 2010) กองโจรติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายบุกเข้าสังหารและทำร้ายประชาชนบริเวณชานกรุงบูจุมบูระ มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บ 17 คน ในขณะเดียวกัน มีรายงานว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2553 (ค.ศ. 2010) สมาชิก FNL จำนวนประมาณ 9 คน ที่ถูกทางการจับกุม ได้เสียชีวิตหรือหายสาบสูญโดยไม่ทราบสาเหตุ ภายหลังทางการอ้างว่าได้ปล่อยตัวแล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 (ค.ศ. 2011) กลุ่มติดอาวุธในชุดทหารได้บุกกราดยิงประชาชนในบาร์แห่งหนึ่งชานกรุงบูจุมบูระ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 39 คน
รัฐสภาของบุรุนดี แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย วุฒิสภา 54 คน ซึ่งมาจากผู้นำของชนเผ่า และอดีตประมุขของประเทศ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และคณะกรรมการแห่งชาติ ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 100 คน โดยจะมาจากชนเผ่า Hutu ร้อยละ 60 และชนเผ่า Tutsi ร้อยละ 40 และต้องประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นสตรี ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ทั้งนี้ การเลือกตั้งวุฒิสภาและคณะกรรมการแห่งชาติครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2558 (ค.ศ. 2015) การปกครองท้องถิ่นของบุรุนดีแบ่งออกเป็น 17 จังหวัด ได้แก่ Bubanza, Bujumbura Mairie, Bujumbura Rurale, Bururi, Cankuzo, Cibitoke, Gitega, Karuzi, Kayanza, Kirundo, Makamba, Muramvya, Muyinga, Mwaro, Ngozi, Rutana, Ruyigi
บุรุนดีเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ทรัพยากรธรรมชาติน้อย และเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยและยากจนที่สุดในโลก เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากสงคราม กลางเมืองและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยประชากรร้อยละ 90 ทำเกษตรกรรม
ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจของบุรุนดีมีพัฒนาการที่ดีขึ้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของบุรุนดีกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ปี 2549 (ค.ศ. 2006) เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความมั่นคงมากขึ้น โดยรายได้หลักของประเทศมาจากการส่งออกกาแฟและชา อย่างไรก็ตาม แต่ก็ขึ้นอยู่กับความผันผวนของราคาในตลาดโลก และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก
บุรุนดียังต้องพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ เพราะประชากรในประเทศยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากประชาชนไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงตนเองได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจจึงมุ่งแก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้เป็นอันดับแรก
การพัฒนาอุตสาหกรรมมุ่งผลิตสินค้าที่รับภาระค่าขนส่งได้ อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาความขัดแย้งภายในซึ่งขยายตัวเป็นสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ ทำให้บุรุนดีประสบกับปัญหาเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของบุรุนดีโดยรวมในระยะยาวเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะการขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ ที่ดิน ปศุสัตว์ พืช และสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ซึ่งถูกทำลายระหว่างสงคราม ในปัจจุบันบุรุนดีจึงพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยเฉพาะ World Bank และ IMF
บุรุนดียังจำเป็นต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของบุรุนดียังมีสภาพย่ำแย่ เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนยังไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ เยาวชนเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการศึกษา และประชาชนในวัยผู้ใหญ่ติดเชื้อเอดส์ในอัตรา 1 ใน 10
บุรุนดีเป็นประเทศเล็กและยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกา จึงวางตัวเป็นกลางและไม่ประสงค์จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจหรือประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลพยายามพัฒนาประเทศโดยรับความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยีจากทุกฝ่าย เช่น เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส จีน อียิปต์ ส่วนประเทศแอฟริกาที่มีความสำคัญต่อบุรุนดี และบุรุนดีต้องพยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีไว้ ได้แก่ ยูกันดา แทนซาเนีย และเคนยา ซึ่งบุรุนดีต้องพึ่งพาในการคมนาคมขนส่งสินค้าเข้าผ่านเขตแดนประเทศดังกล่าวออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย
ที่ผ่านมาบุรุนดีมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรวันดาซึ่งมีพลเมืองเชื้อสายเผ่าพันธุ์เดียวกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การพัฒนาลุ่มน้ำ Kagera ในปี 2519 (ค.ศ. 1976) บุรุนดี รวันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้ร่วมกันจัดตั้ง Communauté Économique des Pays des Grand Lacs (CEPGL) ขึ้น ต่อมา เมื่อนาย Pierre Nkurunziza (เผ่า Hutu) ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นานาชาติได้คาดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอาจจะห่างเหินกันขึ้นเพราะประธานาธิบดี Paul Kagame ของรวันดาเป็นชาวเผ่า Tutsi ซึ่งเป็นเผ่าคู่อริ อย่างไรก็ดี ผู้นำทั้งสองได้แสดงให้ชาวโลก เห็นว่า สามารถเป็นมิตรกันได้ ตราบเท่าที่รัฐบาลบุรุนดีไม่สนับสนุนกลุ่มกบฏ Hutu ที่แฝงตัวอยู่ในประเทศ รวมทั้งจะไม่กล่าวถึงความแตกแยกระหว่างชนเผ่าทั้งสอง (ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลรวันดาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง)
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2550 (ค.ศ. 2007) ที่ประชุมระดับผู้นำสมัยพิเศษครั้งที่ 5 (5th Extraordinary Summit of the Heads of State) ของประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community - EAC) ซึ่งประกอบด้วยเคนยา แทนซาเนีย และยูกันดา มีมติรับบุรุนดีเข้าเป็นสมาชิก โดยมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 (ค.ศ. 2007) พร้อมกับรวันดา
นอกจากนี้ บุรุนดียังเป็นสมาชิกสหภาพแอฟริกา (African Union-AU) และตลาดร่วมแห่งภูมิภาค แอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa – COMESA) ด้วย
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ประเทศไทยและบุรุนดีได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2531 (ค.ศ. 1988) โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีมีเขตอาณาครอบคลุมบุรุนดี ในขณะที่ฝ่ายบุรุนดีได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตบุรุนดีประจำกรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย
รัฐบาลไทยมีมติเห็นชอบให้ส่งกองร้อยทหารช่าง 3 ผลัด จำนวนรวม 525 นาย เข้าร่วมในภารกิจ United Nations Operation in Burundi (ONUB) ในนามของสหประชาชาติ โดยปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 – พฤศจิกายน 2549 (ค.ศ. 2004-2006)
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ภาวะการค้าระหว่างไทยกับบุรุนดีในปัจจุบันยังมีมูลค่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้า ของไทยกับประเทศแถบแอฟริกาตะวันออกอื่น ๆ ปี 2554 (ค.ศ. 2011) มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบุรุนดี มีมูลค่า 1.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 1.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ปรากฏสินค้านำเข้าจากบุรุนดี สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปบุรุนดี ได้แก่ เคหะสิ่งทอ หนังสือและสิ่งพิมพ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือแก่บุรุนดี ดังนี้
(1) ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยารักษาโรคมาลาเรียร่วมกับรัฐบาลบุรุนดี
(2) เสนอทุนฝึกอบรมให้รัฐบาลบุรุนดีพิจารณาส่งผู้แทนเข้าร่วมในหลายสาขา อาทิ การพัฒนาชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการความยากจน การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการด้านการท่องเที่ยว และสาธารณสุข
(3) ดำเนินการจัดตั้งหน่วยผลิตขาเทียม (Prostheses Production Unit) ในบุรุนดีสำหรับอดีตทหารผ่านศึก และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในอดีต โดย สพร. ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ร่างความตกลงทวิภาคีที่อยู่ระหว่างการจัดทำ
(1) ความตกลงทั่วไปว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ
(2) บันทึกความเข้าใจด้านสาธารณสุข
การเยือนระดับสูง
ฝ่ายไทย -ยังไม่มี
ฝ่ายบุรุนดี
(1) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 (ค.ศ. 1999) ประธานาธิบดี Pierre Buyoya พร้อมด้วยภริยาและคณะ จำนวน 25 คน ได้เดินทางแวะผ่านประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงแอดดิสอาบาบา ซึ่งในโอกาสนั้น ฝ่ายไทยได้ให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่ประธานาธิบดี Buyoya เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้มอบกระเช้าดอกไม้แก่ประธานาธิบดี Buyoya ด้วย
(2) วันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2553 (ค.ศ. 2010) นาง Rose Gahiru รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาชีวศึกษาและการรู้หนังสือบุรุนดี พร้อมด้วยคณะ เดินทางเยือนไทย เพื่อศึกษาดูงานด้านการฝึกอาชีพ
************************
มิถุนายน 2555
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **