วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ธ.ค. 2554
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐมาดากัสการ์
Republic of Madagascar
ที่ตั้ง เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากเกาะกรีนแลนด์ เกาะนิวกินี และเกาะบอร์เนียว ตามลำดับ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากชายฝั่งประเทศโมซัมบิก ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา
พื้นที่ 592,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงอันตานานาริโว (Antananarivo)
ประชากร 21.3 ล้านคน (ปี 2554) ประกอบด้วยชนเผ่า Merina ร้อยละ 25 Betsimisaraka ร้อยละ 12 ชนเผ่าท้องถิ่นอื่น ๆ อาทิ Betsileo Tsimihety รวมทั้งชาวฝรั่งเศส อินเดีย Creole และ Comoran
ภูมิอากาศ บริเวณชายฝั่งมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ส่วนบริเวณตอนในของประเทศมีภูมิอากาศแบบอบอุ่น
ภาษาราชการ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ และภาษามาลากาซี
ศาสนา ความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 52 คริสต์ร้อยละ 41 และอื่น ๆ ร้อยละ 7
หน่วยเงินตรา อาเรียรี มาดากัสการ์ (Madagascar Ariary - MGA) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 67.29 MGA (ณ วันที่ 26 เมษายน 2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 9.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 943.0 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 0.7 (ปี 2554)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสองสภา โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายแอนดรี ราโจเอลินา (Andry Rajoelina) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ พันเอกอัลเบิร์ต คามิลเล ไวทัล (Albert Camille Vital) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552)
มาดากัสการ์ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาลเป็นประมุขของรัฐ คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสองสภา ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 127 ที่นั่ง ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี (การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2550) และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 100 ที่นั่ง โดยสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 2 ใน 3 มาจากสมัชชาระดับภูมิภาค (Regional Assembly) และ 1 ใน 3 มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี มีวาระ 4 ปี ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลฏีกาและศาลสูงรัฐธรรมนูญ
เกาะมาดากัสการ์เคลื่อนตัวออกจากอนุทวีปอินเดียเมื่อ 80-100 ล้านปีก่อน นักมนุษยวิทยาประเมินว่า เริ่มมีมนุษย์เข้าไปตั้งถิ่นฐานในมาดากัสการ์ในช่วงปี ค.ศ.200-500 โดยชาวเลที่เดินทางมาจากหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (บริเวณที่เป็นอินโดนีเซียในปัจจุบัน) และชาวเผ่าบันตู (Bantu) ที่เดินทางข้ามช่องแคบโมซัมบิกมาจากทวีปแอฟริกา ส่วนชาวยุโรปเริ่มเข้าไปมีบทบาทในมาดากัสการ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1500 โดยโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้าไปทำการค้ากับชาวเกาะมาดากัสการ์
ในปี 2360 (ค.ศ.1817) ผู้ปกครองท้องถิ่นชาว Merina และผู้ปกครองชาวอังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อยกเลิกการค้าทาส และเพื่อแลกกับการรับความช่วยเหลือทางทหารและทางการเงินจากสหราชอาณาจักร
อิทธิพลของสหราชอาณาจักรในมาดากัสการ์มีมายาวนานหลายสิบปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ารุกรานมาดากัสการ์เมื่อปี 2426 (ค.ศ.1883) ซึ่งถือเป็นสงคราม Franco-Hova War ครั้งที่หนึ่ง (Hova เป็นชนชั้นหนึ่งในสามชนชั้นของสังคมในมาดากัสการ์ ได้แก่ andriana หมายถึงชนชั้นปกครอง / hova หมายถึงคนธรรมดาทั่วไป / และ andevo หมายถึงทาส ต่อมา ในปี 2433 (ค.ศ.1980) สหราชอาณาจักรยอมรับการเข้าปกครองมาดากัสการ์อย่างสมบูรณ์ของฝรั่งเศส
สงคราม Franco-Hova War ครั้งที่สอง เกิดขึ้นในปี 2438 (ค.ศ.1895) เมื่อกองทหารฝรั่งเศสยกพลขึ้นบกที่ชายหาดในเมือง Mahajanga ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ จากนั้น ได้เข้ายึดกรุงอันตานานาริโวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ปกครองชาว Merina หมดอำนาจลง และลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศแอลจีเรีย
สาธารณรัฐมาดากัสการ์ภายใต้การควบคุมดูแลของฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2501 (ค.ศ.1958) หลังจากนั้น รัฐบาลชั่วคราวสิ้นสุดลงเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ประกาศใช้ในปี 2502 (ค.ศ.1959) ท้ายที่สุด มาดากัสการ์ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2503 (ค.ศ.1960)
การประท้วงอย่างรุนแรงในปี 2515 (ค.ศ.1972) กดดันให้นายฟิลิเบิร์ต ซิรานานา (Philibert Tsiranana) ประธานาธิบดีคนแรกของมาดากัสการ์ ยอมมอบอำนาจการบริหารให้กับทหาร และหลังจากนั้นอีก 3 ปี นาวาตรีดิดิเยร์ รัตสิรากา (Didier Ratsiraka) อดีตนายทหารเรือและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ดี นโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการละเลยที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารของรัฐบาลทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มชาวเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการแผ่ขยายของแนวคิดการปฏิรูปประชาธิปไตยไปทั่วภูมิภาคแอฟริกา ท้ายที่สุดแล้ว การต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวางส่งผลให้นายกรากา ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการรับรองโดยประชามติแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2535 (ค.ศ.1992)
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อมา นายอัลเบิร์ต ซาฟาย (Albert Zafy) ผู้นำพรรค Forces Vives (FV) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมีนาคม 2536 (ค.ศ.1993) แต่ความนิยมกลับลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจตามแบบของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จนกระทั่งรัฐสภามาดากัสการ์ได้ถอดถอนนายซาฟาย และจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2539 (ค.ศ.1996) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายรัตสิรากากลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกวาระ
ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2544 (ค.ศ.2001) นายรัตสิรากาลงแข่งขันอีกครั้ง แต่พ่ายแพ้ต่อนายมาร์ค ราวาโลมานานา (Marc Ravalomanana) ผู้แทนจากพรรค Tiako-I-Madagascar (TIM) ที่พรรคคู่แข่งต่างสนับสนุนด้วย นายราวาโลมานานาเข้าสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 (ค.ศ.2002) นอกจากนี้ พรรค TIM ยังสามารถชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเด็ดขาดในปีเดียวกันด้วย
ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2545 ประธานาธิบดีราวาโลมานานา และพรรค TIM ผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีราวาโลมานานา และครอบครัวมีกิจการค้าปลีกอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ ชื่อ TIKO ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในกิจการอื่น ๆ อีกมากมาย กลุ่มการเมือง นักธุรกิจที่เสียผลประโยชน์ (ทั้งชาวมาลากาซีและนักธุรกิจต่างชาติ) และประชาชนบางกลุ่ม จึงไม่พอใจและเริ่มต่อต้านประธานาธิบดีราวาโลมานานา
ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงอันตานานาริโวเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ผู้สมัครของพรรค TIM พ่ายแพ้แก่นายแอนดรี ราโจเอลินา (Andry Rajoelina) นักธุรกิจหนุ่มซึ่งมีภูมิหลังมาจากการเป็นผู้จัดรายการวิทยุ นับแต่นั้นมา ประธานาธิบดีราวาโลมานานา และนายราโจเอลินา นายกเทศมนตรีกรุงอันตานานาริโว กลายเป็นคู่แข่งและคู่ขัดแย้งทางการเมืองอย่างเปิดเผย ประธานาธิบดีราวาโลมานานาพยายามตัดทอนอำนาจการบริหารงานของนายกเทศมนตรี เพื่อให้นายราโจเอลินาไม่สามารถสร้างผลงานได้ ความขัดแย้งระหว่างบุคคลได้พัฒนาไปจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชน / กลุ่มการเมืองและนักธุรกิจที่สนับสนุนบุคคลทั้งสอง นำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในกรุงอันตานานาริโว ประชาชนเดินขบวนประท้วงตามท้องถนน และเหตุจลาจลตามเมืองใหญ่เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน จนนำไปสู่การเข้ายึดอำนาจของทหารและการลาออกของนายราวาโลมานานาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 และในวันเดียวกันนั้นเอง ผู้นำคณะทหารประกาศมอบอำนาจการปกครองประเทศให้แก่นายราโจเอลินา และศาลรัฐธรรมนูญยอมรับการขึ้นสู่ตำแหน่งของนายราโจเอลินาว่า เป็นไปด้วยความชอบธรรม ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายราโจเอลินาประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีของรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน “President of the High Transitition Authority (HAT)” ในวันที่ 17 มีนาคม 2552 และกล่าวหานายราวาโลมานานาว่า ทุจริตงบประมาณของรัฐ และทำลายระบอบประชาธิปไตย โดยได้สัญญาว่า จะจัดการเลือกตั้งภายใน 2 ปี และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป (เนื่องจากตนอายุ 34 ปี และไม่ถึงเกณฑ์) นายราวาโลมานานาลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศสวาซิแลนด์ และให้การสนับสนุนการชุมนุมประท้วงรัฐบาล HAT
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2552 ผู้นำพรรคการเมืองหลัก 4 พรรค ได้ร่วมลงนามในปฏิญญามาปูโต (Maputo Accord) ภายหลังการประชุมเพื่อยุติวิกฤตการณ์การเมืองภายในมาดากัสการ์ ซึ่งมีผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ สหภาพแอฟริกา ประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (SADC) ร่วมด้วย โดยสัญญาว่า ทั้ง 4 พรรคการเมืองจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (Unity Government) บริหารประเทศแทนรัฐบาล HAT จนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลเพื่อความสมานฉันท์ฯ จะมีอายุ 15 เดือน โดยนายราโจเอลินายังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และมีประธานาธิบดีร่วม (Co-President) อีก 2 คน ได้แก่ นายเอมมานูเอล ราโคโทวานี (Emanuel Rakotovahiny) จากพรรค Party of the Independence Congress of Madagascar (AKFM) และนายเฟตติซัน ราโคโต แอนเดรียนิลินา (Fetison Rakoto Andrianirina) จากพรรค TIM และแต่งตั้งให้นายอูเกเน มังกาลาซา (Eugene Mangalaza) จากพรรค Association for the Rebirth of Madagascar (AREMA) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้มีผู้แทนจากพรรคการเมืองทั้ง 4 พรรคดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน
แม้การลงนามในปฏิญญามาปูโตเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อสถานการณ์การเมืองภายในมาดากัสการ์ แต่พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 4 พรรคยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเหมืองแร่ จนทำให้ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความสมานฉันท์ฯ ประสบความล้มเหลว เนื่องจากประธานาธิบดีราโจเอลินา ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค Young Malagasies Determined (TGV) ได้ประกาศว่า ตนไม่สามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับผู้นำอีก 3 พรรค จึงขอยกเลิกปฏิญญามาปูโตพร้อมทั้งยกเลิกการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ฯ
พรรคการเมืองใหญ่ 3 พรรค ได้แก่ พรรค TIM ของอดีตประธานาธิบดีราวาโลมานานา พรรค AKFM ของอดีตประธานาธิบดีซาฟาย และพรรค AREMA ของอดีตประธานาธิบดีรัตสิรากา ได้ประกาศรวมตัวกันเป็นพรรคเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่า Madagascar Party เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองกดดันประธานาธิบดีราโจเอลินา ให้ปฏิบัติตามปฏิญญามาปูโต (เมื่อวันที่ 8-9 สิงหาคม 2552) และข้อตกลงเพิ่มเติมที่กรุงแอดดิส อาบาบา (เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552)
ปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากรัฐบาล HAT และพรรคฝ่ายค้านหลักยังคงไม่สามารถยอมรับท่าทีซึ่งกันและกันได้ นานาชาติ โดยเฉพาะ SADC กำลังเร่งเข้าไปไกล่เกลี่ยเพื่อให้บรรลุข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้และยุติวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่มีมานานกว่า 2 ปี
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ประธานาธิบดี Andry Rajoelina ได้แต่งตั้งให้นาย Omer Beriziky เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 มาดากัสการ์ได้ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีรัฐบาลใหม่ 35 ตำแหน่ง ทั้งนี้ มีเพียงกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเท่านั้นที่แสดงความยินดีต่อรัฐบาลใหม่ของมาดากัสการ์ ส่วนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นยังคงรักษาท่าทีเดิมคือจะมีการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้งและจะให้ความช่วยเหลือในการจัดการเลือกตั้ง
มาดากัสการ์อุดมด้วยแร่อัญมณีดิบ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์วิทยาของโลกอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ นก และพืชหายากซึ่งส่วนใหญ่ไม่ปรากฏในดินแดนส่วนอื่นของโลก ความโดดเด่นทางนิเวศน์วิทยาทำให้มาดากัสการ์ได้รับสมญานามว่า “ทวีปที่แปด (Eight Continent)” และ “เกาะสีแดง (Red Island)”
มาดากัสการ์มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนที่มีอากาศร้อน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน และฤดูแล้งที่มีอากาศเย็น ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และมักประสบภัยจากพายุไซโคลนเป็นระยะ มีภูมิประเทศมีความหลากหลาย ประกอบด้วย เขตภูเขาสูง (ทางตอนกลางของประเทศ) เขตป่าฝน (ตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออก) เขตทุ่งหญ้าซาวันนา และทุ่งหญ้าแห้งแล้ง (ทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้) และมีบริเวณ “Canal des Pangalanes” ซึ่งมีการเชื่อมต่อของทะเลสาบและลำคลอง (ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์ขุดขึ้น) ต่อเนื่องกันไปเป็นบริเวณกว้างถึง 460 กิโลเมตร
มาดากัสการ์เป็น 1 ใน 18 ประเทศยากจนที่อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นหนี้ของ G8 ประชาชน 2 ใน 3 ของมาดากัสการ์ยากจนมาก โดยมีรายได้ต่ำกว่า international poverty line (1.25 ดอลลาร์สหรัฐ) รัฐบาลมาดากัสการ์ต้องพึ่งพาเงินและความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลัก ปัญหาสังคมของมาดากัสการ์ คือ การขาดแคลนอาหาร ประชากรยากจน และขาดการศึกษาที่ได้มาตรฐาน
IMF ได้ตกลงแผนการเป็นหุ้นส่วนระยะยาวกับมาดากัสการ์ (Poverty Reduction and Growth Facility – PRGF) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 เพื่อลดความยากจนและส่งเสริมอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยได้ตั้งเป้าหมายให้รัฐบาลมาดากัสการ์เก็บภาษีเพิ่มขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าประชาชนกว่าร้อยละ 69 จะยังอยู่ในภาวะยากจน เนื่องจากมาดากัสการ์มีปัญหาในการกระจายรายได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในชนบท
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 รัฐบาลมาดากัสการ์ได้ประกาศแผน Madagascar Action Plan เพื่อเป็นแผนแม่บทในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มปริมาณการลงทุนโดยภาคเอกชนท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ นอกจากนี้ รัฐบาลมาดากัสการ์ยังส่งเสริมให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกจำนวนมากกว่า 40 แห่ง รวมถึงธนาคารหลัก ๆ ของมาดากัสการ์ การรถไฟ การสื่อสารโทรคมนาคม การไฟฟ้าและการประปา อุตสาหกรรมฝ้ายและน้ำตาล เป็นต้น โดยมีบริษัทและกลุ่มบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในกิจการเหล่านี้ อาทิ บริษัทจากประเทศแอฟริกาใต้ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี คูเวต เป็นต้น
เศรษฐกิจมาดากัสการ์ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนเมื่อต้นปี 2550 เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นอุทกภัยร้ายแรงครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี ที่มาดากัสการ์ต้องเผชิญ มีผู้เสียชีวิตกว่า 260 ราย มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 349,000 ราย และพื้นที่การเกษตรกว่าร้อยละ 80 ถูกทำลาย รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกต้นวานิลา ซึ่งเป็นพืชที่เป็นรายได้หลักของประเทศ อย่างไรก็ตาม มาดากัสการ์ได้รับความช่วยเหลือจากนานาประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในขั้นที่น่าพอใจ (ร้อยละ 6.3 ปี 2550) ในปัจจุบัน รัฐบาลมาดากัสการ์ออกมาตรการห้ามการส่งออกข้าว เนื่องจากอาจไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และมีการลดการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 มาดากัสการ์ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนฮูเบิร์ต (Hubert) ที่บริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศ ซึ่งในเบื้องต้น ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 80,000 ราย นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงเนื่องจากฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้ถนนที่เชื่อมเมืองต่าง ๆ ถูกตัดขาด ตลอดจนพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายกว่า 19,000 เฮกตาร์
มาดากัสการ์มีความสัมพันธ์พิเศษกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเดิม โดยฝรั่งเศสเป็นประเทศผู้ให้และผู้ลงทุนรายสำคัญที่สุดในมาดากัสการ์ โดยนายชาร์ค ชีรัค (Jacques Chirac) อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส เยือนมาดากัสการ์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2550
รัฐบาลเน้นการเจริญความสัมพันธ์กับประเทศผู้ให้และประเทศที่มีศักยภาพในการเข้ามาลงทุนในมาดากัสการ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีนและอินเดีย
มาดากัสการ์ได้รับการสนับสนุนและได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก European Investment Bank
เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 มาดากัสการ์ได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 14 ของ SADC โดยมีมอริเชียสเป็นผู้สนับสนุนหลัก นอกจากนี้ มาดากัสการ์ยังเป็นสมาชิกของตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (COMESA) และอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป ปัจจุบัน การดำเนินนโยบายต่างประเทศของมาดากัสการ์ชะงักไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาดากัสการ์และสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลาย
ความสัมพันธ์ทั่วไป
การทูต
ไทยและมาดากัสการ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 (ค.ศ.1990) โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมมาดากัสการ์ ต่อมา ในปี 2546 ไทยได้จัดตั้งส่วนแยก (Outpost) ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ที่กรุงอันตานานาริโว ของมาดากัสการ์ และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 ไทยได้ยกระดับส่วนแยกสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ณ กรุงอันตานานาริโว ขึ้นเป็นสถานกงสุลใหญ่ ณ กรุงอันตานานาริโว ปัจจุบัน นายนโรตม์ ศังขมณี กงสุลใหญ่ ณ กรุงอันตานานาริโว ส่วนมาดากัสการ์มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐมาดากัสการ์ประจำประเทศญี่ปุ่น มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐมาดากัสการ์ประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นายจิมมี รามีอานดรีซง (Jimmy Ramiandrison) โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงโตเกียว ซึ่งได้เข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้งในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 และแต่งตั้งให้นายเดเนี่ยล เดเลโว (Daniel Delevaux) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐมาดากัสการ์ประจำประเทศไทย
ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทยและมาดากัสการ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนน้อย ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางการเมืองในระดับสูงอยู่ในช่วงชะงักงันเนื่องจากรัฐบาลเปลี่ยนผ่านของมาดากัสการ์ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ มาดากัสการ์ตระหนักถึงความสำคัญที่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการและด้านการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด จึงสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภายุไซโคลน Giovanna แก่มาดากัสการ์เป็นจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9,935,000 อาเรียรี) โดยเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2555 กงสุลใหญ่ ณ กรุงอันตานานาริโวได้มอบความช่วยเหลือดังกล่าวผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาดากัสการ์ ซึ่งฝ่ายมาดากัสการ์แจ้งว่า ความช่วยเหลือดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยัง National Office of Management of Risk and Disasters ต่อไป
เศรษฐกิจ
การค้า
ในปี 2554 ไทยและมาดากัสการ์มีมูลค่าการค้ารวม 47.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 46.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 45.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปมาดากัสการ์ อาทิ น้ำตาลทราย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผ้าผืน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากมาดากัสการ์ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป
มาดากัสการ์เป็นแหล่งวัตถุดิบอัญมณีสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย วัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากเมือง Ilakaka ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงอันตานานาริโวทางทิศใต้ประมาณ 735 กม. มีพ่อค้าพลอยคนไทยประมาณ 40 คน เปิดร้านรับซื้อพลอยดิบจากคนท้องถิ่นเพื่อส่งออกมายังประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 รัฐบาลมาดากัสการ์ได้ออกมาตรการระงับการส่งออกหินมีค่าทุกชนิดที่ยังไม่ผ่านการเจียระไน ส่งผลกระทบในแง่ลบแก่อุตสาหกรรมอัญมณีไทยเป็นอย่างมาก นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ในขณะนั้น) จึงได้เดินทางเยือนมาดากัสการ์พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจอัญมณีไทย ระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2551 เพื่อเจรจาผ่อนผันมาตรการดังกล่าวกับรัฐบาลมาดากัสการ์ จากการเจรจา ฝ่ายไทยได้รับทราบว่า รัฐบาลมาดากัสการ์มีความประสงค์ให้นักธุรกิจไทยเข้าไปตั้งโรงงานเจียระไนพลอยและอัญมณีในมาดากัสการ์ พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมการเจียระไนให้แก่ชาวมาลากาซี นอกจากนี้ ในระหว่างที่ประธานาธิบดีราวาโลมานานาบินผ่านไทย หลังจากเข้าชมกีฬาโอลิมปิกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2551 คณะนักธุรกิจอัญมณีพร้อมทั้งข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ยังได้ถือโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อเจรจาขอผ่อนผันมาตรการดังกล่าวด้วย
การลงทุน
ยังไม่มีการลงทุนระหว่างกันมากนัก ปัจจุบัน มีเพียงบริษัทใหญ่ 5 บริษัท อาทิ
(1) บริษัทอิตาเลี่ยนไทยเปิดบริษัท Asia Thai Mining และกำลังเริ่มต้นโครงการลงทุนในเหมืองถ่านหิน (ตั้งอยู่ทางตอนใต้ ของประเทศห่างจากเมืองหลวง 700 กม.) และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ (ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ห่างจากเมืองหลวง 1,000 กม.) บริษัทอิตาเลี่ยนไทยยังมีหุ้นส่วนในบริษัท Pan African Mining ซึ่งมีสัมปทานสำรวจถ่านหินอยู่ที่เมือง Sakao รวมทั้งอยู่ระหว่างการขอสัมปทานสร้างท่าเรือน้ำลึกที่เมือง Soalara และถนนขนส่งถ่านหินระหว่างเหมืองกับท่าเรือน้ำลึกด้วย
(2) บริษัท ปตท. สผ. ที่ซื้อกิจการเหมืองถ่านหิน Madagascar Coal Mining จากบริษัท Strait ของออสเตรเลีย
(3) บริษัทศรีราชาคอนสตรัคชั่นที่ได้รับสัญญารับเหมาช่วงในโครงการ Ambatovy ที่เมือง Toamasina เพื่อก่อสร้างโรงงานถลุงแร่นิกเกิลและโคบอลต์ โดยเป็นงานด้านโครงสร้างและระบบท่อต่าง ๆ
(4) บริษัท กฟผ. จำกัด ที่มี MOU ด้านพลังงานกับกระทรวงพลังงานของมาดากัสการ์ และสนใจโครงการพลังงานน้ำที่เมือง Nosy Ambositra และโครงการพลังงานขยะที่กรุงอันตานานาริโว
(5) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เริ่มศึกษาลู่ทางการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร
(6) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 EGAT Internationa Co.Ltd โดยนายชูชาติ เตชกานนท์ รองประธานบริษัท EGAT และนาย Nestor Razafindroriaka รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมาดากัสการ์ ได้ลงนามใน MoU เกี่ยวกับความร่วมมือในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในมาดากัสการ์ โดย EGAT จะสนับสนุนด้านการวางแผนพลังงานพลังงาน ด้านข้อมูลและการฝึกอบรม โดยเฉพาะด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน นอกจากนี้ EGAT จะเริ่มดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้าในมาดากัสการ์ และใช้เวลา 1-2 ปีในการตัดสินใจว่าจะผลิตพลังงานไฟฟ้าประเภทใด
(7) บริษัท Ital Thai และ PTT Asia Pacific Mining ได้รับสัมปทานอนุญาตให้ผลิตถ่านหินในเหมืองถ่านหินในเขต Sakoa ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมาดากัสการ์ภายในปลายปี 2555 และสามารถส่งออกได้เป็นเวลา 3 ปี (รัฐมนตรีเหมืองแร่มาดากัสการ์ประกาศว่า ภายในปี 2555 จะมีโครงการใหญ่ 5 โครงการที่จะได้รับอนุญาตให้สามารถขุดแร่มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่ง 1 ใน 5 โครงการที่ได้รับอนุญาตคือ โครงการของบริษัท PTT Asia Pacific Mining)
การท่องเที่ยว
ในปี 2554 มีชาวมาดากัสการ์เดินทางมาไทยจำนวน 5,873 คน และมีคนไทยอยู่ในมาดากัสการ์จำนวนประมาณ 580 คน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าพลอยและแรงงานก่อสร้าง กระจายตัวอยู่ในกรุงอันตานานาริโว พื้นที่ก่อสร้าง และในพื้นที่ซื้อขายพลอย
ความร่วมมือทางวิชาการ
ไทยให้ทุนฝึกอบรมภายใต้โครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course – AITC) แก่มาดากัสการ์ โดยเฉพาะการฝึกอบรมการเจียระไนพลอย เพาะปลูกข้าว การประมงพื้นบ้าน การสาธารณสุข การกีฬา และการศึกษา โดยในปี 2552 มาดากัสการ์ส่งผู้แทนเข้าฝึกอบรมทั้งสิ้น 15 หลักสูตร
ไทยเคยดำเนินโครงการฟื้นฟูทางรถไฟที่ถูกพายุถล่มในมาดากัสการ์ โดยเมื่อปี 2543 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าแฝกจำนวน 2 คน ไปสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้หญ้าแฝกเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทางรถไฟที่ถูกดินถล่มจากพายุ และได้ปลูกหญ้าแฝกตลอดแนวรางรถไฟ พร้อมกับให้ความรู้ในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ การลดความยากจนและการป้องกันการพังทลายของดินด้วย จนรางรถไฟสามารถใช้การได้เป็นปกติ
ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ
ไทยกับมาดากัสการ์แลกเสียงสนับสนุนระหว่างการสมัครสมาชิก International Telecommunication Union (ITU) วาระปี ค.ศ.2011-2014 ของไทย กับการสมัคร Human Rights Council (HRC) วาระปี ค.ศ.2011-2014 ของมาดากัสการ์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงแลกเสียงในการสมัครสมาชิก Committee on the Rights of the Child (CRC) วาระปี ค.ศ.2008-2011 ของไทยกับวาระปี ค.ศ.2011-2014 ของมาดากัสการ์
มาดากัสการ์สนับสนุนไทยแบบให้เปล่าในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิก International Law Commission (ILC) วาระปี ค.ศ. 2012-2016
ไทยกับมาดากัสการ์แลกเสียงสนับสนุนระหว่างการสมัครสมาชิกคณะกรรมการบริหาร UNESCO ของไทย กับการสมัครสมาชิก Intergovernmental Council of the International Hydrological Program (IHP) ของมาดากัสการ์
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2538)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือด้านศุลกากร (ลงนามเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554)
ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำ
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคและวิชาการ
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-มาดากัสการ์
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรและประมง
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามย่อเมื่อสิงหาคม 2549) (สถานะล่าสุด : คณะผู้แทนข้าราชการมาดากัสการ์ได้เดินทางมาประเทศไทยภายใต้โครงการของ สกญ. ณ กรุงอันตานานาริโซ และได้มีพบหารือกับกับเจ้าหน้าที่กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 เกี่ยวกับถ้อยคำในร่างความตกลงฯ ซึ่งล่าสุด สกญ. ได้แจ้งข้อความที่ฝ่ายไทยเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศมาดากัสการ์ทราบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำตอบของฝ่ายมาดากัสการ์)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านธรณีวิทยา (ลงนามย่อเมื่อสิงหาคม 2549)
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ระดับสูง
- วันที่ 11-13 กันยายน 2526 ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนมาดากัสการ์อย่างเป็นทางการ
- ปี 2543 นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนมาดากัสการ์อย่างเป็นทางการ
- เดือนมีนาคม 2544 ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยนำคณะภาครัฐและเอกชนเยือนมาดากัสการ์
- เดือนกันยายน 2545 นายประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะทูตพิเศษ นำคณะภาครัฐและเอกชนเยือนมาดากัสการ์เพื่อกระชับความสัมพันธ์
-เดือนพฤศจิกายน 2545 นายประจวบ ไชยสาส์น ผู้แทนการค้าไทย นำคณะภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนสาธารณรัฐมาดากัสการ์
- วันที่ 13-15 กรกฎาคม 2551 นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะภาครัฐและเอกชนเยือนสาธารณรัฐมาดากัสการ์ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการนำเข้าพลอยดิบจากมาดากัสการ์
ฝ่ายมาดากัสการ์
ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี
- เดือนมกราคม 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเดินทางเยือนประเทศไทย
- เดือนกุมภาพันธ์ 2543 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางมาร่วมการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพมหานคร
- เดือนมิถุนายน 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และการประมงเดินทางเยือนประเทศไทย
- เดือนตุลาคม 2545 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานเดินทางเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของนายประจวบ ไชยสาส์น ผู้แทนการค้าไทย
- วันที่ 21-25 สิงหาคม 2549 พลโทมาเซล รันเจวา (Marcel Ranjeva) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
************************
มิถุนายน 2555
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **