วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ธ.ค. 2554
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐมอริเชียส
Republic of Mauritius
ที่ตั้ง เป็นเกาะ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกาประมาณ 2,400 กิโลเมตร และห่างจากมาดากัสการ์ประมาณ 800 กิโลเมตร
พื้นที่ 2,040 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงพอร์ตหลุยส์ (Port Louis)
ประชากร 1.29 ล้านคน (ปี 2555)
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น ฤดูร้อนระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน
ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ
ศาสนา ฮินดูร้อยละ 48 คริสต์นิกายคาทอลิกร้อยละ 23.6 คริตส์นิกายโปรแตสแตนท์ร้อยละ 8.6 อิสลามร้อยละ16.6 และอื่นๆ ร้อยละ 2.5
หน่วยเงินตรา รูปีมอริเชียส (Mauritian Rupee - MUR)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 MUR เท่ากับ 1.01 บาท (ณ วันที่ 26 เมษายน 2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 11.283 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 15,015.0 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4.1 (ปี 2554)
ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภา เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย อนีรูท จักนาอุท (Sir Anerood Jugnauth) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 เป็นสมัยที่ 2) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายนาวินจันดรา ลัมกูแลม (Navinchandra Ramgoolam) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 เป็นสมัยที่ 2)
มอริเชียสปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภา เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมาจากการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรีและได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 70 ที่นั่ง ในจำนวนนี้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน 62 ที่นั่ง และแต่งตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 8 ที่นั่งเพื่อให้มีผู้แทนจากทุกกลุ่มเชื้อชาติในสภาผู้แทนราษฎร มีวาระ 5 ปี (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2553) ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลสูงสุดเพียงศาลเดียว
ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงเกาะมอริเชียสในศตวรรษที่ 16 ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์ได้เดินทางมาตั้งรกรากและตั้งชื่อเกาะว่า “มอริเชียส” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชาย Maurits van Nassau ในปี 2258 (ค.ศ.1715) ฝรั่งเศสเข้าควบคุมเกาะมอริเชียสและพัฒนาเป็นฐานทัพเรือ เพื่อดูแลการค้าของตนในมหาสมุทรอินเดีย ทำไร่อ้อย ผลิตน้ำตาลและเหล้ารัม และสถาปนากรุงพอร์ตหลุยส์ (Port Louis) (ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้า Louis ที่ 15) เป็นเมืองหลวงของมอริเชียส
ในปี 2353 (ค.ศ. 1810) เกิดสงคราม Napoleonic Wars อังกฤษจึงเข้ายึดครองมอริเชียสจากฝรั่งเศส และทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสนธิสัญญาปารีส (The Treaty of Paris) เมื่อปี 2357 (ค.ศ.1814) เพื่อยืนยันการครอบครองมอริเชียสของอังกฤษอย่างสมบูรณ์ อังกฤษได้นำแรงงานชาวอินเดียเป็นจำนวนมากมาทำงานในไร่อ้อย ซึ่งชาวอินเดียเหล่านี้ได้ตั้งรกรากในมอริเชียส และกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในปัจจุบัน มอริเชียสเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร ฐานทัพเรือ และฐานทัพอากาศที่สำคัญของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มอริเชียสได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2511 (ค.ศ.1968)
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมอริเชียส โดยนายอนีรูท จักนาอุท (Sir Anerood Jugnauth) ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมอริเชียส เพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีและประมุขแห่งรัฐคนใหม่ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2546 สืบต่อจากนายคาร์ล ออฟแมน (Karl Offman) และนายพอล เบเรนเจอร์ (Paul Berenger) รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2546 การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว เป็นความตกลงระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2543 ซึ่งนายจักนาอุท หัวหน้าพรรค Mauritian Socialist Movement (MSM) ได้ตกลงไว้ว่าจะสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้แก่นายเบเรนเจอร์ หัวหน้าพรรค Mauritian Militant Movement (MMM) เมื่อเหลือระยะเวลาการบริหารประเทศอีก 2 ปี การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของมอริเชียสที่มีการถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล
หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ประมาณ 2 ปี นายเบเรนเจอร์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 กรกฎาคม 2548 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคฝ่ายค้าน Social Alliance ชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่ง 38 ที่นั่งจาก 62 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้นายนาวินจันดรา ลัมกูแลม (Navinchandra Ramgoolam) ผู้นำพรรค Alliance Sociale (AS) ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมอริเชียสระหว่างปี 2538-2543 ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีมอริเชียสคนใหม่
มอริเชียสมีระบบการเมืองแบบหลายพรรคการเมือง แต่ไม่มีความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง และไม่มีพรรคการเมืองใดผูกขาดอำนาจทางการเมืองเป็นเวลานาน พรรคการเมืองต่างๆ ในมอริเชียสล้วนมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เหมือนกันคือ การพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางทุนนิยม ปัจจุบัน มอริเชียสมีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มั่นคง มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องตามวาระ และมีมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่ดี ทำให้มอริเชียสมีบรรยากาศที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ และส่งผลให้มอริเชียสมีรายได้ประชาติต่อหัวสูงที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา (สูงกว่าไทย)
รัฐบาลมอริเชียสมีเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศตามรูปแบบของประเทศสิงคโปร์ โดยเฉพาะการเป็นเมืองท่า และการเป็น Gateway สู่การค้าในภูมิภาค มีนโยบายด้านการพัฒนาท่าเรือเสรี การบริการด้านเงินกู้ต่างประเทศ (offshore banking financial service) การปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศให้ทันสมัย
เศรษฐกิจของมอริเชียสมีความหลากหลาย อุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าประเทศได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล สิ่งทอ ท่องเที่ยว และการให้บริการทางการเงิน มอริเชียสได้รับประโยชน์จาก Africa Growth and Opportunity Act (AGOA) ในการทำการค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาภาคธุรกิจใหม่ เช่น การแปรรูปปลา ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
เมื่อปี 2546 รัฐบาลริเริ่มโครงการที่จะพัฒนากรุงพอร์ตหลุยส์ให้เป็น Cyber City (หรือ Silicon Valley กล่าวคือเมืองที่เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (2546 – 2551) โดยได้ก่อสร้างตึกประมาณ 15 หลัง และหวังให้นักลงทุนธุรกิจด้าน IT จากต่างชาติมาลงทุนใน Cyber City แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม โครงการ Cyber City ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากการก่อสร้างตึกต่างๆนั้นเป็นเพียงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีอย่างแท้จริง อนึ่ง มอริเซียสมีจุดอ่อนคือเป็นประเทศเกาะ ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาที่เป็นแหล่งรวมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรายใหญ่อย่าง อียิปต์ หรือ ไนจีเรีย
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมอริเชียสในปัจจุบันชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยหลายประการ อาทิ สภาพอากาศที่แปรปรวน ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ และการหดตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติลงทุนอยู่ในมอริเชียสกว่า 32,000 บริษัท โดยส่วนมากใช้มอริเชียสเป็นฐานเพื่อทำธุรกิจกับประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ และจีน
นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลมอริเชียสมีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกเพื่อผลประโยชน์ด้านการลงทุนจากต่างชาติ และการรักษาตลาดส่งออก มอริเชียสมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับอินเดีย มอริเชียสและอินเดียมีกลไกการค้าทวิภาคีที่เข้มแข็งทำให้ปัจจุบันการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศมีปริมาณสูง อินเดียและมอริเชียสมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้มอริเชียสสามารถส่งออกน้ำตาลและสิ่งทอจำนวนมากเข้าไปยังตลาดอินเดียได้โดยปลอดภาษี
มอริเชียสเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญต่างๆ เช่น สหประชาชาติ สหภาพแอฟริกา (African Union - AU) ตลาดร่วมแอฟริกาตะวันออกและใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa - COMESA) ประชาคมเพื่อการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community - SADC) คณะกรรมาธิการร่วมมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Commission - IOC) และเป็นหนึ่งในประเทศผู้ริเริ่มให้มีการก่อตั้งสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association for Regional Cooperation - IOR–ARC) นอกจากนี้ มอริเชียสเคยดำรงตำแหน่งประธานประชาคมเพื่อการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community - SADC) ระหว่างปี 2547-2549 มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี
มอริเชียสได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิก Committee on Elimination of Discrimination Against Women (CEDAW) ภายใต้สหประชาชาติ วาระปี ค.ศ.2011-2014 เป็นวาระที่สองติดต่อกัน
ความสัมพันธ์ทั่วไป
การทูต
ไทยกับมอริเชียสสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2522 โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมมอริเชียส เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐมอริเชียสคนปัจจุบันคือ นายนนทศิริ บุรณศิริ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย และแต่งตั้งนายแอนดริว เซก ซูม (Andrew Sek Sum) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำมอริเชียส ส่วนฝ่ายมอริเชียสมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตมอริเชียสประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตมอริเชียสประจำประเทศไทยคนปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการแต่งตั้งจากรัฐบาลมอริเชียส
เศรษฐกิจ
การค้า
ในปี 2554 ไทยและมอริเชียสมีมูลค่าการค้ารวม 97.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 90.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 6.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 84.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปมอริเชียส อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผ้าผืน ของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ข้าว น้ำตาลทราย เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากมอริเชียสได้แก่ สัตว์น้ำสดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่ง เยื่อกระดาษ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป อนึ่ง การแข่งขันทางการตลาดในมอริเชียสมีสูง เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าราคาต่ำมากกว่าสินค้าคุณภาพ ดังนั้น สินค้าจากจีนและอินเดีย ซึ่งมีราคาถูก กำลังครองตลาดส่วนใหญ่
การลงทุน
ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน อุปสรรคสำคัญเนื่องจากมอริเซียสเป็นตลาดขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 1 ล้านคนเศษ และมีที่ตั้งโดดเดี่ยว ไม่มีชายแดนติดกับประเทศอื่น จึงทำให้โอกาสในการขยายตลาดเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยในด้านระยะทางที่ห่างไกลระหว่างไทย-มอริเชียสด้วย
การท่องเที่ยว
ในปี 2553 มีชาวมอริเชียสเดินทางมาไทย 4,220 คน และมีคนไทยอยู่ในมอริเชียสประมาณ 15-20 คน โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพแม่บ้านและกิจการร้านอาหาร
ความร่วมมือทางวิชาการ
มอริเชียสเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ภายใต้โครงการรับทุนฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course – AITC) จากไทย นับตั้งแต่ปี 2543 โดยเน้นด้านการเกษตร การจัดการด้านการท่องเที่ยว และการจัดการด้านการศึกษา
ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ
ไทยกับมอริเชียสแลกเสียงสนับสนุนระหว่างการสมัครสมาชิก International Law Commission (ILC) วาระปี ค.ศ. 2012-2016 ของไทยกับการสมัครสมาชิก Committee against Torture (CAT) วาระปี ค.ศ. 2012-2015 ของมอริเชียส
ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
-อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน (ลงนามเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2541)
-บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน เพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับ The Financial Intelligence Unit ของมอริเชียส (ลงนามและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547)
ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำ
-ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วและอยู่ระหว่างการรอลงนามจากทั้งสองฝ่าย)
-ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายไทย)
-ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายไทย)
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ระดับสูง
- ปี 2511 ไทยเคยส่งผู้แทนพิเศษไปร่วมพิธีเฉลิมฉลองเอกราชของมอริเชียส (แต่ในขณะนั้น ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
- วันที่ 25–29 พฤศจิกายน 2528 ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนมอริเชียส
- วันที่ 21–24 สิงหาคม 2540 นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนมอริเชียส
- วันที่ 17-25 กันยายน 2545 นายประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษนำคณะภาครัฐและเอกชน เยือนมาดากัสการ์และมอริเชียส
ฝ่ายมอริเชียส
ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี
- วันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2534 นายอนีรูท จักนาอุท (Anerood Jugnauth) นายกรัฐมนตรีมอริเชียสเยือนไทยเป็นการส่วนตัว
- วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2540 นายวาซง บันวารี (Vasant Bunwaree) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอริเชียส และคณะ เยือนไทย
- วันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ 2542 นายราจเคซวูร์ ไคแรช เพอรีแอก (Rajkeswur Kailash Purryag) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้ามอริเชียส เยือนไทย
- วันที่ 21-24 กรกฎาคม 2547 นายจอร์จ ปิแอร์ เลโยการ์ด (Georges Pierre Lesjongard) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงบ้านและที่ดิน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หัตถกรรมและธุรกิจขนาดเล็กอื่นๆ (Housing and Lands, Small and Medium Enterprises, Handicraft, and the Informal Sector) ของมอริเชียส เยือนไทย (นำคณะนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐ จัดงาน Thai-Mauritian Business Forum ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)
- วันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2547 นายอานิล คูมาร์ซิง กายัน (Anil Kumarsingh Gayan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและสันทนาการ เยือนไทย (เข้าร่วมการประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรีในหัวข้อ “ทางเลือกเพื่อการพัฒนา: เศรษฐกิจพอเพียง”)
- วันที่ 28 ตุลาคม – 11 พฤศจิกายน 2551 นายคาร์ล ออกุส ออฟมาน (Karl Auguste Offmann) อดีตรองประธานาธิบดีมอริเชียสพร้อมภริยา เยือนไทยเป็นการส่วนตัว
- วันที่ 27 มีนาคม – 1 เมษายน 2553 นายราจเคซวูร์ ไคแรช เพอรีแอก (Rajkeswur Kailash Purryag) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 122 ที่กรุงเทพฯ
***********************
มิถุนายน 2555
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **