สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย

สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 พ.ย. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 16,073 view


สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย
United Republic of Tanzania

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง สหสาธารณรัฐแทนซาเนียประกอบด้วยสาธารณรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ แทนกานยิกา (Tanganyika) และ  แซนซิบาร์ (Zanzibar) สาธารณรัฐแทนกานยิกาตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาอาณาเขตทางด้านเหนือและตะวันออกติดกับเคนยาและยูกันดา รวมทั้งทะเลสาบวิคตอเรีย ทิศตะวันตกติดกับรวันดา บุรุนดี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และทะเลสาบแทนกานยิกา ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับแซมเบีย มาลาวี และทะเลสาบมาลาวี ทิศใต้ติดกับโมซัมบิก ทางเหนือมีภูเขาคิลิมันจาโร (Kilimanjaro) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงสุดในทวีปแอฟริกา ส่วนสาธารณรัฐแซนซิบาร์ ประกอบด้วยเกาะแซนซิบาร์และเกาะเพมบา (Pemba) อยู่ห่างจากชายฝั่งของแทนกานยิกา ประมาณ 40 กิโลเมตร

พื้นที่ 945,087 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ ร้อนชื้น พ.ย. - พ.ค. เป็นช่วงฤดูฝน อุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส

มิ.ย. - ต.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิประมาณ 23 องศาเซลเซียส

ประชากร 42.17 ล้านคน  (2554)

เมืองหลวง กรุงโดโดมา (Dodoma) เป็นที่ตั้งของรัฐบาล ในขณะที่นคร

ดาร์ เอส ซาลาม (Dar es Salaam) เป็นเมืองสำคัญที่สุดในประเทศ

เมืองสำคัญอื่นๆ Zanzibar, Mwanza, Tanga, Arusha

ภาษาราชการ อังกฤษและ Swahili เป็นภาษาราชการและใช้กันทั่วไปในประเทศ

ศาสนา คริสต์ ร้อยละ 45 อิสลาม ร้อยละ 35 และความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 20 สำหรับแซนซิบาร์ ร้อยละ 99 นับถือศาสนาอิสลาม

วันชาติ : 26 เมษายน 2507 (เป็นวันที่แทนกานยิกาและแซนซิบาร์ รวมเข้าเป็นสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย)

การเมืองการปกครอง

แทนซาเนียปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยโดยแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับการแก้ไขปรับปรุงครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ในปี 2527 (ค.ศ. 1984) และ ปี 2537 (ค.ศ. 1994)

ฝ่ายบริหาร ประกอบด้วยประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และคณะรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล และผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายจาคายา มริโช คิเควเต (Jakaya Mrisho Kikwete) ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2548 (ค.ศ. 2005) และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) ซึ่งจะเป็นสมัยสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญ โดยปกติ หากประธานาธิบดีมาจากแซนซิบาร์   รองประธานาธิบดีต้องมาจากแทนกานยิกา ในทางกลับกันหาประธานาธิบดีมาจากแทนกานยิกา รองประธานาธิบดีต้องมาจากแซนซิบาร์

ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบรัฐสภาของแทนซาเนียเป็นระบบสภาเดียว เรียกว่า Bunge ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียว มีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 295 คน โดยสมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้งจำนวน 232 คน และอีก 5 คน จัดสรรให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแซนซิบาร์ ส่วนที่เหลือ 58 คน เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี ส่วนแซนซิบาร์ก็มีรัฐสภาเป็นของตนเองต่างหากเพื่อออกกฎหมายในการปกครอง โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 50 คน จากการเลือกตั้งโดยตรงของชาวแซนซิบาร์ และมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี

ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูง ผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี

การแบ่งเขตการปกครอง รัฐธรรมนูญแทนซาเนียกำหนดให้สาธารณรัฐแซนซิบาร์เป็นอิสระในการบริหารกิจการแซนซิบาร์ทุกประการ ยกเว้นด้านการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ การศาล การราชทัณฑ์ และกิจการตำรวจที่รวมกับแทนกานยิกา แทนซาเนียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 เขต ได้แก่ Arusha, Dar es Salaam, Dodoma, Iringa, Kigoma, Kilimanjaro, Lindi, Mara, Mbeya, Morogoro, Mtwara, Mwanza, Pemba North, Pemba South, Pwani, Rukwa, Ruvuma, Shinyanga, Singida, Tabora, Tanga, Zanzibar Central/South, Zanzibar North, Zanzibar Urban/West, Ziwa Magharibi

นับตั้งแต่รวมประเทศ แทนซาเนียปกครองโดยระบบพรรคการเมืองเดียวมากว่า 27 ปี จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นระบอบการปกครองเป็นแบบระบบหลายพรรคในเดือน มิ.ย. 2535 (ค.ศ. 1992) และมีการเลือกตั้งทั่วไปแบบหลายพรรคครั้งแรกในปี 2538 (ค.ศ. 1995)

ปัจจุบัน พรรค Chama Cha Mapinduzi (CCM) ของประธานาธิบดี Kikwete เป็นพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลมากที่สุด ประธานาธิบดี Kikwete ได้สร้างฐานอำนาจของตนภายในพรรครัฐบาลให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้นโยบายแบบประชาชนนิยม ต่อต้านการทุจริต ปฏิรูประบบเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ในการเลือกตั้งทั่วไปของแทนซาเนียครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) ประธานาธิบดี Kikwete ชนะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 61.1 อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายค้านประท้วงผลการเลือกตั้งดังกล่าว โดยอ้างว่ากระบวนการเลือกตั้งไม่โปร่งใส แต่ไม่เกิดเหตุรุนแรง  ต่อมาในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี นาย Kikwete เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการเคลื่อนไหว และหันมาร่วมมือกัน โดยตนพร้อมที่จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อพัฒนาแทนซาเนียไปในทิศทางที่ถูกต้อง

เศรษฐกิจ

แต่เดิม แทนซาเนียใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา ช่วงต้นทศวรรษที่ 90 (2533-2543) รัฐบาลจึงได้ริเริ่มการกระตุ้นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีความเป็นเสรีมากขึ้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน แทนซาเนียวางนโยบายเศรษฐกิจภายใต้กรอบ Poverty Reduction and Growth Facility (PRGF) ของ IMF นอกจากนี้ แทนซาเนียอยู่ในกลุ่มประเทศ Heavily Indebted Poor Countries (HIPC) ของ IMF และธนาคารโลก ซึ่งได้รับประโยชน์เป็นเงินทุนเพื่อการช่วยเหลือและการยกเลิกหนี้ (debt relief) โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ G8 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ให้รายใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกา

รัฐบาลแทนซาเนียให้ความสำคัญกับการกระจายฐานการผลิตสู่ภาคอุตสาหกรรม และดำเนินนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมในแทนซาเนียยังล้าหลัง เนื่องจากปัญหา การขาดแคลนวัตถุดิบและพลังงาน โดยทั่วไปเป็นอุตสาหกรรมในท้องถิ่น และอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นของรัฐ และเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ

แทนซาเนียมีศักยภาพทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพและมีทรัพยากรทางธรรมชาติมาก อาทิ แร่ธาตุ อัญมณี และก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลแทนซาเนียมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และได้ตั้งศูนย์ส่งเสริมการลงทุน (Tanzania Investment Centre) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติด้วย สาขาการค้าการลงทุนที่มีศักยภาพ ได้แก่ เหมืองแร่และอัญมณี การก่อสร้าง การแปรรูปผลิตผลทางเกษตร และธุรกิจท่องเที่ยว

การต่างประเทศ

แทนซาเนียเป็นประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด นายจูเลียส อึนเยเรเร (Julius Nyerere) ประธานาธิบดีคนแรกภายหลังการประกาศเอกราช เป็นผู้ก่อตั้งสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement – NAM) รัฐบาลแทนซาเนียมีนโยบายเป็นกลาง เป็นมิตรกับทั้งประเทศเจ้าอาณานิคมเดิม (สหราชอาณาจักรและเยอรมนี) ประเทศที่มีนโยบายสังคมนิยม (กลุ่มสแกนดิเนเวีย และจีน) รวมทั้งประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ (สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น) แทนซาเนียเป็นประเทศที่ผู้ให้ความช่วยเหลือเห็นว่า มีพัฒนาการดี และเป็นผู้รับรายใหญ่ของเงินทุนเพื่อการพัฒนา

แทนซาเนียมีนโยบายเป็นมิตรกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกา โดยส่งเสริมและกระชับความร่วมมือในระดับภูมิภาค และองค์กรสหภาพแอฟริกา (African Union - AU) แทนซาเนียยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เคนยา และยูกันดา โดยทั้งสามประเทศได้ร่วมก่อตั้งประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community - EAC) เมื่อปี 2542 (ค.ศ. 1999) นอกจากนี้ แทนซาเนียเป็นสมาชิก EAC ประเทศเดียวที่เป็นสมาชิกประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community - SADC) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ ปัจจุบัน รัฐบาลแทนซาเนียมีนโยบายมองตะวันออก (Look-East Policy) โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียมากขึ้น เนื่องจากวิกฤตทางการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปทำให้แทนซาเนียเล็งเห็นศักยภาพทางการเงินและการลงทุนของเอเชีย ซึ่งมีเสถียรภาพทางการเงินสูง

สถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-แทนซาเนีย

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับแทนซาเนียเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2523 (ค.ศ.1980) โดยฝ่ายไทย ได้มอบหมายให้ สอท. ณ กรุงไนโรบี มีเขตอาณาครอบคลุมแทนซาเนีย ส่วนแทนซาเนียได้มอบหมายให้ สอท. แทนซาเนียประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ระหว่างกัน

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

มูลค่าการค้ารวม ไทย-แทนซาเนีย อยู่ในระดับปานกลาง ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) มีมูลค่า 97.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 86.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากแทนซาเนีย 11.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้าจำนวน 75.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าหลักของไทยได้แก่ ด้ายและเส้นใย  เพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป

ปัจจุบัน มีบริษัทไทยหลายแห่งมาตั้งฐานการดำเนินธุรกิจในแทนซาเนีย อาทิ บริษัท CPF (ธุรกิจการเลี้ยงไก่ครบวงจร) บริษัท SCT ในเครือ SCG (ธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง และสินค้าอื่นๆ) และบริษัททำเหมืองอัญมณี เนื่องจากแทนซาเนียมีเสถียรภาพทางการเมืองดี มีระบบกฎหมายที่ชัดเจน และมีท่าเรือที่เมืองดาร์ เอส ซาลาม (Dar Es Salaam) เป็นจุดเชื่อมต่อการส่งสินค้าจากต่างประเทศสู่ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล

ความตกลงทวิภาคี

ความตกลงที่ลงนามแล้ว

(1) ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ลงนามเมื่อปี 2549 (ค.ศ. 2006)

(2) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานและทรัพยากรเหมืองแร่แทนซาเนียและสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ลงนามเมื่อเดือน มี.ค. 2554 (ค.ศ. 2011)

ร่างความตกลงที่อยู่ระหว่างการจัดทำ

(1) ความตกลงด้านการค้า

(2) ความตกลงโอนตัวนักโทษ

(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี

ร่างความตกลงที่ฝ่ายไทยประสงค์จะทำกับแทนซาเนีย

(1) ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน 

 

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

ระดับพระราชวงศ์

(1) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ก.ย. 2537 (ค.ศ. 1994)

(2) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนแทนซาเนียตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ UNHCR เพื่อทอดพระเนตรโครงการของ Refugee Education Trust ที่เมือง Kigoma เมื่อเดือน มี.ค. 2546 (ค.ศ. 2003)

ระดับรัฐบาล

(1) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน มี.ค. 2536 (ค.ศ. 1993)

(2) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค. 2549 (ค.ศ. 2006)

(3) นายปรีชา ผ่องเจริญกุล ประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเยือนแทนซาเนียระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อแสวงลู่ทางการดำเนินธุรกิจอัญมณี

(4) นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา  นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเยือนแทนซาเนียระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย. 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อแสวงหาลู่ทางการค้าและการลงทุน

 

ฝ่ายแทนซาเนีย

(1) นาย Julius Nyerere อดีตประธานาธิบดีแทนซาเนียในฐานะประธาน South Commission เดินทางเยือนไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2531 (ค.ศ. 1988) และเข้าพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายพงษ์ สารสิน) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(2) นาย Joseph F. Mbwiliza รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำ พลังงาน และเหมืองแร่แทนซาเนีย เดินทางเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเดือน มี.ค. 2537 (ค.ศ. 1994) เพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการ Bangkok Gems and Jewelry Fair ตามคำเชิญของกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าเยี่ยมคารวะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ)

นาย Frederick T. Sumaye นายกรัฐมนตรีแทนซาเนียเยือนไทย ระหว่างวันที่ 15-18 ต.ค. 2541(ค.ศ. 1998)

นาย Edward Lowassa นายกรัฐมนตรีแทนซาเนียเยือนไทย ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย. 2549 (ค.ศ. 2006)

นายมิเซ็นโก พินดา (Mizenko Pinda) นายกรัฐมนตรีแทนซาเนียเดินทางแวะผ่านไทย เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2553 (ค.ศ. 2010)

ปัจจุบัน EAC ประกอบด้วยสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ เคนยา ยูกันดา แทนซาเนีย รวันดา และบุรุนดี ขณะนี้ EAC มีระดับการ บูรณาการเป็นสหภาพศุลกากรโดยสมบูรณ์แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อรองรับการเป็นตลาดร่วม

SADC ประกอบด้วยมาชิก ๑๕ ประเทศ ได้แก่ แองโกลา บอตสวานา เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก สวาซิแลนด์ แทนซาเนีย ซิมบับเว แซมเบีย นามิเบีย แอฟริกาใต้ มอริเชียส สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเซเชลส์ ปัจจุบัน SACD มีการลดภาษีระหว่างกัน แต่ยังไม่มีอัตราศุลกากรร่วม

 

**************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ