สาธารณรัฐเคนยา

สาธารณรัฐเคนยา

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 30,755 view


สาธารณรัฐเคนยา
Republic of Kenya

ข้อมูลทั่วไป

ภูมิศาสตร์ สาธารณรัฐเคนยาตั้งอยู่ในแนวศูนย์สูตรทางฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา
อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000 - 5,000 ฟุต
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดกับ ซูดานและเอธิโอเปีย
ทิศใต้ ติดกับ แทนซาเนีย
ทิศตะวันออก ติดกับ โซมาเลียและมหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันตก ติดกับ ยูกันดา แทนซาเนียและทะเลสาบวิคตอเรีย
พื้นที่ 582,650 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่เพาะปลูกได้เพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด มีชายฝั่งทะเลยาว 536 กิโลเมตร
- พื้นที่ทางภาคเหนือเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง มีประชาชนพวกเร่ร่อน อาศัยอยู่
- พื้นที่ทางภาคใต้เป็นที่ราบ มีสัตว์ป่ามาก
- พื้นที่ทางตอนกลางของประเทศเป็นที่ดอน (high - land)จะอุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ผลิตพืชผลเกษตรกรรมที่สำคัญ ของประเทศ
- ทะเลสาบวิคตอเรียทางตะวันตกเฉียงเหนือไหลผ่าน the Great Rift Valley เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก
เมืองหลวง กรุงไนโรบี (Nairobi)
เมืองสำคัญ เมืองมอมบาซา (Mombasa) ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของเคนยาและประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีทางออกทะเลทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของแอฟริกา
ภูมิอากาศ แตกต่างกันตามภูมิภาค กล่าวคือ อากาศทางภาคเหนือร้อนและแห้งแล้ง ส่วนพื้นที่ภาคกลางอากาศเย็นสบาย รอบทะเลสาบวิคตอเรียมีอุณหภูมิสูงและฝนตกชุก ส่วนชายฝั่งทะเลอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิในกรุงไนโรบีประมาณ 11 - 28 องศาเซลเซียส
ประชากร 41.6  ล้านคน (2554) ประกอบด้วยเผ่า Kikuyu (ร้อยละ 22) เผ่า Luhya ร้อยละ 14) เผ่า Luo (ร้อยละ 13) เผ่า Kalenjin (ร้อยละ 12) เผ่า Kamba (ร้อยละ 11) เผ่า Kisii (ร้อยละ 6) เผ่า Meru (ร้อยละ 6) ชาวเอเชีย ยุโรป และอาหรับ (ร้อยละ 1) ที่เหลืออีกร้อยละ 15 เป็นชาวแอฟริกาอื่น ๆ
ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการและภาษา Swahili เป็นภาษาประจำชาติ นอกจากนั้น เผ่าต่าง ๆ ยังมีภาษาประจำเผ่าของตนเอง
ศาสนา โปรเตสแตนท์ 45% โรมันคาทอลิก 33% อิสลาม 10% ความเชื่อดั้งเดิม 10% อื่นๆ 2%
วันชาติ 12 ธันวาคม 2506 วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 25 กรกฎาคม 2510
สกุล เงิน ชิลลิงเคนยา (KES) (1 บาท= 2.70 KES)(25 เม.ย. 55)
GDP  35.15 พันล้าน USD  (ไทย: 345.6 พันล้าน USD)  
GDP per Capita 1750.0 USD (ไทย: 5,112.0 USD)
Real GDP Growth ร้อยละ 4.2 (ไทย: ร้อยละ 0.1)       
เงิน ทุนสำรอง  เคนยา 5.29 พันล้าน (ไทย: 180.4 พันล้าน USD)
อัตรา เงินเฟ้อ   ร้อยละ 9.6 (ไทย: ร้อยละ 3.8)

นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การเมืองการปกครอง

เคนยาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปี 2438 (ค.ศ. 1895) และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2506 (ค.ศ. 1963) หลังจากนั้น เคนยามีการเลือกตั้งทั่วประเทศขึ้นเมื่อปี 2507 (ค.ศ. 1964) โดยพรรค Kenya African National Union (KANU) ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง และมีนายโจโม เคนยัตตา (Jomo Kenyatta) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของเคนยา และประกาศให้เคนยาเป็นสาธารณรัฐอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ และหลังจากเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2521 (ค.ศ. 1978) นาย Daniel Moi รองประธานาธิบดีจากพรรคเดียวกันก็ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนจนจบวาระและได้รับเลือกตั้งต่ออีกหนึ่งสมัย จนกระทั่งปี 2545 (ค.ศ. 2002) นาย Mwai Kibaki ผู้นำกลุ่ม National Rainbow Coalition (NARC) ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายค้าน ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบัน

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2550 (ค.ศ. 2007) ผลปรากฏว่า ประธานาธิบดี Mwai Kibaki ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้ง นาย Raila Odinga คู่แข่งของประธานาธิบดี Kibaki ประท้วงผลการเลือกตั้งและกล่าวหาว่า ประธานาธิบดี Kibaki ทุจริตการเลือกตั้ง ผลของความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงและการก่อความไม่สงบระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดี Kibaki กับกลุ่มผู้สนับสนุนนาย Odinga  จนมีผู้เสียชีวิตถึง 1,500 คน จนกระทั่งวันที่ 28 ก.พ. 2551 (ค.ศ. 2008) นาย Kibaki และนาย Odinga สามารถหาข้อสรุปในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่   นานกว่า 2 เดือนได้ และได้ลงนามความตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยความตกลงฯ มีสาระสำคัญที่ระบุให้นาย Kibaki และ นาย Odinga แบ่งสรรอำนาจด้วยการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีตามลำดับ และให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลปัจจุบันได้ใช้นโยบาย “วิสัยทัศน์ 2030” (Vision 2030) เป็นแผนพัฒนาประเทศเคนยาไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายได้ระดับกลางแห่งใหม่และสามารถประกันคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้ สร้างสังคมที่เป็นธรรม มีความสามัคคีและความเสมอภาคภายใต้สภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย และธำรงระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเคนยาได้ผ่านการลงประชามติเห็นชอบจากประชาชนเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) รัฐธรรมนูญเน้นการเพิ่มอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น การแบ่งสรรอำนาจทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการให้ชัดเจน และเพิ่มระบบการตรวจสอบความโปร่งใส ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน โดยมีรูปแบบการบริหารประเทศคล้ายสหรัฐอเมริกา คือ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปี

ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างนาย Kibaki และนาย Odinga ยังคงมีความตึงเครียด เนื่องจากทั้งสองมีนโยบายการบริหารประเทศที่ไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในเรื่องการนำคดีสถานการณ์ความขัดแย้งภายหลังการเลือกตั้งเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ซึ่งมีนักการเมืองระดับสูงจากทั้งสองฝ่ายตกเป็นผู้ต้องหาจำนวน 6 คน โดยประธานาธิบดี Kibaki พยายามขัดขวางการดำเนินคดีดังกล่าว ในขณะที่นาย Odinga สนับสนุนการดำเนินคดี เพื่อสร้างภาพให้เกิดความยุติธรรมในสังคมเคนยา ซึ่งจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมแก่ตนเองในการเลือกตั้งครั้งถัดไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2555

ในบรรดานักการเมืองระดับสูง 6 คน ที่ตกเป็นผู้ต้องหานั้น มีผู้ที่แสดงความประสงค์ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีเคนยาแข่งกับนาย Odinga 2 คน ได้แก่ นาย Uhuru M. Kenyatta รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (บุตรชายของนาย Jomo Kenyatta ประธานาธิบดีคนแรก) และนาย William S. Ruto อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา ซึ่งหากศาลตัดสินว่าทั้งสองคนมีความผิดจริง จะทำให้ทั้งสองหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งทันที

เศรษฐกิจ

เคนยาเป็นประเทศยุทธศาสตร์ในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกที่มีศักยภาพทางการค้าและการลงทุน เนื่องจาก (1) มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก (2) เป็นศูนย์กลางการคมนาคมในอนุภูมิภาคทั้งทางเรือและทางอากาศ โดยมีเมืองมอมบาซา (Mombasa) เป็นเมืองท่าสำคัญที่สามารถกระจายสินค้าทั้งในเคนยาและไปยังประเทศอื่น ๆ ในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก กรุงไนโรบีเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งสินค้าทางอากาศ และ (3) มีบทบาทนำในภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เป็นสมาชิกในประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community - EAC) และตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa - COMESA) ทำให้เคนยาสามารถเป็นประตูสู่แอฟริกา ตลอดจนได้รับสิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเข้าไปในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ

เศรษฐกิจของเคนยามีความอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจโลก เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคธุรกิจบริการ(ร้อยละ 68 ของ GDP) และมีรายได้สำคัญมาจากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เคนยาต้องการการลงทุนในด้านการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานและวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากรัฐบาลมีแผนพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะด้านชลประทาน และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในประเทศ และรองรับการเป็นตลาดร่วมของ EAC ล่าสุด รัฐบาลเคนยาประกาศโครงการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ที่เมืองลามู (Lamu) มูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้สินค้าแห่งที่สองที่เมืองมอมบาซา

นโยบายต่างประเทศ

เคนยาให้ความสำคัญและพึ่งพาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก และแสดงบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ในซูดานและโซมาเลีย นอกจากนี้ ยังต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศด้วย

หลังจากที่เคนยาประสบปัญหาความไม่สงบภายในประเทศในช่วงปี 2551 (ค.ศ. 2008) ทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนความปลอดภัยในเคนยาในสายตาประชาคมระหว่างประเทศลดลง เคนยาจึงกำหนดนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่น โดยเน้นกระตุ้นความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านภายในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก พยายามเพิ่มบทบาทของ EAC ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้

เคนยาเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในโซมาเลียมากที่สุดประเทศหนึ่ง เนื่องจากมีพรมแดนทางบกและทางทะเลติดต่อกับโซมาเลีย ทำให้อยู่ในรัศมีทำการของโจรสลัด แต่เดิม เคนยาเคยรับพิจารณาและคุมขังผู้ต้องหาในคดีโจรสลัด อย่างไรก็ดี เคนยาได้ยุติการรับดำเนินคดีโจรสลัดเมื่อเดือน เม.ย. 2553 (ค.ศ. 2010) เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากนานาชาติ และเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ในปีเดียวกัน ศาลสูงเมืองมอมบาซาตัดสินว่า เคนยาไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดนอกน่านน้ำเคนยา และได้ปล่อยผู้ต้องสงสัยคดีโจรสลัดทั้งหมดกลับโซมาเลีย ในปัจจุบัน เมืองมอมบาซาของเคนยาเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการต่อต้านโจรสลัดซึ่งเป็นผลมาจากการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกและประเทศตะวันออกกลางรอบทะเลแดง (Djibouti Code of Conduct)

นอกจากนี้ เคนยายังต้องรับภาระผู้ลี้ภัยสงครามและความแห้งแล้งในโซมาเลียจำนวนมากที่สุดประมาณ 309,100 คน แต่เดิม เคนยาพยายามไม่เข้าไปมีบทบาทในโซมาเลียอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน ก.ย. 2554 (ค.ศ. 2011) กลุ่ม al-Shabaab บุกเข้ามาจับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและเจ้าหน้าที่องค์กรการกุศลในพื้นที่ตอนเหนือของเคนยาเป็นตัวประกัน ทำให้รัฐบาลเคนยาตัดสินใจส่งกองกำลังทหารเข้าไปในโซมาเลียเพื่อปราบปรามกลุ่ม al-Shabaab โดยได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ปฏิบัติการข้างต้นทำให้เคนยาตกเป็นเป้าหมายก่อการร้ายใหม่ของกลุ่ม al-Shabaab ในทันที นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) เกิดเหตุระเบิดหลายครั้งในกรุงไนโรบี เมืองมอมบาซา และเมือง Garissa ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเคนยา แม้จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมไม่มากนัก แต่ก็กระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเคนยาพอสมควร

สถานะความสัมพันธ์ ไทย-เคนยา

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและเคนยาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2510  (ค.ศ. 1967) โดยไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงไนโรบี เมื่อปี 2521 เอกอัครราชทูตไทยประจำเคนยา คนปัจจุบัน คือ นายอิทธิพร บุญประคอง ส่วนเคนยาได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตเคนยาประจำประเทศไทยเมื่อเดือน ต.ค. 2549 (ค.ศ. 2006) และได้มอบหมายให้ นาย Richard Titus Ekai เป็นเอกอัครราชทูตเคนยาประเทศไทยคนแรกจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ราบรื่น เคนยาจัดเป็นประเทศที่มีความสำคัญที่สุดประเทศหนึ่งสำหรับไทยในทวีปแอฟริกา โดยมีศักยภาพเป็นหุ้นส่วนหลักทางยุทธศาสตร์ของไทย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

เคนยาเป็นประเทศแอฟริกาประเทศเดียวมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission - JC) กับไทย โดยได้จัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย. 2553 (ค.ศ. 2010) ที่กรุงไนโรบี ที่ประชุมได้ตกลงที่จะสำรวจลู่ทางเพิ่มปริมาณการค้า และจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee) ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการดำเนินการดังกล่าว และเร่งรัดการจัดทำความตกลงด้านต่างๆระหว่างกันที่คั่งค้างอยู่

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เคนยาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ในปี 2554(ค.ศ. 2011) ไทยและเคนยามีมูลค่าการค้ารวม 189.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังเคนยา 173.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าสินค้าจากเคนยา 15.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้เปรียบดุลการค้า 157.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปเคนยาที่สำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เสื้อผ้าสำเร็จรูป ข้าว ส่วนสินค้านำเข้าจากเคนยาที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เหล็ก เหล็กกล้า

เคนยาสามารถเป็นประตูสู่ประเทศแอฟริกาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม EAC และประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล อาทิ ซูดานใต้ เอธิโอเปีย และยูกันดา เนื่องจากสายการบิน Kenya Airways มีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-ไนโรบี 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์

การลงทุนระหว่างไทยและเคนยายังมีไม่มากนัก เนื่องจากเคนยามีค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าไฟฟ้า แรงงาน สูงกว่าประเทศรอบข้าง ธุรกิจไทยที่ลงทุนในเคนยาส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและกลาง ได้แก่ ร้านอาหาร สปา และการขุดเจาะน้ำบาดาล

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย 2555-2558 ได้กำหนดให้เคนยาอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไทยควรให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น เคนยาจึงที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมในโครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course – AITC) ของ สพร. เป็นประจำทุกปีในหลายสาขา อาทิ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม เกษตรกรรม และสาธารณสุข  นอกจากนี้ ในการประชุม  JC ครั้งที่ 1 ฝ่ายไทยได้เสนอทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจำนวน 10 ทุน และทุนฝึกอบรมจำนวน 10 ทุน ให้แก่ฝ่ายเคนยา ตามสาขาที่เคนยาสนใจ

ไทยและเคนยามีนโยบายขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน รัฐบาลเคนยามีความประสงค์ที่จะขยายตลาดนักท่องเที่ยวจากเอเชีย รวมทั้งต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยในกรอบ New Asian African Strategic Partnership (NAASP) ไทยและเคนยาได้รับมอบหมายให้เป็น champion countries (ร่วมกับโมร็อกโกและอียิปต์) ในสาขาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

ความตกลงทวิภาคี

ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว

(1) ความตกลงว่าด้วยการเดินอากาศ – ไทยและเคนยาได้ลงนามในความตกลงทางการบิน เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2534 (ค.ศ. 1991) สายการบินเคนยาแอร์เวย์ได้เปิดเที่ยวบิน ไนโรบี-กรุงเทพฯ-ฮ่องกง โดยเริ่มบินเที่ยวแรก เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2546 (ค.ศ. 2003) ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรง 7 เที่ยวต่อสัปดาห์

(2) ความตกลงด้านการค้า - ไทยและเคนยาได้ลงนามในความตกลงทางการค้าเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2536 (ค.ศ. 1993) แต่ยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า ตามที่แจ้งไว้ในความตกลง

(3) ความตกลงระหว่างสภาหอการค้าไทยและ Kenyan National Chamber of Commerce and Industry (KNCCI) – ลงนามเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2536 (ค.ศ. 1993)

(4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว – ไทยและเคนยาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมี่อวันที่ 2 ธ.ค. 2547 (ค.ศ. 2004)

(5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการอุทยานและสัตว์ป่า - ไทยและเคนยาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการอุทยานและสัตว์ป่าเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2548(ค.ศ. 2005)

(6) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี –ไทยและเคนยามีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2548 (ค.ศ. 2005) ความตกลงดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-เคนยา  ซึ่งจัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 17-18 มิถุนายน 2553 (ค.ศ. 2010) ณ กรุงไนโรบี และไทยมีพันธะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งที่ 2

ร่างความตกลงที่อยูระหว่างการพิจารณา

(1) Draft Agreement for the Promotion and Protection of Investments  

(2) Draft MOU on Health Collaboration

(3) Draft MOU between Kenya Investment Authority and the Office of the Board of Investment of Thailand  

(4) Draft MOU on Cooperation in Higher Education, Science and Technology

(5) Draft MOU in the Area of Geology and Mineral Exploration, Mining, Processing, Trade and Investment in Minerals

(5) Draft Convention for the Avoidance of Double Taxation and the Prevention of Fiscal Evasion with Respect to Taxes on Income

 

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

ระดับพระราชวงศ์

(1) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนเคนยาเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีประศาสน์การของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 29 ก.ค. – 9 ส.ค. 2533 (ค.ศ. 1990)

(2) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แวะเคนยาเป็นการส่วนพระองค์ ในวันที่ 18 มี.ค. 2546 (ค.ศ. 2003) ก่อนเสด็จฯ เยือนแทนซาเนียตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ UNHCR (วันที่ 18-21 มี.ค. 2546)

(3) สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนเคนยา ระหว่างวันที่ 27 ก.ย. – 3 ต.ค. 2546 (ค.ศ. 2003)

(4) พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเยือนสาธารณรัฐเคนยา ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ย. 2552 (ค.ศ. 2009) เพื่อเข้าร่วมการประชุม UN Regional Preparatory Meeting ของทวีปแอฟริกา ณ กรุงไนโรบี

ระดับรัฐบาล

(1) พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 29 พ.ค. – 1 มิ.ย. 2527 (ค.ศ. 1984) โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับประธานาธิบดี Moi และรัฐมนตรีต่างประเทศเคนยา

(2) ร.ต. ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 13-16 ก.ย. 2532 (ค.ศ. 1989)

(3) ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 6-10 มี.ค. 2536 (ค.ศ. 1993) และได้มีการลงนามความตกลงการค้าระหว่างไทยกับเคนยา

(4) ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 1-3 ก.พ. 2542 (ค.ศ. 1999) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อขอเสียงสนับสนุนในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)

(5) คณะสำรวจข้อเท็จจริงของไทย นำโดยนายปกศักดิ์ นิลอุบล อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา เยือนเคนยาระหว่างวันที่ 16-17 ก.พ. 2542 (ค.ศ. 1999)

(6) นายทวี บุตรสุนทร ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนำคณะผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเยือนเคนยา เมื่อเดือน เม.ย. 2545 (ค.ศ. 2002)

(7) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Nairobi Summit: A Mine-Free World ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2547 (ค.ศ. 2004)

(8) นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเคนยาระหว่าง 21-22 มิ.ย. 2548 เพื่อส่งเสริมและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเคนยา ร่วมทั้งเป็นประธานเปิดการประชุม AIDS Workshop เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2548 (ค.ศ. 2005)

(9) นายกรัฐมนตรี (พ.ต.อ. ทักษิณ ชินวัตร) เยือนเคนยาระหว่าง 8-10 พ.ย. 2548 (ค.ศ. 2005)

(10) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกษิต ภิรมย์) เยือนเคนยา ระหว่างวันที่ 17-18 มิ.ย. 2553 (ค.ศ. 2010) เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเคนยาครั้งที่ 1 และการประชุมเอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกา และได้เข้าเยี่ยมคารวะ ประธานาธิบดีเคนยา (นาย Mwai Kibaki) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเคนยา (นาย Henry Kiprono Kosgey) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเคนยา (นาย Moses Wetangula)

(11) นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเยือนเคนยาระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย. 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อแสวงหาลู่ทางการค้าและการลงทุน

ฝ่ายเคนยา

(1) ประธานาธิบดี Daniel arap Moi เดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (World Conference on Education for All) ระหว่างวันที่ 5-9 มี.ค. 2533 (ค.ศ. 1990) โดยรัฐบาลไทยรับเป็นแขกรัฐบาล 1 วัน

(2) นาย Wilson Ndolo Ayah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเคนยาเยือนไทยระหว่างวันที่ 18-21 ส.ค. 2534 (ค.ศ. 1991)

(3) นาย Nicholas Kipyator Kiprono Biwott รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยว การค้าและอุตสาหกรรมเคนยา เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 12-19 ก.พ. 2542 (ค.ศ. 1990) เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ครั้งที่ 10

(4) คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเคนยา ซึ่งประกอบด้วย นายทหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่พลเรือนระดับผู้บริหาร จำนวน 14 คน ได้เดินทางมาทัศนศึกษาและดูงานด้านต่าง ๆ ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 2543 (ค.ศ. 2000)

(5) Dr. C. Murungaru รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านการบริหารส่วนภูมิภาคและความมั่นคงแห่งชาติ สังกัดสำนักประธานาธิบดี (Minister of State in charge of Provincial Administration and National Security) และคณะ เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 15-19 ก.ย. 2546 (ค.ศ. 2003) เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญากรุงออตตาวา ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ

(6) นาย Kalonzo Musyoka รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเคนยา เดินทางเยือนภูเก็ตเป็นการส่วนตัว เมื่อวันที่ 1-3 ม.ค. 2547 (ค.ศ. 2004)

(7) นาง Esther Mshai Tolle ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเคนยาในฐานะเลขาธิการของการประชุม Nairobi Summit on a Mine-Free World เดินทางเยือนไทยและเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2547 (ค.ศ. 2004)

(8) คณะวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเคนยาได้เดินทางมาศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 2-9 ต.ค. 2547 (ค.ศ. 2004)

(9) นาย Mwai Kibaki ประธานาธิบดีเคนยาเยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 28-30 ต.ค. 2547 (ค.ศ. 2004)

(10) นาย Raila Amollo Odinga นายกรัฐมนตรีเคนยาเยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2553 (ค.ศ. 2010)

(11) นาย Mwai Kibaki ประธานาธิบดีเคนยา เดินทางแวะผ่านประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เม.ย. และ 3 พ.ค. 2553 และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศมอบกระเช้าของที่ระลึกเพื่อเป็นการแสดงไมตรีจิต

(12) นาย James Gesami รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสุขาภิบาล เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 25-29 ม.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อเข้าร่วมการประชุม Global Forum on Human Resources for Health ครั้งที่ 2 และได้เยี่ยมชมการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม

(13) นาย Romano M. Kiome ปลัดกระทรวงเกษตรเคนยา และคณะ เยือนไทยเพื่อศึกษาดูงาน ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค. 2554

(14) นาย Anyang Nyong’o รัฐมนตรีว่าการกระทรวงบริการทางการแพทย์ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ระหว่างวันที่ 24- 28 ม.ค. 2555

(15) คณะวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเคนยาเดินทางมาศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21-28 เม.ย. 2555 

----------------------------------------
มิถุนายน 2555


กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ