สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.พ. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 131,216 view


สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
Republic of Indonesia

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ทิศเหนือติดกับทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันออกติดกับติมอร์-เลสเต และปาปัวนิวกินี และทิศใต้ติดกับทะเลติมอร์
พื้นที่ พื้นที่ทางบก 1,904,443 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางทะเล 3,166,163 ตารางกิโลเมตร (รวมพื้นที่ทั้งหมด 5,070,606 ตารางกิโลเมตร)

เมืองหลวง กรุงจาการ์ตา
ประชากร 248 ล้านคน (2553)
ภาษาราชการ ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia)
ศาสนา อิสลามร้อยละ 85.2 คริสต์นิกายโปรแตสแตนร้อยละ 8.9 คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 3 ฮินดูร้อยละ 1.8 พุทธร้อยละ 0.8 และศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 0.3

 

การเมืองการปกครอง


ประมุข ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ ดร. ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Dr. Susilo Bambang Yudhoyono)
ผู้นำรัฐบาล ดร. ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Dr. Susilo Bambang Yudhoyono) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 (สมัยที่ 2)
รัฐมนตรีต่างประเทศ ดร. อาร์ เอ็ม มาร์ตี้ มูเลียนา นาตาเลกาวา (Dr. R. M. Marty Muliana Natalegawa) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2552
ระบอบการปกครอง ระบอบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และหัวหน้าฝ่ายบริหาร (ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2552
เขตการปกครอง30 จังหวัด และเขตการปกครองพิเศษ 4 เขต ได้แก่ กรุงจาการ์ตา เมืองยอกยาการ์ตา จังหวัดอาเจะห์ และ จังหวัดปาปัวและปาปัวตะวันตก
วันชาติ 17 สิงหาคม
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 7 มีนาคม 2493

 

 

 

เศรษฐกิจการค้า


หน่วยเงินตรา รูเปียห์ (1,000 รูเปียห์ ประมาณ 3.21 บาท)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 928.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชาชาติต่อหัว 4,944 ดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.3
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณพ์อาหาร
สินค้าส่งออกสำคัญ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม้ เสื้อผ้า

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย – อินโดนีเซีย

 ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

·       ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินโดนีเซียเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๙๓  และครบรอบ๖๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี ๒๕๕๓ ปัจจุบัน เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา คือนายภาสกร ศิริยะพันธุ์ และเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย คือ นายลุตฟี ราอุฟ                                                                                                            

·       กลไกความร่วมมือหลัก  ได้แก่ (๑) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย - อินโดนีเซีย (Joint Commission Meeting between the Kingdom of Thailand and the Republic of Indonesia :JC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม โดยอินโดนีเซียจัดการประชุม JCครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑ – ๒ กันยายน ๒๕๕๓ และ (๒) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC)  โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม โดยอินโดนีเซียจัดการประชุม HLC ครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๘  กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่กรุงจาการ์ตา

·         อินโดนีเซียเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไทยทั้งในกรอบอาเซียนและในเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆการที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ท่าทีของอินโดนีเซียเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมมีผลต่อท่าทีของประเทศมุสลิม โดยเฉพาะในกรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) ซึ่งที่ผ่านมา อินโดนีเซียสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาของ   รัฐบาลและช่วยอธิบายให้ประเทศมุสลิมอื่น ๆ เข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

·         ในปี ๒๕๕๕ มีการเยือนที่สำคัญได้แก่ (๑)  ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเข้าร่วมการประชุม  World Economic Forum (WEF) on East Asia ๒๐๑๒ ครั้งที่ ๒๑ ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม – ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ (๒) นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม Bali Democracy Forum ครั้งที่ ๕ ที่บาหลีระหว่างวันที่ ๗ – ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ และ (๓) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนอินโดนีเซียระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

 

 ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

การค้า

·       อินโดนีเซียเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ ๒ ของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซีย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๕ ของไทยในโลก ในปี ๒๕๕๔ มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย เท่ากับ ๑๗,๔๕๔ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการนำเข้า ๗,๓๗๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออก ๑๐,๐๗๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐไทยได้ดุลการค้า ๒,๗๐๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๕๕ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียเท่ากับ๑๙,๒๙๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการนำเข้าจากอินโดนีเซีย ๘,๐๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออก๑๑,๒๐๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า ๓,๑๒๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปอินโดนีเซียที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ ข้าว เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าจากอินโดนีเซียที่สำคัญ ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ถ่านหิน เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช รถยนต์นั่ง

·       ไทยกับอินโดนีเซียได้ลงนามความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยความตกลงฯ ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียผ่านคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียเป็นประธานร่วม

·       ไทยกับอินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่บาหลี โดยข้อตกลงฯ ดังกล่าว

เป็นการต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวฉบับเก่าซึ่งหมดอายุไปเมื่อปี ๒๕๕๔ ซึ่งระบุว่ารัฐบาลไทยจะจำหน่ายข้าวขาวร้อยละ ๑๕ – ๒๕ ในปริมาณไม่เกิน ๑ ล้านตันต่อปี ระหว่างปี ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙ ให้แก่รัฐบาลอินโดนีเซีย[๑]

การลงทุน

·       ในปี ๒๕๕๕ ไทยเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับที่ ๑๕ ในอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการลงทุน ๖๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๒ พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมยางและพลาสติก พื้นที่ที่เข้าไปลงทุนส่วนใหญ่ ได้แก่ เกาะสุมาตราใต้และเกาะชวาตะวันตก โดยบริษัทไทยขนาดใหญ่ ๆ ที่เข้าไปลงทุน อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย บ้านปู   ธนาคารกรุงเทพ ลานนาลิกไนต์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

·       ในปี ๒๕๕๕ อินโดนีเซียเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ ๓ ของไทยในอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยมีการลงทุนในไทยจำนวน ๑ โครงการ มูลค่าการลงทุน ๑.๔๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (๔๓ ล้านบาท)ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน                                                                                                                                                                    

ด้านประมง

·    ไทยและอินโดนีเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านประมง เมื่อวันที่  ๑๗ มกราคม ๒๕๔๕ หมดอายุลงเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๘ ทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ (ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙) 

ด้านพลังงาน

         อินโดนีเซียมีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนไทยหลายรายเข้าไปลงทุนด้านพลังงานในอินโดนีเซีย เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีการร่วมทุนในโครงการท่อก๊าซ East-West Java กับบริษัท Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย บริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) สำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน ๕ แหล่ง ที่ Semai II, South Malundar, Malundar Block, Sadang และ South Sageri บริเวณ Makassar Strait นอกชายฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะสุลาเวสี และประสงค์ที่จะไปสำรวจก๊าซธรรมชาติในแหล่ง   East Natura ทะเล Natura ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลอินโดนีเซีย และบริษัทบ้านปูทำธุรกิจเหมืองถ่านหินในกาลิมันตันตะวันออกและกาลิมันตันใต้ รวม ๖ แห่ง ได้แก่ Indominco ,Katidin- Embalut ,Kitadin-Tandung Mayang,Jorong,Trubaindo และ Bharinto ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนการขยายการลงทุนในอินโดนีเซียในช่วง  ปี ๒๕๕๓ - ๒๕๕๘ จำนวน ๑๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

·     ไทยและอินโดนีเซียมีกรอบความร่วมมือด้านพลังงาน ได้แก่ Indonesia - Thailand Energy    Forum (ITEF) [๒]  ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม ITEF ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยได้หารือเกี่ยวกับ (๑) ความร่วมมือด้านก๊าซ น้ำมัน ก๊าซมีเธนในชั้นถ่านหิน (๒) ความร่วมมือ     ด้านไฟฟ้า ถ่านหิน และแร่ธาตุ (๓) ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน พลังงานใหม่ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (๔) การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน และ (๕) ประเด็นอื่น ๆ (โอกาสการวิจัยร่วม การพัฒนาพลังงาน    และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน) และในปี ๒๕๕๖ อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ITEF       ครั้งที่ ๔  ที่เมืองบาหลี ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖                                          

ด้านการเกษตร

·       ไทยและอินโดนีเซียมีคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร (Joint Agricultural Working Group Indonesia – Thailand : JAWG) ซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JAWG ครั้งที่ ๕ ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร และโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ยังมีกรอบการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert Group Meeting : EGM) ซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม EGM ครั้งที่ ๒  ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร การวางแผนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว โดยกำหนดให้มีการประชุมทุก ๒ ปี ทั้งนี้ อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JAWG ครั้งที่ ๖ ในปี ๒๕๕๖                                 

การท่องเที่ยว

·        ในปี ๒๕๕๕ มีนักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางไปอินโดนีเซียจำนวน ๘๙,๑๔๒ คน  เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๗ จากปีก่อนหน้า ในขณะที่นักท่องเที่ยวอินโดนีเซียเดินทางมาไทยมีจำนวน ๔๔๘,๗๔๘ คน  เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒  จากปี ๒๕๕๔

 

 

 ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

·         ไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมที่ใกล้ชิด มีการจัดทำความตกลงด้านสังคมและวัฒนธรรม[๓] และมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอโดยกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังวัดในอินโดนีเซีย[๔]         การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกัน[๕]  รวมทั้งกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ ๖๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในปี ๒๕๕๓

·          ไทยและอินโดนีเซียดำเนินความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายใต้โครงการ   Thai International Cooperation Programme (TICP) ของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ได้แก่ (๑)  ความร่วมมือทวิภาคี (๒) ทุนศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (TIPP)  (๓) หลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (AITC)  (๔)  ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (TCDC) และ (๕) ความร่วมมือไตรภาคี (Trilateral Programme) ในปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔ ไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาหารแก่อินโดนีเซียภายใต้กรอบ TICP จำนวน ๒๗๓ ทุน มูลค่า ๗๗,๕๔๔,๕๐๐ บาท และในปี ๒๕๕๕ อินโดนีเซียได้รับทุนการศึกษาในหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติ จำนวน ๔ ทุน  นอกจากนี้ไทยยังได้ได้ให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระดับถูมิภาค ได้แก่  โครงการความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน การดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย – มาเลเซีย - ไทย  (IMT-GT) และการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดอาเจะห์ผ่านมูลิธิแม่ฟ้าหลวง เช่น โครงการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน โครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมด้านโรคมาลาเรีย โครงการฝึกอบรมช่างไม้พื้นฐาน โครงการจัดตั้งศูนย์ขาเทียมและโครงการศึกษาแนวทางการเลี้ยงและการปรับปรุงพันธุ์แพะเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงอย่างเป็นอาชีพ  รวมทั้งโครงการบัวแก้วสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

·        อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านวิชาการไทย – อินโดนีเซีย ครั้งที่ ๓ที่กรุงจาการ์ตา ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษา สาธารณสุข พลังงาน และความร่วมมือระหว่างกันในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่สาม ทั้งนี้ ไทยเสนอจัดการประชุมครั้งที่ ๔ ในช่วงปี ๒๕๕๖

·        อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอธิการบดีแห่งอินโดนีเซีย (Council of Rector of Indonesian State University : CRISU) และอธิการบดีแห่งประเทศไทย (Council of University President    of Thailand : CUPT) ครั้งที่ ๖ ที่มหาวิทยาลัย Sriwijaya เมืองปาเลมบัง เมื่อวันที่ ๒๐-๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔เพื่อสร้างและสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของไทยและอินโดนีเซีย และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการต่อไปในอนาคตโดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ ๗ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๕

·        เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติอินโดนีเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาที่บรูไนดารุสซาลาม ในช่วงการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ ๔๖ และการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ ๖ซึ่งมีบทบาทส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและมหาวิทยาลัยไทยและอินโดนีเซีย ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรด้านการศึกษา และนักเรียน/นักศึกษาของทั้งสองประเทศ [๖]

สภาพการเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซีย

การเมือง

·     หลังยุคของพลเอก ซูฮาร์โต อินโดนีเซียได้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตย กองทัพลดบทบาททางการเมืองและถูกยกเลิกโควตาที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร มีการปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการเลือกตั้งโดยตรงเมื่อปี ๒๕๔๗ โดย ดร. ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (วาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี)

·     อินโดนีเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๒ ปรากฏว่า พรรค Partai Demokrat (PD) ของประธานาธิบดียูโดโยโนได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ ๑ (ร้อยละ ๒๐.๘๕) ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ๑๔๘ ที่นั่ง (ร้อยละ ๒๖.๔๓) พรรค Golkar ของนายยูซุฟ คัลลา อดีตรองประธานาธิบดี ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ ๒ (ร้อยละ ๑๔.๔๕) ได้ ๑๐๘ ที่นั่ง (ร้อยละ ๑๙.๒๙) และพรรค Indonesian Democratic Party of Struggle (PDI-P) ของนางเมกาวตี ซูการ์โนปุตรี อดีตประธานาธิบดี ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ ๓ (ร้อยละ ๑๔.๐๓) ได้ ๙๓ ที่นั่ง (ร้อยละ ๑๖.๖๑)

·     อินโดนีเซียจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ โดยประธานาธิบดียูโดโยโนได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ ๒ คู่กับนายบูดิโยโน อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดี โดยได้คะแนนเสียง ๗๓,๘๗๔,๕๖๒ คิดเป็นร้อยละ ๖๐.๘๐ โดยได้รับชัยชนะใน ๒๘ จังหวัด มีวาระดำรงตำแหน่งระหว่างปี ๒๕๕๒ -  ๒๕๕๗ ทั้งนี้ บุคคลทั้งสองได้เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่     ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ และได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๒

·     การที่ประธานาธิบดียูโดโยโนสามารถชนะการเลือกตั้งภายในรอบเดียวด้วยคะแนนเสียงสูงกว่าคู่แข่งมาก และพรรคการเมืองของประธานาธิบดีได้รับคะแนนเสียงสูงสุด ส่งผลให้การเมืองภายในมีเสถียรภาพนอกจากนี้ ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน พรรคการเมืองของประธานาธิบดีและพรรคร่วมรัฐบาลสามารถครองเสียงในสภาได้กว่า ๒ ใน ๓ ซึ่งมีผลให้รัฐบาลมีความมั่นคงในการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถสร้างเอกภาพและความร่วมมือของประชาชนให้สนับสนุนรัฐบาลในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศ อย่างไรก็ตาม มีการวิจารณ์ว่า การที่รัฐบาลได้เสียงข้างมากดังกล่าว ทำให้ขาดกลไกตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ

·       ในปี ๒๕๕๕ สถานการณ์การเมืองในอินโดนีเซียยังคงมีเสถียรภาพ แต่ประชาชนมีความเชื่อมั่น       ต่อพรรค PD ลดลง เนื่องจากกรณีการทุจริตของนายนาซารุดดิน (Nazaruddin) เหรัญญิกพรรค PDในโครงการก่อสร้างสถานที่แข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในขณะที่ประธานาธิบดียังคงได้รับความนิยมและรัฐบาลยังคงดำเนินการบริหารประเทศตามวิสัยทัศน์ ๒๐๒๕ (Indonesian Vision ๒๐๒๕)[๗]  โดยยังคงให้ความสำคัญกับการ    ปฏิรูปและการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมบทบาทและผลประโยชน์ของอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอาเซียน และประชาคมระหว่างประเทศ [๘] การแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ความมั่นคงภายในประเทศ   และ การจัดการภัยพิบัติ

·       เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ มีการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในช่วง ๒ ปี ในวาระที่สองของประธานาธิบดี เนื่องจากปัญหา (๑) การฉ้อราษฎร์บังหลวง (๒) ประสิทธิภาพการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล(๓) พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและประเด็นส่วนตัวของรัฐมนตรี และ (๔) การแตกความสามัคคีระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล[๙] รวมทั้งแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติคนใหม่[๑๐]  ต่อมาในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้มีการประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมเพื่อทดแทนรัฐมนตรีที่เสียชีวิตหรือยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้  ครบถ้วน[๑๑] และเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖ ได้แต่งตั้งนาย Roy Suryo ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเยาวชนและกีฬาแทนนาย Andi Mallarangeng ที่ลาออกเนื่องจากคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามกีฬา และแต่งตั้งนาย Susilo Siswoutomo ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ

·          การเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๕๗ พรรค PD ซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล      ยังไม่ยืนยันหรือวางตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ประธานาธิบดียูโดโยโนไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ ๓ ได้ ในขณะที่พรรคการเมืองอื่น ๆ เริ่มมีการเคลื่อนไหวบ้างแล้ว

·          เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๕ นาย Joko Widodo นายกเทศมนตรีเมืองโซโล ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาคนใหม่ แทนนาย Fauzi Bowo ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ ๕๓.๘๒ และเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๕

·          ความมั่นคงภายในประเทศยังเป็นประเด็นหลักในนโยบายด้านความมั่นคงของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการต่อต้านก่อการร้าย ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายลดแนวความคิด  นิยมความรุนแรง (de-radicalization) และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิดของกลุ่มหัวรุนแรง ต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อ และส่งเสริมการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภายรัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน โดยมี Indonesia National Counter Terrorism  Agency (BNPT) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน  และในปี ๒๕๕๕ อินโดนีเซียเปิดศูนย์รักษาสันติภาพและความมั่นคงที่เมืองโบกอร์ เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาและฝึกร่วมในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ  การจัดการภัยพิบัติและการต่อต้านการก่อการร้ายรวมทั้งความพยายามในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติข่าวกรอง เพื่อให้การดำเนินการป้องกันการก่อการร้ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น  รวมทั้งความพยายามในการป้องกันการสร้างความแตกแยกทางศาสนาโดยได้ประกาศห้ามเผยแพร่และทำกิจกรรมของกลุ่ม Ahmadiyah โดยเฉพาะในชวาตะวันออก ชวาตะวันตก และสุลาเวสี นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่ม NII (Islamic State of Indonesia)[๑๒] ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดจะเปลี่ยนอินโดนีเซียให้เป็นรัฐอิสลามได้เพิ่มมากขึ้น โดยกระจายเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างไม่มีแบบแผนและเป้าหมาย มีการขู่วางระเบิดในพื้นที่สำคัญ  ในรูปแบบ Book Bomb ส่งให้ผู้ต่อต้านแนวคิดหัวรุนแรงด้านศาสนา รวมทั้งความพยายามสอดแทรกแนวคิดที่บิดเบือนอิสลามให้แก่เยาวชน โดยเฉพาะที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ

เศรษฐกิจ

·     รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศ

การดำเนินการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจปี ๒๕๕๔ - ๒๕๖๘[๑๓] (Master Plan for Acceleration and Expansion of Indonesia Economic Development : MP๓EI) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาแห่งชาติระยะกลางปี ๒๕๕๓ - ๒๕๕๗ และแผนพัฒนาแห่งชาติระยะยาวปี ๒๕๔๘ – ๒๕๖๘ เพื่อเพิ่มและขยายการพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซียให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีความก้าวหน้า รวมทั้งนโยบายการกระจายตลาดไปในภูมิภาคต่าง ๆ การส่งเสริมการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อสนับสนุนแผน MP3EI โดยการแก้ไขกฎระเบียบด้านการลงทุน การออกมาตรการภาษีเพื่อเอื้อและจูงใจนักลงทุนต่างชาติ และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตภายในเพื่อทดแทนการนำเข้าโดยการกำหนดสาขาเป้าหมายที่ให้ความสำคัญและให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าหมายที่จะก้าวเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ ๑ ใน ๑๐ ของโลกในปี ๒๕๖๘ และเป็นลำดับที่ ๑ ใน ๖ ในปี ๒๕๙๓ และในปี ๒๕๕๕ วางแผน  ที่จะบรรลุเป้าหมายในการขยายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยมุ่งขยายตลาดสินค้าส่งออกให้ได้ถึง ๒๓๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวน ๘ ล้านคน เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ในภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ

·          พร้อม ๆ กับการส่งเสริมการลงทุน รัฐบาลอินโดนีเซียได้แก้ไขกฎระเบียบด้านการค้าเพื่อห้ามการนำเข้า-ส่งออกสิงค้าหลายชนิด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร[๑๔] ซึ่งเข้าข่ายมาตรการปกป้องการผลิตอุตสาหกรรมและตลาดภายในประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวเป็นปัญหาสำหรับผู้นำเข้า และอาจส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซียและการบริโภคภายในประเทศ ที่ผ่านมา การบริโภคภายในขยายตัว เนื่องจากการลงทุนขยายตัว หากการลงทุนชะลอตัว เศรษฐกิจอินโดนีเซียก็จะชะลอตัวไปด้วย

·     ในปี ๒๕๕๕ อินโดนีเซียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ ๖.๓ อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ ๔.๖ อัตราการว่างงานร้อยละ ๖.๘ การค้าระหว่างประเทศของอินโดนีเซียในปี ๒๕๕๔  มีมูลค่า ๓.๘๑ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙.๘ จากปีก่อนหน้า โดยมีการส่งออกมูลค่า ๒.๐๔ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ  ๒๙.๑ จากปีก่อนหน้า และมีการนำเข้ามูลค่า ๑.๗๗ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๐.๗ จากปีก่อนหน้า การลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ของอินโดนีเซียในปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๑๙.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕.๖ จากปีก่อน

·          การลงทุนต่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี ๒๕๕๕ ควบคู่กับการบริโภคภายใน เนื่องจากกลุ่มชนชั้นกลางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาคเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ ๙๒.๕ และอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีมีปริมาณจำหน่ายประมาณ ๑,๐๐๕๐,๐๐๐ คัน ซึ่งสูงกว่าการคาดการถึง ๑๑๐,๐๐๐ คัน

·           ด้านการลงทุน การลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศมีมูลค่าประมาณ ๕.๙  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราการเติบโตการลงทุนร้อยละ ๑๐.๗[๑๕]  โดยเป็นการลงทุนในสาขาการผลิตเหมืองแร่มากที่สุด ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจอินโดนีเซียอย่าต่อเนื่อง แสดงให้เห็นความมั่นใจจากนักลงทุนในเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ รวมทั้งการปรับปรุงบริการของศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (one stop investment service) ของ Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM) ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบและข้อบังคับให้โปร่งใสและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนั้น     ยังเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  การฟื้นฟูอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปรับปรุงการขนส่ง และมุ่งรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน 

·          ด้านการท่องเที่ยว ปี ๒๕๕๕ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปในอินโดนีเซียจำนวน ๗.๖๖ ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๖๖ จากปี ๒๕๕๔    

 นโยบายต่างประเทศ

·          อินโดนีเซียยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการทูตรอบด้าน (all direction foreign policy) ที่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการเสริมสร้างพลวัตที่สมดุล (dynamic equilibrium) นโยบายการทูตพหุภาคี (multilateral diplomacy) นโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจ (economic diplomacy)[๑๖] นโยบายการทูตภูมิภาค (regional diplomacy) การให้ความสำคัญต่อบทบาทนำของอาเซียน (ASEAN Centrality) และการส่งเสริมบทบาทของอินโดนีเซียทั้งในระดับภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอิสระและประสิทธิภาพ (independent and active) [๑๗] โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเท่าเทียมกันและการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศต่าง ๆ ทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ตอบสนองผลประโยชน์ของชาติ จัดการกับภัยคุกคามซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของอินโดนีเซีย และเชื่อมโยงประเด็นท้าทายของอินโดนีเซียกับประเด็นท้าทายภายนอก

·          ในระดับทวิภาคี อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยเน้น         ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และใช้กลไกทวิภาคีในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค อินโดนีเซียดำเนินนโยบายการทูตระดับภูมิภาค (regional diplomacy) โดยเห็นว่าเกื้อกูลกับนโยบายการทูตทวิภาคี โดยเน้นการส่งเสริมบทบาทของอาเซียนเพื่อตอบสนองประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง  ทั้งรูปแบบเก่าและใหม่ ตลอดจนการเสริมสร้างพลวัตของความสมดุลในภูมิภาค (dynamic equilibrium) การสร้างบทบาทนำให้แก่อาเซียน โดยเฉพาะในการแก้ไขข้อขัดแย้งในภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับจากประชาคมโลก โดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และการนำประเทศมหาอำนาจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระเบียบภูมิภาค โดยมีอาเซียนเป็นแกนนำ และการส่งเสริมประชาธิปไตยในพม่า รวมทั้งการแก้ไขความขัดแย้งในทะเลจีนใต้  ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการและส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนแปลงประเด็นสากลต่าง ๆ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การจัดการภัยพิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

***************                                                                                                               

                                                                                                                       

                                                                                                                                                                                                      กองเอเชียตะวันออก ๑

กรมเอเชียตะวันออก

                                                                                           ๑๘ มันาคม ๒๕๕๖



[๑] เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์) ได้เดินทางเยือนอินโดนีเซีย และได้พบหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียแจ้งว่า ประสงค์จะซื้อข้าวจากไทยตามที่ได้มีการตกลงกันไว้

[๒] ไทยจัดการประชุม ITEF ครั้งที่ ๑ ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และอินโดนีเซียได้จัดการประชุม ITEF ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่       ๒๘ - ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ที่จังหวัดยอกยาการ์ตา

[๓] ไทยและอินโดนีเซียได้ลงนามความตกลงทางวัฒนธรรม เมื่อปี  ๒๕๔๕ ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งฝ่ายอินโดนีเซียผ่านช่องทางทางการทูตว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นตามรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ขณะนี้ ฝ่ายอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ตามขั้นตอนที่จำเป็นตามรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย และจะแจ้งฝ่ายไทยทราบเพื่อให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ต่อไป

[๔] เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม  ๒๕๕๔ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ได้อัญเชิญกฐินพระราชทานประจำปี ๒๕๕๔ ไปทอดถวายยังวัดวิปัสสนาคราหะ เมืองบันดุง ในปี ๒๕๕๕ สอท. ณ กรุงจาการ์ตา ได้อัญเชิญกฐินพระราชทานประจำปี ๒๕๕๕ ไปทอดถวายที่วัดจาการ์ตาธรรมจักรชยะในวันที่ ๒๓ – ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕   

[๕] มีการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๕ และระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดยอกยาการ์ตา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน  ๒๕๕๐

[๖] ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยในอินโดนีเซียประมาณ ๓๙๐ คน (ตามสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอินโดนีเซีย ในขณะที่ สอท. ณ กรุงจาการ์ตา คาดการณ์ว่ามีประมาณ ๖๐๐ คน) จากจำนวนคนไทย ๑,๕๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทุนการศึกษาที่ฝ่ายอินโดนีเซียให้แก่นักศึกษาไทยไปศึกษาในอินโดนีเซีย ได้แก่ ๑) ทุน Dharmasiswa ทุนกระทรวงศึกษาธิการอินโดนีเซีย) ผ่าน สอท. อินโดนีเซียประจำประเทศไทย โดยในปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓ มีนักศึกษาไทยได้รับทุนนี้ปีละ ๒๐ คน ในปี ๒๕๕๓ - ๒๕๕๔ จำนวน ๔๕ คน และ

ในปี ๒๕๕๔ - ๒๕๕๕ มีจำนวน ๔๕  คน ๒) ทุนการศึกษาขององค์กรมุสลิม Muhammadiyah และ Nahdlatul Ulama (NU) ให้แก่นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนประมาณ ๑๕๐ และ ๑๐ ทุน ตามลำดับ โดยตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ มีนักศึกษาได้รับทุนจาก Muhammandiyah ในปี ๒๕๕๒ จำนวน ๑๙ คน ในปี ๒๕๕๓ จำนวน ๒๙ คน และในปี ๒๕๕๔ จำนวน ๖๓ คน

[๗] วิสัยทัศน์ ๒๐๒๕ ให้ความสำคัญใน ๓ สาขาหลักคือ (๑) การพึ่งพาตนเอง (๒) ความสามารถในการแข่งขัน (๓) มีอารยธรรมที่สูงส่ง

[๘] เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ประธานาธิบดียูโดโยโน เป็นประธานการประชุมระหว่างผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ สรุปว่า               จะร่วมกันรักษาเสถียรภาพทางการเมืองภายในของอินโดนีเซียเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซีย                     ความมั่นคงทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และการประสานงานที่ดี        ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นในการพัฒนาประเทศ การบังคับใช้กฎหมายและการอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชน เพื่อสร้าง                  ระบบธรรมาภิบาลและนิติรัฐ และการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง

[๙] การปรับตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุนแห่งชาติ และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รวมทั้ง การแต่งตั้งรัฐมนตรี

ช่วยว่าการฯ เพิ่มขึ้น การปรับคณะรัฐมนตรีส่งผลให้จำนวนรัฐมนตรีของพรรค PD ลดลงจาก ๖ ตำแหน่ง เหลือ ๕ ตำแหน่ง แต่ยังได้รับจัดสรรกระทรวงการค้า กระทรวงรัฐวิสาหกิจ กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พรรค Prosperous Justice Party (PKS) ลดลงจาก ๔ ตำแหน่ง เหลือ ๓ ตำแหน่ง ในขณะที่พรรค Golkar ยังคงตำแหน่งรัฐมนตรีเท่าเดิมคือ

๓ ตำแหน่ง

[๑๐] พลโทนอร์แมน (Norman) เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ประธานาธิบดี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ก่อนที่จะได้รับ      แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการหลักนิยม ยุทธศึกษา และการฝึกของกองทัพอินโดนีเซีย

[๑๑] ได้แก่ (๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (๒) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและแร่ธาตุ (๓) ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุน (BKPM) และ (๔) ประธานคณะกรรมการสำนักงานที่ดินแห่งชาติ

[๑๒] ในปี ๒๕๕๔  เดือนมีนาคม มีเหตุระเบิดทางพัสดุไปรษณีย์ที่กรุงจาการ์ตา เดือนเมษายน เหตุระเบิดพลีชีพที่มัสยิด Adz-Dzikro บริเวณ                 สถานีตำรวจ Cirebon ชวาตะวันตก เดือนมิถุนายน เหตุระเบิดขนาดเล็กที่เมือง Lubuk Kinggau จังหวัดสุมาตราใต้ และเดือนกันยายนที่เมืองสุรากาตา จังหวัดโซโล ชวากลาง 

[๑๓] แผนแม่บทฯ ประกอบด้วย ๘ โครงการหลัก ได้แก่ การเกษตร เหมืองแร่ อุตสาหกรรม กิจการทางทะเล การท่องเที่ยว โทรคมนาคม และ

๒๒ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ พาณิชยนาวี สิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม เหล็ก อาวุธยุทโธปกรณ์ ปาล์มน้ำมัน ยาง โกโก้              ปศุสัตว์ ป่าไม้ น้ำมันและก๊าซ ถ่านหิน นิกเกิ้ล ทองแดง บ๊อกไซด์ ประมง ท่องเที่ยว การพัฒนาพื้นที่ Jadodetabek การพัฒนาช่องแคบซุนดา และอุปกรณ์การขนส่ง และ ๖ เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ เขตสุมาตรา เขตชวา เขตกาลิมันตัน เขตสุลาเวสี เขตบาหลี -นูสาเต็งการา และเขตปาปัว -

เคปูลาอูน มาลูกุ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในวงเงินจำนวน ๔๗๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ การสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจหลักของอินโดนีเซียที่อยู่ภายใต้โครงการเขตเศรษฐกิจ และการพัฒนาในสาขาโครงสร้างพื้นฐาน สาขาพลังงาน การสร้างความเชื่อมโยงภายในประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร

[๑๔] ได้แก่ (๑) ให้ผู้ส่งออกหรือผู้ให้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศกลับเข้ามาฝากกับธนาคารในประเทศเท่านั้น โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี ๒๕๕๕(๒) ให้ผู้ส่งออกถ่านหินจะต้องแปรรูปถ่านหินเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพสูงก่อนการส่งออก เนื่องจากถ่านหินอินโดนีเซียมีคุณภาพต่ำ ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีและเงินลงทุนสูง โดยในปี ๒๕๕๕ รัฐบาลอินโดนีเซียจะเริ่มเก็บภาษีส่งออกถ่านหินที่ไม่ได้แปรรูปเพื่อเร่งให้ผู้ประกอบการสร้างโรงงานเผาแปรรูปก่อนการมีผลใช้บังคับ (๓) ห้ามนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ในธุรกิจสถาบันการเงิน และการใช้กฎระเบียบ multi-licensing โดยนักลงทุนที่ลงทุนในสถาบันการเงินซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทในอินโดนีเซียจะไม่สามารถถือหุ้นได้เกินกว่าร้อยละ ๕๐ และสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตใบเดียวไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ทั้งหมด (๔) เฉพาะผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกที่ท่าอากาศยานซูการ์โน-ฮัตตา ได้ และสินค้าที่จะนำออกจากท่าจะต้องถูกตรวจสอบเป็นรายการ ไม่ใช่ทั้งตู้สินค้า (๕) รัฐสภาอินโดนีเซียได้อนุมัติกฎหมายเวนคืนที่ดิน ทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดราคาซื้อขายที่ดินที่จะเวนคืนได้ตามราคาตลาด เพื่อให้การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานพัฒนาได้เร็วขึ้น (๖) ควบคุมการนำเข้าผักและผลไม้ที่มีความเสี่ยงสูง และกำหนดจำนวนท่าเรือ / ท่าอากาศยานนำเข้า (จากเดิมให้มีผลวันที่

๑๙ มีนาคม ๒๕๕๕ แต่เลื่อนออกไปเป็นเดือนกันยายน ๒๕๕๕) (๗) ห้ามนำเข้าสัตว์น้ำที่มีในน่านน้ำอินโดนีเซีย (๘) จำกัดการส่งออกสินแร่

โดยเก็บภาษีส่งออกสินแร่ ร้อยละ ๒๐ กับสินแร่ที่ไม่ผ่านกระบวนการ ๑๖ ชนิด และห้ามส่งออกสินแร่ที่ไม่ผ่านกระบวนการในปี ๒๕๕๗

[๑๕] สถาบัน Fitch Rating Agency ยกอันดับความน่าเชื่อถือการลงทุนของอินโดนีเซียจากประเทศที่มีความเสี่ยงจากระดับ BBB- Positive Outlook ไปสู่ระดับ BBB-  Stable Outlook ซึ่งเป็นระดับที่มีเสถียรภาพและเหมาะสมแก่การลงทุน และ World Economic Forum ได้จัดอันดับ       ขีดความสามารถในการแข่งขันของอินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ ๔๔ ของโลก โดยไทยอยู่ในลำดับที่ ๓๘

[๑๖] นโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการทูตทวิภาคี ซึ่งถือเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อส่งเสริมการพัฒนา            ประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมสวัสดิภาพของประชาชน โดยการเปิดสำนักงานผู้แทนการค้า การจัดนิทรรศการ          การอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจและเวทีธุรกิจ

[๑๗] ดร. อาร์ เอ็ม มาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียมองว่า โลกปัจจุบันเป็นช่วงหลังยุคสงครามเย็น อำนาจทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่สามารถครอบครองได้โดยอาศัยความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และการเมืองเป็นตัวกำหนดอำนาจในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ทุกประเทศ รวมทั้งอินโดนีเซียสามารถมีโอกาสเป็นมหาอำนาจใหม่ได้ โดยประเทศกำลังพัฒนามีความเท่าเทียมกัน มีการพัฒนาความร่วมมืออย่างสันติ นโยบายต่างประเทศอินโดนีเซียจะต้องสามารถควบคุมการจัดการอำนาจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยไม่ละเลยอำนาจทางการเมืองของประเทศพัฒนาแล้วด้วย และมองการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจในเอเชีย เป็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ไม่มีปัจจัยทางการเมืองเข้าแทรกแซง และยึดแนวทางพหุภาคี (pluralism) ทำให้มีโอกาสการสร้างความร่วมมือมากขึ้น โดยอินโดนีเซียตอบรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศอาเซียน และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 


**************
เมษายน 2556



กองเอเชียตะวันออก 1 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2643-5195-6 Fax. 0-2643-5197 E-mail : [email protected]

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-126-document.doc