สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.พ. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 171,032 view


สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต
The Democratic Republic of Timor-Leste

ข้อมูลทั่วไป

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตย ปัจจุบัน มีสำนักงาน United Nations Mission in Timor-Leste (UNMIT) สนับสนุน โดยเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่ติมอร์-เลสเต ในด้านการปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคง การเสริมสร้างการปฏิบัติตามกฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล
ประมุข (ประธานาธิบดี) (ประธานาธิบดี) นายตาว มาตัน ร๊วก (Taur Matan Ruak)
หัวหน้ารัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) (นายกรัฐมนตรี) นายเคย์ ราลา ซานานา กุสเมา (Kay Rala Xanana Gusmao)
หัวหน้า UNMIT นางอมีราห์ ฮัค (Ameerah Haq)

ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญ
1. นายโจเซ หลุยส์ กูเทอเรส (José Luis Guterres) - รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
2. นายคอนสเเตนซิโอ ปินโต (Constâncio Pinto) - ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ                                                                                                                                         3. นาย Fernando La Sama de Araujo - ประธานสภาผู้แทนราษฎร

วันประกาศเอกราช 20 พฤษภาคม 2545
วันเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ 27 กันยายน 2545 (เป็นประเทศที่ 191)
เมืองหลวง กรุงดิลี (Dili)
พื้นที่ 14,874 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 1,177,834 คน 
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ร้อยละ 91.4) คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ (ร้อยละ 2.6) อิสลาม (ร้อยละ 1.7)
ภาษา ภาษาเตตุมและภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ภาษาอินโดนีเซียและภาษาอังกฤษเป็นภาษาติดต่องาน
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย- ติมอร์ตะวันออก 20 พฤษภาคม 2545 (เป็นประเทศที่สามต่อจากจีนและนอร์เวย์)
สำนักงานของไทยในติมอร์ฯ กรุงดิลี (สถานเอกอัครราชทูต - เปิดทำการเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2545) โดยปัจจุบันมีนายธวัชชัย คูภิรมย์ เป็นเอกอัครราชทูต (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2555)
Royal Thai Embassy
Avenida de Portugal Road, Motael,
Dili, Timor-Leste
โทร. +670 3310609
โทรสาร +670 3322179
สำนักงานของติมอร์ฯ ในไทย กรุงเทพฯ (สถานเอกอัครราชทูต) โดยมีนายโชเอา เฟรตัส เด กามารา (João Freitas de Câmara) เป็นเอกอัครราชทูตติมอร์ฯ คนแรก (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2551และพ้นหน้าที่เมื่อ 30 พ.ย.2555) ปัจจุบัน นางสาวอาตานาเซีย พิเรส (Atanasia Pires) ดำรงตำเเหน่งอุปทูตฯ

The Embassy of the Democratic Republic of Timor-Leste
Thanapoom Tower, 7th Floor,
1550 New Petchburi Road, Makasan,
Ratchathewi, Bangkok 10400

การเมืองการปกครอง

สถานการณ์ทั่วไป

ภูมิหลัง

- ติมอร์-เลสเตเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสตั้งแต่ปี 2063 (ค.ศ. 1520) ภายหลังโปรตุเกสถอนตัวออกไป เมื่อปี 2518 อินโดนีเซียได้ส่งทหารเข้ายึดครองติมอร์-เลสเตโดยผนวกเข้าเป็นจังหวัดที่ 27 อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียยินยอมให้ชาวติมอร์-เลสเตลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย ในวันที่ 30 สิงหาคม 2542 ประชาชนชาวติมอร์-เลสเตกว่าร้อยละ 80 ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในติมอร์-เลสเตโดยกลุ่มกองกำลัง militia ที่นิยมอินโดนีเซีย สหประชาชาติได้ตัดสินใจจัดตั้งกองกำลังนานาชาติ (International Force in East Timor – INTERFET) เมื่อ 15 กันยายน 2542 เพื่อส่งเข้าไปรักษาสันติภาพในติมอร์-เลสเต ก่อนที่จะประกาศเอกราชในวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 เริ่มตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2545 - 19 พฤษภาคม 2547 สหประชาชาติดำเนินการสนับสนุนติมอร์-เลสเตภายใต้ United Nations Mission of Support in East Timor (UNMISET)

การเมือง

- ภายหลังติมอร์-เลสเตได้รับเอกราชแล้ว ปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือ ระบบการเมืองภายในประเทศยังคงอยู่ในระยะการสร้างชาติ มีกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุกฝ่ายต่างให้การยอมรับบทบาทของนายซานานา กุสเมา ให้ดำรงตำแหน่งประมุขคนแรกของประเทศ แต่ติมอร์-เลสเตก็มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองต่าง ๆ รวมถึงปัญหาภายในพรรค National Council for Timorese Resistance (CNRT) ซึ่งนายกุสเมาเคยเป็นผู้นำ และเป็นกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทมากที่สุดในการเรียกร้องให้ติมอร์-เลสเตแยกตัวออกจากอินโดนีเซีย

- UNTAET ได้พยายามสร้างความพร้อมเพื่อให้ติมอร์-เลสเตสามารถปกครองตนเองภายหลังได้รับเอกราช โดยเปิดโอกาสให้ชาวติมอร์-เลสเตเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อาทิ การยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง ให้การศึกษาแก่ชาวติมอร์-เลสเตเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ชาวติมอร์-เลสเตมีส่วนร่วม UNTAET ในการปกครองตนเอง อาทิ การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ (National Legislative Council – NLC)

- เมื่อ 30 สิงหาคม 2544 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวติมอร์-เลสเตกว่าร้อยละ 91 ร่วมลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทน 88 คน เพื่อเข้าร่วมในสภาผู้แทน (Constitutient Assembly) ซึ่งรับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของติมอร์-เลสเต ในเวลาเดียวกัน UNTAET ได้ประกาศรัฐบาลชั่วคราวชุดที่สองเพื่อบริหารติมอร์-เลสเตจนได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 รัฐบาลชุดที่สองมี ดร.มาริ อาลคาทิริ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังติมอร์-เลสเตได้รับเอกราช รัฐบาลชั่วคราวชุดนี้ได้แปลงสภาพเป็นรัฐบาลชุดแรกของประเทศ

- เมื่อ 14 เมษายน 2545 UNTAET ได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต ซึ่งประธานคณะกรรมการเลือกตั้งได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้นายซานานา กุสเมา เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ 82.69 ในขณะที่นายฟรานซิสโก เซเวีย โด อามาราว คู่แข่งคนเดียว ได้รับคะแนนเพียงร้อยละ 17.31 โดยเลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้ทำพิธีสาบานตนให้นายกุสเมาเข้ารับตำแหน่งในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 19 พฤษภาคม 2545

- ติมอร์-เลสเตยังประสบปัญหาความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ อาทิ ปัญหาการขาดงบประมาณ ปัญหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อัตราการว่างงานสูง การศึกษา การแพทย์ การขาดแคลนบุคลากรในสาขาต่าง ๆ ปัญหาสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่ถูกทำลายไป ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟู การรักษาความมั่นคงภายใน โดยเฉพาะปัญหาการป้องกันภัยคุกคามจากกองกำลัง militia ดังนั้น ภายหลังได้รับเอกราชแล้ว ติมอร์-เลสเตได้ขอให้กองกำลังทหารและบุคลากรจากสหประชาชาติและบางประเทศ คงอยู่ในติมอร์-เลสเตต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยรักษาความสงบและความมั่นคงภายใน โดยเฉพาะในขณะที่ติมอร์-เลสเตยังไม่สามารถจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเอง (East Timor Defence Force – ETDF) ให้แล้วเสร็จ กอปรกับติมอร์-เลสเตจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากภายนอก ทั้งในกรอบทวิภาคี และกรอบพหุภาคี อาทิ จากสหประชาชาติ และกรอบการประชุมกลุ่มประเทศผู้บริจาคแก่ติมอร์-เลสเต


- ความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ ทำให้ติมอร์-เลสเตประสบปัญหาเรื่องการรักษาความมั่นคงภายใน ดังนั้น ในช่วงแรกของการเป็นประเทศเอกราช ติมอร์-เลสเตจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการทูต เพื่อให้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ติมอร์-เลสเตจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีโดยเฉพาะกับอินโดนีเซีย เพื่อป้องกันปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างกันบริเวณชายแดนที่ติดกับติมอร์ตะวันตกของอินโดนีเซีย การเจรจากรณี Timor Gap ซึ่งเป็นปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างติมอร์-เลสเตกับออสเตรเลีย รวมถึงการเข้าร่วมในองค์กรที่สำคัญในภูมิภาค อาทิ อาเซียน ซึ่งในทางการเมืองจะเป็นหลักประกันที่ดีต่ออธิปไตยและความมั่นคงของติมอร์-เลสเต หรือการเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศในแปซิฟิกใต้ จะทำให้ติมอร์-เลสเตได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรและด้านการค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

- เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545 คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้รับรองมติ ที่ 1392 (2002) ขยายเวลาของปฏิบัติการภายใต้อาณัติ UNTAET ออกไปจนถึงวันประกาศเอกราชติมอร์-เลสเตในวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 และหลังจากติมอร์-เลสเตเป็นเอกราชแล้ว สหประชาชาติจะยังคงภารกิจอยู่ต่อไปอีกประมาณ 2 ปี เพื่อดูแลช่วยเหลือทางด้านการบริหารสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงบริเวณชายแดน โดยเปลี่ยนชื่อเป็นปฏิบัติการ UNMISET (UN Mission of Support in East Timor)

- เมื่อ 28 มีนาคม 2548 คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีมติรับรองการขยายเวลาปฏิบัติงานของสหประชาชาติในติมอร์-เลสเต โดยเปลี่ยนชื่อสำนักงานจาก UNMISET เป็น UNOTIL (United Nations Office in Timor-Leste) มีวาระงาน 1 ปี ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 หน้าที่สำคัญคือ สนับสนุนการพัฒนาสถาบันรัฐที่สำคัญของติมอร์-เลสเต การพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจัดฝึกอบรมการปกครองแบบประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิมนุษยชน

- เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 ทหาร 591 นาย จากทางตะวันตกของประเทศได้ไปกรุงดิลีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาที่พวกตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในกองทัพ ทั้งนี้ ทหารกลุ่มนี้เคยชุมนุมแล้วครั้งหนึ่งจนถูกรัฐบาลปลดประจำการเมื่อต้นปี 2549 อย่างไรก็ดี ตำรวจที่ถูกส่งไปควบคุมสถานการณ์จำนวนหนึ่งได้แปรพักตร์ไปเข้าพวกกับทหารที่ประท้วง กลายเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ปัญหากลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอัลคาทิริลาออก (นายอัลคาทิริถูกกล่าวหาว่าจัดหาอาวุธให้กองกำลังจำนวนหนึ่งใช้กำจัดศัตรูการเมือง) สถานการณ์ลุกลามจนเกิดเหตุรุนแรงทั่วกรุงดิลี โดยเฉพาะเมื่อมีกลุ่มอันธพาลฉวยโอกาสสร้างความวุ่นวาย กลไกของรัฐล้มเหลว ไม่มีตำรวจ ทหาร ข้าราชการทำงาน รัฐบาลตัดสินใจเชิญออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และโปรตุเกส ให้ส่งกองกำลังจำนวนประมาณ 2,500 นายไปช่วยรักษาความสงบเรียบร้อย

นายกรัฐมนตรีอัลคาทิริได้ลาออกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 และนายโฮเซ รามอส-ฮอร์ตา ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2549

- UNOTIL สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 25 สิงหาคม 2549 คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติได้ตั้ง United Nations Integrated Mission in Timor-Leste (UNMIT) ขึ้นมาแทนเพื่อสนับสนุนรัฐบาลติมอร์ฯ ในการสร้างเสถียรภาพ ประชาธิปไตย และการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและพลเรือน 1,608 คน และเจ้าหน้าที่ทหารประสานงาน 34 คน UNMIT มีระยะเวลาปฏิบัติงานเบื้องต้นถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2550

เศรษฐกิจการค้า

เงินตรา USD (1 USD ) ประมาณ 29.07 บาท สถานะ เม.ย.2556)
ทรัพยากรสำคัญ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน สัตว์น้ำ สิ่งทอ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ กาแฟ เนื้อมะพร้าวแห้งสำหรับผลิตน้ำมัน หินอ่อน
ตลาดส่งออกที่สำคัญ สหรัฐฯ เยอรมนี โปรตุเกส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ซามัว สิงคโปร์ แคนาดา ออสเตรเลีย ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย
สินค้านำเข้าที่สำคัญ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหาร (ข้าว แป้งสาลี) เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เวียดนาม จีน โปรตุเกส มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไทย เดนมาร์ก
สินค้าส่งออกของไทย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย  ข้าวโพด ผลไม้กระป๋องแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป  แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องสำอาง สบู่ เเละผลิตภัณฑ์รักษาสิว 
สินค้านำเข้าจากติมอร์ฯ เครื่องจักรเเละส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน  เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องใช้เเละเครื่องตกเเต่งภายในบ้าน เเละสิ่งพิมพ์                                                                                                                                                                                                  การลงทุน  ไม่มีการลงทุนของติมอร์-เลสเตในไทย ส่วนภาคเอกชนไทยไปลงทุนในธุรกิจด้านบริการในติมอร์ฯ เช่น ร้านอาหาร และ สปา                             คนไทยในติมอร์ฯ  ประมาณ 40 คน (ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ร้านเสริมสวย และเเม่บ้าน) 

เศรษฐกิจ

- ติมอร์-เลสเตยังไม่มีงบประมาณเป็นของตนเองในการฟื้นฟูและบูรณะประเทศ งบประมาณส่วนใหญ่ที่ใช้ในการบูรณะประเทศมาจากความช่วยเหลือจากต่างประเทศและการรับความช่วยเหลือจากนานาชาติผ่านที่ประชุมประเทศผู้บริจาคเงินให้ติมอร์-เลสเต (Donor’s Meeting) ซึ่งจัดการประชุมแล้ว 5 ครั้ง คือ ครั้งแรกที่กรุงโตเกียว เมื่อเดือนธันวาคม 2542 ครั้งที่สองเมื่อเดือนมิถุนายน 2543 ที่กรุงลิสบอน ครั้งที่สามเมื่อเดือนธันวาคม 2543 ที่กรุงบรัสเซลส์ และครั้งที่สี่ที่กรุงออสโล เมื่อเดือนธันวาคม 2544 ซึ่งประเทศต่างๆ ได้สัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ติมอร์-เลสเตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การประชุมฯ ครั้งสุดท้ายมีขึ้นระหว่าง 14-15 พฤษภาคม 2545 ที่กรุงดิลี

- กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในติมอร์-เลสเตจะเกี่ยวข้องกับโครงการฟื้นฟูบูรณะประเทศที่ดำเนินการโดย UNMISET อย่างไรก็ดี สภาพความเสียหายในช่วงการก่อความไม่สงบของกองกำลัง militia ได้ทำลายอาคารบ้านเรือน ระบบการสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานเกือบทั้งหมด รวมทั้ง เอกสารหลักฐานทางราชการ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต ทำให้นักลงทุนจากภายนอกยังไม่มั่นใจที่จะเข้าไปลงทุนอย่างถาวร อย่างไรก็ดี รัฐบาลและ UNMISET ได้พยายามแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น โดยการจัดระเบียบทางกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนชาวต่างชาติ อาทิ การดูแลสัญญาเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการของบริษัทต่างชาติ

- ลู่ทางการค้าการลงทุนในติมอร์เลสเตที่มีศักยภาพ คือ ไร่กาแฟ ภาคการประมง ธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงแหล่งทรัพยากรประเภทน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในเขต Timor Gap ซึ่งอยู่ระหว่างติมอร์-เลสเตกับออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี ธุรกิจเหล่านี้ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและสนับสนุนด้านการเงินจากนักลงทุนภายนอกอยู่มาก เนื่องจากติมอร์-เลสเตยังขาดเงินทุน และชาวติมอร์-เลสเตยังขาดทักษะในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กอปรกับในปัจจุบันมีอัตราผู้ว่างงานสูงประมาณร้อยละ 80 ซึ่งในส่วนของนักธุรกิจไทยจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ของระเบียบรวมถึงอุปสรรคดังกล่าวต่าง ๆ ข้างต้น เพื่อประกอบการพิจารณาถึงความเสี่ยงในการลงทุน และขณะนี้สินค้าส่วนใหญ่ในติมอร์-เลสเตนำเข้าจากออสเตรเลียเพื่อรองรับการบริโภคของคณะเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติและคณะทูต

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

 ภาพรวม

 

·       ไทยและติมอร์-เลสเต สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และได้ครบรอบ ๑๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี ๒๕๕๕[๑]  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลีเปิดทำการเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ ปัจจุบันนายธวัชชัย คูภิรมย์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทู ณ กรุงดิลี[๒] และนางสาวอาตานาตาเซีย พิเรส (Atanasia Pires) ดำรงตำแหน่งอุปทูตฯ ติมอร์-เลสเตประจำประเทศไทย

·       ไทยและติมอร์ฯ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนสำคัญได้แก่ นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรี  ประจำกระทรวงการต่างประเทศ เยือนติมอร์ฯ เพื่อเข้าร่วมงานฉลองครบ ๑๐ ปีการได้รับเอกราชของติมอร์ฯ     ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕  และ นายพงษ์ศักดิ์ รัตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยือนติมอร์ฯ เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจด้านพลังงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างไทยและติมอร์ฯ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ในส่วนของติมอร์ฯ นายซาการีอัส อัลบาโน ดา คอสตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๖-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕  ส่วนนายเคย์ ราลา ซานานา กุสเมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล เมื่อวันที่ ๖-๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕  สมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีติมอร์ฯ                                                                                                        ·       ความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทย- ติมอร์ ได้แก่ ๑) ความร่วมมือทางวิชาการผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.)  โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ติมอร์ฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนความร่วมมือทางวิชาการ ๓ ปี (ปี ๒๕๕๖ - ๒๕๕๘)  โดยสาขาความร่วมมือที่ติมอร์ฯ สนใจ ได้แก่ด้านการเกษตร สาธารณสุข พลังงาน ฯลฯ ๒) ความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงปิโตรเลียมและทรัพยากรแร่ธาตุติมอร์ฯ และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Timor GAP ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติติมอร์ฯ ทั้งนี้ ติมอร์ฯ ประสงค์จะเรียนรู้ประสบการณ์ของไทยในการบริหารจัดการและการจัดตั้งบริษัทเอกชนด้านพลังงานจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

 ความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคง

·       ไทยได้เข้าไปมีบทบาทในการรักษาสันติภาพและการพัฒนาประเทศติมอร์ฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒  ก่อนก่อตั้งประเทศติมอร์ฯ โดยไทยได้เข้าไปปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติในหลายภารกิจ อาทิUN Mission in East Timor (UNAMET) International Force in East Timor (INTERFET) UN Transitional Administration in East Timor (UNTAET) และ UN Mission of Support in East Timor (UNMISET)นายทหารไทยดำรงตำแหน่งสำคัญในกองกำลังรักษาสันติภาพ ได้แก่ พลตรี ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (ยศในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองกำลัง INTERFET พลโท บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ (ยศในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลัง UNTAET (กรกฎาคม ๒๕๔๓ - สิงหาคม ๒๕๔๔) และพลโท วินัย ภัททิยกุล(ยศในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลัง UNTAET/UNMISET (กันยายน ๒๕๔๔ - สิงหาคม ๒๕๔๕)

·       เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๘ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รับรองข้อมติที่๑๗๐๔ (๒๐๐๖) จัดตั้ง United Nations Integrated Mission in Timor-Leste (UNMIT)  โดยเน้นภารกิจการฟื้นฟูและสร้างเสถียรภาพแก่ติมอร์ฯ ซึ่งสหประชาชาติได้แจ้งขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐบาลไทยจึงได้สนับสนุนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คัดเลือกนายตำรวจที่มีประสบการณ์เข้าร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพ (อีกครั้ง) จำนวน ๔๑ นาย เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ UNMIT โดยมีการผลัดเปลี่ยนเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง บทบาทของตำรวจไทยใน UNMIT ได้รับความชื่นชมอย่างมากจากสหประชาชาติและติมอร์ฯ โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือด้านการพัฒนามนุษยธรรมและการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ

·       เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ รัฐบาลติมอร์ฯ และ UNMIT ได้ร่วมกันจัดทำ Joint Transition Plan ให้เป็นกลไกร่วมในการกำกับดูแลและดำเนินการการส่งมอบภารกิจของ UNMIT ให้กับรัฐบาลติมอร์ฯ ก่อนที่จะถอนกำลังออกไปในปลายปี ๒๕๕๕ เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านจากการรักษาสันติภาพ (peacekeeping) ไปสู่การสร้างรัฐ (state-building) ที่มั่นคง สันติ และมีพัฒนาการ เป็นไปอย่างราบรื่น โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงเพื่อกำกับดูแลคณะทำงาน ๗ คณะซึ่งรับผิดชอบในแต่ละด้านที่สำคัญและเร่งด่วน

·       เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๕ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ประกาศถอนกองกำลัง UNMIT ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ และถอนกองกำลัง International Stabilization Force ของนิวซีแลนด์และออสเตรเลียออกจากติมอร์ฯ โดยให้คงไว้เพียง UN Resident Coordinator และ UN Country Team เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ติมอร์ฯ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ถอนกองกำลังออกจากติมอร์แล้ว

 

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

การค้า

 

·       การค้าระหว่างไทยกับติมอร์ฯ ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากติมอร์ฯ เป็นตลาดขนาดเล็ก ภาคธุรกิจ มีขนาดไม่ใหญ่ และสินค้าส่งออก (กาแฟ เนื้อมะพร้าวสำหรับผลิตน้ำมัน หินอ่อน) ไม่ใช่สินค้าที่ไทยต้องการ

·       การค้าระหว่างไทยกับติมอร์-เลสเต ในปี ๒๕๕๕ มีมูลค่า ๑๕.๘๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากปี ๒๕๕๔ ร้อยละ ๑.๐๖ โดยเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกจากไทย (นำเข้าจากติมอร์ฯ ๔๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และส่งออก ๑๕.๘๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า ๑๕.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ปริมาณการค้า  ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ มีมูลค่า ๒.๒๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกจากไทย  ๒.๒๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากติมอร์ฯ ๑ หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า ๒.๒๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

·       สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังติมอร์ฯ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ น้ำตาล ข้าวโพด ผลไม้กระป๋องแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป แผงสวิทช์และแผงคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาสิว  สินค้าที่ไทยนำเข้าจากติมอร์ฯ  ได้แก่ เครื่องจักรและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องใช้เบ็ตเตล็ด เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้าน และ สิ่งพิมพ์     

 การลงทุน

·      การลงทุนระหว่างไทยกับติมอร์ฯ ยังมีไม่มากนัก โดยยังไม่มีการลงทุนของติมอร์ฯ ในไทย ในขณะที่ภาคเอกชนไทยไปลงทุนในธุรกิจด้านบริการในติมอร์ฯ เช่น ร้านอาหาร และสปา

·      ติมอร์ฯ มีศักยภาพและเป็นโอกาสในการลงทุนของไทย โดยเฉพาะการก่อสร้าง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานซึ่งติมอร์ฯ มีความต้องการ และด้านอุตสาหกรรมซึ่งนักธุรกิจไทยสามารถไปลงทุน        เพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกส (Community of Portuguese Language Countries: CPLP[๓]) ซึ่งติมอร์ฯ ได้รับความช่วยเหลือในรูปสิทธิทางภาษี ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อขอสิทธิพิเศษทางการค้า อาทิ จีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย

พลังงาน

·      เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๒ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติติมอร์ฯ และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน และมีการจัดตั้ง Joint Steering Committee เพื่อร่วมมือด้านพลังงานในประเด็นเกี่ยวกับ (๑) การฝึกอบรมบุคลากรของติมอร์ฯ สาขาปิโตรเลียม (๒) การจัดตั้งสถาบันปิโตรเลียมในติมอร์ฯ และ (๓) แผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาไฮโดรคาร์บอนในติมอร์ฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ - ๓ เมษายน ๒๕๕๒ ประชุมครั้งที่ ๒ ที่กรุงดิลี เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ และประชุมครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ที่จังหวัดภูเก็ต

·  เมื่อวันที่  ๘ กันยายน ๒๕๕๓ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติติมอร์ฯ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาโรงแยกก๊าซธรรมชาติเหลวและอุตสาหกรรมส่วนขยายด้านปิโตรเคมี โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พัฒนาและสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติเหลวและอุตสาหกรรมส่วนขยายด้านปิโตรเคมีในติมอร์ฯ ซึ่งจะเป็นการนำร่องแผนการลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต่อไปในอนาคต

·      ล่าสุด เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม - ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖  นายพงษ์ศักดิ์ รัตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนาย Alfredo Pires รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมและทรัพยากรแร่ธาตุติมอร์ฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านพลังงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมเพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงงานแยกคอนเดนเสทและการซื้อขายคอนเดนเสทระหว่างกัน โดยมีการร่วมลงนามในความตกลงระหว่างผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับผู้บริหารบริษัท Timor GAP อีก ๒ ฉบับ ได้แก่ ๑) Joint Trading Agreement (JTA)  และ ๒) Joint Cooperation Agreement (JCA) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  กับบริษัท Timor GAP โดยความตกลงทั้งสองฉบับมีสาระสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านปิโตรเลียมระหว่างกัน  การตั้งคณะทำงานศึกษาโครงการที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาบุคลากร รวมถึงความเป็นไปได้ในการเจรจาโอกาสทางธุรกิจด้านพลังงานระหว่างกันในอนาคต

 

ความร่วมมือทางวิชาการ

·       ไทยดำเนินนโยบายการทูตเพื่อสนับสนุนการพัฒนาติมอร์ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มให้ความร่วมมือทางวิชาการภายใต้สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ความช่วยเหลือรวมมูลค่า ๕๒.๘๗ ล้านบาท ปี ๒๕๔๖-๒๕๕๔

·       การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ เมื่อวันที่๗ สิงหาคม ๒๕๔๖ เพื่อดำเนินแผนความร่วมมือทางวิชาการระยะ ๓ ปี (ปี ๒๕๔๗-๒๕๕๕) ในสาขาความร่วมมือจำนวน ๑๐ สาขา ได้แก่ ๑) การเกษตร ๒) สาธารณสุข ๓) ประมง ๔) การค้าการลงทุน๕) การท่องเที่ยว ๖) พลังงาน ๗) การพัฒนาขีดความสามารถการเจรจาปักปันเขตแดนน่านน้ำ ๘) การพัฒนาขีดความสามารถด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในประเทศ ๙) การใช้เทคโนโลยีภูมิศาสตร์สารสนเทศ และ ๑๐) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต่อมาได้เห็นชอบร่วมกันในการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจดังกล่าวออกไปอีก ๒ ปี (ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๑) ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการตามแผนความร่วมมือทางวิชาการ ๓ ปี (ปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗) โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเมื่อครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๙  พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ที่ กรุงเทพฯ

·       รัฐบาลไทยมีแผนจัดทำโครงการหมู่บ้านต้นแบบตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (Self-Sufficiency Village Model) ในพื้นที่เมืองเฮรา กรุงดิลี เป็นโครงการนำร่อง ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญ  ๒ คนไปดำเนินโครงการระหว่างวันที่ ๓๐ กรกฎาคม - ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔ และในเดือนกันยายน ๒๕๕๕    สอท. ณ กรุงดิลี ได้จัดทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบหมู่บ้าน            

 

การเยือนของฝ่ายไทย

·         พลเรือเอก ณรงค์ ยุทธวงศ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดตรวจเยี่ยมและบำรุงขวัญกองกำลังทหารไทย ในติมอร์ฯ เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๔

·         นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนติมอร์ฯ อย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมพิธีฉลองเอกราชของติมอร์ฯ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕

·         นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนติมอร์ฯ อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔

·         พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เยือนติมอร์ฯ เพื่อเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุม  ASEAN Regional Forum Experts and Eminent  Persons ครั้งที่ ๕ ณ กรุงดิลี เมื่อวันที่ ๒๗ - ๒๘ มกราคม   ๒๕๕๔

·         พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เยือนติมอร์ฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔

·         นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เยือนติมอร์ฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุม International Conference of Asian Political Parties (ICAPP) – Centrist Asia Pacific Democrats International (CAPDI) Joint Conference on Peace and Reconciliation in Asia เมื่อวันที่ ๒๔ - ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕

·         นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เยือนติมอร์ฯ เพื่อเข้าร่วมงานฉลองครบ ๑๐ ปีการได้รับเอกราชของติมอร์ฯ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่  ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕

·         นายพงษ์ศักดิ์ รัตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยือนติมอร์ฯ เพื่อลงนามบันทึก   ความเข้าใจด้านพลังงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างไทยและติมอร์ฯ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม–๑ กุมภาพันธ์   ๒๕๕๖

 การเยือนของฝ่ายติมอร์ฯ

·         นายเคย์ ราลา ซานานา กุสเมา ในฐานะประธานพรรค CNRT เยือนไทย เมื่อวันที่ ๑ - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

·         นายโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา ในฐานะรองประธานพรรค CNRT เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ครั้งที่ ๑๐ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ - ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

·         นายโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและสารนิเทศ เยือนไทยอย่าง เป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๓ - ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๕

·         นายเคย์ ราลา ซานานา กุสเมา ประธานาธิบดี เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล เมื่อวันที่ ๖ - ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเยี่ยมชมโครงการตามพระราชดำริ ที่ศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้

·         นาย Mari Bim Amude Alkatiri นายกรัฐมนตรี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๕ - ๘  สิงหาคม ๒๕๔๖

·         นายเคย์ ราลา ซานานา กุสเมา ประธานาธิบดี เยือนไทยเพื่อกล่าวปาฐกถาในการประชุม The CEO Dialogue เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน - ๓ ธันวาคม ๒๕๔๗

·         นายเคย์ ราลา ซานานา กุสเมา ประธานาธิบดี เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Asia Leadership Forum เมื่อวันที่ ๑๓ - ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๘

·         นายโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา ประธานาธิบดี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๓ มกราคม   ๒๕๕๒

·         นายซาการีอัส อัลบาโน ดา คอสตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๕ - ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๒

·         นายโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา ประธานาธิบดี เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย เมื่อวันที่ ๒๘ - ๒๙ เมษายน ๒๕๕๓

·         นายโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา ประธานาธิบดี เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม - ๒ เมษายน ๒๕๕๔

·         นายเคย์ ราลา ซานานา กุสเมา นายกรัฐมนตรี เดินทางผ่านประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนเครื่องบินเดินทางต่อไปยังประเทศซูดานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔

·         นายซาการีอัส อัลบาโน ดา คอสตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๖ - ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

·         นายโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา ประธานาธิบดี เยือนไทยเป็นการส่วนตัวเพื่อเข้าร่วมการประชุม International Rotary World Conference ครั้งที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๕ - ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ในฐานะ Keynote Speaker

·         นายโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา อดีตประธานาธิบดี เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Preparatory Meeting of the Asian Peace and Reconciliation Council (APRC) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๓ - ๑๐ กันยายน ๒๕๕๕

 

สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศของติมอร์-เลสเต

การเมืองและความมั่นคง

·           ภายหลังติมอร์ฯ ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ สหประชาชาติได้จัดตั้ง United Nations Mission of Support in East Timor (UNMISET) ในช่วงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ - ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เพื่อสนับสนุนการสร้างประเทศในติมอร์ฯ ขณะเดียวกัน ติมอร์ฯ ก็พยายามเสริมสร้างศักยภาพที่จะพึ่งตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนาสถาบันหลักในการบริหารประเทศ ระบบกฎหมายและการพัฒนาตำรวจ  

·           ในปี ๒๕๔๙  เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ทำให้มีชาวติมอร์ฯ ประมาณ      ๑๕๐,๐๐๐ คน อพยพไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยทั่วประเทศ[๔] โดยรัฐบาลติมอร์ฯ ได้ขอให้ออสเตรเลีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และโปรตุเกส ส่งกองกำลังไปช่วยรักษาความสงบ หลังจากนั้น มีการชุมนุมประท้วงเป็นครั้งคราวจากปัญหาการเมืองและปัญหาการขาดแคลนข้าวสาร เลขาธิการองค์การสหประชาชาติจึงได้เสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติขยายอาณัติของ United Nations Mission in Timor-Leste (UNMIT) จากวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ต่อไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

·           ในปี ๒๕๕๐ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี (๙ เมษายน) และการเลือกตั้งทั่วไป (๓๐ มิถุนายน)โดยนายโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี มีวาระ ๕ ปี และไม่มีพรรคการเมืองใดได้ที่นั่ง  เกินครึ่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมด (๖๕ ที่นั่ง)[๕]  แม้ว่าพรรคFRETILIN จะได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งแต่ไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ประธานาธิบดี จึงแต่งตั้งนายเคย์ ราลา ซานานา กุสเมา (Kay Rala Xanana Gusmao) หัวหน้าพรรค National Congress for the Reconstruction  of East Timor (CNRT) และหัวหน้ากลุ่ม Alliance of Majority in Parliament (AMP) เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล (โดยพรรค FRETILIN ซึ่งได้รับเสียงมากที่สุดเป็นฝ่ายค้าน) สถานการณ์ทางการเมืองติมอร์ฯ จึงมีความเปราะบาง 

·           เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ประธานาธิบดีถูกลอบยิงที่บ้านพัก โดยพันตรีอัลเฟรโด เรนาโด (Alfredo Renado) ทหารกบฏซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนประธานาธิบดีถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล Royal Darwin เมืองดาร์วินในออสเตรเลียเป็นเวลา ๒ เดือน การกระทำของพันตรีเรนาโดเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มทหารกว่า ๕๐๐ นายที่ถูกปลดเมื่อปี ๒๕๔๙ รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน และต่อมาผู้ก่อการได้ทยอยมอบตัวต่อทางการ ประธานาธิบดีได้เดินทางกลับกรุงดิลี เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๑

·            เหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีฯ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ UNMIT (ซึ่งกำหนดจะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๑) ขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ในติมอร์ฯ ออกไปโดย UNMIT เร่งช่วยเหลือติมอร์ฯ ในด้านการปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคง การเสริมสร้างการปฏิบัติตามกฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล

·           เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๕ รัฐบาลติมอร์ฯ ได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกโดยนายฟรานซิสโก กูเตอเรส (Francisco Guterres หรือ Lu-Olo) หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน FRETILIN ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ๑๒๓,๗๕๑ เสียง หรือร้อยละ ๒๘.๓๘ พลตรี ตาว มาตัน ร๊วก (Taur Matan Ruak) อดีตผู้บัญชาการกองทัพติมอร์ฯ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ๑๐๙,๓๓๘ เสียง หรือร้อยละ  ๒๕.๐๗ ประธานาธิบดีโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา (Jose Ramos-Horta) และนายเฟอร์นันโด เดอ อาเราโจลา ซามา (Fernando de Araujo La Sama) ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ๗๘,๔๒๓ เสียง หรือร้อยละ๑๗.๙๘ และ ๗๗,๔๔๗ เสียง หรือร้อยละ ๑๗.๗๖ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี โดยที่ไม่มีผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ ๑ และ ๒ ได้แก่ นายกูเตอเรส และพลตรี ร๊วก จึงเข้ารับการเลือกตั้งรอบที่สองในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๕ ซึ่งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่าพลตรี ร๊วก ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ๒๓๕,๒๙๙ เสียง หรือร้อยละ ๖๐.๒๑ และนายกูเตอเรส ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ๑๕๕,๕๑๘ เสียง หรือ ร้อยละ ๓๙.๗๙  พลตรี ร๊วก จึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของติมอร์ฯ โดยเข้ารับตำแหน่งในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕

·           ประธานาธิบดีตาว มาตัน ร๊วก ได้ประกาศที่จะดำเนินนโยบายตามที่ได้ประกาศไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ได้แก่ ๑) การเสริมสร้างความมั่นคง ๒) การเสริมสร้างสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ๓) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ๔) การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพื่อสร้างอาชีพแก่ประชาชน ๕) การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และ ๖) การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นเร่งด่วนที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ (ก) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (ข) การพัฒนาสาธารณูปโภค (ค) การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพื่อสร้างงานให้แก่ชาวติมอร์ฯ (ง) การลดการพึ่งพาต่างประเทศและรายได้จากการส่งออกน้ำมัน (จ) การส่งเสริมความสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพในชาติ และ (ฉ) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ

·           ติมอร์-เลสเต ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ ๒ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี ๒๕๔๕ เมื่อวันที่๗ กรกฏาคม ๒๕๕๕  ผลการเลือกตั้งคิดเป็นสัดส่วนจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ๖๕ ที่นั่ง โดยพรรค CNRT ของนายกุสเมาได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งได้รับจัดสรรจำนวน ๓๐ ที่นั่ง พรรค Revolutionary Front     for Timorese Independence (FRETILIN) ได้รับ ๒๕ ที่นั่ง พรรค Democratic Party (PD) ได้รับ ๘ ที่นั่ง     และพรรค Frenti Mudanca ได้รับ ๒ ที่นั่ง ตามลำดับ[๖] อย่างไรก็ตามไม่มีพรรคการเมืองใดได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่ง    พรรค CNRT จึงได้รวมตัวกับพรรค PD และพรรค Frenti Mudanca จัดตั้งรัฐบาลผสม

·           นายเคย์ ราลา ซานานา กุสเมา ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สองเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๕  พร้อมประกาศคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จำนวน ๕๔ คน  โดยนายโฮเซ่ ลูอิสกูเตอเรส (Jose Luis Guterres)  อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ    กระทรวงการต่างประเทศ และนายวินซองเต กูเตอเรส (Vincente Guterres) จากพรรค National Congress for Timorese Independence (CNRT) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งชาติ

·           นายกรัฐมนตรีกุสเมาได้แถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๕โดยให้ความสำคัญในประเด็นต่าง ๆ ๑๑ เรื่อง ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาประชาธิปไตย (๒) การส่งเสริมความสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพในชาติ (๓) การพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมสวัสดิการให้แก่ประชาชน รวมทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา และสาธารณสุข(๔) การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร (๕)  การพัฒนาศักยภาพและบุคลากรของกองทัพและตำรวจ(๖) การพัฒนาการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง (๗) การปฏิรูประบบราชการ (๘) การพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาติมอร์ฯ (Timor-Leste Strategic Development Plan) (๙) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและเยาวชนในการพัฒนาประเทศ (๑๐) การส่งเสริมการพัฒนาและการลงทุนด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และพลังงาน (๑๑) การส่งเสริมบทบาทของติมอร์ฯ ในเวทีระหว่างประเทศการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกส และการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน

ด้านเศรษฐกิจ

·       หลังจากได้รับเอกราช การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของติมอร์ฯ  ดำเนินไปโดยการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งจากองค์การระหว่างประเทศ และประเทศต่าง ๆ ต่อมาเมื่อวันที่๓ สิงหาคม ๒๕๔๘  รัฐบาลติมอร์ฯ ได้จัดตั้งกองทุนน้ำมัน (Petroleum Fund)  เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งจากกองทุนน้ำมันมาสมทบกับภาษีและรายได้อื่น เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการบริหารประเทศติมอร์ฯ กำหนดแผนพัฒนาประเทศ (National Development Plan) ระยะ ๕ ปี ฉบับแรก (ปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๖) และแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาติมอร์-เลสเต (Timor-Leste Strategic Development Plan) ปี ๒๕๕๔-๒๕๗๓ [๗] เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยมีเป้าหมายจะยกระดับประเทศให้อยู่ในฐานะประเทศที่มีรายได้ระดับ upper-middle ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ (ค.ศ. ๒๐๓๐)

·       รัฐบาลติมอร์ฯ เริ่มมีรายได้จากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และได้จัดตั้งกองทุนน้ำมันเมื่อ        

ปี ๒๕๔๘ ปัจจุบันมีรายได้ในกองทุนน้ำมันประมาณ ๑๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๕) รัฐบาลออกกฎหมายให้สามารถนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาใช้ได้ไม่เกินร้อยละ ๓ เพื่อนำมาเป็นงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ แต่ยังต้องพึ่งพาสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศและการนำเข้าจากอาเซียนเป็นหลัก โดยเฉพาะอินโดนีเซียและสิงคโปร์กว่าร้อยละ ๗๐

·       ในปี ๒๕๕๖ รัฐบาลติมอร์ฯ กำหนดความจำเป็นเร่งด่วนที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมการศึกษาขั้นมูลฐาน การบริการสุขภาพ การสร้างงานผ่านการลงทุนในภาคธุรกิจ และการปรับปรุงการบริหารจัดการของหน่วยงาน/องค์กรเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล การพัฒนาภาคการเกษตร รวมทั้งการปรับปรุงสภาพการทำงานของทหารและตำรวจ โดยมีการปรับเพิ่มงบประมาณการลงทุนจากปี ๒๕๕๕ ในภาคการเกษตร ร้อยละ ๒๘  สาธารณสุขร้อยละ ๑๕ และการศึกษาร้อยละ ๑๒

·       ติมอร์ฯ นำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนกว่าร้อยละ ๗๐ และส่งออกสินค้าประมาณ ๑ ใน ๔ ไปประเทศในอาเซียน โดยติมอร์ฯ มีข้อได้เปรียบด้านอัตราภาษีศุลกากรที่ต่ำและไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers : NTBs) สำหรับสินค้านำเข้า และไม่มีภาษีส่งออกสำหรับสินค้าส่งออก ซึ่งติมอร์ฯ อาจไม่ได้รับประโยชน์จากข้อได้เปรียบดังกล่าว เนื่องจากสินค้าส่งออกของติมอร์ฯไม่หลากหลาย โดยมีกาแฟเป็นสินค้าส่งออกหลัก และยังประสบปัญหาระบบภาษีและศุลกากร

·       รัฐบาลติมอร์ฯ กำลังจัดทำแผนการก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติและโรงงานปิโตรเคมี เพื่อนำน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแหล่ง Greater Sunrise ในทะเลติมอร์ (มูลค่า ๙ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นฝั่งที่ติมอร์ฯ โดยคาดว่า แหล่งดังกล่าวมีน้ำมัน light oil ประมาณ ๓๐๐ ล้านบาร์เรล และมีก๊าซธรรมชาติประมาณ ๒.๕๓ ล้านล้านลูกบาศก์[๘]

นโยบายต่างประเทศ

·  ติมอร์ฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน โดยเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม    ๒๕๕๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติมอร์ฯ ได้เยือนอินโดนีเซียและมอบหนังสือแจ้งความประสงค์อย่างเป็นทางการที่จะเป็นสมาชิกอาเซียนในปี ๒๕๕๔ และได้มีการเตรียมการสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนโดย (๑) ตั้งคณะเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (๒) ตั้งกรมอาเซียนในกระทรวงการต่างประเทศ (๓) แต่งตั้งเอกอัครราชทูตติมอร์ฯ ประจำสำนักงานเลขาธิการอาเซียนประจำกรุงจาการ์ตา (๔) เตรียมพร้อมสำหรับการบูรณการของภูมิภาค (regional integration) (๕) วางแผนเปิดสถานทูตฯ ในประเทศสมาชิกอาเซียนให้ครบ ๑๐ ประเทศ นอกจากนี้ ติมอร์ฯ ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับไทยจัดการประชุม ASEAN Regional Forum Experts and Eminent  Persons ครั้งที่ ๕ ที่กรุงดิลี เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ มกราคม ๒๕๕๔ โดยพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยและมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ  รวม ๒๗ ประเทศเข้าร่วม

·       แม้ว่าอาเซียนยังไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ต่อการรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน แต่ได้จัดตั้งคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council : ACC) เพื่อศึกษานัยของ การรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิกในทุกมิติ และพิจารณาว่าติมอร์ฯ จะสามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ของอาเซียน ตามข้อ ๖ ของกฎบัตรอาเซียนได้หรือไม่ (ตามข้อเสนอของสิงคโปร์) และเพื่อให้การรับ    สมาชิกใหม่ของอาเซียนมีกระบวนการที่ชัดเจน และนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

·  ติมอร์ฯ ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์อันดีกับอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โปรตุเกส ประเทศสมาชิกอาเซียน และกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกส (CPLP) ทั้ง ๘ ประเทศ ซึ่งให้ความช่วยเหลือติมอร์ฯ มาโดยตลอด รวมทั้ง กระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และสหภาพยุโรป ปัจจุบันมีสถานเอกอัครราชทูต ๑๕ ประเทศตั้งอยู่ในกรุงดิลี โดยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน ๔ ประเทศ [๙]

·       ความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดถือได้ว่าอยู่ในระดับดีมากในปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาระหว่างกันอย่างสันติผ่านคณะกรรมาธิการข้อเท็จจริงและมิตรภาพ (Commission on Truth and Friendship : CTF) [๑๐] โดยเมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ นายกรัฐมนตรีติมอร์ฯ เยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการและมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างทั้งสองประเทศจำนวน ๕ ฉบับ[๑๑] เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ประธานาธิบดียูโดโยโน ได้เดินทางเยือนติมอร์ฯ เพื่อเข้าร่วมพิธีฉลองครบรอบ ๑๐ ปีการได้รับเอกราชของติมอร์ฯ โดยได้หารือกับประธานาธิบดีฮอร์ตา (ในขณะนั้น) และนายกรัฐมนตรีกุสเมา ที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม/วัฒนธรรมระหว่างกันผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยอินโดนีเซียจะยังคงดำเนินการตามกรอบความร่วมมือ CTFและให้การสนับสนุนติมอร์ฯ อย่างเต็มที่ในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน

·       ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและติมอร์ฯ ถือว่าใกล้ชิดเนื่องจากไทยเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการพัฒนาประเทศติมอร์ฯ ตั้งแต่ต้น ไทยยังสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ฯ[๑๒]    และยินดีช่วยเหลือเพื่อเตรียมความพร้อมแก่ติมอร์ฯ ในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในอนาคต กรณีเหตุอุทกภัย ในประเทศไทย ประธานาธิบดีติมอร์ฯ ยังได้ส่งสาส์นแสดงความเสียใจถึงนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕ นายกรัฐมนตรีติมอร์ฯ ได้เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในไทยแก่รัฐบาลไทยจำนวน ๗๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

 

***************                                           

กองเอเชียตะวันออก ๑

                                กรมเอเชียตะวันออก

  เมษายน ๒๕๕๖



[๑] ไทยได้ลงนามในปฏิญญาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับติมอร์ฯ เป็นประเทศที่ ๓ ต่อจากจีนและนอร์เวย์  

[๒] นายโชเอา เฟรตัส เด กามารา (João Freitas de Câmara)  ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตติมอร์-เลสเต ประจำประเทศไทยคนแรกเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่     ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ และพ้นจากหน้าที่เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

[๓] ประเทศ CPLP ประกอบด้วยสมาชิก ๘ ประเทศ ได้แก่ โปรตุเกส บราซิล เคปเวิร์ด โมซัมบิค เซาโตเม่และเซาโตเมและปรินเซเป แองโกลา กีนีบิเซา และติมอร์-เลสเต มีประชากรรวมมากกว่า ๒๓๖ ล้านคน

[๔] ไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเหตุการณ์ความขัดแย้งในติมอร์ฯ ในปี ๒๕๔๙ จำนวน ๑๐,๐๐๐  ดอลลาร์สหรัฐ

[๕] ผลการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๕๐ พรรค Fretilin ร้อยละ ๒๙ พรรค CNRT ร้อยละ ๒๔.๑ พรรค ASDT-PSD ร้อยละ ๑๕.๘ พรรค PD ร้อยละ ๑๑.๓ พรรค PUN ร้อยละ ๔.๕ พรรค KOTA-PPT (Democratic Alliance) ร้อยละ ๓.๒ พรรค UNDERTIM ร้อยละ ๓.๒ พรรคอื่น ๆ ร้อยละ ๘.๙ โดยได้รับการแบ่งสรรที่นั่งในสภาดังนี้ พรรค Fretilin ๒๑ ที่นั่ง พรรค CNRT ๑๘ ที่นั่ง พรรค ASDT-PSD ๑๑ ที่นั่ง  พรรค PD ๘ ที่นั่ง พรรค PUN ๓ ที่นั่ง  พรรค KOTA-PPT ๒ ที่นั่ง พรรค UNDERTIM ๒ ที่นั่ง

[๖] พรรค CNRT ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งจำนวน ๑๗๒,๙๐๘ เสียง หรือร้อยละ๓๖.๖๘ พรรค Revolutionary Front for Timorese Independence (FRETILIN) ได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับที่สองคือ ๑๔๐,๙๐๔ คะแนน หรือร้อยละ ๒๙.๘๙ พรรค Democratic Party (PD) ได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับที่สามคือ ๔๘,๕๗๙ คะแนน หรือร้อยละ ๑๐.๓๐ และพรรค Frenti Mudanca ได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับที่สี่คือ ๑๔,๖๔๘ คะแนน หรือร้อยละ ๓.๑๑

[๗] แผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาติมอร์-เลสเต ปี ๒๕๕๔-๒๕๗๓ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ๗ ด้าน ได้แก่ (๑) การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน (๒) การพัฒนาชนบท (๓) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๔) การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (๕) การบริการสาธารณะ (๖) กระบวนการธรรมาภิบาล (๗) การเสริมสร้างความมั่นคงสาธารณะและเสถียรภาพของประเทศ

[๘] อย่างไรก็ดี รัฐบาลติมอร์ฯ ประสบปัญหากับบริษัท Woodside ของออสเตรเลีย บริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะในแหล่ง Greater Sunrise  เกี่ยวกับการวางท่อก๊าซ เนื่องจากบริษัทฯ เห็นว่าการสร้างถังเก็บก๊าซ LNG ลอยน้ำใกล้หลุมเจาะ หรือวางท่อก๊าซธรรมชาติขึ้นฝั่งที่เมืองดาร์วิน ของออสเตรเลียจะเป็นประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าการตั้งโรงงานแยกก๊าซในติมอร์ฯ ซึ่งขาดความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและมีความเสี่ยงด้านปัจจัยความสงบเรียบร้อยทางการเมือง ส่งผลให้การเจรจายังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่า บริษัท Woodside อาจยอมผ่อนปรนตามความประสงค์ของรัฐบาลติมอร์ฯ โดยการวางท่อก๊าซไปขึ้นทางตอนใต้ของติมอร์ฯ ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังติมอร์ฯ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายเพื่อทำเรื่องฟ้องร้องบริษัท Woodside เกี่ยวกับการค้างชำระภาษีที่ได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลติมอร์ฯ

[๙] ปัจจุบัน ติมอร์ฯ มี สอท. ในจีน บราซิล สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ คิวบา วาติกัน อินโดนีเซีย (ออท. ดำรงตำแหน่ง ออท. ประจำอาเซียน อีกตำแหน่งหนึ่ง) สาธารณรัฐเกาหลี โปรตุเกส แองโกลา มาเลเซีย (มีเขตอาณาครอบคลุมพม่าและเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ โมซัมบิก สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ไทย (มีเขตอาณาครอบคลุมกัมพูชาและลาว) คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ       นครนิวยอร์ก และคณะผู้แทนถาวรประจำกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกส และสถานกงสุลใหญ่ ที่เมืองซิดนีย์ เดนปาซาร์ และคุปัง

[๑๐] เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ติมอร์ฯ และอินโดนีเซียได้ร่วมในพิธีลงนามรับรองผลการสอบสวนของคณะกรรมาธิการข้อเท็จจริงและมิตรภาพ (Commission on Truth and Friendship : CTF) ที่บาหลี ซึ่งเป็นการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ฯ เมื่อปี ๒๕๔๒ ที่กรุงดิลี ทั้งนี้ CTF เป็นสัญลักษณ์ของการยุติความขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซียกับติมอร์ฯ  อย่างเป็นทางการและเริ่มยุคใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย และเมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างอินโดนีเซียกับติมอร์ฯ ครั้งที่ ๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้การปฏิบัติงานตามผลการสอบสวนของ CTF ทั้งในระดับภายใน และระดับทวิภาคีมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

[๑๑] (๑) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการฝึกอบรมทางการทูตและการกระจายอำนาจ (๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคและการฝึกอบรมด้านคมนาคม  (๓) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยกิจการทางทะเลและการประมง (๔) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้า และ (๕) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

[๑๒] ไทยยืนยันการสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ฯ โดยนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันในหลักการสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ฯ ต่อประธานาธิบดีติมอร์ฯ ในระหว่างการเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๑-๑๓ มกราคม ๒๕๕๒ และ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ และในระหว่างการเยือนติมอร์ฯ อย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๑๔ -๑๕ มกราคม ๒๕๕๔ ไทยได้ยืนยันการสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ฯ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๔

 


เมษายน 2556


กองเอเชียตะวันออก 1 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2643-5209-10 Fax. 0-2643-5208 E-mail : [email protected]

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-379-document.doc