วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มี.ค. 2554
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐเกาหลี
Republic of Korea
สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ตั้งอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรเกาหลี ทิศเหนือติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ทิศตะวันออกติดกับทะเลตะวันออก (หรือทะเลญี่ปุ่น) ทิศตะวันตกติดกับทะเลเหลือง และทิศใต้ติดกับช่องแคบเกาหลี (Korea Strait)
พื้นที่ 99,392 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 45 ของพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี (1 ใน 5 ของไทย)
ประชากร 50 ล้านคน (2555)
เมืองหลวง กรุงโซล (Seoul)
เมืองที่สำคัญ ปูซาน แดจอน แดกู อินชอน และกวางจู
สมาชิกสหประชาชาติ 17 ก.ย. 2534
GDP 1.12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)
GDP ต่อหัว รายได้ต่อหัว 31,243 ดอลลาร์สหรัฐ (2555)
หน่วยเงินตรา ประมาณ 1000 วอน ต่อ 26 บาท (ณ เมษายน 2556)
ภูมิอากาศ มี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว
เดือน มิ.ย.- ส.ค. เป็นช่วงที่ฝนตกชุก อุณหภูมิโดยเฉลี่ย -5 C ในฤดูหนาว และ 33 C ในฤดูร้อน
ความสัมพันธ์ทางการทูต สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อ 1 ตุลาคม 2501
เอกอัครราชทูตไทย นายกิตติพงษ์ ณ ระนอง
เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ นายชอน แจ-มัน (H.E. Jeon Jae-man)
ประธานาธิบดี มาดามปัก กึน-ฮเย (Park Geun-hye) รับตำแหน่งเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556
นายกรัฐมนตรี นายชอง ฮง-วอน (Chung Hong-won)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายยุน บยอง-เซ (Yun Byung-se)
ศาสนา มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 52 (โปรเตสแตนท์ ร้อยละ 46 โรมันคาทอลิกร้อยละ 39)
ศาสนาพุทธ ร้อยละ 46 ขงจื๊อร้อยละ 1 อื่นๆ ร้อยละ 1
สิทธิเลือกตั้ง ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป
สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประมุขของประเทศคือประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ และศาลทำหน้าที่ทางตุลาการ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด และ 7 เขตการปกครอง
รัฐธรรมนูญ
เกาหลีใต้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2491 โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดอีก 9 ครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี 2530 เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีชุน ดู ฮวานต้องประสบกับภาวะกดดันทางการเมืองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง และในที่สุด ประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ก็ยินยอมให้มีการลงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง โดยอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (5 ปี) และให้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นอิสระเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข ยังได้ยกเลิกอำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี และให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดูแลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งระบุว่ากองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
ฝ่ายนิติบัญญัติ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติของเกาหลีใต้เป็นรูปแบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 300 คน โดยสมาชิก 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่เหลือมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยจัดสรรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาแห่งชาติดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี (การเลือกตั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2555) ทั้งนี้ ในจำนวนสมาชิก 300 คนนั้น 246 คนจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอีก 54 คน ได้รับการเลือกตั้งจากระบบสัดส่วน (Party list)
รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ระบุไว้ว่า รัฐสภาแห่งชาติสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีได้ โดยในกรณีการถอดถอนนายกรัฐมนตรี ให้สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเข้าชื่อเสนอญัตติถอดถอนและสภาต้องลงเสียงข้างมากเพื่อเห็นชอบตามข้อเสนอ สำหรับการถอดถอนประธานาธิบดีนั้น ให้สมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเข้าชื่อเสนอญัตติถอดถอนและสภาต้องลงเสียงข้างมากเพื่อเห็นชอบตามข้อเสนอ
ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิออกเสียง โดยมีวาระ 5 ปี และไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นครั้งที่ 2 ได้ เพื่อเป็นการป้องกันการขยายอำนาจ ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก และมาตรการจำเป็นในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ประธานาธิบดีสามารถเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา
คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในด้านบริหารประเทศ รวมทั้งมีอำนาจในการพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของประเทศ และการเข้าร่วมประชุมรัฐสภา นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังประกอบด้วย
สภาที่ปรึกษาอาวุโส สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาการรวมประเทศ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ คณะกรรมการวางแผนและงบประมาณ คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ โดยประธานของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ทั้งนี้ หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำต่อคณะรัฐบาลด้วย
ฝ่ายตุลาการ
ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยประธานาธิบดีแต่งตั้งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา การพิจารณาของศาลกำหนดให้เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นเรื่องที่จะสร้างปัญหาในด้านความปลอดภัยและ
ความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อขวัญของประชาชน คำพิพากษาจำเป็นต้องปิดเป็นความลับ
นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และมีอำนาจในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นโมฆะ (โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับการร้องขอจากศาลชั้นต้นหรือจากกลุ่มบุคคลที่ข้อร้องเรียนได้รับการพิจารณาจากศาลชั้นต้น ให้พิจารณากฎหมายดังกล่าว) อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินความถูกต้องทางกฎหมายของกระบวนการถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้พิพากษา รวมทั้งมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร หากพบว่าพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
เกาหลีใต้ในอดีตเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน แต่ได้ทุ่มเทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2505 ในระยะเวลา 40 ปี ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนได้รับสมญาณามว่า "มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจแห่งแม่น้ำฮัน" กลยุทธการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว คือการเน้นการลงทุนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาอุตสาหกรรมหนักเพื่อการส่งออก เช่น ยานยนต์ การต่อเรือ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหล็ก ฯลฯ
เกาหลีใต้ในปัจจุบันประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในตอนกลางทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523) และก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ OECD ในปี 2539 และแม้ว่าต่อมาเกาหลีใต้ประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2540 จนต้องกู้ยืมเงินจาก IMF แต่ก็สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและคืนเงินกู้ทั้งหมดให้แก่ IMF งวดสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน 2544
รายได้หลักของประเทศเกาหลีใต้ยังคงมาจากสินค้าประเภทอุตสาหกรรมหนักและเทคโนโลยีระดับสูงที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Chaebol) ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ เช่น เรือเดินสมุทร รถยนต์ เครื่องจักร สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งเป็นไปตามการดำเนินยุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเคมีในช่วงทศวรรษ 1960 - 1970 (พ.ศ. 2503 - 2513) ต่อมา เกาหลีใต้ก็เน้นส่งเสริมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และ Creative Economy ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นรากฐานที่ช่วยสนับสนุนนโยบายการเผยแพร่กระแสความนิยมวัฒนธรรมเกาหลี (Korean Wave) ทั้งในด้านภาพยนตร์ละครโทรทัศน์ และดนตรีของเกาหลีใต้ให้แพร่กระจายและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในเอเชีย นอกจากนี้ ในสมัยประธานาธิบดีอี มยอง-บัก เกาหลีใต้มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth)
1. ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและเกาหลีใต้ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับอัครราชทูตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2501 และยกระดับขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2503 เมี่อปี 2551 ไทยและเกาหลีใต้ได้ฉลองครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน มีการจัดกิจกรรมที่ครอบคลุมทุกมิติของความสัมพันธ์ภายใต้คำขวัญว่า สานสายใยไทย-เกาหลี 50 ปีสู่อนาคต หรือ 50 Years Friendship for the Future กิจกรรมที่สำคัญได้แก่ งานเลี้ยงรับรอง (วันที่ 1 ตุลาคมที่กรุงโซล และ 2 ตุลาคม ที่กรุงเทพฯ) การแลกเปลี่ยนการแสดงทางวัฒนธรรม การสัมมนาทางวิชาการ การออกตราไปรษณียากรร่วม การเยือนของทหารผ่านศึกและการจัดสร้างอนุสาวรีย์ทหารไทยในสงครามเกาหลีที่นครปูซาน
2. ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
เกาหลีใต้มีกลไกความร่วมมือกับไทยทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission - JC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลไกหารือภาพรวมความร่วมมือ และการประชุม Policy Consultation (PC) เป็นกลไกการหารือในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อสนับสนุนและเสริมการหารือในกรอบ JC และความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ASEAN+1 กับเกาหลีใต้ และ ASEAN+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้)
มีการเสด็จฯ เยือนเกาหลีใต้ของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย และการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีระหว่างไทยและเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง และมีการลงนามสนธิสัญญาและความตกลงความร่วมมือในหลายสาขา เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ แรงงาน วัฒนธรรม การลงทุน ฯลฯ
3. ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้เริ่มขึ้นจากความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง โดยในช่วงสงครามเกาหลีระหว่างปี 2493 - 2496 ไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมกองกำลังสหประชาชาติ (ประกอบด้วยทหารจาก 16 ประเทศ) เพื่อป้องกันเกาหลีใต้จากการรุกรานของเกาหลีเหนือ เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ประชาชนของสองประเทศรู้สึกผูกพันใกล้ชิด โดยเฉพาะคนเกาหลีใต้ที่ยังคงระลึกถึงบุญคุณของกองกำลังทหารไทยที่รู้จักกันในนาม พยัคฆ์น้อย อยู่เสมอ
ปัจจุบันไทยยังคงส่งนายทหารติดต่อประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ (United Nations Command - UNC) และเจ้าหน้าที่หน่วยแยกกองทัพบกไทยประจำกองร้อยทหารเกียรติยศ (Honour Guard Company) จำนวน 6 นายเพื่อปฏิบัติหน้าที่เชิญธงไทยและปฏิบัติหน้าที่ด้านพิธีการเกี่ยวกับสงครามเกาหลีใน UNC เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าไทยยังคงยึดมั่นในพันธกรณีในการรักษาสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี
นอกจากด้านการทหารแล้ว ไทยและเกาหลีใต้ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงในด้านอื่นๆ ได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี เช่นสหประชาชาติ อาเซียน และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum ARF)
4. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยมีการจัดทำความตกลงด้านเศรษซกิจด้วยกันหลายฉบับ ได้แก่ 1) ความตกลงทางการค้าซึ่งลงนามเมื่อปี 2504 2) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อปี 2532 เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยและเกาหลีใต้มีกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commissionหรือ JTC) เพื่อเป็นกลไกทางการค้าที่เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในการแสวงหาลู่ทางขยายการค้า รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ระหว่างกัน และในส่วนของภาคเอกชน ทั้งสองประเทศได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-เกาหลี ( Korea-Thai Economic Cooperation Committee) ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลีใต้
4.1 การค้า
ก่อนปี 2532 การค้าระหว่างไทยและเกาหลีใต้มีมูลค่าไม่มากนัก แต่ได้ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ามาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา
ในปี 2555 เกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 10 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 13,748.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 4,778.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,979.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเสียดุลการค้าเกาหลีใต้ 4,200.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ น้ำมันปิโตรเลียม สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
4.2 การลงทุน
ในปี 2555 เกาหลีใต้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีมูลค่า 6,101 ล้านบาท จำนวน 55 โครงการ นับเป็นอันดับที่ 14 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในประเทศไทย โดยสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สาขาโลหะและเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และกระดาษ
5.3 แรงงานไทย
แรงงานไทยเริ่มเดินทางเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้มากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2531 ประมาณการว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยในเกาหลีใต้ 40,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย 12,000 คน
ตั้งแต่ปลายปี 2546 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างชาติจากที่ใช้ระบบผู้ฝึกงานอย่างเดียวเป็นการใช้ควบคู่กับระบบใบอนุญาตทำงานด้วย (ระบบ Employment Permit System: EPS) ซึ่งระบบใบอนุญาตทำงานนั้นได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2546 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 ส.ค. 2547 โดยกระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ได้คัดเลือกประเทศที่จะสามารถส่งคนงานไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้ระบบใหม่นี้จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา คาซัคสถาน และมองโกเลีย โดยไทยและเกาหลีใต้ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ ภายใต้ระบบ EPS ครั้งแรกเมื่อปี 2547 และต่ออายุบันทึกความเข้าใจดังกล่าวอีก 2 ครั้งคือเมื่อปี 2549 และปี 2552 การจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าวทำให้แรงงานไทยได้รับโควต้าให้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และภาคเกษตร และทำให้แรงงานไทยมีโอกาสไปทำงานในเกาหลีใต้มากขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
5.4 การท่องเที่ยว
ไทยเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศที่ชาวเกาหลีใต้นิยมเดินทางไปท่องเที่ยว รองจากจีนและญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาไทยในอัตราเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยในช่วงระหว่างปี 2544 - 2547 เฉลี่ยประมาณปีละ 7 แสนคน และเพิ่มเป็นประมาณ 1.1 ล้านคน ในปี 2550 โดยล่าสุดในปี 2555 มีจำนวน 1,169,131 คน กลุ่มสำคัญได้แก่ คู่สมรสใหม่ (ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์) และนักกอล์ฟ แหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยม ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต ทั้งนี้ ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คู่แต่งงานชาวเกาหลีใต้นิยมเดินทางมาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์เป็นลำดับที่ 1
ในปี 2555 มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ จำนวน 387,441 คน
6. ความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ
6.1 ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ไทยและเกาหลีใต้ได้จัดทำ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลีใต้ (ลงนามเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549) โดย MOU ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในด้าน Solar Cells, Advanced Materials, Biotechnology, Nanotechnology, Electronic Computer, Nuclear Energy, Space Technology และ Meteorology
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ KIST โดย ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ได้ทรงลงพระนามข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 ณ กรุงโซล กรอบข้อตกลงครอบคลุมการแลกเปลี่ยนบุคลากร การสนับสนุนการทำวิจัยร่วมกัน และการร่วมมือทางด้านวิชาการซึ่งรวมถึงการให้ปริญญาร่วมกัน นอกจากนี้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ยังมีการจัดทำความตกลงความร่วมมือกับศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (IERC) สถาบัน Gwangju Institute of Science and Technology (GIST) ซึ่ง ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ได้ทรงลงพระนามข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2550
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานพลังงานปรมาณู กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เกาหลีใต้ ได้จัดทำ MOU เพื่อความร่วมมือด้านพลังงานปรมาณู เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2547 ณ กรุงเทพฯ
6.2 การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC)
ไทยและเกาหลีใต้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC) เพื่อเป็นกลไกและติดตามการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อกรกฎาคม 2541 และได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมครั้งที่ 1 ระหว่าง 20-21 มิถุนายน 2546 ที่จ.เชียงใหม่ โดยทั้งสองได้หารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการค้า โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการลดอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของกันและกัน ด้านความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวด้านแรงงานไทย ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการหารือในประเด็นปัญหาภูมิภาคต่างๆ เช่น สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี การบูรณะฟื้นฟูอิรักภายหลังสงคราม และการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น
6.3 ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม
ไทยและเกาหลีใต้ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอย่างใกล้ชิด ความร่วมมือทางวัฒนธรรมส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการแสดงทางวัฒนธรรม การประชุมสัมมนาทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางวัฒนธรรม และการเยือนของผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดกรอบการให้ความร่วมมือทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ ระหว่างไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ประกอบด้วย 1) การแลกเปลี่ยนการเยือน เพื่อศึกษาดูงานของผู้บริหารงานวัฒนธรรมทั้งระดับสูงและระดับกลาง 2) การสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชน 3) การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง ด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม 4) ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม อาทิ วรรณคดี ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ โบราณคดี จิตรกรรม หัตถกรรม และความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน 5) ความร่วมมือเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยด้านความร่วมมือในการจัดโครงการนิทรรศการด้านศิลป์ ภาพยนตร์ แฟชั่น หรือดนตรี ความร่วมมือในการจัดอบรม สัมมนาปฏิบัติการเชิงวิชาการด้านการบริหารจัดการ ทางด้านวัฒนธรรม การจัดการพิพิธภัณฑ์ ศิลปะสมัยใหม่ งานออกแบบเชิงพาณิชย์สำหรับเครื่องแต่งกาย อบรมด้านนาฏศิลป์ ดนตรีร่วมสมัย และ 6) กิจกรรมอื่น ๆ อันมีลักษณะทางวัฒนธรรม
ในระหว่างการเยือนไทยของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2555 ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแระหว่างกัน
* * * * * * *
กองเอเชียตะวันออก 4
กรมเอเชียตะวันออก
เมษายน 2556
กองเอเชียตะวันออก 4 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2203-5000 ต่อ 14492 Fax. 0-2643-5208 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **