วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
การเสริมสร้างสันติภาพ (Peacebuilding)
1. แนวคิดเกี่ยวกับการเสริมสร้างสันติภาพ
1.1 จากการที่สหประชาชาติได้ส่งกองกำลัง/เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการรักษาสันติภาพและได้ถอนตัวออกหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในพื้นที่ความขัดแย้ง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่าในหลายพื้นที่กลับไม่มีสันติภาพเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งได้เกิดขึ้นอีก รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังความขัดแย้งไม่สามารถปกครองให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้
1.2 สหประชาชาติจึงริเริ่มแนวความคิดเกี่ยวกับการเสริมสร้างสันติภาพ (peacebuilding) ขึ้น เพื่อสร้างสันติภาพระยะยาวในพื้นที่ที่เคยมีความขัดแย้งและป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งปะทุขึ้นมาอีก โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการฟื้นฟูโครงสร้างสถาบันของรัฐ การปลดอาวุธ การสร้างความปรองดอง และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของสถาบันและบุคลากรของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งที่ต้นเหตุ อาทิ ความยากจน การจัดการและจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน การขาดจิตสำนึกในสันติภาพ การละเมิดประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การเลือกประติบัติ
1.3 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รับรองข้อมติที่ 1645 (2005) และข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ ที่ 60/180 จัดตั้งคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสันติภาพของสหประชาชาติ (Peacebuilding Commission: PBC) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรให้คำปรึกษา (intergovernmental advisory body) และกำกับ/ประสานนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างสันติภาพแบบบูรณาการระหว่างองค์กรของสหประชาชาติและรัฐ/องค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะเข้าไปมีบทบาทในประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นความขัดแย้ง ซึ่งการดำเนินงานของ PBC จะแยกต่างหากจากการรักษาสันติภาพ (peacekeeping) แต่อาจมีการดำเนินงานในพื้นที่เดียวกัน
1.4 PBC ไม่มีอำนาจในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เสริมสร้างสันติภาพในพื้นที่ด้วยตนเอง แต่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การระดมทรัพยากร การให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเสริมสร้างสันติภาพและการฟื้นฟู ประเทศ รวมทั้งการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นกลไกที่เชื่อมต่อระหว่างการยุติความขัดแย้งทางการเมือง (ในกรอบสันติภาพและความมั่นคง) ไปสู่การฟื้นฟูบูรณะประเทศ (ในกรอบการพัฒนา) ให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและทันการณ์ ทั้งนี้ PBC เปรียบเสมือนผู้สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสันติภาพโดยทำหน้าที่เป็น “แม่ข่ายศูนย์รวม” ที่จับคู่ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคเข้าด้วยกัน
1.5 สำนักงาน PBC ในพื้นที่มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ประเมินความคืบหน้าและผลสำเร็จของโครงการสร้างสันติภาพในพื้นที่ที่ PBC ได้จับคู่ระหว่างรัฐบาลของพื้นที่ความขัดแย้งกับผู้บริจาค หรือกับองค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการดำเนินโครงการสร้างสันติภาพใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบัน PBC มุ่งเน้นภารกิจในภูมิภาคแอฟริกาโดยมีประเทศที่อยู่ในการดูแล 6 ประเทศ ได้แก่ บุรุนดี เซียร์ราลีโอน กินี กินีบิสเซา สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และไลบีเรีย
2. กลไกการดำเนินงานของ PBC
2.1 PBC มีกลไกการดำเนินงานหลัก ประกอบด้วย
(1) Organizational Committee (OC/PBC) ทำหน้าที่ดูแล พัฒนากฎระเบียบและวิธีการดำเนินงาน รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน มีสมาชิก 31 ประเทศ โดยสมาชิกมีวาระครั้งละ 2 ปี
(2) Peacebuilding Support Office (PBSO) ทำหน้าที่สนับสนุนด้านข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ ดูแลงบประมาณและการจัดสรรงบประมาณในกองทุนฯ รวมทั้งนำข้อเสนอแนะของ OC/PBC ไปปรับใช้ในประเทศที่เพิ่งพ้นสถานการณ์ความขัดแย้ง
(3) Peacebuilding Fund (PBF) กองทุนที่รัฐสมาชิกบริจาคโดยสมัครใจเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างสันติภาพ โดยจะเป็นเพียง “ตัวเร่ง” ในกระบวนการ/กิจกรรมเสริมสร้างสันติภาพเท่านั้น
2.2 OC/PBC ประกอบด้วยสมาชิก 31 ประเทศ ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
(1) ประเทศสมาชิกจากคณะมนตรีความมั่นคงฯ : 7 ประเทศ ประกอบด้วย สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และประเทศสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ อีก 2 ประเทศ
(2) ประเทศสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) : 7 ประเทศ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดย ECOSOC ผ่านกลุ่มภูมิภาคและพิจารณาถึงประสบการณ์ในการจัดการสถานการณ์ภายหลังความขัดแย้ง จำแนกเป็น 5 ที่นั่งตามกลุ่มภูมิภาคและ 2 ที่นั่งที่เหลือให้กลุ่มเอเชียและกลุ่มแอฟริกา
(3) ประเทศสมาชิกที่ให้การสนับสนุนทางการเงินสูงสุด : 5 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เยอรมนี ญี่ปุ่น สเปน และสวีเดน
(4) ประเทศที่สนับสนุนกำลังพลเข้าร่วมปฏิบัติการสันติภาพสูงสุด : 5 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย อียิปต์ ไนจีเรีย และปากีสถาน
(5) ประเทศสมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) : 7 ประเทศ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยสมัชชาสหประชาชาติ และเป็นประเทศที่มีประสบการณ์การฟื้นฟูประเทศภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้ง คำนึงถึงการกระจายสัดส่วนทางภูมิภาคและผลการพิจารณาสมาชิก PBC ในประเภทอื่น ๆ ด้วย จำแนกเป็นกลุ่มเอเชีย 1 ที่นั่ง กลุ่มแอฟริกา 2 ที่นั่ง กลุ่มยุโรปตะวันออก 1 ที่นั่ง กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 3 ที่นั่งและกลุ่มตะวันตกไม่มีที่นั่ง
3. กองทุนเสริมสร้างสันติภาพ
3.1 กองทุนเสริมสร้างสันติภาพ (Peacebuilding Fund: PBF) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2549 ตามข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ ที่ 60/287 เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นสภาพความขัดแย้ง โดยจะเป็นตัวเร่ง (catalyst) เพื่อระดมความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างสันติภาพและ ฟื้นฟูบูรณะประเทศ เช่น การปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงสันติภาพระหว่างกลุ่มที่มีความขัดแย้ง การสร้างความปรองดองในชาติ การวางโครงสร้างและระบบการเมือง การปกครอง สังคมและเศรษฐกิจ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ กองทุน PBF มีการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549
3.2 กองทุน PBF ระดมทุนด้วยการขอรับบริจาคโดยสมัครใจจากรัฐสมาชิก องค์การระหว่างประเทศ และภาคเอกชน และเป็นการบริจาคเป็นครั้ง ๆ ไป โดยได้ตั้งเป้ายอดการบริจาคเงินไว้ จำนวน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะขอรับบริจาคเงินอุดหนุนกองทุนเพิ่มเติมในวันที่ 11 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการเปิดตัว และหากกองทุนมีจำนวนเงินต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด ก็จะมีการประกาศขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมเป็นครั้ง ๆ ไป
3.3 การบริหารงานกองทุนดำเนินการโดยสำนักงานกองทุน (Multi-Donor Trust Fund Office) ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนในด้านการบริหารและเบิกจ่ายงบประมาณ และมีคณะที่ปรึกษาอิสระ (Advisory group) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คน ซึ่งเลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากประเทศ โดยมีวาระครั้งละ 2 ปีและสามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี ทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการจัดสรรงบประมาณและตรวจสอบการใช้กองทุนอย่างเหมาะสม
4. บทบาทของไทยในด้านการเสริมสร้างสันติภาพ
4.1 ไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก PBC โดยมีวาระ 2 ปี (1 มกราคม 2552 - 31 ธันวาคม 2553) โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่แนวคิดของไทยในด้านการเสริมสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะในเรื่องที่ไทยมีศักยภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นสภาพความขัดแย้ง เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงและ สันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างเชิงสถาบันด้านการเมืองการ ปกครอง รวมทั้งส่งเสริมบทบาทขององค์กรชุมชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากที่สุด
4.2 เมื่อปี 2550 ไทยได้บริจาคเงินอุดหนุนกองทุน PBF จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และปี 2552 ได้บริจาคเงินอีก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
-----------------------------------
กรมองค์การระหว่างประเทศ
กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ.
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **