การลดอาวุธตามแบบ

การลดอาวุธตามแบบ

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 24,671 view

อาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา Small Arms and Light Weapons

1. ภูมิหลัง  

1.1. ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 50 เมื่อปี 2539 ได้รับรองข้อมติ ที่ A/RES/50/70 จากนั้น มีการจัดประชุมครั้งแรกคือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาอย่างผิดกฎหมายในทุกรูปแบบระหว่างวันที่ 9-20 กรกฎาคม 2544 ซึ่งที่ประชุมได้รับรอง (UN Programme of Action to Prevent, Combat and Eradicate the Illicit Trade in Small Arms and Light Weapons in All Its Aspects – UN PoA) ซึ่งมีผลผูกพันทางการเมือง (politically-binding) ต่อรัฐภาคีสหประชาชาติในการดำเนินมาตรการ/บังคับใช้กฎหมายภายในประเทศในเรื่องการควบคุมการใช้อาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา และได้กำหนดให้มีการประชุมรัฐสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดำเนินการตาม PoA ทุก 2 ปี และกำหนดให้มีการประชุมทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินการตาม UN PoA

1.2. การประชุมทบทวนความก้าวหน้า (Review Conference) ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยไม่มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม และ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 7 กันยายน 2555 ณ นครนิวยอร์ก โดยที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมโดยฉันทามติ ทั้งนี้ เอกสารผลลัพธ์การประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญของ UN PoA และการดำเนินการตามแผนการในระดับประเทศ และภูมิภาค นอกจากนี้ ได้รับรองให้มีการประชุมทบทวนความก้าวหน้าครั้งที่ 3 ใน พ.ศ. 2561

1.3. คณะอนุกรรมการประสานงานการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาวุธเล็กและอาวุธเบา ภายใต้การประสานงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักที่รองรับการดำเนินการตาม UN PoA

2.สถานะปัจจุบัน

2.1.ไทยสนับสนุนความพยายามระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการค้าอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาอย่างผิดกฎหมายภายใต้กรอบการดำเนินการ UN PoA และได้สนับสนุนให้มีการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายและศักยภาพของไทย และได้รายงานการดำเนินงาน (National Report) ต่อสหประชาชาติ

2.2.   กฎหมายและมาตรการหลักสำหรับควบคุมและดำเนินการด้านอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา มีดังนี้

          2.2.1.พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490

          2.2.2.พ.ร.บ. ควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์ และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ. 2495 และ พ.ร.ฎ. ควบคุมการส่งออกฯ พ.ศ. 2535 ที่ออกรองรับ

          2.2.3.พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530

          2.2.4.คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 37 (21 ตุลาคม พ.ศ. 2519)

          2.2.5.มาตรการควบคุมอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานแบบพกพา (MANPADS) พ.ศ. 2547

3.    การดำเนินการของไทย

3.1.    ไทยสนับสนุนความพยายามระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการค้าอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาอย่างผิดกฎหมายภายใต้กรอบการดำเนินการ UN PoA และได้สนับสนุนให้มีการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายและศักยภาพของไทย และไทยได้รายงานการดำเนินงาน (National Report) ต่อสหประชาชาติ

3.2.   เมื่อวันที่ 11 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ศูนย์สันติภาพและการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UN Regional Centre for Peace and Disarmament in Asia and the Pacific: UNRCPD) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐเยอรมนี ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และขจัดการค้าอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาอย่างผิดกฎหมาย (UNRCPD Workshop on UN PoA Implementation: Building Capacity in Small Arms and Light Weapons) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับงานการควบคุมอาวุธเล็กและอาวุธเบาในประเทศไทย ให้สามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามและขจัดการค้าอาวุธขนาดเล็กและเบาอย่างผิดกฏหมายในทุกรูปแบบ (UN Programme of Action to Prevent, Combat and Eradicate the Illicit Trade in Small Arms and Light Weapons in All Its Aspects - UN PoA) ได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

 

 

สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT)

1.  ภูมิหลังการจัดทำ ATT

1.1  กระบวนการจัดทำ ATT เพื่อเป็นมาตรฐานสากลที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาการค้าอาวุธอย่างผิดกฎหมาย เริ่มขึ้นในปี 2549 ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 61 (UNGA 61) โดยกระบวนการสำคัญ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการเตรียมการสำหรับการจัดทำ ATT (Preparatory Committee: PrepCom) 4 ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2553-2555 เพื่อหารือประเด็นที่จะบรรจุในสนธิสัญญาฯ ซึ่งระหว่างการประชุมเตรียมการประเทศต่าง ๆ มีท่าทีที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก  การประชุม UN Conference on the Arms Trade Treaty เมื่อ 2 – 27 กรกฎาคม 2555  ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการรับรองร่างสนธิสัญญาฯ ได้ เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างในหลายประเด็น อาทิ การรวมกระสุนและชิ้นส่วนอยู่ในขอบเขตของสนธิสัญญาฯ คำนิยามของ non-state actor และการระบุถึงความรุนแรงด้วยปัจจัยเพศสภาวะ (gender-based violence) หรือความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก หลังจากที่การประชุมฯ ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการรับรองร่างสนธิสัญญาฯ ได้

ในการประชุม คณะกรรมการ 1  ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 67  (UNGA 67) ประเทศผู้ร่วมยกร่าง (ATT Co-Authors) ได้แก่ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา คอสตาริกา ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น เคนยา และสหราชอาณาจักร จึงได้เสนอร่างข้อมติ “The  Arms Trade Treaty” เพื่อให้มีการจัดการประชุมเพื่อจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธเป็นครั้งสุดท้ายระหว่างวันที่  18-23 มีนาคม 2556  ณ สำนักงานสหประชาชาติ  นครนิวยอร์ก โดยใช้ร่างสนธิสัญญาฯ ซึ่งเสนอโดยประธานการประชุมฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 เป็นพื้นฐานในการเจรจา (ไทยลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างข้อมติ)

1.2 การประชุมสนธิสัญญาการค้าอาวุธครั้งสุดท้าย (Final UN Conference on the Arms Trade Treaty)

การประชุมเพื่อพิจารณาร่างสนธิสัญญาฯ มีขึ้นเมื่อวันที่ 18-28 มีนาคม 2556 ยังถกเถียงกันในหลายประเด็น โดยบางประเทศเห็นว่า ร่างสนธิสัญญาฯ ยังขาดความสมดุลระหว่างภาระของประเทศส่งออกและประเทศนำเข้าอาวุธ ดังนั้น ในวันสุดท้ายของการประชุม เมื่อประธานเสนอให้ที่ประชุมพิจารณารับรอง (take action) ร่างข้อตัดสินใจ (A/CONF.217/2013/L.3) ซึ่งผนวกสนธิสัญญาฯ ไว้กับข้อตัดสินใจดังกล่าว อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย ได้แถลงคัดค้าน (object) การรับรองร่างข้อตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งทำให้ร่างสนธิสัญญาฯ ไม่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมโดยฉันทามติ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่สนับสนุนร่างสนธิสัญญาฯ เห็นว่า ถึงแม้ที่ประชุมจะไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ แต่เจตจำนงของประเทศส่วนใหญ่มีความชัดเจน จึงได้เสนอร่างข้อมติเพื่อให้ UNGA 67 พิจารณารับรองร่างสนธิสัญญาฯ 

1.3 การพิจารณาร่างข้อมติสนธิสัญญาการค้าอาวุธของสมัชชาสหประชาชาติ – เมื่อวันที่ 2 เมษายน  2556 ผู้แทนคอสตาริกาได้นำเสนอร่างข้อมติสนธิสัญญาการค้าอาวุธ ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ  รวม 65 ประเทศ ร่วมเสนอ ต่อที่ประชุม UNGA 67 โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ (1) ให้การรับรองสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธซึ่งผนวกในร่างข้อตัดสินใจของการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับสนธิสัญญาการค้าอาวุธครั้งสุดท้าย (2) ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติในฐานะผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาฯ เปิดให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาลงนามเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2556  ทั้งนี้ ที่ประชุม UNGA 67 ได้ให้การรับรองร่างข้อมติดังกล่าวโดยการลงคะแนนเสียง มีประเทศที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุน 154 ประเทศ (รวมทั้งไทย) คัดค้าน 3 ประเทศ (ซีเรีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ) และงดออกเสียง 23 ประเทศ[1]  ทั้งนี้ การรับรอง  ATT เป็นการให้การรับรองสนธิสัญญาด้านการลดอาวุธโดยการลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรก

2. สถานะล่าสุด

          2.1 การลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ

2.1.1 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556 สำนักเลขาธิการสหประชาชาติได้จัดพิธีลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ ณ Trusteeship Council Chamber โดยมีประเทศที่ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ทั้งหมด 67 ประเทศ 

2.1.2 ปัจจุบัน ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2556 มีประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาฯ ทั้งหมด 115 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ  ให้สัตยาบันแล้ว 9 ประเทศ (แอนติกาและบาร์บูดา กายอานา ไอซ์แลนด์ ไนจีเรีย คอสตาริกา เม็กซิโก ตรินิแดดและโตเบโก เกรนาดา และมาลี)

2.1.3  ATT จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากวันที่มีการฝากหนังสือให้สัตยาบัน รับ รับรอง หรือภาคยานุวัติ จำนวน 50 ฉบับ ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ

2.2  กองทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามพันธกรณีของ ATT

การปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญาฯ เป็นประเด็นที่กลุ่มประเทศผู้ผลักดัน ATT มีความกังวล จึงได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุน United Nations Trust Facility Supporting Cooperation on Arms Regulation (UNSCAR) เพื่อสนับสนุนการปฏิบติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ในทุกมิติ และ UN PoA  โดยในปี  2557 กองทุนนี้จะเน้นให้การสนับสนุนกระบวนการให้สัตยาบันต่อ ATT ของประเทศต่าง ๆ อาทิ กระบวนการออกกฎหมายภายในประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพของหน่ายงาน และความช่วยเหลือทางเทคนิค ในชั้นนี้ มีประเทศที่สนับสนุนกองทุนนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน สมาพันธรัฐสวิส และสหราชอาณาจักร

2.3 ศูนย์สันติภาพและการลดอาวุธในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNRCPD) ได้จัดการประชุม Second  Asia Regional Meeting to Facilitate Dialogue on the Arms Trade Treaty ระหว่างวันที่ 26 - 27 พฤศจิกายน 2556 ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้าร่วม ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการลงนามและให้สัตยาบัน ATT และแนวทางในการตีความ ATT เพื่อการปฏิบัติตามพันธกรณีต่อไปเมื่อสนธิสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.un.org/disarmament/ATT

 

อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต  และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล        หรืออนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

(The Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of          Anti-Personnel Mines and on Their Destruction or Mine Ban Convention)

 

1. ภูมิหลัง

1.1  ไทยเป็นหนึ่งใน 82 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ไทยได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและปลดปล่อยพื้นที่แล้วกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 85               ทำให้เหลือพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดอีก  502.6 ตารางกิโลเมตร ใน 18 จังหวัด                 (ณ 30 สิงหาคม 2556)

1.2 ไทยเป็นหนึ่งใน 26 ประเทศที่มีผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดจำนวนมาก จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการล่าสุดพบว่า ประเทศไทยมีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดประมาณ 1,337 คน (ณ 26 มิถุนายน 2556)

1.3 ไทยเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต  และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Ban Convention) โดยลงนามเมื่อปี 2540 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อไทยตั้งแต่ปี 2542 

1.4 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

1.5 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการกวาดล้างและเก็บกู้            ทุ่นระเบิด ด้านอำนวยการ ติดตามผลงานและประเมินผล ด้านการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชน ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และด้านการประสานงานกับต่างประเทศ

2. พันธกรณีตามอนุสัญญาฯ

พันธกรณีสำคัญที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ คือ

2.1  ไม่ใช้ พัฒนา ผลิต และสะสม จัดเก็บ และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไปให้ผู้ใด ทั้งทางตรง

และทางอ้อม

2.2  ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บสะสมไว้ในคลังทั้งหมดภายใน 4 ปี หลังจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ 

2.3  เก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ฝังอยู่ในพื้นดินภายใน 10 ปี หลังจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้

2.4  ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งทางการแพทย์ การฟื้นฟู

สภาพร่างกายและจิตใจ การฝึกและการพัฒนาศักยภาพ การจัดหาอาชีพ เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม

2.5  ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Risk

Education-MRE)

ทั้งนี้ ในการประชุมทบทวนอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 2 เมืองคาร์ตาเฮนา

สาธารณรัฐโคลอมเบีย เมื่อเดือนธันวาคม 2552   ที่ประชุมได้รับรองแผนปฏิบัติการคาร์ตาเฮนา ค.ศ. 2010-2014 (Cartagena Action Plan 2010 – 2014) เป็นเอกสารแนะนำแนวทางในการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ในระยะ 5 ปี (ปี 2553 – 2557) ที่รัฐภาคีอาจนำไปปรับใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ โดยรวมถึงการส่งเสริมความเป็นสากลของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด การทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บอยู่ในคลัง การเก็บกู้ทุ่นระเบิด การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด และความร่วมมือและความช่วยเหลือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด

 

3. สถานะการดำเนินการของไทยในปัจจุบัน

ไทยได้ดำเนินการด้านต่าง ๆ ตามพันธกรณีอนุสัญญาฯ ซึ่งมีความคืบหน้าดังนี้

3.1  การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บสะสมในคลัง ได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บสะสมในคลังที่มีอยู่จำนวน 337,725 ทุ่น จนหมดสิ้นตามพันธกรณีอนุสัญญาฯ แล้วเมื่อ 24 เมษายน 2546  แต่ยังคงมีเหลือไว้เพื่อใช้ในการฝึกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อบทที่ 3 (ข้อยกเว้น) ของอนุสัญญาฯ โดยไทยได้รายงานสถานะทุ่นระเบิดที่เก็บไว้ต่อฝ่ายเลขานุการฯ ทุกปี ตามพันธกรณีตามข้อบทที่ 7 (การรายงานความคืบหน้า) ของอนุสัญญาฯ

3.2  การเก็บกู้ทุ่นระเบิด เดิมไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ที่ต้องเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด ไทยจึงได้ยื่นคำขอขยายระยะเวลาการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ  ออกไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 (ขยายออกไปอีก 9 ปี ครึ่ง) และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 9 (9MSP) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ณ นครเจนีวาแล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเมินว่าไทยมีพื้นที่ทุ่นระเบิดที่ยังจะต้องเก็บกู้อีกประมาณ 502.6 ตร.กม. (ณ สิงหาคม 2556)

3.3  การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ไทยถูกจัดให้เป็น 1 ใน 26 รัฐภาคีอนุสัญญาฯ ที่มีจำนวนผู้ประสบภัยมากที่สุด  ซึ่งในฐานะรัฐภาคีไทยจะต้องให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ได้รับ

การช่วยเหลือทางการแพทย์ การฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง และสามารถกลับมาดำรงชีพในสังคมได้ ในภาพรวมการดำเนินงานของไทยในด้านนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่เป็นภารกิจที่ถูกผนวกรวมในการช่วยเหลือคนพิการและการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในภาพรวม โดยมี พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เป็นกลไกด้านกฎหมายที่สำคัญ ตลอดจนการดำเนินการอื่นตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิผู้พิการ (Convention on the Right of Person with Disabilities)

3.4  การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิด (Mine Risk Education – MRE) ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ โดยหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมทั้ง 4 หน่วย เป็นหน่วยงานหลัก

    3.5  บทบาทของไทยในกรอบอนุสัญญาฯ ไทยได้มีบทบาทอย่างแข็งขันภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ โดยกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่

          - ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 5 (5MSP) ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2546 ที่กรุงเทพฯ และในช่วงที่ไทยทำหน้าที่ประธาน 5MSP ระหว่าง ปี 2546-2547 นั้น ไทยได้มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในด้านการโน้มน้าวให้ประเทศที่ยังมิได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาฯ เข้าร่วมเป็นภาคี (Universalizing of the Convention) และการเชื่อมโยงเรื่องการดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดกับมิติการพัฒนา

          -  ในปี 2552 ไทยดำรงตำแหน่งประธานร่วมกับเบลเยี่ยม ในคณะกรรมการด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการเข้าผนวกรวมกลับสู่สังคม (Standing Committee on Victim Assistance and Social Reintegration)  นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดสังหารบุคคลครั้งที่ 12 (MSP 12) ระหว่างวันที่ 3 – 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555 หน่วยงานของไทยที่เป็นฝ่ายปฏิบัติทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนพัฒนาได้จัด side event เพื่อเป็นการแบ่งปันประสบการณ์และเสนอการให้ความช่วยเหลือต่อประเทศอื่น ๆ 

          - ในปี 2554 ไทยดำรงตำแหน่งประธานร่วมกับแคนาดาในคณะกรรมการด้านสถานะทั่วไปและการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ (Standing Committee on General Status and Operation)

          - ปี 2555 – 2556  ไทยดำรงตำแหน่งประธานร่วมของคณะกรรมการด้านทรัพยากร ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือ (Standing Committee on Resources, Cooperation and Assistance) โดยผลการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่

·       การผลักดันให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรและการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ Platform for Partnership ซึ่งฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาฯ ได้จัดทำโดยเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ของอนุสัญญาฯ http://www.apminebanconvention.org/platform-for-partnerships/

·       เมื่อวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2556 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Bangkok Symposium on Enhancing Cooperation and Assistance: Building Synergy towards Effective Anti-Personnel Mine Ban Convention Implementation ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และองค์กรเอกชน ระดมสมองเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มพูนความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

 

 

 

4. วันทุ่นระเบิดสากล (International Day for Mine Awareness and Assistance in Mine Action)

                   สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 4 เมษายน ของทุกปีเป็นวันทุ่นระเบิดสากล (International Day for Mine Awareness and Assistance in Mine Action) เพื่อสร้างความตระหนักและประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนทั่วไปรับทราบเกี่ยวกับปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีอยู่ในหลายประเทศเพื่อระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติในการร่วมขจัดปัญหาทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นอย่างเร่งด่วน

 

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ  http://tmac.rtarf.mi.th/index.php

ฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล  www.apminebanconvention.org

 

อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions: CCM)

 

1.  ข้อมูลทั่วไป

1.1  ระเบิดพวงเป็นระเบิดที่บรรจุลูกระเบิดขนาดเล็ก (submunitions) ไว้ภายในจำนวนมากมีลักษณะ กลไก และรูปแบบการทำงานหลายแบบ วิธีการใช้สามารถทิ้งลงจากเครื่องบิน หรือยิงโดยปืนใหญ่จากพื้นดินสู่พื้นที่เป้าหมายและจะระเบิดกลางอากาศเพื่อปล่อยลูกระเบิดย่อยให้กระจายเป็นวงกว้าง ระเบิดพวงมีอัตราความคลาดเคลื่อนผิดพลาดจากเป้าหมายและไม่ระเบิดสูง จึงทำให้ลูกระเบิดขนาดเล็กตกค้างบนพื้นดิน ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้ในภายหลัง ประชาคมระหว่างประเทศจึงพิจารณาเห็นว่า ระเบิดพวงเป็นอาวุธที่ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมสูง

               1.2  กลุ่มประเทศที่กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น นอร์เวย์ และออสเตรีย  จึงได้เริ่มกระบวนการออสโล (Oslo Process) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550[2] เพื่อจัดทำกลไกระหว่างประเทศ ที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายเพื่อยุติการผลิต การใช้ การถ่ายโอน และการสะสมระเบิดพวง รวมทั้งเพื่อเก็บกู้และทำลายระเบิดพวงที่ตกค้างและที่สะสมในคลัง และนำไปสู่การลงนามอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551

1.3  สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ คือ การห้ามใช้ ห้ามสะสม ห้ามผลิต และห้ามโอน รวมทั้งต้องทำลายระเบิดพวงที่มีในคลัง การเก็บกู้และทำลายระเบิดพวงที่ตกค้างอยู่ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากระเบิดพวง ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ แต่อนุสัญญาฯ มีการยกเว้นระเบิดพวง บางประเภทที่มีความแม่นยำต่อเป้าหมายและมีอัตราความเสี่ยงที่จะไม่ระเบิดหรือตกค้างต่ำ อย่างไรก็ตาม คำนิยามของระเบิดพวงมีความหลากหลาย แม้จะมีการระบุไว้ในอนุสัญญาฯ ด้วยแล้ว แต่ก็ไม่ครอบคลุมลักษณะของระเบิดพวงทั้งหมด

 

2.  รัฐภาคีของอนุสัญญาฯ

อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 ปัจจุบันมีประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาฯ  จำนวน 112  ประเทศ และให้สัตยาบันแล้วจำนวน 83 ประเทศ 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.clusterconvention.org

 

อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด

(Convention on Certain Conventional Weapons: CCW)

 

1. ภูมิหลัง

                        ที่ประชุม Conference on the Prohibitions of Restrictions on the Use of Certain Conventional Weapons Which May Be Deemed to Be Excessively Injurious or to Have Indiscriminate Effects ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 34 ได้ให้การรับรอง อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย หรือ Convention on Prohibitions or Restrictions on the Use of Certain Conventional Weapons Which May Be Deemed to Be Excessively Injurious or to Have Indiscriminate Effects (CCW) หรือ Inhumane Weapons Convention เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2523 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2526 โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการจำกัดการใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงโดยไม่จำเป็นต่อพลรบและก่อให้เกิดการบาดเจ็บโดยไม่แบ่งแยกต่อพลเรือน

 

2. ภาพรวม

อนุสัญญา CCW ประกอบด้วยอนุสัญญาแม่บท และพิธีสารแนบท้าย โดยอนุสัญญาแม่บทเป็น Framework ที่กำหนดขอบเขต สถานการณ์ที่อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ การเข้าเป็นภาคีไว้อย่างกว้าง ๆ  ส่วนพิธีสารแนบท้ายแต่ละฉบับจะกำหนดข้อห้าม/ข้อจำกัดในการใช้อาวุธแต่ละชนิดไว้ ซึ่งการมีพิธีสารแยกตามชนิดของอาวุธดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดเด่นของอนุสัญญา CCW ที่สะท้อนว่าอนุสัญญาฯ ยังเป็นกระบวนการที่มีพลวัต และมีความหยืดหยุ่น (Flexibility)  ในการเปิดโอกาสให้มีการจัดทำพิธีสารที่ตอบสนองความสนใจของประชาคมในด้านการควบคุมอาวุธ หรือการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านอาวุธใหม่ ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลไกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายด้าน WMD ซึ่งเน้นด้านการห้ามใช้อย่างสิ้นเชิง (Total ban) แล้วพิธีสารแต่ละฉบับของ CCW วางมาตรการควบคุม มากกว่าที่จะห้ามใช้ เพราะ CCW เกี่ยวข้องกับอาวุธตามแบบ และเชื่อมโยงกับสิทธิในการป้องกันตนเองตามกฎบัตรสหประชาชาติ

 

3. รัฐภาคี

สหประชาชาติได้เปิดให้ประเทศต่าง ๆ ลงนามในอนุสัญญาฯ วันที่ 10 เมษายน 2524 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อ 2 ธันวาคม 2526 โดยรัฐภาคี จะต้องเลือกยอมรับพิธีสารต่อท้ายอนุสัญญาฯ ฉบับใดก็ได้ อย่างน้อยจำนวน 2 ฉบับ  ปัจจุบัน (ธันวาคม 2556) มีรัฐภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 117 ประเทศ 

 

4. อนุสัญญาแม่บทของ CCW

อนุสัญญาแม่บทของ CCW (ปี ค.ศ. 1980) ระบุให้อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างประเทศ[3] ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาแม่บทให้มีผลบังคับใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศด้วย [4] แต่ไม่รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ (Internal disturbance) เช่น จราจล หรือความวุ่นวายอื่นที่ไม่ใช่ความขัดแย้งทางอาวุธ และเรียกว่า อนุสัญญา CCW แก้ไข ค.ศ. 2001 (CCW as amended on 21 December 2001)    

        

5. พิธีสารแนบท้าย

5.1 พิธีสารฉบับที่ 1 (Protocol on Non-Detectable Fragments) ห้ามการใช้อาวุธใดก็ตามที่มีผลเบื้องต้นทำให้บุคคลได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด ซึ่งเมื่อสะเก็ดนั้นอยู่ในร่างกายแล้วไม่อาจตรวจพบได้โดยการเอ๊กซ์เรย์

5.2 พิธีสารฉบับที่ 2 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Mines, Booby-Traps and Other Devices) ห้ามหรือจำกัดการใช้ทุ่นระเบิด (ทั้งประเภทสังหารบุคคล ต่อต้านยานพาหนะและแสวงเครื่อง) กับดัก และอาวุธอื่น ๆ (ซึ่งหมายถึงอาวุธที่วางด้วยมือ รวมถึงอาวุธระเบิดอื่นใดที่ออกแบบไว้เพื่อการสังหาร ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือการทำลาย และทำให้ระเบิดด้วยมือด้วยการควบคุมจากระยะไกล) ซึ่งต่อมาได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม (ข้อ 6.1)

5.3 พิธีสารฉบับที่ 3 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Incendiary Weapons): ควบคุมการใช้อาวุธเพลิง

5.4 พิธีสารฉบับที่ 4 (Protocol on Blinding Laser  Weapons) รับรองเมื่อเดือนตุลาคม 2538 มีผลใช้บังคับต่อรัฐภาคีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเกี่ยวกับการห้ามการใช้อาวุธแสงเลเซอร์ที่มีผลทำให้ตาบอดถาวร

5.5 พิธีสารฉบับที่ 5 (Protocol on Explosive Remnants of War) ซึ่งกำหนดแนวทางการเก็บกู้และกำจัดวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามและส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน โดยพิธีสารฉบับที่ 5 นี้ นับเป็นพิธีสาร ฉบับล่าสุด รับรองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 และเริ่มมีผลบังคับใช้ต่อรัฐภาคีตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน  2549

 

6. การแก้ไข (amendments) อนุสัญญาฯ ที่สำคัญ ได้แก่

6.1 ระหว่างการประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2538 ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาฯ ในส่วนของพิธีสารฉบับที่ 2 (protocol II) ซึ่งได้เพิ่มการระบุถึงการควบคุมการถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และการห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีส่วนประกอบของเหล็กน้อยกว่าที่อุปกรณ์เก็บกู้ทุ่นระเบิดแบบมาตรฐานจะสามารถตรวจค้นได้ 

6.2 ระหว่างการประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 2 ปี 2544 ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาแม่บทในส่วนของข้อบทที่ 1 (Article 1) ด้านขอบเขตการบังคับใช้อนุสัญญาฯ โดยปรับให้อนุสัญญาฯ สามารถมีผลใช้บังคับได้กับสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่เกิดขึ้นภายในรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ด้วย (situations of non-international armed conflict) ในขณะที่ข้อบทเดิมระบุเพียงว่าอนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐภาคี (situations of international armed conflict) เท่านั้น

 

7. กลไกการประชุมในกรอบ CCW

  การประชุมเกี่ยวกับ CCW ใช้หลักฉันทามติ และมีการหารือตามส่วนของอนุสัญญาฯ ดังนี้

7.1 การประชุมทบทวน (Review Conference) จัดขึ้นเป็นประจำทุก 5 ปี ครั้งล่าสุด คือการประชุมทบทวนครั้งที่ 4 โดยลาสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2554 ณ นครเจนีวา

7.2 การประชุมรัฐภาคี (Meeting of the High Contracting Parties) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปียกเว้นในปีที่มีการประชุมทบทวน

7.3 การประชุมผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ (Meeting of the Group of Governmental Experts)    จัดขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2545 ประมาณ 3-5 ครั้งต่อปี  

สำหรับการประชุมตามส่วนพิธีสารต่าง ๆ มีการประชุม ดังนี้

7.4 การประชุมรัฐภาคีประจำปีของพิธีสารฉบับที่ 2 (แก้ไข) (Annual Conference of the High Contracting Parties to Amended Protocol II) จัดขึ้นตามข้อบทที่ 13 ของพิธีสารฉบับที่ 2 (แก้ไขปี ค.ศ. 1996) ประจำทุกปี โดยล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ณ นครเจนีวา

7.5 การประชุมรัฐภาคีของพิธีสารฉบับที่ 5 (Conference of the High Contracting Parties to Protocol  V) จัดขึ้นตามข้อบทที่ 10 (1) ของพิธีสารฉบับที่ 5 และผลการประชุมทบทวนครั้งที่ 3 ประจำทุกปี โดยล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2556 ณ นครเจนีวา

 

8. พัฒนาการเกี่ยวกับอนุสัญญา

8.1 นับตั้งแต่การประชุมทบทวนอนุสัญญา CCW ครั้งที่ 3 ในเดือน พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นมา ประเด็นสำคัญที่มีการหารือในกรอบ CCW คือ การสร้างความเป็นสากลของอนุสัญญาฯ โดยได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการเพื่อเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว (Plan of Action on the Universalization of the Convention)

8.2 ประเด็นสำคัญที่เคยได้รับการหยิบยกขึ้นหารือในกรอบ CCW แต่ภายหลังมีการยุติการเจรจาไป ได้แก่ การจัดทำร่างพิธีสารเกี่ยวกับระเบิดพวง (พิธีสารฉบับที่ 6: Alternative Protocol on Cluster Munitions) และความพยายามในการเพิ่มขอบเขตของพิธีสารฉบับที่ 3 (การควบคุมการใช้ระเบิดเพลิง) ให้รวมถึงการใช้ฟอสฟอรัสขาว

8.3 ประเด็นสำคัญที่เคยได้รับการหยิบยกขึ้นหารือในกรอบ CCW ในปัจจุบัน ได้แก่

8.3.1 ความพยายามบรรจุเรื่องทุ่นระเบิดที่นอกเหนือจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mines Other Than Anti-Personnel Mines – MOTAPM) เพิ่มเติมไว้ในอนุสัญญาฯ โดยที่ประชุมรัฐภาคีครั้งล่าสุด (พฤศจิกายน 2556) ได้เห็นชอบให้บรรจุการหารือในประเด็นเกี่ยวกับ MOTAPM เข้าในระเบียบวาระการประชุมรัฐภาคีครั้งต่อไป (agenda item 9: “Other matters relevant to the CCW including MOTAPM”)

8.3.2 ที่ประชุมรัฐภาคีครั้งล่าสุด (พฤษภาคม 2556) ได้เห็นชอบให้มีการจัดการประชุม Expert Meeting on Autonomous Lethal Weapons (ALWs) ระหว่างวันที่ 13 – 16 พฤษภาคม 2557 เพื่อหารือในประเด็นเกี่ยวกับ อากาศยานไร้คนขับ Drones

 

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.unog.ch/ccw

-----------------------------

กรมองค์การระหว่างประเทศ

กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ

 

 

 

 

 



[1] จีน รัสเซีย อินเดีย  เมียนมาร์ สปป. ลาว อินโดนีเซีย อังโกลา บาห์เรน เบลารุส โบลิเวีย คิวบา เอกวาดอร์ อียิปต์ ฟิจิ คูเวต นิคารากัว โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ศรีลังกา สวาซิแลนด์ ซูดาน และเยเมน (เวียดนามไม่ร่วมลงคะแนนเสียง)

[2] กระบวนการออสโลเป็นการเจรจานอกกรอบสหประชาชาติที่มีอยู่เดิม ซึ่งคือ กรอบอนุสัญญาการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิด    การบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย หรือ Convention on Prohibitions or Restrictions on the Use of Certain Conventional Weapons Which May Be Deemed to Be Excessively Injurious or to Have Indiscriminate Effects (CCW)  เนื่องจากกรอบการเจรจา CCW ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

[3] อิงกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่ระบุไว้ใน ข้อบทที่ 2 (Common Article 2) ของอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 และข้อบทที่ 1 ย่อหน้าที่ 4 ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 (ค.ศ. 1977) ต่อท้ายอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949

[4] อิงกับคำจำกัดความของข้อบทที่ 3 (Common Article 3) ของอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949