วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการจัดตั้งกลไกการหารือด้านสาธารณสุข ทั้งในกรอบอาเซียนและทวิภาคี และการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเชิญให้สาธารณรัฐเกาหลีสนับสนุนอาเซียนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาด เมืองอัจฉริยะ การพัฒนาสีเขียว และการพัฒนาทุนมนุษย์
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๒๑ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายกรัฐมนตรียินดีต่อการรับรองแผนปฏิบัติการอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ฉบับใหม่ และยินดีที่สาธารณรัฐเกาหลีอยู่ระหว่างพิจารณายกระดับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ให้ทันสมัย รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเติบโตอย่างครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้สนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยไทยสนับสนุนการจัดตั้งกลไกการหารือด้านสาธารณสุข ทั้งในกรอบอาเซียนและทวิภาคี ที่รวมถึงการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ตลอดจนการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส
ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคจะช่วยขยายปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ข้อริเริ่มร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจฯ ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีควรมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกัน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ (The Fourth Industrial Revolution - 4IR) โดยเฉพาะสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย start-ups และผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุค 4IR นอกจากนี้ ไทยและอาเซียนพร้อมที่จะหารือกับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในด้านความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้สาธารณรัฐเกาหลีพิจารณาขยายความร่วมมือในโครงการภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity - MPAC) ค.ศ. ๒๐๒๕ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสีเขียว ผ่านกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “Green New Deal” ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยไทยสนับสนุนบทบาทที่แข็งขันและต่อเนื่องของสาธารณรัฐเกาหลีในด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะโครงการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา
นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความเชื่อมั่นว่าสันติภาพและเสถียรภาพเป็นพื้นฐานของความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยสนับสนุนบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีที่พยายามสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และมีความรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **