นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕

นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,250 view
นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไปต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕ ย้ำความสำคัญของการยึดมั่นในระบบพหุภาคี และความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันรับมือความท้าทายต่าง ๆ โดยไทยพร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการรับมือกับโควิด-๑๙ รวมทั้งย้ำความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน “วิถีปกติใหม่” เพื่อผนึกกำลังออกแบบอนาคตที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทั่วโลกต่อไป
 
เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงผ่านบันทึกวีดิทัศน์ในช่วงการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕ (75th Session of the United Nations General Assembly - UNGA75) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
 
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความสำคัญของการยึดมั่นในระบบพหุภาคี และความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยแสดงความขอบคุณองค์การอนามัยโลกที่ให้การยอมรับว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถรับมือกับเชื้อโควิด-๑๙ ได้ดีที่สุดในโลก โดยการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมของไทยมีส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และเป็นประเทศต้นแบบด้านการบริหารระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ผ่านกรอบความร่วมมือ Foreign Policy and Global Health ด้วย ทั้งนี้ ไทยเห็นว่า วัคซีนและยารักษาโควิด-๑๙ ควรต้องเป็นสินค้าสาธารณะระดับโลกที่ทุกประเทศได้รับสิทธิในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน โดยสหประชาชาติจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องนี้ 
 
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอใน ๓ เสาหลักของสหประชาชาติ ตลอดระยะเวลา ๗๕ ปี ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ได้แก่ (๑) ด้านสันติภาพและความมั่นคง ไทยให้ความสำคัญกับการลดอาวุธและยังส่งเจ้าหน้าที่รวมแล้วกว่า ๒๗,๐๐๐ คน เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพในกรอบสหประชาชาติ ซึ่งกองกำลังของไทยมีส่วนส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืน ผ่านการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (๒) ด้านการพัฒนา ไทยพร้อมแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global South-South Development Expo 2021 ในปีหน้า และการเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๐-๒๐๒๒ และ (๓) ด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศต่าง ๆ ต้องยึดมั่นในพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยมีความก้าวหน้าและเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ 
 
ในโอกาสเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน “วิถีปกติใหม่” เพื่อร่วมกันผนึกกำลังออกแบบอนาคตที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทั่วโลกต่อไป
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ