รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการประชุมกลุ่มย่อยในหัวข้อ “Financing ASEAN’s Green Recovery and the SDGs” ภายใต้การประชุม Sustainable Development Impact Summit ประจำปี ๒๕๖๓ ของ World Economic Forum (WEF)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการประชุมกลุ่มย่อยในหัวข้อ “Financing ASEAN’s Green Recovery and the SDGs” ภายใต้การประชุม Sustainable Development Impact Summit ประจำปี ๒๕๖๓ ของ World Economic Forum (WEF)

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,281 view

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมย่อยของ Sustainable Development Impact Summit (SDI Summit) ประจำปี ๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๒ ในหัวข้อ “Financing ASEAN’s Green Recovery and the SDGs” ผ่านระบบการประชุมทางไกล จัดโดย World Economic Forum (WEF) ร่วมกับ EU-ASEAN Business Council โดยย้ำถึงแนวทางของอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูสีเขียว โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการประชุมจากภาคส่วนต่าง ๆ กว่า ๒๕๐ ราย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ท้าทายของไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง โดยไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยความร่วมมือที่ดีจากภาคประชาชน ความทุ่มเทของผู้นำรัฐบาล และความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข รวมถึงบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงแนวทางของอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูสีเขียว (green recovery) ซึ่งดำเนินการใน ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว และการส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular and Green Economy) (๒) การเพิ่มพูนความร่วมมือและบูรณาการการดำเนินงานของทุกภาคส่วนเพื่อการบรรลุ SDGs รวมถึงการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทย และ (๓) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงสีเขียว (green connectivity) ด้วยการส่งเสริมแนวทางนวัตกรรมการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (green infrastructure) การสนับสนุนกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility) และการพัฒนาการเชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย

สำหรับการประชุม SDI Summit นั้น เป็นการประชุมที่ WEF จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วง High-Level Week ของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสำหรับปี ๒๕๖๓ WEF ได้กำหนดหัวข้อการประชุม คือ “Realising a ‘Great Reset’ for Sustainable Development” ในบริบทหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อนำไปสู่การบรรลุ SDGs และความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยตลอดการประชุม ๔ วัน ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๔ กันยายน ๒๕๖๓ จะมีการประชุมย่อยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกว่า ๕๐ รายการ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ